Skip to main content

ฟัง พูด อ่าน เขียน ปัญหาเรื่อง กระบวนการ

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านบทวิจารณ์หนังจากนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง  บทวิจารณ์นั้น พูดถึงหนังไทยที่เพิ่งจะเข้าฉายเรื่องหนึ่ง เป็นหนังแบบ "เด็กแนว" จากค่ายขวัญใจ "เด็กแนว" บทวิจารณ์ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาในหนังเท่าไรหรอกครับ ออกไปทางพร่ำบ่นเรื่องปัญหาในวงการหนังไทยมากกว่า อันที่จริง แม้ผู้วิจารณ์จะพูดเรื่องเดิม แต่ก็เป็นเรื่องเดิมที่ยังไม่ถูกแก้ไขให้ลุล่วงไปเสียที ไม่ว่าจะเรื่องของบทหนัง งานสร้าง หรือ การโปรโมท


 


ผมไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ (และถึงดูก็คงจะไม่ตัดสิน) แต่สิ่งที่ผมค่อนข้างเห็นใจผู้วิจารณ์ คือความคาดหวังต่อ "ผู้กำกับคนรุ่นใหม่" ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จจากการทำงานเป็นทีมในหนังเด็กร้อยล้านเมื่อหลายปีก่อน เพราะผู้วิจารณ์บอกว่า เขาคาดหวังว่า ผู้กำกับที่เรียนด้านภาพยนตร์มาโดยตรง มีประสบการณ์ในการทำงานหนัง และดูหนังดีๆ มามากมาย แถมยังเป็นหนุ่มไฟแรงอายุต้นสามสิบ น่าจะเป็นความหวังของวงการหนังไทย และเขารู้สึกว่าเขาคงจะหวังมากเกินไป


 


ผมคิดว่า เขาไม่ผิดหรอกครับที่หวังอย่างนั้น เพียงแต่ บางทีก็ควรจะให้โอกาสกับหนังเรื่องแรกที่ลงมือกำกับเอง หนังหนึ่งเรื่องประกอบด้วยคนที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่ผลลัพธ์ทั้งหลายของหนัง (นอกจากรายได้) ผู้กำกับจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ส่วนที่แย่ของหนัง แม้จะไม่มาจากตัวผู้กำกับ แต่ก็ต้องรับผิดชอบด้วยครับ จะมาบอกว่า เป็นเพราะฝ่ายประชาสัมพันธ์ไม่ดี หรือเพราะฝ่ายศิลป์ ฝ่ายตัดต่อไม่ได้เรื่องนั้นไม่ได้เลย คุณจะขาดคุณสมบัติของผู้กำกับโดยสิ้นเชิง


 


โดยสรุปคือ น่าเห็นใจทั้งคนที่เป็นผู้กำกับหนัง และนักวิจารณ์นั่นละครับ


 


สิ่งที่ผมได้เก็บมาคิดหลังจากอ่านบทวิจารณ์หนังชิ้นนี้คือ "กระบวนการสร้างบุคลากร" ของบ้านเราไม่ว่าจะวงการหนังหรือวงการไหนก็แล้วแต่ เราได้ให้เขา "รับ" ในสิ่งที่ดีมากแค่ไหน จึงคาดหวังว่าเขาจะต้อง "สร้าง" สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นปัญหาของงานสร้างสื่อหรืองานสร้างสรรค์ทั้งหลาย มันก็ต้องสอบสวนไปถึงสิ่งที่บ่มเพาะขึ้นมาทั้งสิ้นนั่นละครับ


 


รู้ๆ กันอยู่ว่า กระบวนการให้การศึกษาในบ้านเรามันมีปัญหา แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้มีปัญหาแค่ในระบบการศึกษาภาคบังคับหรือในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังรวมไปถึงทุกๆ กระบวนการการเรียนรู้ในระบบการทำงาน และแม้กระทั่ง "กระบวนการใช้ชีวิต" ด้วย


 


มีตัวอย่างคลาสสิคอันหนึ่งที่ใช้อธิบายเรื่องกระบวนการเรียนรู้ได้ดี คือสมัยก่อนเราพูดกันมานานเหลือเกินว่า เด็กบ้านเราเรียนภาษาอังกฤษเท่าไรก็พูดไม่ได้สักที เรียนตั้งแต่ ป.4-ป.5 ไปจนมหาวิทยาลัย แต่พอเจอฝรั่งกลับวิ่งหนีซะงั้น สุดท้ายถึงได้เข้าใจกันว่า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะมันผิดตั้งแต่กระบวนการแล้ว ตามปกติ คนเราจะเรียนรู้ภาษาใด มันก็ต้องเริ่มจากการฟัง แล้วจึงหัดพูด เมื่อพูดได้แล้วจึงหัดอ่าน เมื่อคล่องทั้งสามอย่างแล้ว จึงหัดทักษะ สุดท้ายของกระบวนการคือการเขียน


 


แต่กระบวนการสอนภาษาอังกฤษบ้านเรามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น พอเริ่มต้นเรียนก็ให้ท่องเอ บี ซี หรือหัดเขียนคำศัพท์กันเลย ยิ่งเรียนไปนานเข้าก็ยิ่งเรียนเรื่องซับซ้อนมากขึ้นแต่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับการใช้งาน คือไปเรียนเรื่องไวยากรณ์ เรื่องเทนซ์ เรื่องแกรมม่า แต่เรื่องฟังกับเรื่องพูดอันเป็นทักษะสำคัญและพื้นฐานที่สุดของการสื่อสาร แทบจะไม่ได้แตะกันเลย ก็กระบวนการเรียนรู้มันสับสนอลหม่านไม่เป็นขั้นตอนแบบนี้สิครับ เรียนกันไปยันจบปริญญาตรีก็ยังวิ่งหนีฝรั่งเหมือนเดิม


 


ผมว่าเรื่องทำนองนี้ เกิดขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่างในกระบวนการเรียนรู้ของบ้านเรา เราเริ่มต้นที่การ "สร้าง" ไม่ใช่การ "รับ" เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสะสมความชำนาญก่อนที่จะไปแสดงออก จับเด็กมาได้ก็จะให้แสดงกันเลย ยังไม่ทันให้เด็กได้รู้จักโขน ละคร ดนตรี ลีลาศ กันเสียด้วยซ้ำ


 


ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่า กระบวนการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ มันไม่ได้เกิดจากการ "สั่งสม" หรือสั่งสมกันน้อยเกินไปหรือเปล่า บุคลากรที่ต้องทำงานสร้างสรรค์จึงมักจะสร้างงานแบบ "แตะๆ" ไม่ได้ลงลึกให้ถึงความจริง คนรุ่นใหม่ยุค post modern หรือพวกปฏิเสธรากเหง้า ก็วิ่งหาต้นแบบฝรั่ง และเนื่องจากถูกสอนให้ท่องจำและก๊อปปี้มากกว่าจะคิดเอง ทั้งงานเพลง งานหนัง งานวรรณกรรม ฯลฯ        มันก็เลยมันออกมาแบบแปลกๆ ลอยๆ ไม่มีราก ไม่เติมเต็มบางสิ่งบางอย่างของผู้รับ ซ้ำร้ายกลับซ้ำซากจนถึงขั้นน่าเบื่อ


           


แล้วผมก็พลอยคิดไปว่า สังคมไทยเร่งเร้าจะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เก่งเร็วๆ เกินไปหรือเปล่า? บางทีไอ้ค่านิยม เด็กเก่งเด็กอัจฉริยะจากตะวันตกมันคงพลอยทำให้สังคมบ้านเราสร้างความฉาบฉวยให้กับกระบวนการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว รีบป้อนรีบอัดความรู้ให้ ไม่ทันได้ย่อย หรือไม่ทันได้รู้จักชีวิตมากพอก็ถูกเอามาสร้างเป็น "ไอดอล" เสียแล้ว แถมพอใครสักคนประสบความสำเร็จ ก็เลยเฮละโลเอาอย่างกันไป  บางคนไปไกลกว่านั้น พอประสบความสำเร็จแล้วก็ตั้งตัวเองเป็น "สถาบัน" เสียเลย ราวกับกลัวจะไม่เจอความสำเร็จตอนแก่


 


ตอนนี้ใครต่อใครก็เลย


1.อยากออกเทปก่อนอายุยี่สิบ


2.อยากได้ซีไรต์ก่อนอายุสามสิบ


3.อยากเป็นผู้กำกับก่อนอายุสี่สิบ


 


คิดๆ แล้วก็คงเหมือนคนหัดวาดรูป ทั้งๆ ที่ยังรู้จักเฉดสีไม่ครบทุกสี แล้วอยากจะ (หรือถูกจับ) ไปวาดรูปแสดงงานนั่นละครับ


 


สมมติ(นะครับสมมติ)ว่า เด็กคนนั้นมีพรสวรรค์จริงๆ อย่างเช่น สีไวโอลินไฟแลบแบบ วาเนสซ่า เมย์ หรือ ตีกอล์ฟทะลุดาวอังคารอย่างไทเกอร์ วู้ด ก็โอเคละครับ จะเลิกเรียนในระบบแล้วไปทัวร์รอบโลก ก็ไม่มีใครกล้าเถียงแน่ หรืออย่างตัวอย่างเรื่องภาษาอังกฤษข้างต้น เด็กที่เก่งด้านภาษาตั้งแต่เล็กๆ มีให้เห็นมากมาย เก่งชนิดว่า กระบวนการการสอนภาษาอังกฤษ (ที่สับสนอลหม่าน) บ้านเราไม่มีผลอะไรกับเขา บางคนพอขึ้นชั้นมัธยมต้นก็เริ่มมีความคิดอยากจะสอบเรียนต่อไปเมืองนอกด้วยตัวเองก็มี


 


แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังต้องทนอยู่ในระบบ ยังถูกชี้นำ ชักพา ล่อลวง หรือต้องจำยอมให้ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ จะสร้างงานสักชิ้น หรือ สร้าง "ตัวเอง"ในแบบหนึ่ง กลับไม่อาจพึ่งพากระบวนการสร้างของสังคมได้ แล้วเราก็โทษกันไปโทษกันมา ทั้งๆ ที่ก็เติบโตอยู่ในกระบวนการที่ล้มเหลวเหมือนกันแท้ๆ


 


ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้คาดหวังแม้แต่น้อย ว่าเราจะต้องไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ระบบการศึกษาภาคบังคับ เพราะคิดว่า ภายในชาตินี้ก็ยังอาจจะไม่มีสิทธิ์ได้เห็น ผมว่า เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ใครมองเห็นหรือคิดได้เองมากกว่า การเติบโตทางความคิดเป็นขั้นเป็นตอนมันย่อมจะสมบูรณ์ และมีพื้นฐานที่แน่นกว่าการเติบโตแบบ "ชิงสุกก่อนห่าม" อยู่แล้ว ใครๆ ก็รู้ แต่ใครๆ ก็พร้อมที่จะไม่สนใจความจริงข้อนี้ หันไปใช้การเรียนลัดเสียจนเป็นมาตรฐานไปทุกวงการ


 


ถามว่าผิดเหรอถ้าจะใช้การเรียนลัด? ไม่ผิดหรอกครับ แต่คุณก็คงจะเติบโตแบบโคลนนิ่ง ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง และไม่รู้ว่าจะเสื่อมสภาพ หยุดการเติบโต หรือจบสิ้นไปสวรรค์แบบ "แกะดอลลี่" เมื่อไร


 


แต่จะว่าไป มันก็คงจะเป็นธรรมดาของโลกแล้วละมังครับ ที่นิยม "ต่อยอด" หรือ "ตอนกิ่ง" มากกว่าปลูกจากเมล็ด จะไม่มีรากแก้วก็ช่างมัน เอาง่าย เร็ว ดูดี ไว้ก่อน ส่วนความแข็งแรงนั้นไม่ใช่ประเด็น ไม่ต้อง "ฟัง" หรือ "อ่าน"ให้เยอะนักหรอก ไป "พูด" กับ "เขียน" เอาเลยแล้วกัน จะได้เด่นได้ดังไวๆ


 


คิดในแง่ดีแล้ว กระบวนการที่ไม่เป็นไปตามลำดับแบบนี้ก็มีดีอยู่เหมือนกันนะครับ ตรงที่ว่า ถ้าใครเป็น "ของจริง" คือเติบโตมาตามกระบวนการที่ถูกต้อง ก็มุ่งไปในทางที่ถูกต้องได้อย่างเข้มแข็งยาวไกลกว่า


 


ผมคิดว่า ถ้าคนเราไม่เร่งรัดตัวเองให้ประสบความสำเร็จมากเกินไป  "ชีวิต" เป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น สนุกสนาน และให้ความสุขกับการ "สั่งสม" และ "สร้างสรรค์" อย่างมากมาย มีอะไรตั้งเยอะแยะให้เราได้ขยายความเข้าใจให้แผ่กว้างออกไป โดยไม่จำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับการได้รับการยอมรับจากสังคม หรือค่านิยมจอมปลอมใดๆ ที่เอาความสำเร็จเป็นตัวตั้ง หรืออย่างน้อยที่สุด "ช้าแต่ชัวร์" ก็เข้าท่ากว่า "มั่วและเร็ว"


 


ผมว่าเป็น "นักเรียน" สนุกกว่าเป็น "ครู" นะครับ