Skip to main content

หากชีวิตล้วนแล้วแต่ความหมาย

คอลัมน์/ชุมชน

สุภาพบุรุษท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า  ครั้งหนึ่งเมื่อสุภาพสตรีจากยุโรปร่วมทางกับคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อเข้าไป  ให้ความช่วยเหลือ หรือพัฒนาชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่ง  ณ อีกซีกโลก  ในวาระนั้น หญิงชาวพื้นเมืองคนหนึ่ง ได้บอกกับสุภาพสตรีท่านนั้นว่า  "หากท่านมาที่นี่เพราะท่านสงสารเรา  ท่านก็ไม่สมควรมา  เพราะเราไม่ได้ต้องการความสงสารหรือเห็นใจ  แต่หากท่านมาที่นี่ด้วยเห็นว่า การดำรงอยู่ของเรานั้นมีความหมายต่อการดำรงอยู่ของท่าน  เช่นนั้นแล้วเราก็ยินดี"


 


ในวาระที่ชีวิตต้องเดินทางรอนแรม ไร้หลักแหล่งแห่งพักและการงาน  วาระเช่นนี้มักมีผู้คนไถ่ถามเสมอว่า  "ตอนนี้อยู่ที่ไหน"  "ทำอะไรอยู่"  ยิ่งแล้วหากการสนทนาด้วยการสื่อสารทางไกล  คำถามเหล่านี้มักอยู่ในการสนทนาเสมอๆ  จนดูมันจะกลายเป็นธรรมเนียมแห่งการสนทนาโดยไม่รู้ตัว  ในภาวะเช่นนี้เอง หลายครั้งก็มีอาการไม่อยากตอบ ไม่อยากบอก ด้วยรู้สึกอยู่ว่า  ที่สุดแล้วคำถามเหล่านี้ก็เป็นเพียงคำถามที่ถามไปอย่างนั้นเอง โดยไม่ได้มีค่า ไม่ได้มีความหมาย นัยยะสำคัญประการใดเลย  หรือถึงแม้จะบอกไปให้รู้แล้วว่า อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ มันก็จะจบอยู่เพียงนั้น มันก็ไม่ได้มีความหมายต่อไป อาจจะมีมากลายเป็นประเด็นสนทนาต่ออีกเล็กน้อย ในเรื่องที่ไหน อะไรนั้น แล้วมันก็จะจบไป  ดูมันจะเป็นเช่นนั้นเป็นส่วนมาก 


 


นั่นจึงทำให้เกิดวูบคำนึงขึ้นมาว่า  เป็นไปได้หรือไม่ว่า  หากเราจะเอ่ยปากไถ่ถามใคร  เราจะถามเพราะเราอยากรู้จริงๆ  อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของเขาจริงๆ  ร่วมสุข ร่วมทุกข์กับเขา  ปลอบโยน และยินดี ร่วมกับเขา  และหากเราจะถามว่า เขาอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ระหว่างการเดินทางไกลของชีวิต  เราก็น่าจะถามด้วยเห็นว่า ชีวิตของเขานั้นมีความหมายสำหรับเราอย่างจริงแท้  หาไม่แล้ว คำถามมากมายที่ไถ่ถามกันออกไปก็อาจจะเป็นเพียงการเปิดการสนทนา มารยาท แห่งการสนทนา ซึ่งที่สุดแล้วมันจะไม่มีความหมายใดใดเลย


 


มากไปกว่านั้น....  นอกจากการดำรงอยู่ของใครบางคนจะมีความหมายต่อเราแล้ว  การจากไปของเขาก็อาจจะมีความหมายเช่นเดียวกัน  และนั่นก็คงทำให้ชีวิตของเราเต็ม  วิลเลียม ซาโรยัน นักเขียนวรรณกรรมชาวอเมริกา เขียนเรื่องราวที่งดงามมากเรื่องหนึ่ง Human Comedy หรือในชื่อภาษาไทยว่า  "ความสุขแห่งชีวิต" 


 


ความในเรื่องตอนหนึ่งเล่าว่า  โฮเมอร์ เด็กส่งโทรเลขประจำเมือง วันหนึ่งเขาไปส่งโทรเลขที่บ้านหนึ่ง ซึ่งผู้รับเป็นสุภาพสตรี  และบังเอิญว่า วันนั้นเป็นวันเกิดของเธอ  แต่โทรเลขที่โฮเมอร์ไปส่งนั้น มาจากกระทรวงกลาโหม เพื่อแจ้งข่าวว่า ลูกชายของเธอได้เสียชีวิตแล้วในสนามรบ  โฮเมอร์ทำใจอยู่นานกว่าจะส่งโทรเลขฉบับนั้น  แต่ที่สุดด้วยหน้าที่เขาก็ยังต้องส่งโทรเลขนั้นอยู่ดี  และเขารู้สึกเจ็บปวดที่ตัวเองเป็นผู้นำข่าวร้าย ยิ่งแล้วมาในวันเกิดของเธอ ซึ่งมันควรเป็นวันที่เธอจะมีความสุข  แล้วเมื่อโฮเมอร์กลับมาบ้าน เขาร้องไห้ เมื่อได้คุยกับแม่ของเขา  เขาถามแม่ว่า หากว่าวันหนึ่งเขาต้องส่งโทรเลขแบบเดียวกันนี้ให้แม่  แม่จะทำอย่างไร  ซึ่งในขณะนั้นพี่ชายคนโตของเขาก็ไปเป็นทหารและอยู่ในสมรภูมิเช่นเดียวกัน  คำตอบของแม่ช่างงดงามนัก  แม่ว่า แม่จะไม่เสียใจ แม่จะไม่ร้องไห้ เพราะแม่รู้ว่า ไม่มีใครฆ่าลูกในความทรงจำของแม่ได้  คนที่เรารักไม่เคยจากเราไปไหน   เขาอาจจะไม่มายืนอยู่ตรงหน้าเรา ไม่มาร้องเพลงกับเรา ไม่มาเดินเล่นกับเรา  แต่เขาอยู่ในตัวเราทุกคน เขาอยู่ในเลือดเนื้อ ในจิต ในวิญญาณของเรา   นั่นช่างเป็นคุณค่าที่งดงามนักแล้ว


 


มากไปกว่านี้...  ผู้คนมักพูดกันเสมอมาว่า  เด็ดดอกหญ้า สะเทือนถึงดวงดาว....  แง่หนึ่งถ้อยคำนี้ก็ดีงามนัก  และในความหมายนั้น  แม้การดำรงอยู่ของดอกหญ้า ก็มีความหมายต่อการดำรงอยู่ของดวงดาว    ซึ่งนั่นหมายความว่า การดำรงอยู่ของเราจึงย่อมมีผลต่อการดำรงอยู่ของผู้คนมากมายนั้น  เช่นนั้นแล้ว เราจะออกแบบสร้างสรรค์ชีวิตอย่างไรเล่า เพื่อให้ความหมายแห่งชีวิตนั้นงดงาม ดีงาม เมื่อการดำรงอยู่ของเรา ล้วนมีความหมายต่อการดำรงอยู่ของกันและกัน