Skip to main content

กฎบัตรของการเมืองสีเขียวในสหัสวรรษใหม่

คอลัมน์/ชุมชน

 


ดิฉันได้เขียนเรื่องการเมืองสีเขียวไปแล้ว ๓ ตอน แต่หลังจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล และการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาที่ผ่านไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘ นี้ ยังไม่เห็นการเน้นแนวคิดที่ก้าวหน้าอย่างที่ชาวการเมืองสีเขียวได้เสนอต่อประชาคมโลก ดิฉันจึงขอนำเสนอบางส่วนจาก "กฎบัตรของการเมืองสีเขียวสากล ณ กรุงแคนเบอร่า ๒๐๐๑" อันเป็นการให้คำจำกัดความต่อความหมายของการเมืองสีเขียวในสหัสวรรษใหม่ของเครือข่ายการเมืองสีเขียวสากล ซึ่งหมายรวมถึงพรรคการเมืองสีเขียวและกระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนทั่วโลก

หลักการว่าด้วยความยั่งยืน


ชาวเขียวตระหนักว่าสังคมมนุษย์จำเป็นต้องควบคุมขอบเขตการขยายตัวของความเจริญทางวัตถุ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ได้ หรือใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนใหม่ไม่ได้อย่างมีความรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ


เราเชื่อมั่นว่าการบรรลุถึงเป้าหมายของความยั่งยืน และการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคตบนฐานความจำกัดของทรัพยากรในโลก คนทั่วโลกจะต้องหยุดยั้งการขยายตัวของการบริโภค หยุดการเพิ่มประชากร และหยุดการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม


หากความยากจนยังมีอยู่ในโลก ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน


ปัจจัยที่เอื้อให้บรรลุเป้าหมาย


คนรวยต้องลดการบริโภคลง เพื่อให้คนจนได้ร่วมใช้ทรัพยากรของโลกอย่างเป็นธรรม
ต้องเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความมั่งคั่ง ความร่ำรวย โดยเน้นคุณภาพชีวิตมากกว่าความสามารถที่จะบริโภคเกินความจำเป็น


ร่วมกันสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่ตอบสนองความจำเป็นในชีวิตของทุกคน มิใช่ตอบสนองความโลภของคนจำนวนน้อย และตอบสนองปัจจัยชีวิตของประชากรโลกยุคปัจจุบัน โดยไม่ทำลายปัจจัยชีวิตของคนในอนาคต


ลดเหตุของการเพิ่มประชากร โดยประกันความมั่นคงของเศรษฐกิจ จัดบริการการศึกษาและสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมให้ชายและหญิงร่วมกันรับผิดชอบในการควบคุมการเจริญพันธุ์


ปรับเปลี่ยนบทบาทของบรรษัทข้ามชาติให้สนับสนุนหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน


สร้างราคาสินค้าและบริการ ที่รวมต้นทุนจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก จากกระบวนการผลิตและการบริโภค


ต้องตั้งเป้าหมายให้ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความมั่นคงของสิ่งแวดล้อม


ยอมรับการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมบทบาทของเยาวชน เพื่อนำสู่จริยธรรมและความยั่งยืนของโลก


ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม


ชาวเขียวต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยตรงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต อำนาจและความรับผิดชอบนี้ เป็นของชุมชนระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ และมีผลผูกมัดจนถึงระดับรัฐบาล


ปัจจัยที่เอื้อให้บรรลุเป้าหมาย


การสร้างพลังอำนาจของบุคคล โดยการได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจทุกเรื่อง การเข้าถึงการศึกษาที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม


พังทลายโครงสร้างอำนาจ และโครงสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นการมีส่วนร่วม


สร้างสถาบันระดับรากหญ้าที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบที่สนับสนุนพลังของประชาสังคม การทำงานอาสาสมัครและความรับผิดชอบของชุมชน
สนับสนุนพลังเยาวชน ช่วยให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการเมืองทุกรูปแบบ รวมทั้งร่วมในองค์กรที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ


ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งทุกคน ต้องมุ่งมั่นในหลักการความโปร่งใส ความซื่อตรง และความน่าเชื่อถือในการบริหารงาน


ระบบการเลือกตั้งต้องได้มาซึ่ง สัดส่วนของตัวแทนคนทุกกลุ่มในสังคม ด้วยการตรวจสอบที่โปร่งใส


ประชาชนมีสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยความสมัครใจ ด้วยระบบพรรคการเมืองที่มีความหลากหลาย


การไม่ใช้ความรุนแรง


ชาวเขียวประกาศเจตนารมณ์ของการไม่ใช้ความรุนแรง สร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ ความร่วมมือในสังคม และบุคคลเพื่อเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของโลก


ชาวเขียวเชื่อมั่นว่า ความมั่นคงควรเกิดจากความร่วมมือจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นธรรม จากความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมและความเคารพในสิทธิมนุษยชน มิใช่เกิดจากความมั่นคงของกองทัพทหาร


ปัจจัยที่เอื้อให้บรรลุเป้าหมาย


แนวคิดเรื่องความมั่นคงของโลก ต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม เศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ จิตวิทยาและวัฒนธรรม แทนการเน้นความมั่นคงทางทหารเป็นอันดับแรก


ระบบความมั่นคงของโลกต้องสร้างศักยภาพในทางป้องกัน การจัดการและแก้ไขข้อขัดแย้ง
ต้องเปลี่ยนสาเหตุของสงครามด้วยความเข้าใจและความเคารพในวัฒนธรรมอื่น ขจัดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ส่งเสริมอิสรภาพและประชาธิปไตย ขจัดความยากจน


ส่งเสริมข้อตกลงนานาชาติเพื่อยุติการใช้นิวเคลียร์ การใช้อาวุธทางชีวภาพและอาวุธเคมี การปลดอาวุธ ยุติระเบิดพลีชีพ และอาวุธยูเรเนียม


สนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรสหประชาชาติ ให้เป็นองค์กรโลก เพื่อจัดการความขัดแย้งและสร้างสันติภาพของโลกอย่างมีประสิทธิภาพ


ความเคารพในความหลากหลาย


ชาวเขียวเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ เพศ ศาสนา และมิติทางจิตวิญญาณ ในบริบทของความรับผิดชอบส่วนบุคคล ซึ่งเป็นชีวิตหนึ่งในโลก


ชาวเขียวต่อสู้เพื่อสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สุขภาพกายที่ดี และสุขภาพใจที่ดี


ปัจจัยที่เอื้อให้บรรลุเป้าหมาย


ยอมรับสิทธิของชนพื้นเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต ทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สิทธิในที่ดิน สิทธิในการปกครองตนเอง รวมทั้งชื่นชมในมรดกทางวัฒนธรรมที่ชนพื้นเมืองมอบให้แก่โลก


ยอมรับสิทธิของชนชาติส่วนน้อย ในการพัฒนาวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา โดยไม่มีการเหยียดหยาม หรือเลือกปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม ตามระบอบประชาธิปไตย


ยอมรับและเคารพความเป็นเพศพิเศษ ที่เป็นส่วนน้อย ต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม เช่น เกย์ เลสเบี้ยน คนที่รักคนเพศเดียวกัน


ยอมรับความเสมอภาคของหญิงชายในทุกมิติของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม


พันธกิจทางการเมือง ๑๐ ประการ


จากหลักการ ๖ ประการ ซึ่งดิฉันนำมาเป็นตัวอย่างเพียง ๔ ข้อนั้น ชาวเขียวของโลกได้กำหนดเป็นพันธกิจ ๑๐ ประการ คือ ๑.ประชาธิปไตย ๒.ความเสมอภาค ๓.การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและพลังงาน ๔.ความหลากหลายทางชีวภาพ ๕.การจัดการเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์บนหลักการความยั่งยืน ๖.สิทธิมนุษยชน ๗.อาหารและน้ำ ๘.การวางแผนเพื่อความยั่งยืน ๙.สันติภาพและความมั่นคง ๑๐.การปฏิบัติการระดับโลก


สองภารกิจสำคัญที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญน้อย แต่เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ได้เคลื่อนไหวกันมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว คือ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกับเรื่องอาหารและน้ำ


ความหลากหลายทางชีวภาพ


ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์ เราพากันลืมความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสังคมมนุษย์ จึงทำให้การสูญพันธุ์ เกิดขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่าของโลกยุคก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้น ปัจจุบันโลกเหลือพื้นที่ป่าดั้งเดิมแค่ ๒๐% ปริมาณปลา ๖๐% ถูกจับมากเกินควร ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพทำลายสูง มีการแพร่ขยายของพืชต่างถิ่น สัตว์ต่างถิ่น และเชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ที่อยู่อาศัย และสายพันธุ์พืชสัตว์ ถูกทำลายด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม และพัฒนาการเกษตร รวมทั้งความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติและการทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง


ธุรกิจเกษตรที่ส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยว และการตัดต่อพันธุกรรม เป็นปัจจัยทำลายล้างความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น และพันธุ์สัตว์พื้นเมือง และทำให้อ่อนแอ มีภูมิต้านทานโรคน้อยลง


ยังมีเนื้อหาอีกมากที่ต้องเขียนต่อฉบับหน้าค่ะ


หมายเหตุ ขอขอบคุณ มูลนิธิแฮริช โบล (Heinrich - Boll - Foundation) ผู้สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมประชุมเครือข่ายการเมืองสีเขียวทั้ง ๒ ครั้ง ที่แคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย และที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

*แปลเก็บความจาก "CHARTER OF THE GLOBAL GREEN, CANBERRA 2001