Skip to main content

๙ วันในเมียนมาร์ ไหว้พระธาตุอินทร์แขวน (ไจ้ ที โย)

คอลัมน์/ชุมชน

ดิฉันขออภัยอย่างยิ่งที่เขียนเรื่อง ๙ วันในเมียนมาร์ได้เพียง ๒ ตอนแล้วก็คั่นรายการด้วยเรื่องราวอื่น ๆ เนื่องจาก "คณะธรรมะทัวร์สบายๆ" ๒๖ ชีวิตที่นำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ  สุจริตกุล ได้ถ่ายรูปกันไว้หลายกล้องและไกด์อาสาคือ คุณปุ๊ก พจนา  จิรายุพัฒนา ผู้จัดรายการทัวร์ให้อย่างดีเยี่ยมก็เพิ่งได้มีโอกาสมาพบกันได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ไปเยือนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม นี้เอง ดิฉันจึงมีความพร้อมที่จะเขียนเรื่องได้อย่างต่อเนื่องแล้วค่ะ


 


ความทรงจำจากการเยือนพม่ายังตราตรึงอยู่ในใจ ดิฉันตั้งใจว่าจะศึกษาแผ่ความจริงเกี่ยวกับประชาชนของประเทศเมียนมาร์และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกให้มากขึ้น


 


วันแรกในย่างกุ้ง (๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙) ศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ  สุจริตกุล ได้เขียนบทกลอน "อนุสรณ์จาริกแสวงบุญ เมืองพม่า ๔-๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙" โดยร้องเป็นเพลงใช้ทำนอง"สาวไหมเมืองน่าน" ดังนี้


 


(สร้อย) เที่ยวไปในเมียนมาร์                       เราชวนกันมาธรรมะทัวร์สบาย ๆ (ซ้ำ)


สุวรรณภูมิถึงมิงกาลาดอน               [1]สองกลุ่มจรมารวมตัวกัน


            ยี่สิบสามสาวนั่น                            มีหนุ่มเพียงสามคน (สร้อย)


            "อ่องตุ๊กข์"ร้านนายสุขชื่อดัง            อาหารย่างกุ้งเมืองพม่า


            พวกเราหิวซ่า                               ล้อมวงกินสบายสบาย (สร้อย)


            ชมเจดีย์โบดาทาวน์                    พระพุทธรูป เช้าทัดจี เทพทันใจ


            กราบ(หุ่น)พระอาจารย์ใหญ่ มหาสีสยาดอร์ (สร้อย)


            มาย่างกุ้ง มุ่ง ชเวดากอง               หมู่พี่น้องร่วมเดินจงกรม


            ทุกคนชื่นชม                                สุขใจเมื่อได้บูชา (สร้อย)


            ห้องพักมองเห็นเจดีย์                     โรงแรมนี้ชื่อ"อยู่ซะน่า" (YUZANA)


            ไปเที่ยวทั่วแล้วกลับมา                   จะได้ไหว้อีกที


 


วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤศจิกายน โรงแรมปลุกให้ตื่นตีสี่จัดกระเป๋าเป็น ๒ ใบ ใบเล็กใส่เสื้อผ้าของใช้ที่จะไปหงสาวดี ๒ วัน ๑ คืน กลับมานอนที่ย่างกุ้งอีกคืนวันจันทร์ที่ ๖ กระเป๋าใบใหญ่ฝากไว้ที่โรงแรมได้


 


กินอาหารเช้าตั้งแต่ตีห้า แล้วออกจากโรงแรมตอนหกโมง เพื่อเดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวน (ไจ้ ที โย) ที่เมืองพะโค หรือหงสาวดีโดยรถบัสซึ่งมี ๒๖ ชีวิต จะใช้เวลาเดินทางธรรมะทัวร์ร่วมกัน


 


ช่วงนี้เรามีไกด์วิชาชีพชาวไทยใหญ่ ซึ่งพูดภาษาไทยได้ดี มีความรู้มาก ชื่อคำไส ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับเมียนมาร์โดยภาพรวมว่า


 


"ขณะนี้มีประชากร ๕๐ ล้านคน มีพระเณร ๕๐๐,๐๐๐ องค์ มีเขตแดนทางบกติดกับอินเดีย บังคลาเทศ จีน ไทย ลาว และเขตแดนทางทะเลติดกับไทย


 


ประชากรเป็นชาวพุทธ ๙๕ % มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมากทุกหมู่บ้านต้องมีวัดและเจดีย์ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท


 


การค้าระหว่างพม่ากับจีนมากกว่ากับไทย แต่ภาคใต้ของพม่าใช้สินค้าจากไทยเป็นส่วนใหญ่


 


พม่าได้ดุลการค้า เพราะมีทรัพยากรมากทั้งจากใต้ดิน คืออัญมณี ทองคำ แก๊สธรรมชาติ น้ำมัน ขายกระแสไฟฟ้าให้ไทย ขายสินค้าเกษตรทั้ง ข้าว ถั่ว ข้าวโพด  และทรัพยากรทางทะเลคืออาหารทะเล


 


สินค้านำเข้าคือ เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ น้ำมันปาล์ม แต่รัฐบาลไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากนัก ถนนหนทางสร้างในยุคที่อังกฤษปกครองจึงทรุดโทรมมาก ระบบไฟฟ้ามีแต่ในเมืองใหญ่ แม้ในย่างกุ้งไฟฟ้ายังดับเป็นประจำ


 


นักท่องเที่ยวไทยเข้ามาพม่ามากที่สุด ถึง ๕๐% เป้าหมายคือมานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา


 


อังกฤษได้ปกครองพม่าถึง ๕๖ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๖ หลังจากได้เอกราชแล้วจนถึงบัดนี้ก็ยังพัฒนาประเทศเป็นประชาธิปไตยไม่ได้  เพราะชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาลมีการสู้รบกันตลอดมา"


 


ระหว่างการเดินทางในรถบัส อาจารย์ [2]นฤชล วงศฤงคารฤทธิ์ ผู้ประสานงานการเดินทางครั้งนี้ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์โดยขอให้สมาชิกธรรมะทัวร์สบาย ๆ แนะนำตัว เพื่อที่จะได้รู้จักกัน โดยศูนย์รวมจิตใจของพวกเราคือผู้สูงวัย ๒ ท่าน (ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล อายุ ๗๗ ปี กับอดีตอธิการวิทยาลัยครู อาจารย์ ดร.ประเยาว์  ศักดิ์ศรี อายุ ๘๘ ปี) ซึ่งท่านเป็นแบบอย่างของผู้เข้าถึงธรรมะ ไม่ว่าการเดินทางจะยากลำบากแค่ไหน


 


อาจารย์ประเยาว์ได้ฝากข้อคิดว่า "ใจที่เป็นสุข มองอะไร ทำอะไร อยู่อย่างไร ก็เป็นสุขไปหมด จะไปรับความทุกข์มาใส่ตัวทำไม" ดังนั้นไม่ว่าระหว่างการเดินทางจะมีความยากลำบากอย่างไรท่านก็สงบ ผ่องใส มีสุขอันประณีตอยู่ในใจเสมอ


 


ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ ได้นำร้องเพลงธรรมะทัวร์ ซึ่งท่านแต่งท่อนใหม่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ


 


สภาพชีวิตของประชาชนที่รถผ่านไปเป็นทุ่งนา ทุ่งข้าวโพด ถั่ว พืชผักต่าง ๆ เห็นเกษตรกรใช้วัวไถนา ใช้วัวเทียมเกวียน ใช้รถม้า ซึ่งเป็นวิถีแห่งการพึ่งพาตนเองเหมือนเกษตรกรไทยในอดีต


 


คำศัพท์พม่าที่ทุกคนโดยเฉพาะผู้หญิงจำได้ดีคือ "เอ็งตา" แปลว่าสุขา ทุกครั้งที่รถจอดให้พักกินน้ำชา กาแฟ เราจะต้องถามหาทางไปสุขา แล้วต่อคิวกันยาว เพราะห้อง (ไม่) สุขามีน้อยมาก แค่ที่ละ ๑-๒ ห้อง เป็นห้องเล็ก ๆ แคบ ๆ ซึ่งคงไม่ค่อยได้ล้างขัดถูกัน


 


เมื่อรถเข้าสู่เมืองหงสาวดี ไกด์หนุ่มชี้ให้ดูสัญลักษณ์ของเมืองคือหงส์สีทอง ๒ ตัว เกาะซ้อนกันอยู่ อธิบายว่าหงสาวดีคือที่เก่าแก่ของชาวมอญ มีตำนานว่าดินแดนนี้คือสุวรรณภูมิในอดีต พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงหลังตรัสรู้แล้ว และทำนายว่าที่นี่จะเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาในอนาคต


 


หงส์ ๒ ตัวนี้เล่นน้ำอยู่ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าจึงจะมาเข้าเฝ้า แต่พื้นที่มีน้อย หงส์ตัวเมียจึงต้องเกาะอยู่บนหลังของตัวผู้ ชาวมอญจึงสร้างรูปปั้นไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เข้าใจถึงความเป็นมาในอดีต


 


น้องปุ๊กกับมะแต๊ดแต๊กได้เตรียมการให้พวกเราได้ขึ้นไปพระธาตุอินทร์แขวนอย่างสะดวกที่สุด ได้เหมารถ ๖ ล้อ ขึ้นไปถึงโรงแรมที่พักที่ใกล้พระธาตุ โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ ไม่ต้องลงเดิน ไม่ต้องจ้างลูกหาบ


 


สภาพรถคือกระบะท้ายวางแผ่นไม้พาดตามขวาง ให้นั่งได้แถวละ ๕-๖ คน ผู้สูงอายุนั่งด้านหน้ากับคนขับ ส่วนวัยรุ่น (อายุต่ำกว่า ๖๐ ปี) ให้นั่งกระบะท้ายรับลมเย็น


 


โชเฟอร์รถเชี่ยวชาญมาก ควบรถผ่านถนนคดโค้งขึ้นดอยสูงประมาณ ๑ ชั่วโมงจึงถึงที่พัก สมาชิกจึงทั้งหวาดเสียวและตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน


 


ไปถึงที่พัก เก็บกระเป๋าแล้วก็เป็นเวลาพลบค่ำพอดี ไกด์พาไปกินอาหารที่บริเวณทางขึ้นพระธาตุ มีแม่ค้าขายอาหารหลากหลายชนิด ที่เด่นคือข้าวเหนียวคลุกขมิ้นเป็นสีเหลือง กินกับ ปลา กุ้งชุบแป้งทอด กับข้าวเกรียบแบบมอญ แม่ค้าทาหน้าด้วยแป้งทาร์นาคา นั่งทำข้าวเกรียบร้อน ๆ มีสองแบบ คือไส้หวานมะพร้าวโรยกับน้ำตาล งา ไส้เค็มคือไข่ไก่กับถั่วเหลือง พวกเราไปกินในร้านสั่งข้าวราดกับหรือก๋วยเตี๋ยวก็ได้ เป็นอาหารพื้นบ้านแท้ๆ ห้องส้วมก็เป็นแบบพื้นบ้านแท้ ๆ เหมือนกัน


 



แม่ค้าขายอาหาร


 



แม่ค้านั่งทำขนมเบื้องขาย





กินเสร็จก็ขึ้นมาไหว้พระธาตุอินทร์แขวน (ไจ้ทีโย) ที่แสนศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 5 พฤศจิกายน วันลอยกระทง คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวง แสงจันทร์ทรงกลดทาบบนรัศมีของพระเจดีย์ ทำให้ใจดื่มด่ำ


 



พระจันทร์ทรงกลดที่พระธาตุอินทร์แขวน


 


ชาวพม่ามาสักการะไจ้ ที โย กันมากมาย ผู้ขายเข้าไปสักการะปิดทองนั่งสวดมนต์อยู่ส่วนในที่มีรั้วกั้นได้ ผู้หญิงก็นั่งสวดมนต์ภาวนากันที่ส่วนนอก


 



การสักการบูชาพระธาตุอินทร์แขวน



เช้ารุ่งขึ้น (วันจันทร์ ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙) น้องปู (วลัยรุจี  วิเชียรทวี) กับดิฉันชวนกันไปไหว้พระธาตุ สายหมอกปกคลุมอยู่เต็มดอย ชาวบ้านนำอาหาร(ซึ่งไม่มีเนื้อสัตว์) ซึ่งจัดไว้ให้ราคาถาดละ  ๑,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ จั๊ด นำไปบูชาพระประจำวันเกิด การบูชาไจ้ทีโย มีทั้งการถวายกระดิ่ง ถวายค่าไฟ ถวายอาหาร และสวดมนต์ภาวนา บนลานกว้างที่เพิ่งจัดทำขึ้นใหม่ มีผู้ศรัทธาอยู่เต็มไปหมด


 



การถวายอาหารบูชาพระประจำวันเกิด


 


ลูกหาบพากันแบกเสลี่ยง ตื่นแต่เช้ามาทำหน้าที่ของตน พ่อค้าแม่ค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มาขายของ เป็นยามเช้าที่สงบสุข เรียบง่าย ที่จางหายไปแล้วในสังคมทุนนิยม


 



ลูกหาบรับจ้างแบกของท่ามกลางสายหมอกยามเช้า


 


ตอนหน้าจะพาไปเที่ยวหงสาวดี โดยน้องปุ๊กไกด์อาสาให้ข้อมูลด้วยใจรักและศรัทธาในพระพุทธศาสนาค่ะ


 


 


**หมายเหตุ ขอขอบคุณไกด์อาสา คุณพจนา จิรายุพัฒนา ที่ให้ความรู้ ให้ข้อมูลอย่างละเอียด และคณะธรรมะทัวร์ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ






[1] กลุ่มหนึ่งเดินทางโดยการบินไทย อีกกลุ่มเดินทางโดยสายการบินแอร์เอเชีย



[2] วิทยากรอบรมธรรมะของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์