Skip to main content

"อินทนนท์" และหนทาง

คอลัมน์/ชุมชน

 



ทิวทัศน์เสี้ยวหนึ่งจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน


 


11.25 นาที สายวันกลางเดือนธันวาคม 2549


 


ณ ภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ พระอาทิตย์ยังเอียงอาย ไม่ยอมโผล่ออกจากเมฆและสายหมอกที่ถูกหอบขึ้นมาจากโตรกผา


 


อากาศหนาวเย็นจับใจ


 


5 ชั่วโมงก่อน ผมทิ้งกรุงเทพฯ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส มาแตะท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส และขึ้นมาถึงดอยอินทนนท์ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส


 


หนักหนาสาหัสกับร่างกายจนเกินไปจนเป็นชนวนให้มันประท้วงอย่างรุนแรงด้วยอาการน้ำมูกไหลขณะเดินขึ้นสู่กิ่วแม่ปาน - - ที่อยู่ของม้าเทวดา หรือ "กวางผา"


 


ความสงบของโตรกผา ทะเลหมอก ทำให้ผมคิดถึงเรื่องราวต่างๆ มากมายที่เคยเกิดขึ้นที่นี่


 


ภาพของ ม..ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าผู้เสี่ยงชีวิตลงไปในพื้นที่ซึ่งปักป้ายว่า "อันตราย หน้าผาชัน" เพื่อดักรอถ่ายรูปกวางผาถึง 3 ปี เพื่อพยายามบอกเล่าเรื่องของสัตว์สายพันธุ์หนึ่งที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุดซึ่งมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง "เกาะ" หรือนัยหนึ่งคือ "ผืนป่า" บนเขาสูงซึ่งถูกมนุษย์รุกไล่ด้วยเมือง และตัดแบ่งด้วยถนนหนทางจนกลายเป็นหย่อมสีเขียวกระจายไปทั่วภาคเหนือ


 


วันนี้เขาคงยังทำงานอยู่ในป่าที่ไหนสักแห่งในประเทศไทย


 


นึกถึงไฟป่าบนกิ่วแม่ปานซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ซึ่งเจ้าหน้าที่เล่าว่าเผาผลาญกุหลาบพันปี พืชสำคัญซึ่งขึ้นในที่สูงเกิน 2 พันเมตรจนวอดวายไปหลายต้น โดยเฉพาะแถบผาตะวันตกของดอยอินทนนท์วันนี้ยังเหลือริ้วรอยมากมายให้ผู้มาเยือนได้พบเห็น


 


นอกจากกุหลาบพันปี ม้าเทวดาก็โดนไปด้วย


"มันโดนไปหลายตัวเห็นซาก"


"เกิดไฟป่าบ่อยเหรอครับ เกิดจากอะไร"


"คนทั้งนั้น"


 


เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด….


คนนำทางหยุดและเอ่ย "เสียงแบบนี้ปืนยิงนก"


ก่อนจะพาเดินต่อไปจนถึงปลายหน้าผา ซึ่งมีทางเชื่อมไปสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่ผมใช้เป็นจุดเริ่มต้นเมื่อ 2 ชั่วโมงก่อน  ตรงปลายผานั้นยังปรากฎรอยตีนวัวของชาวบ้านที่มาหากิน รวมไปถึงร่องรอยบนเปลือกต้นไม้หลายต้นซึ่งเกิดจากการที่กวางหนุ่มเอาเขาที่กำลังโตมาสีแก้คัน


 


เขาชี้ให้ผมดู "ทางด่วน" ของสัตว์เล็กๆ ซึ่งปรากฏเป็นรูปขอนไม้ล้มที่มีบรรดาพืชพวกมอร์สกับเฟิร์นขึ้นคลุมเขียวระบัดไปทั่ว


"ทางด่วนนี้ พวกหนู และพวกสัตว์ตัวเล็กๆ ใช้เดินหลบสัตว์ใหญ่"


 


มอส เฟิร์น ที่ผมเห็นนั้น กลั่นไอน้ำจากหมอกออกเป็นหยดน้ำไหลหลายเม็ดให้เห็น ก่อนจะไหลลงพื้นกลายเป็นธารน้ำเล็กๆ หลายสาย แล้วไหลไปรวมกันเป็นน้ำตก - - ให้กำเนิดแม่น้ำ


 


ใช่แล้ว…อินทนนท์คือหนึ่งในขุนน้ำ (ต้นน้ำ) แม่ปิง


แต่วันนี้ เสียงเล่าจากคนที่ดูแลที่นี่เล่าว่าอินทนนท์กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก


ในจำนวนนักท่องเที่ยวนับหมื่นขึ้นดอยช่วงเทศกาลปีใหม่ มีคนพวกหนึ่งที่ชอบเที่ยวแบบไม่วางแผนบุกขึ้นที่ดอยอินทนนท์ทั้งๆ ที่ไม่มีการเตรียมตัว ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ต้องจัดหาเครื่องนุ่งห่มและหาที่หลับนอนให้ นอกจากนี้บางกลุ่มยังทำเสียงดังรบกวนความสงบบริเวณดังกล่าวอีกด้วย


เป็นปัญหาที่มีมาชั่วนาตาปี และเกิดขึ้นทุกปี


"ช่วง 10 วันก่อนและหลังปีใหม่ที่เจ้าหน้าที่มีงานล้นมือ มันคือพายุ"


 


คนนำทางแลกเปลี่ยนว่า "รู้ไหมชาวบ้านต้องอยู่กับป่า ต้องหาอยู่หากิน ถึงจะมีบางส่วนทำลายป่าบ้าง แต่นั่นก็เพื่อปากท้อง และบางเผ่ายังดูแลผืนป่าด้วยซ้ำ ที่น่ากลัวที่สุดคือคนเมือง เพราะเขาดึงทรัพยากรออกจากป่าโดยไม่รู้ตัว แล้วก็โทษคนรอบๆ ป่าว่าเป็นผู้ทำลาย"


 


เขาถาม - - "รู้ไหมว่าการตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ มีขึ้นเพื่ออะไร"


ผมคิดไม่ออก นอกจากคำว่า "อนุรักษ์"


เขาตอบ - - "ก็เพื่อที่จะหยุดการรุกรานของคนเมือง แต่มันกระทบกับชาวบ้านรอบๆ ป่าด้วย"


 


เย็นวันนั้น หลังลงจากกิ่วแม่ปาน ผมไปนอนที่บ้านแม่กลางหลวง ที่อยู่ตีนดอย  ฟังเสียงน้ำไหลท่ามกลางอากาศหนาวเย็น


 


พร้อมกับเผชิญความจริงที่ว่า ในอดีต อาจมีคนใช้ป่าล้อมเมืองทำสงครามอุดมการณ์


แต่วันนี้ เมือง (ในทางกายภาพ) ล้อมป่าเอาไว้แทบจะจนมุมแล้ว


ใครบางคนบนนั้นกล่าวว่า


"อินทนนท์ยังมีโครงการเปิดพื้นที่เดินป่าใหม่ เพื่อที่จะไปดูกุหลาบพันปี แต่ขอดูผลกระทบก่อน แต่โจทย์ของเราคือ ทำยังไงที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ได้ เป็นไปไม่ได้ที่ทรัพยากรธรรมชาติจะถูกรักษาเอาไว้เฉยๆ"


 


ในแววตาของผู้นำทาง หนทางข้างหน้าของดอยแห่งนี้ดูมืดมิด