Skip to main content

เผาปิฏกไตรเป็นเชื้อไฟแห่งปัญญา (๑)

คอลัมน์/ชุมชน

เรจินัลด์ เรย์ ถ่ายทอด


วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง


 



 


ในโลกสมัยใหม่ ศาสนาและเรื่องทางจิตวิญญาณมักจะถูกมองไปเป็นรูปของหลักการ ปรัชญา และความเชื่อ โดยมากเราก็มักจะทึกทักไปว่าเส้นทางการค้นหาทางจิตวิญญาณนั้นคงจะถูกปูด้วยหลักวิธีคิดที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง สารัตถะสูงสุดในวิถีพุทธกลับไม่ได้อยู่ที่การรู้หลักการแนวคิด หรือการท่องจำคัมภีร์พระไตรปิฏกทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ แต่มันคือ เส้นทางการปฏิบัติทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายใน (Transformation) และการตื่นรู้ (Realization) ในตัวของผู้ปฏิบัติ


 


อันชายผู้หนึ่งกำลังจะตายจากบาดแผลที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนั้นสิ่งที่เขาต้องการก็คือ ความรู้อันจะนำไปปฏิบัติได้ นั่นคือวิธีที่จะดึงลูกศรออกและการเยียวยาบาดแผล สำหรับความรู้อื่นๆ นอกจากจะเกินความจำเป็นแล้ว ยังจะก่อให้เกิดอันตรายเสียอีกด้วย เพราะมันจะทำให้เกิดความไขว้เขวและสูญเสียเวลาอันมีค่า เช่นเดียวกับชายผู้นั้น สิ่งที่เราทุกคนต้องการ ก็คือความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิต หาใช่หลักวิธีคิดอันสูงส่งที่มุ่งแต่จะพยายามอธิบายว่าสิ่งต่างๆว่าควรเป็นเช่นไร   


 


คนส่วนมากเชื่อในความมีอยู่ของ "ตัวตน" ที่เต็มแน่นและถาวร ซึ่งก็คือความเชื่อใน "ตัวฉัน" "ของฉัน" อันต้องการการดูแลเอาใจใส่ ปกป้อง และรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง ความเชื่อนี้ได้นำเราไปสู่การใช้เวลาและพลังชีวิตอย่างมหาศาลในการกระทำเพื่อรับใช้ "ตัวตน" ที่ว่านั้น ก็ด้วยความเชื่อนี้นี่เอง เมื่อใดที่ตัวตนนั้นเริ่มรู้สึกสั่นคลอน อ่อนแอ หรือกระทั่งรู้สึกถึงความไม่มีอยู่จริง เรามักจะตื่นตระหนกไปว่ามีอะไรที่ "เลวร้าย" ได้เกิดขึ้นเสียแล้ว  เราอาจจะตรงรี่ไปยังมุมหนังสือคู่มือฝึกตนที่ร้านหนังสือใกล้บ้าน ปรึกษาจิตแพทย์ พุ่งไปยังตู้เย็นหรือสถานออกกำลังกาย หากเป็นคนบ้างาน เราอาจจะตรงรี่กลับไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อจะทำงานให้หนักขึ้น หากหดหู่มากเข้า ก็กระดกเหล้าสักแก้ว เสพยา หรือโทรหาเพื่อน 


 


เมื่อชีวิตตั้งอยู่บนความเชื่อในตัวตนเสียแล้ว หากคนรอบข้างเมินเฉยหรือเยาะเย้ยเรา เราก็จะมองเขาเหล่านั้นว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ จากนั้นก็จะระดมเอาความรู้สึก ทัศนคติ และการกระทำ ที่เราได้พิจารณาว่าสาสมต่อบุคคลที่ได้ชื่อว่า "ต่อต้าน" ตัวตนของเรา  เรียกได้ว่าเป็นงานหนักอึ้งทีเดียวที่จะพยายามรักษาอัตตานั้นไว้ให้ดูดีตลอดเวลา แต่กระนั้นก็ดูเหมือนเราต่างมุ่งมั่นเสริมสร้างตัวตนให้แข็งแรงกันเป็นโครงการระยะยาวทั้งชีวิตกันเลยทีเดียว


 


ความเชื่อทั้งหลายมีอำนาจมหาศาล ก็เพราะสิ่งที่เราทำในทุกขณะของชีวิตต่างก็ถูกชักนำโดยความเชื่อ หากความเชื่อในสัจธรรมของเราถูกต้อง ชีวิตนี้ก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า แต่หากเป็นความเชื่อที่ผิดเสียแล้ว ชีวิตเราก็กำลังถูกตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มีแก่นสาร ชีวิตไร้ซึ่งความดี ความงาม และความจริง และแน่นอนว่าไม่ช้าก็เร็วรากฐานผิดๆของอัตตาก็อาจถึงคราทรุดฮวบ และชีวิตก็เราก็จะล่มสลายอย่างไม่เป็นท่า ไม่เชื่อก็ลองสังเกตรอบตัวคุณ สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และท้ายที่สุดแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นกับเราทุกคนเมื่อเราต้องเผชิญกับความตายในท้ายที่สุด ความเชื่อใน "ตัวตน" ที่เต็มแน่นและถาวรเป็นตัวอย่างของมิจฉาทิฏฐิในลักษณะหนึ่ง อาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ก็ด้วยความเชื่อนี้นี่เอง ที่ไม่ว่าเราจะทุ่มเทให้กับมันมากเท่าไร ก็ไม่สามารถถูกต้องขึ้นมาได้ และก็ไม่ได้สัมพันธ์กับสภาวะอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งแต่อย่างใดเลย


 


รู้จักตั้งคำถาม


 



 


ขั้นแรกของเส้นทางการปฏิบัติทางจิตวิญญาณก็คือ การรู้จักตั้งคำถามต่อความเชื่อทั้งหลายทั้งมวลที่เราแบกติดตัวไปไหนมาไหน การตั้งคำถามนี่เองที่จะกระตุ้นเตือนให้เราได้ตระหนักถึงบางเหตุการณ์ในชีวิต บางสิ่งที่ก่อให้เกิดความปวดร้าว ความสับสน หรือ ความสิ้นหวัง ถึงจุดหนึ่งเราก็จะเห็นว่าหลักการ และความคาดหวังร้อยแปด นอกจากจะไม่มีทางที่จะถูกทำให้เป็นจริงได้แล้ว กลับยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อตัวเราและผู้คนรอบข้าง และ ณ จุดนี้นี่เองที่เราจะเริ่มต้นสนใจการภาวนาอย่างจริงจัง อาจจะเริ่มด้วยการมองการภาวนาเป็นหนทางที่เป็นไปได้ที่จะช่วยให้เราได้มองตัวเองอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเริ่มต้นที่จะเข้าใจถึงพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมากขึ้น


 


เราอาจเริ่มด้วยการอ่านตำรับตำรา พูดคุยกับกัลยาณมิตร หรือ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมของธรรมาจารย์ สิ่งแรกที่พุทธศาสนาแสดงให้เราเห็นก็คือความจำเป็นที่จะต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น และนั่นก็หมายถึงความเข้าใจที่ถูกต้องในเชิงหลักการว่า เราคือใคร และชีวิตคืออะไร เราต้องเริ่มที่จะสลัดมิจฉาทิฐิของสิ่งที่เรามีอยู่ในหัวทิ้งไปเสีย แล้วเริ่มตั้งคำถาม แสวงหา และเรียนรู้ ซึ่งดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ให้เราได้เข้าสู่วิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่แท้


 


เราอาจมีคำถามที่ว่า ถ้าไม่มีใครยึดมั่นถือมั่นในการมีอยู่จริงของอัตตา แล้วจะมาฝึกภาวนากันไปทำไมล่ะ? เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าอัตตา คือสิ่งตรงข้ามกับการมีชีวิตที่แท้ การปฏิบัติภาวนาเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการมองดูประสบการณ์ด้านใน ตรงกันข้ามกับอัตตา ที่มีแต่หลักคิดฟุ้งซ่านที่ไร้อนาคต ด้วยการรู้จักตั้งคำถาม และมองดูประสบการณ์ด้านในอย่างง่ายๆนี่เองที่จะส่งสัญญาณถึงการอวสานของมัน ความคับแคบค่อยๆถูกเปิดกว้างสู่การค้นหาความหมายที่ลึกซึ้ง


 


ประสบการณ์ด้านในทำให้เราเริ่มสังเกตเห็นว่า ความคิดและหลักการทั้งหลายหาได้เต็มแน่น ไร้ช่องโหว่อย่างที่เราเคยคิด แม้แต่หลักพุทธศาสนาที่เราอ่านพบในพระไตรปิฎก ในประสบการณ์จริงของการฝึกฝนด้านใน เราเริ่มค้นพบพื้นที่ว่างสำหรับอารมณ์และความรู้สึก ในรอยต่อของหลักการที่เรามีอยู่ในหัวอย่างเต็มเอี้ยด แสงสว่างแห่งชีวิตได้ลอดผ่านให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่กว้างใหญ่ไพศาล เราเริ่มสัมผัสประสบการณ์ตรงที่อธิบายไม่ได้ เป็นแง่มุมเกี่ยวกับตัวเราที่ไม่เคยได้สังเกตและพบเห็นมาก่อน