Skip to main content

เจ้าแห่งปลา พญาแห่งน้ำ พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกที่เชียงของ

คอลัมน์/ชุมชน


ชาวอำเภอเชียงของ เวียงแก่น และเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีวิถีชีวิตที่ผูกพันและพึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างสงบสุขมาหลายชั่วคน ประกอบด้วยหลายชนชาติ ทั้งชาวล้านนา ชาวไทยลื้อ ขมุ ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ซึ่งมีอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกผักสวนครัวริมโขง เก็บสาหร่าย (ไก) ทำประมงพื้นบ้าน โดยมีการจับปลาบึกช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนมิถุนายน ประมาณ ๖ สัปดาห์ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วย การบวงสรวงเทพยดาผู้คุ้มครองแม่น้ำโขง และเทพแห่งปลาบึก เพื่อขอจับปลาบึกตามฤดูกาล เป็นพิธีกรรมอันแสดงถึงความเคารพ และอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ


 




ในอดีต พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก จะทำกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลจับปลาบึก โดยสังเกตจากธรรมชาติ คือ ดอกซอมพอ (ดอกหางนกยูง) บาน นกนางนวลบินมาเป็นกลุ่มก้อน ปลาเริมนำมาก่อน หลังจากนั้น ปลาบึกก็จะตามมา


เมื่อชาวประมงจับปลาบึกได้ก็จะนำมาแบ่งปันกัน เด็ก ๆ จะห่อข้าวกับเนื้อปลาบึกเอาไปกินที่โรงเรียน ไม่มีการซื้อขาย ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยปลาบึกจะจับได้เฉพาะที่บ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ


พิธีบวงสรวงที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ รับเสด็จเจ้าฟ้าชายอากิชิโนแห่งประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็ถือเป็นประเพณีต่อเนื่องทุกปี ทุกวันที่ ๑๘ เมษายน เริ่มเวลา ๐๙.๐๐ น. โดยเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด มีนายอำเภอเชียงของเป็นศูนย์ประสานงาน หลังจากนั้นการท่องเที่ยวเชียงของก็ได้รับการส่งเสริม โดยชูประเด็นปลาบึกเป็นหลัก


ค่านิยมการกินเนื้อปลาบึกเกิดขึ้น (ทำให้ปลาบึกกลายเป็นปลาที่มีราคาสูง เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ) เพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีเนื้อละเอียด รสดี เป็นปลากินพืช ถือศีล ใครได้กินแล้วจะอายุยืน สุขภาพดี มีโชคลาภ มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่จับปลา แล้วส่งต่อไปขายภัตตาคารในจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ราคาปลาบึกจึงสูงถือกิโลกรัมละ ๒๘๐ บาท บางปีสูงถึงกิโลกรัมละ ๔๐๐ บาท


ชมรมปลาบึกจึงตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการประกันราคาขั้นต่ำ และประสานงานกับหน่วยงานราชการ สื่อมวลชน พ่อค้า นักท่องเที่ยว นักวิชาการ โดยปัจจุบัน นายพุ่ม บุญหนัก เป็นประธาน พ่อซ้อ จินะราช และพ่อบุญเรือน จินะราช เป็นที่ปรึกษา มีเรือในสังกัดชมรม ๖๐ ลำ และมีสมาชิกอย่างน้อยลำละ ๔ คน


กรมประมงกำหนดระเบียบที่จะออกอาญาบัตร อนุญาตให้ชาวประมงที่ขึ้นทะเบียนไว้ จับปลาบึกได้ มีเป้าหมายเพื่อให้นักวิชาการประมงรีดไข่และน้ำเชื้อ ใช้ในการผสมเทียม และขยายพันธุ์ปลาบึก กลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งขายให้เอกชน ประชาชนนำไปเลี้ยงเพื่อขายได้


สื่อมวลชน ให้ความสนใจกับพิธีบวงสรวงปลาบึก และการจับปลาบึกมาก เมื่อชาวประมงจับปลาบึกได้ มักเป็นข่าวหน้าหนึ่งเสมอ นักท่องเที่ยวจึงสนใจไปดูปลาบึกที่หาดไคร้กันมาก ทำให้ชาวเชียงของมีรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ คือ มีเกสต์เฮ้าท์ขนาดเล็ก แบบกิจการในครอบครัว กระจายตัวริมแม่น้ำโขง ไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่ มีร้านอาหาร ภัตตาคารขนาดกลาง ที่มีเมนูเด็ดคือ อาหารประเภทปลาจากแม่น้ำโขง รวมทั้งร้านของพื้นเมืองที่ระลึกอยู่หลายแห่ง


สถิติการจับปลาบึกที่ชมรมปลาบึกบันทึกไว้ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ ปีที่จับปลาบึกได้มากที่สุด คือ ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จำนวน ๖๙ ตัว




ชาวเชียงของเริ่มตระหนักว่าเกิดวิกฤตต่อแม่น้ำโขงแล้ว โดยปรากฏการณ์น้ำขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ วันนี้น้ำขึ้น พรุ่งนี้น้ำลง อย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้ ส่งผลกระทบต่ออาชีพของผู้คนริมฝั่ง ทั้งผู้ปลูกผักริมฝั่งโขง ซึ่งผักที่ปลูกไว้ถูกน้ำท่วม ตลิ่งพัง บ้าน ถนน ริมตลิ่งพังลงในน้ำ กลุ่มแม่หญิงเก็บไก ไม่มีไกให้เก็บ เพราะน้ำโขงขุ่น ไม่ใส จนแสงแดดส่องไม่ถึง ทำให้ไกไม่สามารถเติบโตได้ดี ปลาบึกซึ่งกินไกเป็นอาหาร ก็ไม่มาให้ชาวประมงจับเป็นเวลา ๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๖


ผู้ได้รับผลกระทบจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชื่อ กลุ่มรักษ์เชียงของ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ เริ่มศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาโดยร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์ทั้งในประเทศ สากล นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาหลายคณะ คือ คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ตรวจสอบรัฐบาลในฐานะตัวแทนของคนไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสากล


กลุ่มรักษ์เชียงของและพันธมิตรได้ศึกษาพบว่า สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง คือ การสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำโขง คือ แม่น้ำล้านช้างในมณฑลยูนนานของจีน และจีนได้ให้ทุนโครงการปรับปรุงแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งได้ระเบิดเกาะแก่งในเขตพม่า ลาวไปแล้ว ส่วนแผนการระเบิดคอนผีหลงในเขตเชียงของ ถูกระงับไว้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๔ เพราะถูกกระแสคัดค้านอย่างหนัก และการระเบิดเกาะแก่งอาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึก ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว


แม้จะจับปลาบึกไม่ได้ถึง ๓ ปี แต่ชมรมปลาบึกไม่ละความพยายาม ในปี ๒๕๔๗ จึงจับปลาบึกได้ถึง ๗ ตัว และปีนี้ก็ได้ทำพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๘ นี้เอง โดย สส.บัวสอน ประชามอญ และดิฉัน ได้ร่วมกันเป็นประธานเปิดงาน โดยนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ (นายนวพล อุ่ยอุทัย) เป็นผู้กล่าวรายงาน


พิธีการคือ พ่อพราหมณ์ทำหน้าที่สวดบูชาเทพเจ้าแห่งแม่น้ำโขง บูชาแม่ย่านางเรือ และขอขมาเทพแห่งปลาบึก ที่จะขอจับปลาบึกเพื่ออาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน





จากนั้นเป็นการฟ้อนอันงดงามของโรงเรียนอนุบาลเชียงของ เพื่อบูชาแด่เทพเจ้า โดยนักเรียนเก่า ๔ คนของโรงเรียน ซึ่งฝึกฝนมาหลายปี โดยคุณครูดวงพร วงป้อ นักเรียนฟ้อนได้อ่อนช้อย แต่งกายด้วยผ้าซิ่นตีนจก ห่มสไบ ดูสวยงาม มีเอกลักษณ์ เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น


กิจกรรมสุดท้าย คือ การปล่อยปลาบึกลงแม่น้ำโขง โดยหัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดหนองหลวง นายบรรจง จำนงคีตะธรรมะ นำพันธุ์ปลาบึกมาให้จำนวนหลายพันตัว


 



สส.บัวสอน ได้เชิญผู้ร่วมจัดงาน สื่อมวลชนและดิฉันไปทานข้าวกลางวัน ซึ่งดิฉันได้ปรึกษาว่า ทำอย่างไรจะก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาคประชาชนและภาครัฐของ ๖ ประเทศ เพื่อร่วมกันใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ พันธุ์ปลา พันธุ์พืช อันเป็นฐานความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ๖๐ ล้านคน ๑๐๐ ชนชาติโดยชูประเด็นการอนุรักษ์ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีแห่งเดียวที่แม่น้ำโขง และมีสถิติการจับได้เพียงแห่งเดียวในโลกที่อำเภอเชียงของ


ข้อเสนอของ สส.บัวสอน คือ การสร้างความร่วมมือกับ ๔ ประเทศท้ายน้ำ คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ให้ออกกฎหมายกำหนดให้ปลาบึกเป็นสัตว์สงวน แล้วหาอาชีพรองรับให้พรานปลาบึกแทน ส่วนนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ ชี้แจงว่า ได้เสนอยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดให้สร้างศูนย์วิจัยปลาน้ำจืดที่บ้านหาดไคร้เชียงของ เพราะเป็นแห่งแรกของโลกที่เพาะพันธุ์ปลาบึกได้โดยวิจัยประมงของประเทศไทย รวมทั้งตั้งกองทุนอนุรักษ์ปลาบึก เพื่อการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ



สมาชิกชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ราว ๒๐ คน ได้นั่งคุยกันที่หน้าวัดหาดไคร้ ดิฉันจึงขอร่วมวงด้วย ซึ่งได้รับข้อเสนอมาดังนี้



๑. งานบวงสรวงปลาบึกควรเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติและระดับโลก เพราะเป็นแห่งเดียวในโลก โดยควรเป็นงานกระชับความสัมพันธ์ไทย-ลาว ซึ่งเป็นลูกแม่น้ำโขงเหมือนกัน ขอให้กรมประมง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายอำเภอเชียงของ ผู้ว่า CEO นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล สส. สว. อบต. อบจ. ส่งเสริมให้ชาวบ้านริมน้ำโขง ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ซึ่งเป็นโอกาสให้ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น


๒. ชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้พร้อมที่จะอนุรักษ์ปลาบึก เปลี่ยนจากพรานผู้ล่า เป็นผู้ให้ความรู้ จากผู้จับเป็นผู้อนุรักษ์ โดยทำงานวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาบึก นำนักท่องเที่ยวศึกษาชีวิตริมโขง ในลักษณะ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ฟื้นฟูพื้นที่ปลูกผักริมโขง กลุ่มแม่น้ำหญิงเก็บไก หรือประมงพื้นบ้าน " สร้างห้างดูปลาบึกและปลาชนิดต่าง ๆ ในน้ำโขง" โดยพรานปลาเป็นผู้ให้ความรู้ทั้งคนแก่ เด็กจะได้มีอาชีพร่วมกัน ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนอย่างจริงจังโดยเร็วที่สุด


๓. ควรสร้างพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ( AQUARIUM ) ให้เห็นวงจรชีวิตของปลาบึกในแม่น้ำโขง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนที่บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี


๔. ชาวบ้านกังวลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่อำเภอเชียงของประธานกลุ่มแม่บ้านเชียงของ กล่าวว่า " กลัวธรรมชาติจะเสีย กลัวสังคมจะเสื่อม" กลัวว่านิคมฯ จะทำให้น้ำโขง น้ำอิง เน่าเสีย อากาศเสีย ดินเสีย ชาวบ้านจะไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการจ้างแรงงานจากจีนมากกว่า แรงงานไทยก็ทำได้เพียงคนหนุ่ม ส่วนคนกลางคน คนแก่จะไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ อาชญากรรม ของเถื่อน คนเถื่อนจะเข้ามามาก ทั้งการสร้างนิคมอุตสาหกรรม และการสร้างสะพานไทย-ลาวที่เชียงของ ชาวบ้านห่วงว่า ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ รัฐบาล นายทุน ชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร


กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูลทุกด้านอย่างโปร่งใส และให้ชาวบ้านร่วมศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมชาติ รวมทั้งให้ชาวบ้านทุกกลุ่มมีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง


เห็นความร่วมมือของชาวริมโขงที่เชียงของ ซึ่งพยายามศึกษาข้อมูล เรียนรู้ และมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งแล้ว ดิฉันมีความหวังว่า การเมืองภาคพลเมือง จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาลและองค์กรท้องถิ่นทุกฝ่าย จะต้องน้อมรับฟังความเห็นและข้อเสนอของประชาชนด้วยใจเปิดกว้าง ตระหนักว่า การเมืองภาคพลเมือง กับการเมืองภาคตัวแทน ต้องสมดุลกัน เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและกว้างขวางจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้โดยเร็ว