Skip to main content

เรื่องของการชนควายเกาะสมุย

คอลัมน์/ชุมชน

น่าแปลกใจเลยทีเดียวใช่ไหมครับ ที่คราวนี้ผมพูดถึงเรื่องกีฬาชนควาย หลายคนอาจสงสัยว่ามันจะ "ใต้" ตรงไหน  ถ้า "ชนวัว" สิ น่าจะ "ใต้" มากกว่า  


 


เปล่าเลยครับ คนเกาะสมุย-สุราษฎร์ธานีเขารู้กันดีว่านี่แหละ "แบบว่าเรื่องใต้ใต้" แน่นอน


 


กีฬาชนควายที่ว่านี้เป็นกีฬาพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ปัจจุบันไม่มีในพื้นที่ใดของภาคใต้  มีเพียงเฉพาะในพื้นที่เกาะสมุยเท่านั้น  กีฬาชนควายนี้มีกีฬาประเภทนี้ไปบอกเล่าลูกหลานต่อไป


 


เมื่อครั้งอดีตกีฬาชนควาย หรือ ฟันควายสนุกสนานและเป็นที่สนใจของคนทั่วไปที่แวะเวียนมาเที่ยวชมธรรมชาติบนเกาะสมุยเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว  หากเราศึกษากันดีๆ ก็พบว่า  กีฬาชนควายนั้นก็มีการเล่นกันเป็นประจำโดยทั่วไปในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ด้วย  แต่ที่เป็นที่รู้จักอย่างมากก็ที่เกาะสมุยนี่แหละครับ


 


"ชนควาย"  นับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเกาะสมุย  บางทีก็เรียก "ฟันควาย" แล้วแต่จะเรียกครับ โดยปกติแล้วผู้ชมส่วนใหญ่ก็เป็นคนบนเกาะสมุยนั่นแหละ  แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาท่องเที่ยวที่รู้เรื่องการชนควายนี้ก็อดไม่ได้ที่จะไปเสาะหาดู 


 


แต่เดิมการชนควายเป็นเพียงความนิยมที่เล่นกันเพื่อความสนุกสนานภายในชุมชนหลังฤดูเก็บเกี่ยวเท่านั้น ซึ่งมักจัดขึ้นโดยไม่มีพิธีรีตองอะไรเลย  สนามชนควายก็หาเอาพื้นที่โล่งๆ ทั่วไป บ้างก็ในนาที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเป็นสนามประลองความตามสะดวก การชนแบบนี้เรียกกันว่า "ชนควายลาน"


 


แต่ในปัจจุบันกีฬาประเภทนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปจากเดิมมาก  มีการเลี้ยงควายเพื่อชนกันโดยเฉพาะไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อความสนุกสนานหลังฤดูการเก็บเกี่ยวแต่อย่างเดียวแต่มีการพนันขันต่อแทรกเข้ามามีส่วนร่วมด้วยจนถึงทุกวันนี้  และเปลี่ยนจากชนบริเวณลานเป็นชนในบ่อน  มีการจัดชนกันเป็นนัดๆ เป็นคราวๆ ไปเหมือนการชนวัวของชาวบ้านภาคใต้โดยทั่วไป 


 


เมื่อมีพัฒนาการดังที่ผมบอกมาแล้ว  การเลี้ยงควายของชาวเกาะสมุยจึงมีความพิถีพิถันมากขึ้นกว่าเดิมมาก  กีฬาชนควายที่จากเดิมเพื่อความสนุกสนานก็มีลักษณะเอาจริงเอาจังมากยิ่งขึ้น มีการคัดเลือกควายเพื่อการชนโดยเฉพาะ มีตำราควายชนตามแบบของ "นักเลงควายชน" (ไม่ใช่คำด่าของใครนะครับ) เชื่อถือกันซึ่งต้องเข้าตามตำราหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเขา  ขา  กีบเท้า  ลำตัว จิปาถะตามแบบฉบับ "ต้องหายาก"  นั่นแหละถึงจะดี ฮา..  ยกตัวอย่างกันสักหน่อยก็แล้วกันแต่อย่าหาว่าผมเป็น  "นักเลงควาย" เฮ้ย! "นักเลงควายชน" ก็แล้วกันนะครับ 


 


เช่น ถ้าเป็นควายดำก็ต้องหางยาว  ถ้าสีขาวหางต้องสั้นและข้อเท้าสั้น  ควายชนหนังต้องตึง จมูกกว้าง มีเหงื่ออยู่เสมอ  ถ้าเป็นควายดำสนิทถือว่าดีมีไหวพริบ มีเล่ห์เหลี่ยมสูงอดทนในการต่อสู้  ส่วนควายที่มีสีแดง นักเลงควายชนมักไม่นิยมใช้ทำควายชนเพราะสีของมันไม่ทำให้รู้สึกว่าองอาจหรือดุ...เป็นไงบ้างครับ นี่ไม่ใช่ตำรานักเลงควายเมศนะ  ฮา...


 


การชนควายในเกาะสมุยก็เหมือนกับการชนวัวโดยทั่วไป  คือก่อนการชนควายบรรดาเจ้าของควายก็เอาควายของตนมา "เปรียบ"  เพื่อหาคู่ชนที่เหมาะสมไม่เสียเปรียบหรือได้เปรียบจนเกินไปแล้วก็ตกลงเดิมพันกันเสร็จสิ้นในคราวเดียว  มากน้อยก็แล้วแต่เชื่อเสียงของควายชนแต่ละตัว  จากนั้นต่างฝ่ายก็ต่างฟิตซ้อมควายของตัวเองเหมือนนักมวยเลย  วิ่งตอนเช้า  ออกกำลังกาย  ซ้อมชน  คุมอาหาร ฯลฯ  สารพัดสารเพวุ่นวายไปหมด บางทีอาจเลี้ยงดูดีกว่าเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเสียอีก ฮา...ฮา...จะไม่ดีได้อย่างไรเพราะอาหารที่ให้ควายกินยังต้องให้ "หมอ" เสกให้กินทุกมื้อเชียว น่าอิจฉา...(แต่ยังไม่อยากเกิดเป็นควายหรอกครับ) ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อว่าจะป้องกันคุณไสย์ของฝ่ายต่อสู้นั่นเอง


 


เกือบลืมไปว่าก่อนวันชนหนึ่งวันเขาจะนำควายมาทำพิธีสำคัญที่เรียกว่า "ทำควาย"  หรือ "แต่งควาย"  ซึ่งเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ โดยมากจะทำกันที่บ้านหรือที่ที่หมอไสยศาสตร์คิดว่าเป็นมงคล  ในระหว่างพิธีเจ้าของควายจะระมัดระวังไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ควายของตนเป็นอันขาดเพราะเกรงว่าควายของตนจะถูกทำคุณไสย์เข้า  เรียกได้ว่าก่อนจะชนควายนั้นต้องทำพิธีแต่งควายกันจนอดหลับอดนอนกันเลยทีเดียว ยุ่งกันจริงๆ เลย


 


ถึงเวลาชนแล้วรับรองความมันส์แน่นอนครับ  เรื่องอย่างนี้บอกกันยากว่าสนุกสนานแค่ไหน  ต้องหาเวลามาดูชมกันเองก็แล้วกัน  แต่ขอเตือนกันไว้ก่อนว่าการพนันอาจไม่ช่วยให้ท่านๆ ทั้งหลายรวยขึ้นมาได้หรอกครับ  ทั้งยังผิดศีลผิดกฎหมายเข้าอีกต่างหาก  วัฒนธรรมประเพณีเรามีไว้ให้ท่านได้ศึกษาเรียนรู้และได้โปรดพิจารณาว่าท่านควรดูชมกันอย่างไร


 


เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนบางกลุ่มมองว่า  การชนควายเป็นการทรมานสัตว์  แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้เหมือนกันว่า  มีคนอีกบางกลุ่มเช่นกัน ที่มองว่าการชนควายนั้นเป็นประเพณีการละเล่นที่สนุกสนาน  แต่นั่นอาจไม่ใช่สาระสำคัญอะไรของใครบางคน


 


บ้านในสวนยาง-นาขยาด-พัทลุง


๒ มกราคม ๒๕๕๐