Skip to main content

เก็บตกวันรับปริญญา

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้เขียนเหมือนมีเวรกรรมที่เขียนไม่ว่าทั้งไทยหรืออังกฤษเป็นภาษาสวยๆ ไม่เป็น ส่วนมากจะตรงๆ และไม่ค่อยใช้ความสละสลวยแบบพวกวรรณศิลป์ชื่นชอบ แต่จะเขียนหาเรื่องใครนั้นไม่ใช่วิสัย  เพราะเหตุนี้จึงไม่ค่อยมีคนมาอ่าน หรือมีมิตรรักแฟนเพลงกว้างขวางนัก หรือถึงมีก็เป็นคนอ่านที่ไม่ใช่คนก้าวร้าว เป็นพวกเดียวกับคนเขียนในมุมหนึ่งคือไม่ชอบหาเรื่อง จึงไม่ค่อยออกมาบอกกับใครนักว่าชอบใครไม่ชอบใคร พูดง่ายๆว่าทั้งคนอ่านคนเขียนเป็นพวกไม่โวยวาย ไม่หาเรื่อง ไม่อยากดัง อยู่ไปเรื่อยๆ


 


เคยคุยกับคุณซังแห่ง "ประชาไท" เรื่องเรทติ้งว่าไม่ค่อยมีคนอ่านของผู้เขียน เมื่อเปรียบกับผู้เขียนหลายคน ที่คุยนี่ไม่ได้น้อยใจ หรืออิจฉา แต่เป็นการสังเกตและไต่ถามเพื่อต้องการมั่นใจหน่อยว่าจะไม่โดนถอดออกจากเว็บแห่งนี้เพราะเคยเขียนให้แห่งหนึ่งตีพิมพ์ แล้วโดนบอกว่าหยุดเขียนได้ เพราะนิตยสารนั้นได้เปลี่ยนแนว ไม่จำเป็นต้องมีงานของผู้เขียนต่อไป ผู้เขียนจึงเหมือน "สัมภเวสี" ร่อนเร่ไปอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นบินกลับมาพบกับท่านอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ท่านถามว่าเขียนให้ที่ไหนอีกรึไม่ ผู้เขียนตอบว่าไม่มี และคงลำบากที่จะหาที่ลง เพราะเขียนแบบผู้เขียนที่มีพื้นมาจาก "สตรีสาร" ไม่เป็นเรื่องที่ต้องการนักในตลาดหรือสังคมไทยกระแสหลักมากนัก (และผู้เขียนก็คงเปลี่ยนไม่ได้ด้วย) เพราะว่าไม่ตรงกับรสนิยมคนส่วนใหญ่เท่าไรนัก


 


นอกจากนี้ ผู้เขียนไม่ใช่นักเขียนที่ส่งงานให้ท่านอาจารย์เป็นประจำ ตอนนั้น อายุน้อย หาตนเองไม่เจอ คิดไม่แตก ตื้น และ ไม่เป็นระบบ ทำให้งานออกมาไม่มีเสน่ห์ ถึงทุกวันนี้ก็ยังต้องพัฒนา และที่สำคัญไม่เคยออกงานสังคม ไม่ประชาสัมพันธ์ตนเอง เพราะไม่เคยคิดว่าจะทำมาหากินเรื่องเขียนหนังสือ ทำให้ไม่ต้องขวนขวาย ทำให้ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จำได้ว่าตอนเขียนลง "สตรีสาร" ครั้งแรกนั่นแหละที่ดังหน่อย เพราะคนอ่านไทยในตอนนั้น โดยเฉพาะ "สตรีสาร" รับไม่ได้กับเรื่องของเกย์ ทำให้มีการเขียนต่อว่า "สตรีสาร" ว่าเอาเรื่องแบบนี้มาลงได้ไง ถือว่าเป็นเรื่องฮือฮาในปี 1988 หรือ 2531 ช่วงเดียวกับ ปุ๋ยได้เป็นนางงามจักรวาล ปุ๋ยใช้มุขรักเด็ก ผู้เขียนใช้มุข "รักเกย์" เลยดังคนละแบบ


 


ที่เขียนมานานก็เพราะว่า เป็นเรื่องของอำนาจที่แฝงไว้ในทุกอณูของชีวิต การเป็นคนจะ"ได้ดี" หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีอำนาจเช่นใดอยู่ในมือ จึงได้เห็นเกมแห่งการได้มาของอำนาจและครองอำนาจให้เห็นเวลา แม้กระทั่งต้องเสียเลือดเนื้อ เช่น "บึ้ม" ในกทม.ที่เพิ่งเกิดขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน


 


เมื่อช่วงวันที่ 4-5 มกราคม ที่ผ่านมาเป็นช่วงซ้อมใหญ่และรับพระราชทานปริญญาบัตรของนิด้า ผู้เขียนต้องเข้าร่วมเพราะว่าเป็นงานปฏิคม ซึ่งต้องดูแลความเรียบร้อยทั่วไปของงาน มีงานหลักคือตั้งแถวรับเสด็จและส่งเสด็จ รวมทั้งรับและส่งแขกผู้มีเกียรติท่านอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ก็คือ งานอาจารย์ทั่วไปที่ต้องมาถ่ายรูปกับมหาบัณฑิตใหม่ของคณะ อันนี้ไม่ได้มีการบังคับว่าต้องมา  แต่ผู้บริหารที่เป็นรุ่นพี่บอกว่ามาเถอะ ให้งานมีสีสัน ก็เลยไปด้วย ดีเหมือนกัน ครุยที่ตัดมาแพงจะได้ใช้อีกสักหน จบมาสิบปีแล้ว จะได้ไม่เสียเปล่า


 


งานปฏิคม เป็นงานที่สนุก แต่จริงๆ แล้วเหนื่อย เห็นเจ้าหน้าที่ทำงานแล้วเหนื่อยแทน ทั้งนี้ไม่จำกัดที่งานปฏิคมเท่านั้น แต่ทุกเรื่องเลยทีเดียว อาจารย์เองที่ทำงานหนักๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่ก็เจ้าหน้าที่เกือบทั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าเรื่องของ "ช่วงชั้น" นั้นชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้อย่างไร รู้มาว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนก็อยากมีอำนาจแบบอาจารย์ ซึ่งก็พยายามจะหาทางเข้ามามีอำนาจบ้าง และก็มีอาจารย์บางคนที่ใช้อำนาจที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องนัก หรือไปกดขี่เจ้าหน้าที่ เอาเป็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง


 


จำนวนมหาบัณฑิตใหม่ได้ลดน้อยลงจากปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสังเกต คงเป็นเพราะการแข่งขันในการรับนักศึกษาเข้ามาเรียน ตอนนี้เมืองไทยไปไหนๆ ก็มีโปรแกรมปริญญาโททั่วไป พร้อมไม่พร้อม "กูก็จะเปิด" อันนี้ลามไปถึงปริญญาเอกด้วย เห็นแล้วก็กลุ้มใจเหมือนกัน เพราะพบว่าคนจบใหม่ๆ ไม่ว่าโทหรือเอกในไทย ไม่ได้เรื่องหลายคน แต่ไม่รู้จะพูดไปทำไม เพราะคนกันเองทั้งนั้นและเป็นการสร้างศัตรูในสังคมไทยเนื่องจากรับกันไม่ได้


 


ได้แต่หวังว่าแผนปฏิรูปศึกษาไทยคงจะเป็นจริงขึ้นมาบ้าง อย่างไรก็ตาม ก็ตั้งคำถามต่ออีกว่า


 


1. เรามีความจำเป็นขนาดต้องมีปริญญาโท เอก มากมายขนาดนี้เชียวเหรอ หลายสถาบันไม่มีปัญญาแม้กระทั่งสอน ป.ตรีให้มีคุณภาพ


 


2. คุณภาพ ป.ตรี น่ากลัวเป็นที่สุด ต้องแก้ไขโดยเร็ว แต่ไม่แก้กันเลย จะทำอย่างไรดี


 


3. คุณภาพการศึกษาระดับประถม มัธยมที่เลวร้ายมากขึ้นทุกวัน  จะแก้อย่างไร


           


เมืองไทยบ้าปริญญากันจนน่ากลัว แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าปริญญากลายเป็นการใช้อำนาจที่ผิดหรือไม่ในสังคมไทย  ปริญญามันมีความหมายอย่างไรกันแน่ในสังคมไทย น่าศึกษาต่ออีกเช่นกัน เอาให้ชัดเจนกว่าที่ผ่านๆ มา


 


ผู้เขียนมีความยินดีกับความสำเร็จกับมหาบัณฑิตใหม่ ไม่ว่าจากคณะใดก็ตาม แต่ก็มีเรื่องชวนคิดต่อได้อีก เนื่องจากกลุ่มคนพวกนี้ไม่ใช่เด็กๆ ต่างคนต่างก็ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ในสังคมมาแยะ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ในสังคมไทย


 


เป็นที่รู้กันในบรรดาผู้สอนระดับบัณฑิตศึกษาทั่วไปในหลายแห่งของไทยว่า นักศึกษาแต่ละคณะจะไม่สนใจกับอาจารย์คณะอื่นๆ หรืออาจารย์ที่ไม่ได้สอนตนเอง หลายครั้งก็มีการเดินชนกันแบบไหล่กระทบไหล่ อาจารย์หลายท่านอาจไม่ชอบ เพราะอย่างไรก็เมืองไทย กรอบของความเป็นอาจารย์กับนักศึกษามีในสังคมหรือแม้กระทั่งในกฎระเบียบของแต่ละสถาบันเอง แต่ผู้เขียนเฉยๆ แล้วก็ชินกับเรื่องแบบนี้ เพราะในสหรัฐฯ อาจารย์ก็แค่คนหนึ่งที่ทำงานสอน ถือเรื่องการสอนการเรียนเป็นหน้าที่ในสังคม การสอนคืออาชีพ ผู้สอนมีอำนาจในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สังคมไทยกับสังคมสหรัฐฯ ไม่ใช่สังคมเดียวกัน โครงสร้างอำนาจในสังคมก็ต้องต่างกันบ้าง และการมีสัมมาคารวะยังมีอยู่ในสังคมไทย ส่วนเหมาะสมหรือไม่คงต้องพิจารณากันต่อไป


 


อีกเรื่องคือ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาบางคนเป็นผู้มีเกียรติสูงหรือตำแหน่งงานสูงมาเรียน ทำให้บางครั้งปรับตัวไม่ได้กับการมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง เมื่อ 10 ปีก่อนที่ผู้เขียนมาสอนในไทยหลายแห่ง พบว่ามีจริง ตอนนั้นผู้เขียนก็เด็ก เพราะแค่อายุ 32 สมัยนั้นนักศึกษาภาคพิเศษจะอายุพอๆ กับผู้เขียน เพื่อนผู้เขียนที่มาเรียนด้วยก็ยังเขินๆ ที่จะไหว้ผู้เขียน จนผู้เขียนบอกว่าอย่าไหว้ หรือตอนผู้เขียนคุมวิจัยให้แล้วต้องดุ ต้องเตือน เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งที่เรียนกันมาแต่เด็ก ก็ทำใจไม่ได้  ส่วนนักศึกษาภาคปกติก็อายุไม่ต่างกันมาก ก็ไม่ค่อยยำเกรงเท่าไรนัก แต่ปัญหาก็น้อยกว่าภาคพิเศษ


 


ตอนนี้ผู้เขียนแก่ ก็ 43 ไปแล้ว เลยไม่ค่อยเจอปัญหา นักศึกษาภาคปกติส่วนมากก็เป็นรุ่นลูกผู้เขียนได้ เพราะละอ่อนกันมา คือ ไม่เกิน 25  ส่วนนักศึกษาภาคพิเศษที่แก่กว่าหน่อย ส่วนมากก็ยังเด็กกว่าผู้เขียน อันนี้การแก่ๆ ขึ้นดีตรงนี้ต่อผู้เขียน มองได้ว่าสังคมไทยยังแคร์เรื่องอายุ ซึ่งไม่รู้ว่าจะบอกว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะมันเป็น สังคมไทย


 


ผู้เขียนเห็นการประดักประเดิดในเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยแล้ว ขำมากกว่าอึดอัด เห็นว่าคนไทยยังปรับตัวไม่ได้ ตีความไม่ได้กับโครงสร้างของอำนาจ และจัดการกับมันไม่ได้ แม้กระทั่งกับพี่น้องผู้เขียนเองที่ยังมองว่าผู้เขียนเป็นน้องตลอด พอจะท้วงจะอะไรกับพี่ๆ   พี่ๆ ของผู้เขียนก็ทนไม่ได้ อันนี้ไม่โกรธ แต่ขำ ผู้เขียนตลกมากกว่าที่ว่าคนไทยยังปรับไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะปรับได้เมื่อไร


 


ผู้เขียนบอกกับตนเองว่า หากวันใดจะต้องยกมือไหว้ลูกศิษย์หรือรุ่นน้องเราในอนาคต (ที่วันนี้เค้ายังด้อยอาวุโสกว่าเราในวันนี้) เมื่อวันนั้นเค้าต้องเป็นหัวหน้าเรา เราต้องไม่ประดักประเดิด เพราะนั่นคือมารยาทสังคม การนอบน้อมต่อคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ว่าจะอายุน้อยกว่าหรือด้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ก็ตาม แต่เมื่อต้องใช้อำนาจก็คงต้องใช้ตามกรอบที่สมควร


 


แต่หากจะถามว่ารุ่นผู้ใหญ่ของผู้เขียนเป็นอย่างไร บอกได้ว่าเด็กรุ่นใหม่โชคดีกว่ารุ่นผู้เขียนที่ไม่ได้เจอเหตุการณ์เลวร้ายอย่างรุ่นผู้เขียน เนื่องจากรุ่นผู้เขียนได้เรียนรู้ความไม่เอาไหนของรุ่นก่อนๆ ไว้มาก และจะไม่ทำอีกต่อไปแน่นอน


 


สิ่งที่มีในสังคมไทยและทุกๆ สังคมคือการใช้อำนาจในทางที่ผิด อันนี้ต่างหากที่น่าจะมอง มากกว่าการมามองเรื่องหยิมหยอย ไหว้ไม่ไหว้ โค้งไม่โค้ง เด็กไม่เด็ก อย่างไรก็ตาม การจองหองพองขน ไม่ว่าในสังคมใดก็ไม่มีใครยกย่อง หรือการอิจฉาเด็กที่เก่งกว่าตนเองแล้วหาทาง "สกัดดาวรุ่ง" หรือหลอกใช้เด็กก็เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจเช่นกัน หรือเด็กที่พอมีผู้ใหญ่ไปใช้ให้ได้ใกล้ชิด ก็ถือว่าตนเองใหญ่ (ที่แท้ก็โดนหลอกใช้นั่นแหละ) แจ๊ดๆไปทั่ว เหมือนนกกระเต็นปากชั่ว ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องงามแต่อย่างใด อันนี้เรียกว่า "พ่อแม่ไม่สั่งสอน" ก็คงจะใช่


 


ถ้าจะจัดระเบียบสังคม น่าจะมองเรื่องนี้ด้วย หรือเป็นเพราะว่าการจัดระเบียบสังคมคือการตอกย้ำอำนาจของตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้น หากเป็นเช่นนั้นสังคมไทยก็คงจะพัฒนาไปไม่ได้