Skip to main content

รัฐบาลขิงแก่กับการพัฒนาเด็กและเยาวชน

คอลัมน์/ชุมชน

กล่าวได้ว่า นโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของรัฐบาลนับแต่เริ่มทำงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้ามโฆษณาเหล้า บุหรี่ ห้ามคนอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อเหล้า ห้ามเด็กเต้นไคโยตี้ ฯลฯ ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างยิ่ง ทั้งคำชม คำโต้แย้ง และอื่นๆ อีกมากมาย … นี่คือวิถีการทำงานด้านเด็กและเยาวชนของรัฐบาลขิงแก่ที่มีอายุรวมกันมากกว่า 1,000 ปี ในช่วงระยะเริ่มต้นบริหารประเทศ


 


แม้ว่ารัฐบาลขิงแก่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ถูกคณะปฏิวัติฉีกทิ้ง แต่ก็ถือว่า ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาวมากไม่แพ้รัฐบาลชุดเดิม เนื่องเพราะรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงด้านสังคมทั้งหลาย ต่างให้ความสนใจต่อปัญหาของเด็กและเยาวชนอย่างคึกคัก


 


ที่ว่าคึกคักเพราะตั้งแต่ผมทำกิจกรรมเยาวชนกับเพื่อนเยาวชนหลายๆ คน เมื่อหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ พ.. นี้ หลายคนที่รู้จักต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ปี 2550 งานเยาวชนคงจะคึกคักมากกว่าปีก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน"


 


เสียงที่พูดออกมาในทำนองเดียวกันนี้ ค่อนข้างมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในรอบปี 2549 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่างานพัฒนาเยาวชนจะได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม จนถึงขนาดที่เรียกกันว่า "ยุคเยาวชนเนื้อหอม" ส่วนอีกด้านหนึ่งก็พบว่ามีข้อมูลต่างๆ ที่เปิดเผยออกมาผ่านสื่อเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ มากมาย จนเยาวชนได้ถูกสังคมพิพากษาไปแล้วอย่างกลายๆ ว่าเป็น "ต้นตอปัญหาสังคม"


 


ปรากฏการณ์เบื้องต้นที่เกริ่นมา คงจะเป็นภาพรวมที่ทำให้เพื่อนหลายคนเชื่อและหวังว่าจะมีแนวทางในการทำงานพัฒนาเยาวชน ระดับแรกคือการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ระดับต่อมาคือการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม


 


ปี 2550 เสียงของเยาวชนก็จะมีความเข้มข้น หนักแน่นในเนื้อหา ข้อมูล ประเด็นมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีกลุ่มเยาวชนหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมและรวมตัวกันหลายเครือข่าย เพื่อประกาศพลังและส่งเสียงบอกความต้องการของตนต่อผู้ใหญ่ในสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเยาวชนที่สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนอย่างแท้จริง


 


ในช่วงที่ผ่านมา มีข้อเสนอของเยาวชน  18 เครือข่าย[1] ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานจัดงาน มหกรรมเยาวชน "60 ปี 60 ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน" (Young Expo 2006) เมื่อวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2549 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ในเรื่อง "การพัฒนาเยาวชน" ซึ่งรวบรวมจากการประชุมระดมความคิดเห็นในกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เพื่อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


 



 


….. "ข้อ 1 การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาพวกเรา ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบการศึกษา และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น คือเรื่อง การทำให้นโยบายการเรียนฟรีในระดับการศึกษาภาคบังคับเป็นจริง และพัฒนาหลักสูตรให้มีเนื้อหาเรื่อง ทักษะชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเยาวชนในแต่ละพื้นที่


 


ข้อ 2 สิทธิที่เท่าเทียม และการขจัดการเลือกปฏิบัติ ต่อพวกเราได้แก่เรื่องการได้รับการศึกษา และสถานะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราที่อยู่ในชุมชน สลัม หรือชนบท และเพื่อนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  


 


ข้อ 3 ภาครัฐควรรณรงค์ ทำความเข้าใจ ให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้พวกเราได้สื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะ กลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ เยาวชนที่ก้าวพลาด ชุมชนสลัม  และเยาวชนที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสังคม


 


ข้อ 4 การดูแลเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ภาครัฐควรให้ความคุ้มครองปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ แก่พวกเราที่มีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลเพื่อสืบสวนคดี รวมถึง ดูแลและพัฒนาศักยภาพ ของเพื่อนๆที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ให้มีโอกาสและความสามารถในการดำเนินชีวิตในสังคมได้ต่อไป


 


ข้อ 5 พวกเราเยาวชนเป็นช่วงวัยที่มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  พวกเราคือกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาสังคมในวันนี้  ภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับพวกเรา ควรเปิดโอกาสให้พวกเรามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ วางแผน ดำเนินงาน ตลอดจนตรวจสอบและประเมินผล ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง และทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ เพื่อให้เราสามารถใช้พลังที่สร้างสรรค์ร่วมสร้างสังคมให้ดีขึ้น"


 



 


ข้อเสนอจากเยาวชน 18 เครือข่าย นี้เกิดจากการรวบรวมข้อเสนอภายในงานและจากประสบการณ์ทำงาน บทเรียนของเพื่อนๆ ที่ทำงานในพื้นที่ ประเด็นการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลก็ได้ให้ความสนใจและรับข้อเสนอดังกล่าวนี้ไปพิจารณา


 


ทั้งนี้ จากข้อเสนอต่างๆ ของเยาวชน ยังมีสัญญาณอันดีที่อาจนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาเยาวชนที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้นั่นคือ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ต่อเยาวชนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549 ที่ได้กล่าวไว้ว่า "สังคมพูดกันมากเรื่องของเด็ก และเยาวชน เช่น การมีส่วนร่วม การดูแลเด็ก การให้การศึกษา การปลูกฝังเรื่องจริยธรรม โดยเรื่องเด็กและเยาวชน ไม่สามารถผัดผ่อนด้วยคำว่าพรุ่งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้หลายหน่วยงานจะดำเนินการอย่างเข้มแข็ง แต่การพัฒนาเด็กและเยาวชนคำตอบคือตัวเด็ก เช่นเดียวกับไม่มีผู้ใดตอบได้ว่าตัวของเราชั่วหรือดี อยู่ที่ตัวเราเอง สังคมครอบครัว พ่อแม่ ครู เพื่อนฝูง ทำได้เพียงเอาใจใส่ดูแล สนับสนุน  ตักเตือน  ให้ข้อคิดเห็นและโอกาสเท่านั้น  สุดท้ายอยู่ที่เด็ก และเยาวชนทุกคนว่า ต้องการให้ตนเองเป็นอย่างไร"



พร้อมแนะกับเยาวชนว่า "อยากบอกเด็ก และเยาวชนที่นี่ และทั่วประเทศว่า ไม่มีคนในสมัยใดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ ที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงเท่ากับยุคสมัยนี้ หากหวังว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ระมัดระวัง รอบคอบในการใช้ชีวิต มีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหา ต้องสร้างวัฒนธรรมที่เด็กที่เข้มแข็งภายใต้วัฒนธรรมไทยเพื่อต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ส่วนคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราทำได้เพียงให้คำสนับสนุน ให้โอกาส คำแนะนำเท่านั้น และขอให้ยึดมั่นในคำขวัญวันเด็กปี 2550 คุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเหลี่ยงอบายมุข  และขอชื่นชมเด็ก และเยาวชนที่ร่วมกันทำความดี เพื่อเป็นแบบอย่างในการทำความดีให้กับคนอื่นๆ ต่อไป"


 



 


อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะนำไปสู่แนวนโยบาย ทิศทางการพัฒนาเยาวชนได้มากน้อยเพียงใด  แต่หลักใหญ่ใจความที่สำคัญที่สุดที่เยาวชนทุกๆ คนต้องการและเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างมากนั้นคือ การให้รัฐสนับสนุนกลไกสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนเพื่อสังคม โดยให้มีกลไกการสนับสนุนทุนและทรัพยากรในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน การพัฒนาฐานข้อมูลกิจกรรม และการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในอนาคต


 



 


ซึ่งข้อเสนอนี้ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวถึงการสนับสนุนให้มีกลไกสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมของเด็กและเยาวชนว่า "การกระตุ้นและส่งเสริมให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการแน่ เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯอยู่แล้ว ส่วนรูปแบบของกลไกสนับสนุนจะเป็นกองทุนหรือไม่ หรือจะใช้เครื่องมืออื่นใด ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลความคิดระหว่างพม.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)"

"ทั้งเรื่องสื่อและเรื่องกิจกรรมสำหรับเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงจะต้องทำอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรนั้นอยู่ระหว่างการประมวลหารูปแบบ ซึ่งที่ผ่านมา พม.ก็มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมีกองทุนหรือไม่ แต่อยู่ว่ากิจกรรมจะมีทิศทางอย่างไรนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า" รมว.พม. กล่าว


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีจะไม่ให้คำยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะตอบสนองความต้องการตามข้อเสนอของเยาวชนได้มากน้อยเพียงใด หรือแนวทางที่รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กล่าวมานั้นจะออกมามีผลอย่างไร ก็อาจติดตามต่อได้จากวันเด็กแห่งชาติที่จะมาถึงในปีนี้ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการเตรียมการที่จะประกาศวาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชน จะออกมารูปร่าง หน้าตา อย่างไร ต้องติดตามกันต่อว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะจริงจังกับพลเมืองเด็กและเยาวชนที่มีมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศไทย (11 กว่าล้านคนสามารถมีสิทธิเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย) มากกว่ารัฐบาลชุดเดิมที่แล้วที่มาจากการเลือกตั้งมาก น้อยเพียงใด


 


ในระยะยาวต้องติดตาม…แต่ในระยะสั้นๆ นี้ ขออย่าได้แสวงหาประโยชน์ทางการเมือง หรือเกิดอันตรายกับเด็กและเยาวชนจากปรากฎการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีเลยครับ สังคมไทย ต้องไม่ยินยอมต่อความรุนแรงทุกประเภท โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน หากอยากเห็นเด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆ






[1] เครือข่าย/ องค์กรเยาวชน 18 เครือข่าย ได้แก่ (1) เครือข่ายยุวเกษตรกร (2) เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย (3) เครือข่ายเด็กสลัม/ ชุมชน  (4) เครือข่ายเยาวชนโคตรอินดี้ (5) เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา (6) เครือข่ายการศึกษาและวัฒนธรรมสำหรับชาวไทยภูเขา  (7) เครือข่ายโครงการ 18  ปีมีดีเพื่อชาติ  (8) เครือข่ายเด็กและเยาวชนยุติความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ (9) ชมรมเยาวชนคนตาบอดไทย (10) กลุ่มเยาวชนพัฒนาประชาธิปไตย (11) เครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้า (12) เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก (13) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก (14) เครือข่ายจิตอาสา เพื่อจิตวิญญาณ (15) กลุ่มนักเรียนรวมกาน...เฉพาะกิจ (16) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย (17) เครือข่ายเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง (18) SOS จากเสถียรธรรมสถาน