Skip to main content

Queer Theory โดย อ.ปีเตอร์ แจ็คสัน (1)

คอลัมน์/ชุมชน

อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ กล่าวหลังอาจารย์ปีเตอร์บรรยายจบในงานเสวนาวันที่ 5 มกราคม 2550 ว่าเลค เชอร์ของอาจารย์ปีเตอร์  เป็นเลคเชอร์เรื่อง Queer Theory ที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี ที่อาจารย์เคยได้ยินมาในเมืองไทย


 


ในที่นี้จึงขอสรุปเลคเชอร์นี้ สำหรับคนที่พลาดโอกาสไปฟังอาจารย์ปีเตอร์ในวันนั้น ชื่องานเสวนาเต็ม ๆ มีว่า "แนวความคิดหลักใน Queer Theory และประเด็นที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย" งานนี้กลุ่มอัญจารีจัดร่วมกับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


 


ในเวลาสั้น ๆ อาจารย์ปีเตอร์ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของ Queer Theory, อาจารย์ 3 ท่านที่มีอิทธิพลต่อทฤษฎีนี้และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย


 


ที่มาที่ไป


Queer Theory เป็นแนวคิดที่เพิ่งเริ่มเมื่อ 10-15 ปีมานี้เองที่อเมริกา  ก่อนหน้านั้นมีการศึกษาวิเคราะห์เรื่องเกย์ เลสเบี้ยน ไบ และทรานสเจนเดอร์มาอยู่แล้ว  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกแรก  คลื่นลูกนี้เริ่มสักประมาณทศวรรษที่ 70 แนวคิดหลักคือ ถือว่าอัตลักษณ์ (Identity) เป็นสิ่งที่ตายตัวตลอดกาลไม่มีเปลี่ยนแปลง (Essentialism)  เป้าหมายการวิจัยคือค้นหาหลักฐานที่ถูกปกปิดอยู่ทั้งหลาย มาสนับสนุนว่าความเป็นเกย์นั้นมีมาตลอดประวัติศาสตร์  เช่น มีเกย์ในยุคกรีก ยุคโรมัน   


 


แต่วิธีการเช่นนี้ก็ใช้ไม่ค่อยได้นักในบางสาขาวิชา  เช่น ในมานุษยวิทยา  ตัวอย่างหนึ่งก็เช่น  ในงานวิจัยของ Gilbert Herdt ซึ่งทำการศึกษาชนเผ่าแซมเบีย บนเกาะนิวกีนี  เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว  ในชนเผ่านี้เด็กผู้ชายทุกคนก่อนที่จะเป็นผู้ชายเต็มตัวได้  ต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายและกินน้ำอสุจิของผู้ชายก่อนที่จะเป็นผู้ชายแท้ ๆ  ดังนั้นผู้ชายทุกคนจึงมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ  แต่ผู้ชายเผ่านี้ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นเกย์  อัตลักษณ์ของพวกเขานั้นเป็นสามี เป็นนักล่า  แต่ไม่ได้มีอัตลักษณ์เป็นเกย์ 


 


ดังนั้นแล้วความคิดที่ว่าเกย์เป็นอัตลักษณ์ที่มีอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ ในทุกสังคมทั่วโลก  จึงไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าเป็นจริง เลยมีการปรับปรุงแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์  แนวคิดใหม่ถือว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนตามเวลา  แล้วแต่สังคม  วัฒนธรรมภายนอก หรือพูดได้ว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งประกอบสร้าง  (Constructionism) Queer Theory ซึ่งถือว่าเป็นคลื่นลูกที่ 2 ได้ยึดเอาแนวคิดนี้เป็นแนวคิดหลัก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ขัดแย้งกับแนวคิดของคลื่นลูกแรก


 


อีกสิ่งหนึ่งที่คลื่นลูกที่ 2 ปรับปรุงจากคลื่นลูกแรกก็คือ  คนรุ่นใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 90 รู้สึกว่า Gay/Lesbian Studies ของคลื่นแรก เน้นที่กลุ่มเฉพาะคือ คนขาว, ชนชั้นกลาง, อเมริกัน, เกย์ผู้ชาย โดยเฉพาะในนิวยอร์ค ซานฟรานซิสโก และมองข้ามกลุ่มคนอื่นๆ  คลื่นลูกที่สองจึงมีการปรับปรุงให้รวมคนกลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น เช่น คนผิวสี, คนชั้นกรรมาชีพ, คนที่ไม่ใช่อเมริกัน, และหญิงรักหญิง 


 


การวิจัยของคลื่นลูกที่สองจึงเน้นว่า อัตลักษณ์เป็นสิ่งประกอบสร้าง  ไม่ตายตัว  และขยายขอบเขตการวิจัยให้ครอบคลุมคนที่ไม่ใช่คนขาวเท่านั้น  คนรุ่นนี้เห็นว่า Gay/Lesbian Studies เชยแล้ว เป็นความคิดของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ก็หาอัตลักษณ์ใหม่ๆ โดยเลือกใช้คำว่า "Queer"


 


"Queer" เป็นคำอังกฤษโบราณ ซึ่งแปลว่า แปลก พิลึก เพี้ยน ต้นศตวรรษที่ 20 ที่อเมริกาและอังกฤษใช้คำนี้เรียกคนรักเพศเดียวกันและคนที่แต่งตัวข้ามเพศ นัยของคำสื่อถึงการดูถูก เป็นคำที่แรง  คนรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้คำที่ดูถูกอย่างแรงนี้มาเป็นสัญลักษณ์


 


ถ้าจะแปล Queer Theory เป็นไทยให้ได้ความรู้สึกเดียวกัน อาจจะใช้คำว่า "ลักเพศวิทยา"  หรือ "วิปริตวิทยา" หรือ "วิตถารศึกษา" 


 


อาจารย์ที่เป็นคลื่นลูกแรกฟังคำนี้แล้วก็รับไม่ได้  แต่คนรุ่นใหม่บอกว่า  นี่เป็นคำที่แสดงความคิดแนวใหม่  เอาความหมายแง่ลบมาทำเป็นบวก  เป็นยุทธศาสตร์ทางภาษา


 


อาจารย์ 3 ท่านที่มีอิทธิพลต่อทฤษฎีนี้


Queer Theory ไม่ได้มีทฤษฎีเดียว  ซึ่งน่าจะคล้าย ๆ กับความคิดหลังโครงสร้างนิยม  คือเป็นเหมือน "หีบ" ที่ใส่วิธีวิทยาและแนวคิดหลาย ๆ อย่างเอาไว้ ให้เราหยิบเอามาใช้  แนวคิดต่าง ๆ ที่อยู่ในนี้เป็นทางเดียวกันบ้าง  บางทีก็ขัดแย้งกันบ้าง  ในที่นี้จึงแนะนำอาจารย์ 3 ท่านที่มีอิทธิพลยิ่งต่อ Queer Theory จาก 3 สาขาวิทยาที่แตกต่างกัน  จะได้เห็นการนำไปใช้ที่หลากหลาย  อาจารย์ทั้ง 3 คือ


 


1  Eve Kosofsky-Sedgwick


หนังสือสำคัญของอาจารย์ท่านแรกนี้คือ  "Epistemology of the Closet" ซึ่งฟังยากและแปลกมาก เพราะ epistemology เป็นคำปรัชญา แต่ closet เป็นคำชาวบ้าน หมายถึงเกย์เลสเบี้ยนที่ไม่เปิดตัว แปลเป็นไทยจะคล้าย ๆ คำว่า "แอบจิต"  ถ้าจะแปลชื่อหนังสือนี้เป็นไทยให้ได้ความรู้สึกเดียวกับภาษาอังกฤษ อาจแปลได้ว่า "ญาณวิทยาของแอบจิต"


 


นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Queer Studies  ที่อาจารย์ชอบเล่นคำตลอดเวลา  บางครั้งทำให้หนังสืออ่านยากมาก เพราะไม่รู้ว่าคนเขียนกำลังพูดจริงหรือพูดเล่น  หนังสือของอาจารย์ทั้ง 3 ท่านนี้อ่านยากมาก  แม้จะเป็นเจ้าของภาษาอ่านก็ตาม  แต่แนวคิดหลักไม่ยากเท่าไร


 


Sedgwick เป็นอาจารย์ด้านวรรณคดี  สนใจ Canon ของวรรณคดีอังกฤษ  ซึ่งก็คือวรรณคดีหลัก ๆ ในวัฒนธรรม เช่น ของเช็คสเปียร์ หรือ ดิคเคน   Sedgwick สนใจว่ามีความคิดใดที่สังคมสมัยใหม่ไม่ยอมรับแฝงอยู่ในข้อความหรือไม่  และความคิดเหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมไม่อยากพูดถึง  เช่น เชคสเปียร์พูดถึงเรื่องโสเภณีและเรื่องเพศอย่างเปิดเผย เพราะว่าในสมัยนั้นอาจเห็นเป็นเรื่องเปิดเผย  แต่คนสมัยนี้ไม่กล้าพูด 


 


Sedgwick สนใจเอาความคิดแอบแฝงเช่นนี้มาเปิดเผย  โดยเฉพาะเรื่องคนรักเพศเดียวกัน  ซึ่งสมัยนี้เป็นสิ่งที่น่าอาย  แต่เขาขุดออกมาเปิดเผย  คำว่า Epistemology นี้อาจแปลง่าย ๆ ว่าขุด  คือขุดสิ่งที่ถูกปกปิดออกมาเปิดเผย 


 


อีกแนวคิดหนึ่งที่ Sedgwick ใช้คือ "แนวคิดการรื้อสร้าง" (Deconstructionism) แนวคิดนี้บอกว่าในวาทกรรมกระแสหลักมีแนวคิดที่เป็นคู่ตรงข้าม (Binary Pairs) อยู่ เช่น ตะวันออก-ตะวันตก  ขาว-ดำ  คนรักต่างเพศ-คนรักเพศเดียวกัน  ซึ่งความเป็นคนรักต่างเพศนั้นในกระแสหลักเป็นบวก  มีอำนาจ  ส่วนคนรักเพศเดียวกันต้องเป็นลบและอยู่ใต้ดิน 


 


Sedgwick ใช้แนวคิดคู่เช่นนี้มาวิเคราะห์วรรณกรรมหลักต่าง ๆ  ถ้าเทียบกับในสังคมไทย  เราอาจเอาเรื่องสี่แผ่นดิน หรือขุนช้างขุนแผน  มาหาแนวคิดเรื่องกะเทย หรือเรื่องคนรักเพศเดียวกันในนั้น  การทำเช่นนี้เรียกว่า Queering the Canon  โดยคำว่า Queer ในที่นี้เป็นคำกริยา แปลว่า หาหลักฐาน (เช่น เรื่องคนรักเพศเดียวกัน) ที่ถูกปกปิดเอาไว้จากกระแสหลัก


 


2 Judith Butler


งานของ Butler นั้นอ่านยากมาก  จนลูกศิษย์ของเธอให้รางวัลแซวเธอว่าเป็น "ผู้เขียนบทความที่อ่านไม่ออกมากที่สุดในโลก"  Butler นั้นเป็นอาจารย์ด้านปรัชญาและสนใจสตรีนิยมสมัยใหม่  เธอสนใจอัตลักษณ์เป็นหลัก  งานสำคัญของอาจารย์ท่านนี้คือ  "Bodies That Matter" ซึ่งชื่อหนังสือก็เป็นการเล่นคำเช่นกัน  แปลตรง ๆ ได้ว่า "ร่างกายที่สำคัญ"  แต่ matter ยังสามารถแปลว่า "สสาร" ก็ได้  นี่มาจากแนวคิดหลักของหนังสือว่า  อัตลักษณ์ไม่ได้อยู่ภายในตลอดเวลา  แต่เป็นการประกอบสร้างจากสิ่งภายนอกที่อยู่รอบตัว  มาจากสสารหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา


 


ความคิดสำคัญเรื่องหนึ่งของอาจารย์ท่านนี้คือ Performativity คำนี้มาจากคำว่า perform แปลว่าการกระทำ performativity หมายถึงอัตลักษณ์ประกอบสร้างจากการกระทำของเรา  ซึ่งการกระทำไม่ได้ลอยอยู่เฉย ๆ แต่ต้องอยู่ในกรอบวัฒนธรรมที่เราอยู่ตลอด  และการกระทำก็จะค่อย ๆ สร้างอัตลักษณ์ของเรา  ยกตัวอย่างเช่น คนไทยไหว้ ถ้า อาจารย์ Butler มาเมืองไทย อาจจะเสนอว่า ความรู้สึกความเป็นคนไทยไม่ได้มาจากการแสดงออกของวิญญาณคนไทยเท่านั้น  แต่เด็กไทยถูกสอนมาให้ทำ คือถูกสอนว่าคนระดับต่ำต้องไหว้คนระดับสูงกว่า และต้องทำตลอดมา  นี่แหละจะสร้างความรู้สึกของการเป็นคนไทยไปด้วย 


 


หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง  ภาษาไทยมีสรรพนามเยอะมาก  ซึ่งต้องรู้จักความแตกต่างระหว่างคนที่พูดด้วย กว่าที่จะเอ่ยถึงสรรพนามได้  คนไทยที่ไม่รู้จักกัน  เจอกันครั้งแรกต้องพยายามดูว่าใครพี่ใครน้อง  บางทีถามตรง ๆ ไม่ได้ก็ต้องอ้อมไปเรื่องอื่น ๆ เช่น ถามว่าเกิดวันไหน  นี่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นโครงสร้างวัฒนธรรมไทยที่อยู่ในภาษาด้วย  ในกรณีนี้อาจารย์ Butlerเสนอว่า   การพูดเป็นการกระทำประเภทหนึ่ง การพูดไม่ได้เกี่ยวกับวิญญาณหรือสมองอย่างเดียว  เราใช้ร่างกายพูด  และทุกครั้งที่เราพูดเราต้องใช้สิ่งที่ประกอบเป็นตัวร่างกายของเรา  และที่เราต้องพูดอย่างนี้ซ้ำ ๆ ไป  ตั้งแต่เด็ก มันจะค่อย ๆ สร้างอัตลักษณ์ของเรา  สร้างความรู้สึกว่าเราเป็นคนแบบนี้แบบนั้น  การทำซ้ำ ๆ กันหรือพูดซ้ำ ๆ นี้ เรียกว่า Iteration 


 


อาจารย์ Butler เอาความคิดเช่นนี้มาวิเคราะห์ gender ของเรา  อาจารย์บอกว่า  เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างก็ถูกสอนมาจากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนว่า  เด็กชายที่ดีต้องทำอย่างนั้น  เด็กหญิงที่ดีต้องทำอย่างนี้  ทั้งพ่อแม่  พี่น้อง ครู จะสอนเด็กชายและเด็กหญิงในวิถีที่แตกต่าง  จนทำให้เด็กชายและเด็กหญิงมีความประพฤติที่แตกต่างกัน  และเข้ากรอบของความเป็นชายแท้หญิงแท้  อัตลักษณ์ชายและหญิง  จึงไม่ใช่การแสดงออกของวิญญาณที่เป็นมาตั้งแต่เกิด  แต่สะท้อนถึงสิ่งที่ได้รับการสอนตลอดมา 


 


ดังนั้น gender จึงเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา  ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราแสดงออก  เรามีความรู้สึกว่าเราเป็นชายเป็นหญิง แต่ความรู้สึกนั้นมันเกิดมาจากที่ไหน  ความคิดเก่าจะบอกว่า  มันอยู่ในเราตั้งแต่เกิดมา  หรือเป็นวิญญาณ ถ้าเป็นคริสเตียนจะบอกว่าพระเจ้าสร้าง แต่ Butlerบอกว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันถูกสร้างภายในตัวเรา  นี่แหละเป็นความคิดหลักของ Butler


 


3  Michel Foucault


อาจารย์ท่านสุดท้ายนี้อยู่อีกแขนงวิทยาคือ ด้านประวัติศาสตร์  จริง ๆ เขาจบปรัชญาแต่เป็นปรัชญาด้านประวัติศาสตร์  คนที่นำความคิดของอาจารย์ Foucault มาใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นนักประวัติศาสตร์  อย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่า Queer Theory ไม่ได้เป็นสิ่งเดียว  แต่มีลักษณะเป็นเหมือนหีบความรู้  ดังนั้น คนที่สนใจวิเคราะห์วรรณคดี อาจจะใช้ความคิดของอาจารย์ Sedgwick คนที่สนใจปรัชญาอาจใช้แนวคิดอาจารย์ Butlerส่วนคนที่สนใจประวัติศาสตร์อาจเห็นว่าแนวคิดของอาจารย์ Foucault มีประโยชน์


 


ความคิดของอาจารย์ Foucault นี้คล้าย ๆ อีก 2 ท่าน  แต่มีความคิดเรื่องอำนาจ และสนใจเรื่องที่มาของอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถี (Sexuality) มากที่สุด


 


งานของอาจารย์ Foucault จริง ๆ มีหลายเรื่อง  แต่เรื่องที่เกี่ยวกับเพศภาวะนั้น งานที่เป็นงานหลักคือ "The History of Sexuality" หรือ ประวัติศาสตร์แห่งเพศวิถี  ซึ่งฟังแล้วก็ง่าย  ไม่ยากเท่าไร  แต่ที่จริงแล้วคำนี้มีความหมายแฝงอยู่ด้วย  เพราะว่าไอเดียหลักของหนังสือเล่มนี้คือ เพศวิถีเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม  เพศวิถีที่คนเน้นว่าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตนั้นมีประวัติศาสตร์  มีที่มา  และเมื่อมีที่มาก็อาจจะมีที่ไปด้วย  สักวันหนึ่งอาจจะหายไปได้


 


อาจารย์ Foucault สนใจหาที่มาของเพศวิถี  เขาบอกว่าเรื่องเพศวิถีไม่ว่าจะเป็นของคนรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นไอเดียพื้นฐานของคนในสังคมสมัยนี้ และเราคุ้นเคยกับมันเหมือนปลาในน้ำ  เราไม่ต้องคิดกับมันเท่าไร  แต่เขาพบว่าในประวัติศาสตร์  ไอเดียแบบนี้เมื่อสัก 200-300 ปีก่อนไม่สำคัญเท่าไร  มีสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า เช่น คุณแต่งงานหรือยัง  มีอาชีพอะไร  คนเรานั้นมีพฤติกรรมเรื่องเพศตลอดมา  แต่ไม่สำคัญต่ออัตลักษณ์ของคนสมัยก่อนเท่าไรเมื่อเทียบกับในสมัยนี้  ไม่ว่าจะเป็นทั้งรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกัน 


 


อาจารย์ Foucault จึงถามว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว  ทำไมเพศสัมพันธ์จึงสำคัญสำหรับเราอย่างมากในสมัยนี้  มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรื่องนี้สำคัญ  Foucault เป็นนักประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส  ส่วนใหญ่จึงใช้หลักฐานของฝรั่งเศสในการศึกษา  เขาเสนอว่า เมื่อระบอบอุตสาหกรรม และทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพล เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว  ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไปด้วย  เมื่อก่อนคนเป็นชาวนาชาวไร่ชีวิตจะเป็นคนละรูปแบบกับคนที่ต้องทำงานในโรงงาน  และระบบอำนาจของสังคมเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่  การเรียน  การทำงาน  กฎหมาย  โครงสร้างของสังคมหลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไป


 


ระบอบใหม่ที่เข้ามานี้เน้นตรงที่ร่างกายและพฤติกรรมทางเพศของคนมากขึ้น  และสิ่งแวดล้อมแบบใหม่จะเน้นให้เพศเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ไปด้วย  ซึ่งไอเดียของ Foucault นี้ก็คล้าย ๆ กับของ Butlerที่เน้นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของคน  แต่ Butlerนั้นสนใจเพศภาวะ (gender) ส่วน Foucault สนใจเพศวิถี (Sexuality) มากกว่า


 

ทั้งสามท่านนี้ก็มีคนวิจารณ์ว่าไอเดียยังไม่ครบถ้วน คิดว่าอาจารย์ Foucault น่าจะโดนวิจารณ์อย่างรุนแรงมากที่สุด อาจารย์ Butlerและผู้หญิงในสายสตรีนิยมวิจารณ์ว่า อาจารย์ Foucault ไม่สนใจและมองข้ามเพศภาวะไป  สนใจแต่เพศวิถีเท่านั้น บางคนก็เห็นว่าไอเดียของเขาเอามาใช้ได้  แต่ก็ต้องปรับปรุงด้วย