Skip to main content

’รงค์ วงษ์สวรรค์ พ่อมดแห่งภาษากวีมาดวิไลจากบ้านสวนทูนอิน

 



ภาพจาก http://www.tuneingarden.com/


           


รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาเป็นนักเขียน


ใช่ –เขาเป็นนักเขียนที่ผมไม่จำเป็นต้องหยุดคิดทบทวนและลังเลใจ ที่จะตอบตัวเองว่า นี่คือนักเขียนคนแรกในวัยหนุ่ม ที่ผมได้อ่านงานเขียนของเขาแล้ว ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเขียนหนังสืออย่างรุนแรง ใช่-ผมชอบงานเขียนของเขา โดยเฉพาะการใช้ภาษาของอารมณ์และความรู้สึก ที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาอันงดงามเพริศแพร้วราวกับบทกวี สะดุดตาสะดุดใจ และมิอาจมีใครมาดแม้นมาเหมือน


แน่นอน


เขาคือฮีโร่ทางวรรณกรรมคนแรกของผม


และยังคงเป็นอยู่มิเสื่อมคลาย


ตราบจนเท่าทุกวันนี้


 


ตัวตนของเขา ’รงค์ วงษ์สวรรค์


เท่าที่ผมได้รู้จักและมองเห็น จากมวลอันมหึมาในงานเขียนและตัวจริงของเขา เขาคือผู้ชายที่มีตัวตนอยู่สองบุคลิก บุคลิกแรกคือบุคลิกของลูกผู้ชายที่เป็นนักเลงชีวิตผู้แกร่งกร้าว ใจถึง และค่อนข้างดุดัน


 


โอ้-ความหลัง ผมยังจำได้แม่นยำ สมัยที่ผมเริ่มเขียนหนังสือด้วยการเริ่มต้นเขียนบทกวีอย่างจริงจัง และพอจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผ่านมานานหลายปีแล้ว ผมได้รับเชิญจาก พิบูลศักดิ์ ละครพล เพื่อนนักเขียน อดีตบรรณาธิการนิตยสารบทกวี "สู่ฝัน"ที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ในขณะนั้น ให้เดินทางไปอ่านบทกวีในงานที่เขาจัดในนามของนิตยสารสู่ฝัน ณ หอประชุมศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ


 


เมื่อ พิบูลศักดิ์ ละครพล พาผมไปคารวะและทำความรู้จักกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์  ที่เขาเชิญมาเป็นประธานเปิดงานพิธี ประโยคแรกของครั้งแรกในชีวิต ที่ผมได้รับการทักทายจากตัวจริงของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในชุดกางเกงยีนทะมัดทะแมงกับเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีม่วงอ่อน สวมทับด้วยเสื้อกั๊กสีน้ำตาลเข้ม หลังจากผมยกมือไหว้และกล่าวคำสวัสดีเรียบร้อยแล้ว คือ


"เฮ่ย นายกินเหล้าหรือเปล่าว่ะ"


 


ก่อนจะกลับมาสัมผัสตัวจริงของเขา อีกนับครั้งไม่ถ้วน ณ บ้านสวนทูนอินเชียงใหม่ ตราบจนเท่าทุกวันนี้


และอีกบุคลิกหนึ่ง เขาคือศิลปินในความหมายที่เรียกกันว่า ARTIST ที่ละเมียดละไมและปราณีต ช่างพิถีพิถันกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ซับซ้อนกันอยู่ในตัวตนของเขา ผู้ชายเข้มแข็งที่แทบไม่เคยแสดงความอ่อนแอใด ๆ ออกมาให้ใครเห็น แม้ในยามเจ็บป่วยและเจ็บปวดอยู่ในเส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตาย


 


และอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผมมองเห็น


เป็นจุดเด่นพิเศษในตัวตนของเขา คือความเป็นผู้มีรสนิยมดีเลิศ ในเรื่องความงาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะเขียนหนังสือออกมา ด้วยภาษาที่งดงามถึงปานนั้น ใช่เพียงแต่งานเขียนเท่านั้น ไม่ว่าเขาจะทำอะไร  เขาจะทำออกมาได้งดงามและดูดีไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกดอกไม้ ต้นไม้ใบหญ้า  พืชผักสวนครัว นิวาสสถานที่พำนักพักพิง ภูมิทัศน์ และการมีชีวิตคู่อยู่ร่วมกับคุณสุมาลี วงษ์สวรรค์ อันเป็นที่รักของเขาและลูกเต้า


 


ถ้าคุณอยากมองเห็นภาพรวมทางรสนิยมทั้งหมดนี้ของเขา คุณลองไปค้นหาหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ครายเดือนเล่มหนา ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์กับเพื่อนหนุ่มละแวกถนนเฟื่องนครทำกัน ระหว่างปี 2512-2513 จากหอสมุดแห่งชาติมาดู คุณจะมองเห็นหนังสือที่มิใช่เป็นเพียงแค่หนังสือ แต่ยังเป็นงานศิลปะการสื่อสารที่ลงตัวและงดงามปราณีตยุคหนึ่ง ซึ่งยิ่งกาลเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูงดงามคลาสสิก ควรค่าแก่การหวงแหน


เช่นเดียวกับการพบปะผู้คน


ที่ไปเยี่ยมเยียนเขา ณ บ้านสวนทูนอิน


เขาจะพิถีพิถันในการแต่งตัวให้แลดูดีอยู่เสมอ


ทั้งโดยอุปนิสัยส่วนตัวของเขา


และการให้เกียรติแขกผู้มาเยือน


ก่อนจะออกมาพบปะสนทนากับผู้คน


ตามเวลานัดหมายที่ยากจะคลาดเคลื่อน


 


งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์


ผมชอบงานเขียนของเขาทุกเล่มที่ได้อ่าน แต่เล่มที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือนวนิยายขนาดสั้นที่ชื่อว่า "หอมดอกประดวน" ซึ่งเป็นนวนิยายที่เขาเขียนถึงประสบการณ์ทางกามารมณ์ ความรัก และผู้หญิงของตัวละครที่ชื่อ โฉน ไพรำ ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนมัธยมอายุสิบหก จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์เต็มตัว


 


โดยเฉพาะตัวละคร ที่เป็นผู้หญิงหาเงินชั้นต่ำ ในโรงแรมสกปรกซอมซ่อ ที่เขาเข้าไปเรียนรู้บทเรียนบทแรกของกามารมณ์จากชีวิตจริงกับหล่อน ผู้หญิงสวยบัดซบในห้องเลขที่ 13 ที่ชื่อปอง อายุ รุ่นราวคราวเดียวกับพี่ป้าน้าอา หรือไม่ก็คงประมาณรุ่นแม่ของเขา ที่พูดกับเด็กหนุ่มอายุสิบหกที่ทำท่าจะมาติดพันหลงใหลหล่อน ถึงขั้นโกหกขอเงิน แม่หนีโรงเรียนแอบมานอนกับหล่อนแทบไม่ว่างเว้น และพยายามแสดงความรักกับหล่อน ด้วยการซื้อชุดชั้นในมาฝากหล่อนว่า


 


"นึกหรือว่าถ้ามีเงินแล้วฉันจะต้องแบให้เรา…." หล่อนเริดคิ้วฉงน "ที่นี้จะต้องให้ห่าง ๆ กันเอาไว้บ้าง มากนักไม่ดี ฉันจะให้เรามาหาได้ในคืนวันจันทร์กับพฤหัสเท่านั้น"


"ทำไม"


"ก็เราต้องไปโรงเรียน"


"ไม่ไปก็ได้"


"ไม่ได้ ต้องไปนะโฉน" หล่อนมองลูบไล้ปลอบโยนบนใบหน้าและกำยำกายของเขาแช่มช้า หล่อนว่า


"คืนอื่นอย่ามานะ ขืนมาฉันไม่รู้จักเรา…"


 


…………………………………………….


 


ผมอ่านเรื่องนี้ถึงตอนนี้แล้ว ผมรู้สึกตื้นตันใจจนแทบน้ำตาร่วง ที่ได้เห็นความดีงามของกะหรี่คนหนึ่ง ที่พยายามผลักไสไม่ให้เด็กมัธยมอายุสิบหกต้องเสียการเรียน เพราะมัวเมากับผู้หญิงอย่างหล่อน ที่สังคมตั้งข้อรังเกียจราวกับเศษขยะมาทุกยุคทุกสมัย ใช่ –ผมชอบตัวละครที่เป็นกะหรี่คนนี้ และผู้หญิงคนนี้แหละที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ ติดตรึงอยู่ในใจผมจนตราบเท่าทุกวันนี้


 


โดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมมองเห็นงานชิ้นนี้ของเขา งดงามราวกับภาพเขียนเอ็กเพรสชั่นนิสม์ ที่เต็มไปด้วยสีสันอันจัดจ้านร้อนแรง จากฝีแปรงพู่กันอันรวดเร็วและเด็ดขาด ถึงแม้งานชิ้นนี้…จะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคนที่ค่อนข้างเคร่งครัดในศีลธรรม แต่ผมก็ชอบของผม เพราะผมถือว่างานศิลปะ คืองานที่เปิดโปงและแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิต ไม่ใช่งานเทศนาสั่งสอนศีลธรรม


 


กับคำถามที่ว่า


งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีคุณค่าความหมายอะไรกับสังคม ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน โอ้ –ถ้าคุณเคยอ่านงานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ตั้งแต่ยุคแรกมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องลงไปค้นคว้าศึกษาเอกสารอ้างอิงใด ๆ คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า แก่นแกนในการทำงานเขียนของเขา คือการเขียนถึงความเป็นจริงของชีวิตผู้คน ความเป็นจริงของโลกและสังคม ทั้งในด้านมืดและสว่าง ทั้งในด้านที่ดีงามและอัปลักษณ์ ขอให้เป็นความจริงเท่านั้น ถ้าเขารู้จักมัน เขาจะแสดงมันออกมาในงานเขียน ให้เราเห็นสภาพความเป็นจริงนั้น ๆ


และพร้อมที่จะสบถก่นด่าความเลวร้ายทั้งหลาย


โดยแทบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ ทั้งสิ้น


แน่นอน ยิ่งเราอ่านงานของเขา เราย่อมยิ่งเข้าใจโลกและชีวิต นักเขียนคนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเข้าใจโลกและชีวิต และรู้เท่าทันมัน


กับคำถามที่ว่างานของเขาให้ประโยชน์อะไรกับสังคม ยังเป็นคำถามที่คับแคบและเล็กน้อยเกินไป สำหรับศิลปะวรรณกรรมที่คอยปักป้ายกากบาท และป้ายชี้ทางที่ดีงามและปลอดภัยให้กับมนุษยชาติ


 


’รงค์ วงษ์สวรรค์


ถ้าหากผมจะตั้งฉายาให้เขา จากมุมมองของคนที่ชื่นชอบการใช้ภาษาเขียนอันงดงามของเขา ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีคลังภาษารุ่มรวยมั่งคั่ง และเป็นขบถผู้ทรงพลังกับไวยากรณ์ในการใช้ภาษา ถึงขั้นสามารถหยิบฉวยถ้อยคำจากตระกูลไพร่ที่ต่ำต้อยและขุนนางผู้สูงส่ง มาหลอมรวมอยู่ในบริบทเดียวกัน โดยปราศจากการวิวาทบาดหมางระหว่างชุดชั้นของภาษา


"พ่อมดแห่งภาษากวีมาดวิไล จากบ้านสวนทูนอิน"


คือฉายาที่ไม่ไกลเกินความเป็นจริง ที่ผมขอมอบให้กับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้บรรลุถึงศาสตร์ศิลป์ในงานเขียนวรรณกรรม ดังที่ RUDOLF FLESCH ได้กล่าวสรุปเอาไว้ในหนังสือ "A MEW GUIDE TO BETTER WRITING" ว่า


"การเขียนหนังสือไม่ใช่การสะกดตัว แต่ยิ่งกว่าการสะกดตัว การเขียนหนังสือไม่ใช่ไวยากรณ์ แต่ยิ่งกว่าไวยากรณ์ การเขียนหนังสือคือการไขว่คว้าความคิด การมองเห็นภาพ การผูกคำ ปั้นความคิดให้เป็นรูปร่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเขียนหนังสือ มิใช่การรักษากฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนในการเรียงอักษรลงบนแผ่นกระดาษ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเขียนหนังสือ คือสมองของผู้เขียนนั่นเอง "


ใช่-ความคิดจากสมองของผู้เขียนต่างหากที่สำคัญยิ่งยวด


และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์


ได้ยืนยันเอาไว้อย่างหนักแน่น


ในงานเขียนของเขามาตลอดชีวิต


 


.. "A MEW GUIDE TO BETTER WRITING" แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยชื่อ "ห้องเรียนเขียนเรื่อง" โดยศรีเฉลิม สุขประยูร สำนักพิมพ์บรรณกิจ พฤษภาคม 2518


 


28 ธันวาคม 2549


กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่