Skip to main content

เปิดคอลัมน์ : มารู้จักกันก่อน

ผู้เขียนเคยทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์และทำรายการโทรทัศน์ของเคเบิ้ลทีวี ในเมืองกรุงหลายปี ก่อนที่จะมีโอกาสไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช การทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่นั่นสามปี ตั้งแต่ 2543-2545 กลับรู้สึกว่าได้เปิดหูเปิดตาและรู้จักประเทศไทยมากกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง และได้เห็นว่าสื่อท้องถิ่น มีประโยชน์และเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นได้ เพราะเรื่องราวหรือปัญหาในชุมชนมีมากมาย และท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านนโยบายจากศูนย์กลางมายังหน่วยราชการในท้องถิ่น หากนโยบายผิดพลาด ชาวบ้านในชุมชนจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง หากมีสื่อคอยจับตาเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลก็จะเป็นการสะท้อนปัญหาให้เกิดการแก้ไขได้ เพราะบางครั้งสื่อกระแสหลักในกรุงเทพฯ ก็เอื้อม (มีพื้นที่จำกัด) ไม่ทั่วถึงปัญหาคนเล็กคนน้อยในสังคมได้ทั้งหมด สื่อเล็กๆ ในท้องถิ่นจึงควรมีบทบาท


 


และเมื่อประมาณปี 2547-2548 ผู้เขียนได้รับทุนจากมูลนิธินิปปอน ชื่อโครงการ API  Fellowships หรือ Asian Public Intellectual Fellowships. ไปดูงานด้านสื่อท้องถิ่นที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 11 เดือน อยู่อินโดนีเซีย 6 เดือน และที่ฟิลิปปินส์ 5 เดือน เป็นเด็กบ้านนอกที่มีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานานๆ เช่นนี้ครั้งแรกในชีวิต ซึ่งผู้เขียนซาบซึ้งและขอบคุณผู้ที่เห็นการทำงานของคนข่าวเล็กๆ ในท้องถิ่น คือ อาจารย์ ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดี สำนักศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ที่แนะนำให้รู้จักกับทุนนี้และเป็นผู้ recommend ผู้เขียนกับองค์กรเจ้าของทุน และอาจารย์ รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังต้องขอขอบคุณคุณวิภาดา กิตติโกวิท นักแปลมือฉมัง ที่สนับสนุนช่วยเหลือทางด้านภาษาอังกฤษในช่วงแรกของการทำงาน ซึ่งผู้เขียนไม่แตกฉานเอาเสียเลย จนกระทั่งผู้เขียนเดินทางไปผจญภัยในต่างแดนก็ยังปรึกษาให้ท่านช่วยเหลือตลอดเวลา เรียกว่ารอดชีวิตกลับมาได้เพราะท่านแท้ๆ


 


ก่อนเดินทางไปดูงาน  ผู้เขียนยอมรับว่ารู้จักสื่อของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์น้อยมาก คิดว่าสื่อและสื่อท้องถิ่นบ้านเค้าคงเหมือนกับบ้านเรา แต่ผิดคาด การต่อสู้ของสื่อและสื่อท้องถิ่นโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ ในทั้งสองประเทศเข้มข้นมาก เนื่องเพราะประเทศของเขาผ่านการต่อสู้เพื่อเอกราชและเสรีภาพมาหลายรูปแบบทั้งการต่อต้านอาณานิคม และการต่อสู้กับเผด็จการทางการเมือง ที่อินโดนีเซียคือ ยุคเผด็จการซูฮาร์โต และที่ฟิลิปปินส์คือช่วงอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะสื่อทางเลือกของทั้งสองประเทศที่เข้มข้นมาตั้งแต่ยุคก่อนเผด็จ ระหว่างเผด็จการและกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งสื่อของเขามีบทบาทสูงอย่างมากต่อการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตย


 


คอลัมน์นี้ผู้เขียนหวังให้เป็นการเรียนรู้และรู้จักเพื่อนบ้านผ่านการเรียนรู้จากสื่อ ซึ่งมีอะไรที่น่าสนใจมากมาย และเพื่อเข้าใจเพื่อนร่วมโลกที่มีความหลากหลายและแตกต่างไปจากเรา


 


ผู้เขียนจะลำดับประสบการณ์ที่พบเห็นมาในแต่ละประเทศ ให้ทราบในแต่ละสัปดาห์ แต่คราวหน้าคงเกริ่นนำให้รู้จักภาพรวมของสื่อท้องถิ่นทั้งในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ให้ได้ทราบก่อน และผู้เขียนยังจะรวบรวมประสบการณ์อื่นๆ  ที่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับหลายกลุ่มองค์กรเอกชนเมื่อครั้งที่อยู่ที่นั่น เพื่อเป็นการเรียนรู้สังคมประชาคมของพวกเขาเพื่อเป็นบทเรียนของไทยได้บ้าง


 


 


 


สื่อมวลชนฟิลิปปินส์ช่วงเมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปอยู่มีการรณรงค์เรื่องการคอรัปชั่นในวงการสื่อ


จึงมีการสัมมนาแก้ปัญหาเรื่องนี้ทั่วประเทศ ในรูปนี้สัมมนาที่จังหวัดตาเกย์ไต


 




สื่อทางเลือกของอินโดนีเซียผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดหลังจากปี 1998 เพราะมีเสรีภาพประชาธิปไตย


ผู้เขียนคุยกับสื่อทางเลือกวิทยุชุมชน และนิตยสารทางเลือกของเมืองมาลัง ในจังหวัดชวาตะวันออก