Skip to main content

ธา (2)

คอลัมน์/ชุมชน

ลูกหลานสมัยนี้                             เห็นงูก็ไม่กลัว                 


เห็นตะขาบไม่เกรง                        มัวหลงระเริงกับเกล็ดมังกรทอง


คนฉลาดจะกินได้นาน                    เพราะของฟรีมักราคาแพง


ตัดไม่อย่าตัดทั้งต้น                       เก็บไว้ให้นกพญาไฟมาพักหนึ่งกิ่ง


 


(ส่วนหนึ่งของเพลง ธา  คำร้อง-ทำนองโดย ชิ สุวิชาน :  อัลบั้ม เพลงนกเขาป่า)


 


วันเวลาผ่านไปเหมือนเราตกอยู่ในภวังค์แห่งวัยที่ดำเนินไป  ท่ามกลางกระแสธารน้ำตกที่เชี่ยวกราดแห่งยุคสมัย  เสียงแห่งกระแสนั้นได้กลบเสียงร้องเรียกจากข้างหลัง จากสิ่งรอบข้างที่เคยคุ้นเคยสัมพันธ์ ทั้งคน ธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ  กระแสธารแห่งยุคสมัยได้พัดพาจนพลัดหลงจากวิญญาณที่มาอันแท้จริงของตนเอง โค้งน้ำแล้วโค้งน้ำเล่า ลอยไป ลอยไปตามกระแส  กระแสใหม่????!!


 


…กระทั่งตื่นขึ้นมาแล้วหันมาดูกุ๊ยเหล่อในช่วงหน้าร้อนอีกฤดู ความทรงจำเก่าๆ ยังอยู่ ความรู้สึกเดิมๆ ยังมี แต่สภาพแวดล้อมกายภาพ ลำน้ำ ปริมาณน้ำ สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่เหมือนเดิม


 


 



 


 


ต้นน้ำแจ่มในยามนี้ดูอิดโรย  ไร้เรี่ยวแรงที่จะไหลเหมือนเช่นเคย  พลังที่เคยแข็งแกร่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำบริวารที่มีปริมาณน้ำไหลสู่ แม่น้ำปิง มากที่สุด ปัจจุบันต้องอาศัยน้ำจากฟ้าในหน้าฝนคอยกระตุ้นชีวิตและเรี่ยวแรงในการทำหน้าที่ของแม่น้ำ  เหมือนเป็นเพียงยาโด็ป ให้กระปรี้กระเปร่าในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อปราศจากน้ำฝนเธอก็อ่อนแรงลง กลายเป็นแม่น้ำเคราะห์ที่ไร้พลังในตัวเอง


 


ถามชาวบ้านต่างก็บอกว่า เธอป่วยเป็นโรคทรายแทรกซ้อนในสายโลหิต คือมีปริมานทรายในลำห้วยของเธอมากเกินจำนวนจนแย่งพื้นที่ของน้ำ ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ กุ๊ยเหล่อแอ่งน้ำที่ขึ้นชื่อว่าแอ่งหินเพราะมีหินในลำห้วยมากมาย และมีหินก้อนใหญ่ความสูงสองสามเมตรอยู่ที่มุมแก่งนั้นถูกทรายทับถมจนเหลือแค่ยอดหินโผล่ขึ้นมาไม่ถึงเมตร ไม่มีแอ่งน้ำลึกแล้ว ไม่มีเด็กๆ มาเล่นน้ำ  มีเพียงปลาซิวฝูงเล็กว่ายไปมาอย่างไร้อารมณ์


 


สาเหตุของโรคนี้ ผู้คนในพื้นที่ต่างวินิจฉัยออกมาหลายอย่าง  บ้างก็ว่ามาจากการที่ใช้รถแบคโฮไถถนน แล้วเมื่อฝนตกน้ำฝนได้พัดพาขี้ดินขี้ทรายลงสู่ลำห้วยทำให้มันตื้นเขิน  บ้างก็ว่าเกิดจากการที่ต้นไม้ลดปริมาณลงไม่มีอะไรที่สามารถยึดเกาะดินไว้ได้ทำให้ดินเหล่านั้นไหลลงสู่ลำน้ำ บ้างก็ว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติที่ไหนไหนก็เป็นเช่นนี้


 


ขณะที่ พือ (อุ้ย) ลาฉ่วยสรุปเพียงสั้นๆว่า


"มันเกิดจากใจของคน ใจของคนไม่ได้อยู่กับแม่น้ำแล้ว ใจของคนอยู่กับเงิน คนมักคิดว่าเงินซื้อน้ำได้ เงินซื้อทรายได้ ซื้อหินได้ ซื้อปลาได้ แต่เขาลืมไปว่าเงินมิอาจซื้อแม่น้ำที่มีชีวิตได้"


 


ถามความรู้สึกเพื่อนเก่าที่เคยเล่นน้ำที่กุ๊ยเหล่อด้วยกัน ต่างก็พูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าเสียดายที่ไม่มี


กุ๊ยเหล่อแล้ว และต่างอ่อนใจกับหัวใจที่ห่างเหินกับแม่น้ำ


 


"การจะฟื้นชีวิตแม่น้ำนั้นต้องฟื้นที่หัวใจของคนก่อน เมื่อสภาวะหัวใจของคนเป็นอย่างนี้มันไม่ง่ายนะ" เพื่อนคนหนึ่งออกความเห็น


 


กลับไปที่อีกวงสนทนาหนึ่ง


"พรุ่งนี้ต้องใช้ทรายกี่ร้อยปี๊บ?"


"ใช้รถขนกี่คัน?"


"รวมทั้งหมดเป็นเงินเท่าไหร่?"


 


 



 


 


มันเป็นความสัมพันธ์กับแม่น้ำยุคใหม่ แม่น้ำที่มีทรายมากกว่าน้ำ ทรายที่สามารถไปขายแล้วได้เงินมา


"ถือว่าเป็นโชคดีของคนมูเจ่คี ที่มีทรายในแม่น้ำมากขนาดนี้ เวลาก่อสร้างอะไรไม่ต้องไปเอาทรายจากที่อื่น ทรายบ้านเรามีเยอะแยะ" คนหนึ่งในวงสนทนาพูดขึ้นมา


"นี่ ถ้าไม่มีทรายในแม่น้ำ เราก็ลำบากเหมือนกันนะ ต้องไปซื้อทรายจากที่อื่น ต้นทุนสูงขึ้นอีก" อีกคนกล่าวเสริม


 


ไม่ว่าสภาวะหรือสถานการณ์ใด  แม่น้ำยังคงเป็นผู้ให้มนุษย์เสมอมา


แต่ในยามที่แม่น้ำเจ็บป่วยไข้ มีใครบ้างที่จะเยียวยารักษา?  มีใครที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อแม่น้ำหรือให้อะไรคืนแก่แม่น้ำบ้าง?  หรือต้นน้ำแม่แจ่มถึงวัยชราภาพแล้ว ????!!!


 


ฆ้องกบอยู่กับคนที่มีกำลัง               เงินอยู่กับคนที่มีความเร็ว


ลูกหลาน ปวาเก่อญอเอ๋ย                จงมารอที่กิ่วดอย


ตอนบ่าย บ่าย                              เงินและทองจะกลับมา


ขอให้โชคดี