Skip to main content

เครือข่ายชาวลีซูจังหวัดเชียงราย

คอลัมน์/ชุมชน


ชาวลีซู (LISU) เป็นชาวเขาเผ่าแรกที่ดิฉันได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้และทำงานด้วย เมื่อครั้งออกค่ายชาวเขาของชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.จม.) ระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นการออกค่ายครั้งแรกในชีวิตนิสิตจุฬาฯ ของดิฉัน แม้จะสื่อสารกันด้วยภาษาไม่ได้ ก็ใช้วิธีสื่อทางใจ ค่อย ๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความรู้สึกผูกพันดุจญาติ วันอำลาวันสุดท้ายของค่ายจึงจากกันด้วยน้ำตา แต่จุดประกายให้ดิฉันได้ทำงานกับพี่น้องชาวเขาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องจนทุกวันนี้


ค่ายกลางปีของชมรมศึกษาและวิจัยชาวเขา ส.จม. ๑๔ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ และค่ายปลายปี ๑ - ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๗ ซึ่งดิฉันเรียนอยู่ปี ๔ แล้ว ดิฉันเป็นกรรมการบริหารของชมรมฯ ทำหน้าที่สำรวจหมู่บ้านที่จะไปออกค่ายในจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้เลือก ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านปางสา (ชาวลีซู ลาหู่ และจีนฮ่ออยู่ด้วยกัน) บ้านจะพือ (ชาวลาหู่) บ้านเล่าชีก๋วย (ชาวเมี่ยน) และบ้านห้วยมะหินฝน (คนพื้นเมืองล้านนา) ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยดิฉันได้อยู่ที่บ้านปางสาต่อเนื่องทั้ง ๒ ครั้ง


ชาวลีซู บ้านปางสา กระตือรือร้นในการมาทำงานของนิสิตชาวค่ายอย่างยิ่ง เพราะหมู่บ้านปางสา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ไกลเส้นทางคมนาคม ต้องเดินเท้าจากทางรถไป ๓ - ๔ ชั่วโมง ยังไม่มีโรงเรียน ไม่มีครู อยู่ในความดูแลของหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านเล่าชีก๋วย ในสังกัดกองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์


เมื่อชาวบ้านรู้ว่า จะมีชาวค่ายมาสอนหนังสือเด็กและผู้ใหญ่ จึงร่วมใจกันสร้างโรงเรียน สร้างบ้านพักให้ชาวค่าย โดยใช้วัสดุท้องถิ่น คือ ไม้ไผ่ หญ้าคา พร้อมต่อน้ำด้วยรางรินไม้ไผ่มาให้ใช้ที่โรงเรียนชั่วคราวด้วย


บรรยากาศการทำงานของชาวค่ายทั้ง ๒ ครั้ง เป็นไปอย่างเข้มแข็ง เด็ก ๆ มาเรียนหนังสือช่วงกลางวันตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึงช่วงบ่าย ตอนหัวค่ำหลังอาหารเย็น ชาวบ้านทั้งเด็ก ผู้ใหญ่มาร้องเพลง เล่นเกมสันทนาการกับชาวค่าย ด้วยความสนุกสนาน เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกันด้วยความเคารพ ด้วยความจริงใจ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตชาวค่าย ซึ่งเป็นตัวแทนของนิสิตคณะต่าง ๆ กับพี่น้องลีซู ลาหู่ และชาวจีนฮ่อ อย่างดียิ่ง


ฝ่ายการศึกษา ซึ่งมีนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ได้เตรียมหลักสูตร แบบเรียน และอุปกรณ์การสอน (ซึ่งใช้ของจริงในท้องถิ่นด้วย) อย่างดี มีการประชุมประเมินผลและปรับหลักสูตรกันทุกคืน รวมทั้งประเมินผลงานของทุกฝ่ายและวางแผนกิจกรรมรายวัน หลังจบการสอนผู้ใหญ่ นับเป็นการทำงานที่ใช้หลักวิชาการตามที่ร่ำเรียนมาของนิสิตคณะต่าง ๆ ที่ได้มาร่วมงานค่ายกัน


ฝ่ายสัตวแพทย์ โดยนิสิตคณะสัตวแพทย์ ได้ตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยง คือ ไก่ ม้า ควาย บางวันก็มีการตอนไก่ ตามที่ชาวบ้านร้องขอด้วย


ฝ่ายวิจัยได้เยี่ยมเยือน เก็บข้อมูลในหัวข้อ "ทัศนคติที่ชาวเขามีต่อคนไทยและประเทศไทย" โดยเลือกกรณีศึกษาจาก ๓ หมู่บ้านที่มาตั้งค่าย แล้วนำมาวิเคราะห์ สรุปผลว่า ชาวเขามีทัศนคติที่ดีต่อคนไทยและประเทศไทย มีความรู้สึกมั่นคง อบอุ่นที่บรรพบุรุษผู้อพยพเข้าเมืองมาหลายสิบปีก่อน ได้รับการดูแลจากชาวไทยและรัฐบาลไทยด้วยดี



ค่ายทั้งสองครั้งที่บ้านปางสา ดิฉันได้แรงบันดาลใจที่จะมาทำงานเป็นครูดอยที่บ้านปางสา โดยสมัครเข้าเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร ตามโครงการอาสาสมัครขั้นบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดิฉันผ่านการคัดเลือกได้มาทำงานที่บ้านปางสา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๗ เป็นต้นมา จึงได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมของชาวลีซู ลาหู่ จีนฮ่อไปพร้อม ๆ กัน ได้ใช้หลักวิชาการจากการเรียนวิชาเอกสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างยิ่ง


ชาวลีซู บ้านปางสา ได้ให้ชีวิตใหม่แก่ดิฉัน ทำให้ดิฉันได้พัฒนาทั้งจิตใจ ปัญญา ที่จะใช้ชีวิตเป็นประโยชน์ต่อสังคม ได้พัฒนาจิตวิญญาณ ความเป็นครู ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และธรรมชาติ โดยไม่มีเงื่อนไข ความรักที่ชาวปางสาทั้งพ่อแก่แม่เฒ่า ผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก ๆ ให้แก่ดิฉัน ทั้งข้าว น้ำ ความรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความคิด ประเพณี วัฒนธรรม ได้ขยายวงเป็นการทำงานในลุ่มน้ำแม่จันทั้งหมด นำสู่การทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ และเครือข่ายภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อธรรมะ และธรรมชาติทั่วประเทศและทั่วโลก


ภาษาลีซู ลาหู่ จีนฮ่อ อาข่า จึงเป็นภาษาที่ ๓,๔,๕,๖ ที่ดิฉันได้เรียน รองจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถสื่อสารกับทุกคนทุกวัยได้โดยไม่มีช่องว่าง จนเป็นความสัมพันธ์ที่ดีงามต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้


วิถีชีวิตที่สงบสุข อยู่กับธรรมชาติอย่างพอดี เป็นมิตร ถูกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และกระแสโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมเสรี บริโภคนิยม ทำให้เปลี่ยนไป เป็นการต้องพึ่งระบบเศรษฐกิจการตลาด พึ่งกลไกของรัฐมากขึ้น เด็ก ๆ ต้องมาเข้าโรงเรียน เข้าศูนย์เด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ ๒ - ๓ ขวบ ด้วยความจำเป็นของครอบครัว และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป


มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา จึงได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๙ โดยดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อำไพ สุจริตกุล และดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร เป็นประธานคนที่หนึ่ง คนที่สอง และคนปัจจุบัน ตัวดิฉันเองร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ก่อตั้งและเลขาธิการ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม การใช้ภูมิปัญญาของชาวเขา นำไปสู่การ "อยู่พอดี กินพอดี บนพื้นที่สูง"



การประชุมเครือข่ายผู้รู้ชาวลีซู จังหวัดเชียงราย จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านปางสา เมื่อวันที่ ๒๙ - ๓๐ เมษายน ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นเดือนที่ชาวลีซูรำลึกถึงวิญญาณบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการทำพิธีบวงสรวงและบูชาหลุมฝังศพ โดยชาวบ้านปางสาเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ผู้เข้าร่วมเป็นชาวลีซูจากบ้านดอยล้าน ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย บ้านปุยคำ ตำบลดอนชัย อำเภอเมือง บ้านโละป่าตุ้ม ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง บ้านห้วยส้าน ตำบลห้วยชมพู อำเภอเมือง บ้านเวียงกลาง ตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน บ้านเฮโก และบ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จำนวนประมาณ ๕๐ คน


จากการพูดคุย กลุ่มผู้รู้ได้แลกเปลี่ยนประเด็นสถานการณ์ของหมู่บ้านทั้งที่เป็นความสุข และความหนักใจของชาวบ้าน ประเด็นที่กลุ่มผู้รู้และผู้อาวุโสแสดงความหนักใจ ได้แก่


๑. ประเด็นสถานะบุคคลของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (สีฟ้า) บางส่วนถือบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง (สีเขียวขอบแดง) ชาวบ้านอยู่ในระหว่างการยื่นขอรายการสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ปี ๒๕๔๓ สำหรับบุคคลที่เกิดในประเทศไทย จากบิดามารดาที่เกิดในประเทศไทย การยื่นขอสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีใบถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย สำหรับบุคคลที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทย และการยื่นขอลงรายการสัญชาติตามมาตรา ๗ ทวิ สำหรับบุคคลที่เกิดในประเทศ จากบิดามารดาที่เกิดนอกประเทศ โดยทั้งสามกลุ่มต้องมีหัวหน้าครอบครัวเข้าเมืองมาก่อนปี ๒๕๒๘


การดำเนินการยื่นขอสถานะต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้ยื่นคำร้องไปที่อำเภอเรียบร้อยแล้ว แต่ชาวบ้านค่อนข้างกังวลกับความล่าช้าของการดำเนินงาน และอนุมัติ


๒. ประเด็นปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากหลายหมู่บ้านถูกประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับที่ดินทำกิน กรณีตัวอย่างเช่น หมู่บ้านดอยล้าน ซึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์แม่ลาวฝั่งซ้าย ตอนต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปรังวัดที่ดิน และแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าจะออกใบ สปก.ให้ครอบครัวละ ๓๐ ไร่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับใบ สปก.เลย


ในหมู่บ้านดอยล้าน บ้านห้วยส้านลีซู พื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกิน ๓๕ ซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้านจำนวน ๑๐๐ กว่าราย ชาวบ้านกล่าวว่า ไม่ต้องการเอกสารสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ต้องการให้กันพื้นที่ให้ชุมชนอย่างชัดเจน ทั้งที่อยู่ที่ทำกิน แต่กลุ่มคนที่อยากได้เอกสารสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นกลุ่มนายทุนที่มาทำรีสอร์ทในหมู่บ้าน




๓. ประเด็นการสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนเผ่าลีซู พบว่า เด็กวัยรุ่นและเยาวชน ไม่สนใจในวัฒนธรรมดั้งเดิม ประเพณีที่จำเป็นของครอบครัว การเล่นดนตรีพื้นบ้าน การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการขาดความเคารพในผู้อาวุโสของชุมชน


เยาวชนในปัจจุบันมักให้ความสนใจกับวิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มากกว่าการเรียนรู้ในรากเหง้า และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาติพันธุ์ตัวเอง ผู้เฒ่าชาวลีซูคนหนึ่งกล่าวว่า ถ้าเยาวชนในปัจจุบันไม่เรียนรู้จักรากเหง้าของตนเอง ก็เหมือนกับต้นไม้ที่ขาดรากแก้ว มีแต่จะถูกสายลมและพายุพัดให้หักโค่นได้ง่าย



ข้อสรุปจากที่ประชุมเครือข่ายผู้รู้เพื่อจะคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง ต้องมีการดำเนินงานโดยการสร้างกลุ่มผู้รู้เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ของตนเองสู่สาธารณะให้มากขึ้น รวมทั้งถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นต่อไปให้เข้าใจ มีจิตสำนึกในการรักษา การสื่อสารเพื่อแสวงหาพื้นที่ทางสังคม โดยเฉพาะพื้นที่ทางวัฒนธรรม


อันเป็นการสร้างให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง คงไว้ซึ่งความเป็นชาติพันธุ์ลีซูสืบไป โดยร่วมมือกับโรงเรียน ทำหลักสูตรท้องถิ่น เชิญผู้รู้มาสอนในโรงเรียน หรือให้นักเรียนมาร่วมกิจกรรมในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีกรรมสำคัญประจำปี ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับการเคารพธรรมชาติ เทพแห่งขุนเขา ลำห้วย ป่าไม้ บรรพบุรุษ ได้แก่ เทศกาลปีใหม่ เทศกาลเคารพที่ฝังศพบรรพบุรุษ เทศกาลกินข้าวโพดใหม่ เทศกาลกินข้าวใหม่ เป็นต้น


บรรยากาศการประชุมในบ้านของอาเหล่ไก ซึ่งเป็นบ้านแบบลีซูดั้งเดิม ผนังทำด้วยดินผสมฟาง มุงหลังคาด้วยหญ้าคาตามแบบฉบับของลีซู มีนกนางแอ่นมาทำรังอยู่บนหลังคา ผู้ร่วมประชุมนั่งบนตั่งไม้เล็ก ๆ การพูดคุยเป็นกันเอง รวมทั้งอาหารพื้นบ้านของลีซู อาทิ เต้าหู้อ่อน ผัดผัก กินกับข้าวดอย(ข้าวไร่ของลีซู) รสชาติอร่อย ล้วนแต่สร้างความประทับใจให้กับ สว.วงษ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพังงา ที่ร่วมเดินทางไปกับดิฉันเป็นอย่างยิ่ง



ชาวลีซู ลาหู่ อาข่า ในลุ่มน้ำแม่จัน ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง โดยนายกสุพจน์ หลี่จา ซึ่งเป็นชาวลีซูบ้านปางสา จัดเทศกาลปีใหม่เวียนไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ทุกปี ดึงให้คนหนุ่มสาวที่ไปเรียนหนังสือและทำงานต่างถิ่น ได้กลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน ฝึกให้เป่าแคน เล่นซึง เต้นรำ และแต่งชุดลีซูอย่างเต็มยศด้วยสีสันที่สดใส เป็นความภูมิใจในความสำเร็จของการฟื้นฟูวัฒนธรรมได้จริงอย่างยิ่ง


งานสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา ที่โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๘ ชาวลีซูบ้านปางสา และชาวลาหู่บ้านจะหยี ได้มาแสดงดนตรีและเต้นรำอย่างงดงาม เป็นที่ประทับใจของคณะสมาชิกวุฒิสภา คณะเจ้าหน้าที่วุฒิสภา และสื่อมวลชนทุกคน (ดิฉันได้แต่งชุดลีซูร่วมเต้นรำด้วย ทำเอาเพื่อน ๆ ส.ว.ตื่นเต้นกันหลายคน)


ขอชื่นชมจุดเริ่มต้นของเครือข่ายผู้รู้ชาวลีซู ขอให้ขยายผลไปยังทุกหมู่บ้านและทุกจังหวัด เพื่อวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวลีซูจะดำรงอยู่ และปรับให้เข้ากับยุคสมัยโลกาภิวัตน์ได้อย่างเหมาะสม ตลอดไป