เผาปิฏกไตรเป็นเชื้อไฟแห่งปัญญา (๒)
คอลัมน์/ชุมชน
เรจินัลด์ เรย์ ถ่ายทอด
วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง
ปัญญาสามขั้น
กระบวนการเรียนรู้ด้านในที่สมบูรณ์ประกอบด้วยปัญญาสามขั้นแห่งจิตตปัญญาศึกษา นั่นคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (สุตตามยปัญญา) การใคร่ครวญด้วยใจ (จินตามยปัญญา) และการภาวนา (ภาวนามยปัญญา)
ปัญญาจากการฟังอย่างลึกซึ้ง
การรับฟังหรือการเรียนรู้คำสอน แบ่งได้เป็นสองวิธี วิธีแรกคือการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดปากเปล่า เรื่องเล่า หรือคำอธิบายของธรรมาจารย์ที่ยังมีชีวิต และวิธีที่สองก็คือ การเรียนรู้ผ่านตำรับตำรา ข้อจำกัดของการเรียนรู้จากตำรา ก็คือ แม้หนังสือจะมีคำอธิบายรายละเอียดอย่างวิจิตร เต็มไปด้วยตัวอย่างและหลักโต้แย้งอย่างเป็นระบบ แต่เนื่องจากมันถูกเขียนขึ้นในต่างยุคสมัยและสถานที่ บางครั้งเนื้อหาของมันจึงยากที่จะซึมซับได้ บ่อยครั้งที่เราต้องการอรรถาธิบายจากธรรมาจารย์ บวกกับตัวอย่างจากประสบการณ์การฝึกฝนที่ท่านเคยผ่านมา เพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจคัมภีร์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง คำสอนปากเปล่าที่เราได้ยินจากครูบาอาจารย์โดยตรงมักจะอธิบายสถานการณ์ชีวิตของเราได้ดียิ่งกว่า อีกทั้งยังถูกพูดในวิถีทางที่ง่ายต่อการรับฟังและการทำความเข้าใจ บ่อยครั้งที่คำสอนปากเปล่านั้นก็ยังคงยึดตามหลักดั้งเดิมตามพระคัมภีร์ แต่ก็ได้มีการปรับและตีความโดยครูบาอาจารย์เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง
ปัญญาจากการใคร่ครวญด้วยใจ
ปัญญาหรือความเข้าใจลักษณะที่สอง คือ การใคร่ครวญด้วยใจ หรือการสะท้อนความรู้สึกด้านใน โดยปกติแล้วเมื่อเราได้ฟังหรือศึกษาคำสอนใดๆ มันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเห็นด้วยหรือมองคำสอนนั้นว่าจริงแท้เสียทีเดียว ปัญญาขั้นที่สองเป็นกระบวนการที่บอกเราว่า เราจะต้องน้อมนำสิ่งที่เราศึกษาเข้ามาสู่ใจเพื่อที่จะมองดูมันอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงตั้งคำถามกับตัวเราเอง...อะไรคือความหมายที่แท้จริงของคำสอนนี้? มันกำลังชี้ให้เราเห็นถึงอะไร? มันถูกต้องในแง่ที่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของตัวเราและผู้คนรอบข้างหรือไม่? การพิจารณาใคร่ครวญเช่นนี้ไม่ได้เป็นแค่การพิจารณาว่าคำสอนหนึ่งจริงหรือไม่เท่านั้น ในขั้นที่ลึกซึ้งขึ้นไป มันยังหมายถึงการนำพาเราไปสู่การเริ่มต้นตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันในทุกๆเรื่อง
ยกตัวอย่างในกรณีของพระพุทธเจ้าศากยมุนี สิ่งที่ท่านทรงสอนต่อศิษย์ก็คือ หลักอริยสัจสี่ข้อแรกที่ว่า ชีวิตคือความทุกข์ ปัญญาขั้นแรก คือการที่เรารู้หลักวิธีคิดและคำสอนพื้นฐานในเรื่องของความทุกข์ ว่าชีวิตนั้นมักจะเต็มไปด้วยความรู้สึกพร่อง และไม่พึงใจอยู่เสมอๆ ปัญญาขั้นที่สองจะนำไปสู่การมองชีวิตอย่างชิดใกล้ วินาทีต่อวินาที เพื่อที่จะให้เห็นว่า จริงหรือไม่ที่อริยสัจข้อแรกดูจะขยายต่อออกไปอีก ด้วยการผ่านการบ่มเพาะปัญญาในขั้นที่สองนี้ เป้าหมายของเราก็คือการค้นหาว่าสัจจะแห่งความทุกข์นั้นจริงหรือไม่อย่างไร ในขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะให้เห็นถึงขอบเขตและวิถีทางของสัจจะแห่งความทุกข์นั้น
การได้ใคร่ครวญสัจจะแห่งทุกข์ แล้วเห็นว่ามันได้ถูกสะท้อนสู่ชีวิตเช่นไร สามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสภาวะการดำรงอยู่ในแต่ละวันของเรา เราพบว่าชีวิตของเราลดความเร็วลง กลายเป็นคนติดดิน ที่อยู่กับประสบการณ์ในปัจจุบันขณะมากขึ้น จิตใจของเราก็สงบระงับ มั่นคง และแข็งแรงขึ้นตามไปด้วย ความมั่นคงและความแข็งแกร่งเช่นนี้ได้ถูกบ่มเพาะขึ้นจากปัญญาขั้นที่สอง การใคร่ครวญด้วยใจ ซึ่งได้ให้พื้นฐานที่จำเป็นที่สุด ต่อปัญญาขั้นที่สาม ซึ่งก็คือ การฝึกจิตภาวนา
ปัญญาจากการภาวนา
ในปัญญาขั้นที่สามหรือภาวนามยปัญญา ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้จะถูกตรวจสอบอย่างลงลึกขึ้นไปอีกด้วยการทำความเข้าใจธรรมชาติของพลังตื่นรู้ภายในตัวเรา กระบวนการเรียนรู้ในขั้นนี้จะทำให้เราได้เข้าใจด้วยประสบการณ์การค้นพบในแบบของเราเอง ในการภาวนา เรามองตรงไปที่จิต เพื่อจะได้เห็นว่ามันคืออะไร มีคุณลักษณะเช่นไร เรามองไปที่ธรรมชาติของร่างกาย ความคิด อารมณ์ และความรู้สึก เรียนรู้การปรุงแต่งของความคาดหวัง ความกลัว ความคิดฝันลมๆ แล้งๆ อันเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินของเรา เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความฟุ้งซ่านเริ่มเบาบางลง เราจึงค่อยๆ เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติเดิมแท้ของจิตอันกว้างใหญ่ อันเป็นพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ ที่จะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกับประสบการณ์ ผู้คน และสิ่งต่างๆ รอบตัวตามที่เป็นจริง
ในขั้นต้น ปัญญาทั้งสามจะถูกนำมาสอนตามลำดับขั้น แต่ในการฝึกฝนในชีวิตประจำวัน เราจะหลอมรวมปัญญาทั้งสามไปด้วยกัน เช่น เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญคำสอน จนนำมาซึ่งความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์กับประสบการณ์ตรง เราอาจมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปศึกษาตำราอย่างละเอียดมากขึ้น หรือเมื่อได้ฝึกภาวนา เราก็อาจจะพบกับคำถามมากมายในใจ ที่อยากจะนำไปซักถามอาจารย์ หรือนำไปค้นคว้าหาคำตอบจากตำรา ด้วยต้องการที่จะรู้ว่าอาจารย์หรือตำราเหล่านั้นให้คำแนะนำไว้ว่าเช่นไร ในประเด็นที่เราได้ประสบมาแล้วโดยตรงจากการฝึกฝนปฏิบัติ
สิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ด้านใน ก็คือ ความรู้จะต้องไม่ถูกยื่นต่อให้กันเหมือนวัตถุ ผู้สอนต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในหัวใจแห่งคำสอน และสามารถส่งผ่านแรงดลใจนั้นไปยังศิษย์ แรงบันดาลใจนี้เองที่จะนำให้ผู้เรียนได้เข้าสู่กระบวนการฝึกฝนตนเอง บ่มเพาะพลังทางปัญญาที่จะปลุกให้เขาตื่นจากความหลับใหล จากนั้นนักเรียนจึงส่งผ่านกระบวนการนั้นไปยังนักเรียนของเขาต่อไป สายการปฏิบัติจึงถือกำเนิดขึ้น ทำให้ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่มีชีวิต และทันกับยุคสมัยและเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ความรู้จะต้องไม่ถูกสงวนรักษาราวกับโบราณวัตถุคร่ำครึ ไม่ใช่นิทานหรือเทพนิยายหลอกเด็กที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง ความรู้ที่แท้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งกระบวนการ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สดใหม่ ผุดบังเกิดออกจากประสบการณ์ด้านในบนพื้นฐานแห่งการตื่นรู้ในทุกปัจจุบันขณะ และนั่นคือสารัตถะของการดำรงอยู่ที่แท้ในแต่ละย่างก้าวของการเดินทางแห่งชีวิต