Skip to main content

มนุษย์โง่ๆ คนหนึ่ง กับ "สงคราม" (และ "สื่อ")

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้(14 มกราคม 2550)รายการคุยข่าวทางทีวีรายการหนึ่งได้นำเสนอข้อมูลจำนวน "ครู" ที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตใน "สงคราม" 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน


                                                            


รวม 64 คน


 


ผมนั่งมองรายชื่อคุณครูทั้ง 64 ท่านอย่างหดหู่ --และไม่เข้าใจ


 


เช่นเดียวกับตอนที่ดูข่าวระเบิดทั่วกรุงเทพฯในคืนส่งท้ายปีเก่า ซึ่งหลายคนนิยามว่าคือ "สงครามการเมือง" --อย่างไม่เข้าใจ


 


 


……….


 


 


ตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ จนบัดนี้


ผมไม่เคยเข้าใจ "สงคราม"


 


แม้จะมีการอธิบายความขัดแย้งด้วยเหตุผลสารพัน ทั้งที่ฟังดูยิ่งใหญ่น่าเทิดทูนจนถึงงี่เง่าไร้สติเกินจะบรรยาย เแต่ "เหตุผล" เหล่านั้นก็ยังไม่เคยทำให้ผมเข้าใจได้ว่า เหตุใดหลายต่อหลายหนจนนับครั้งและชีวิตไม่ถ้วน คู่ขัดแย้งแห่งสงครามจึงต้อง "ต่อสู้กัน" ด้วยการทำร้าย-ทำลายชีวิตและร่างกายของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง


 


และเหตุใดการกระทำเช่นนี้จึงชอบธรรม?


เหตุใด "การฆ่า" ภายใต้นามแห่ง "สงคราม" จึงชอบธรรม?


อย่างน้อยก็สำหรับคนจำนวนหนึ่ง


 


หรือเพราะนี่คือ "สงคราม"


การทำร้ายทำลายชีวิตและร่างกาย (ไม่ว่าของใครก็) ล้วนถูกนิยามว่าเป็น "การต่อสู้"


มิใช่ "อาชญากรรม" ?


 


"สงคราม" ต่างจาก "อาชญากรรม" ตรงไหน?


 


หรือเพราะนี่คือการทำลายชีวิตมนุษย์ตัวเล็กๆ - ชีวิตธรรมดาสามัญ


เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า? สูงค่ากว่า?


 


…ผมไม่เคยเข้าใจ


 


ตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ จนบัดนี้ ภาพ "สงคราม" ที่ผมนึกออกมีแต่ภาพมนุษย์ธรรมดาสามัญที่รักตัวกลัวตาย บ้างก็หอบหิ้วลูกหลานวิ่งหนีลูกระเบิดและห่ากระสุน บ้างก็ร่ำไห้กับร่างไร้ลมหายใจของคนอันเป็นที่รัก บ้างก็นอนจมกองเลือดตัวเองรอคอยลมหายใจสุดท้าย…


 


ผู้คนเหล่านี้ไม่เข้าใจถึงวิถีแห่งสงคราม?


 


และสำหรับบ้านนี้เมืองนี้, ผมจำได้แต่ว่า


เมื่อใดที่มีการแย่งชิงอำนาจจนต้องมีการ "สละชีวิต"   ชีวิตส่วนใหญ่ที่สละไปคือชีวิตคนตัวเล็กๆ ที่ด้อยอำนาจวาสนา ทั้งที่ทำมาหาหากินอยู่ในและนอกเครื่องแบบ – แทบทุกครั้งไป


 


 


……….


 


 


ผมไม่เคยเข้าใจ "สงคราม"


แต่ผมเชื่อว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งจาก "สงคราม" ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจาก "สงครามการเมือง" ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่แล้วไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ "สงคราม" ที่ฆ่าพวกเขา


 


เท่าๆ กับที่เชื่อว่า "เหยื่อสงคราม" ทุกชีวิตมีคนอันเป็นที่รักอยู่ข้างหลังทั้งสิ้น


และไม่ว่า "สงคราม" จะนิยามพวกเขาไว้เช่นไร - "ผู้เสียชีวิต", "ผู้เคราะห์ร้าย", "ผู้เสียสละ", "ทหารหาญ" ฯลฯ


แต่ในความรู้สึกของญาติมิตรซึ่งสูญเสียแล้ว "ชีวิตเล็กๆ" เหล่านี้มีคุณค่ามากกว่านั้นเสมอ โดยที่เกียรติยศ อำนาจ หรือสิ่งใดที่ "สงคราม" บูชา ก็ไม่สามารถทดแทนได้เทียบเทียม


 


บทกวีด้านล่างนี้ผมเขียนไว้หลายปีมาแล้ว - ตั้งแต่ช่วงสงครามตะวันออกกลาง - นำออกเผยแพร่ครั้งล่าสุดในห้วงเวลาที่การ "ดับไฟใต้" ของรัฐบาลทักษิณกำลังดำเนินไปอย่าง "ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน" และอาจพูดได้ว่ากระแสหลักของสังคมในขณะนั้นขานรับอย่างท่วมท้น


 


ปีใหม่นี้ได้กลับมาอ่าน และขอนำมาลงไว้ตรงนี้อีกครั้ง


 


ทั้งเพื่อเป็นการคารวะต่อดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต – "เหยื่อสงคราม" ทุกท่าน


และเพื่อเรียกร้องต่อคนถืออาวุธทุกคน


 


แม้ทราบดีว่าคงจะไม่มีประโยชน์อะไร และเป็นได้แค่เพียงข้อเรียกร้องจากมนุษย์โง่ๆ คนหนึ่ง


ซึ่งไม่เคยเข้าใจทั้ง "สงคราม" และ "การเมือง"


 


 


ขอรักจงงดงาม


ขอความทรมานจงสิ้นสุด


ทำร้ายกันอีกเท่าไรหรือมนุษย์


ท้ายที่สุดไม่เหลือแม้ลมหายใจ


 


ด้วยหวัง – ยังหวัง


รักจะฝ่ากำแพงชังแห่งโลกร้าย


ทลายหมอกมายาเบิกฟ้าพราย


ให้ดวงใจต่อดวงใจได้พานพบ


 


เปลวระเบิด - ควันปืนให้กลืนหาย


คลั่ง - แค้น - ทุรนรายได้สงบ


รังเกียจเดียดฉันท์ - กรุ่นควันรบ


ให้ได้พบ - ได้พัก ณ รักนั้น


 


วอนรักกล่อมโลกสิ้นโศกเถิด…


ทลายลงเสียเถิดกำแพงกั้น


นิ่งเสียเถิดกี่ร่ำไห้มานานครัน


เถิดรัก เถิดพลัน!  …หวังวอน


 


                                "วอนรักกล่อมโลกสิ้นโศกเถิด…"


                        กานต์ ณ กานท์


(กรกฎาคม ๒๕๔๖)


 


 


……….


 


 


ปล. สำหรับการออกมา "ขอร้อง" (โดยยกกฎอัยการศึกขึ้นประกอบ)ของคมช.ให้สื่อนำเสนอข่าวอย่าง "สร้างสรรค์" นั้น ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจหรือตกใจอะไร


 


พูดให้ชัดขึ้นคือ หลังการออกประกาศของ "คปค." ในประเด็นเดียวกันนี้เมื่อหลายเดือนก่อน ท่าทีอันเป็นเอกภาพของสื่อส่วนใหญ่ตั้งแต่วันนั้นจนบัดนี้ ได้ทำให้ผมทั้งแปลกใจ-ตกใจ และผิดหวัง(บางสื่อ-ผมเคยเข้าใจมานานว่ายึดจรรยาบรรณและอุดมการณ์อย่างเข้มข้น)จนเกือบไม่เหลือความรู้สึกอะไรให้กับประเด็นนี้อีกแล้ว (ถ้าการออกมา "ขอร้อง" ของคมช.ครั้งนี้เรียกว่า "ละเมิด/คุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ" แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อนและต่อๆ มาเรียกว่าอะไร? ต่างกันตรงไหน?)


 


ขอสารภาพว่าในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผมได้ยุเพื่อนและรุ่นพี่ที่เป็นคนทำงานสื่อ ให้รวมตัวกันเคลื่อนไหวทำนอง "ละเมิดเสรีภาพสื่อ คือละเมิดเสรีภาพประชาชน" …แต่เมื่อเห็น "ความเป็นเอกภาพ" ที่ว่า ต่างคนก็ถอดใจ


 


พูดก็ได้ครับว่า ที่ผ่านมาสื่อเกือบทั้งหมดก็ทำเหมือนขานรับการรัฐประหารอยู่แล้ว(บางฉบับถึงกับทำเป็นสกู๊ปย้อนรอยเส้นทาง "ชัยชนะของประชาชน" อะไรประมาณนั้นด้วยซ้ำ) และแน่นอนว่าแทบไม่มีสื่อใดเสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์ทหารกลุ่มนี้


 


บอกได้เลยว่า "ท่าที" แบบนี้ ไม่ได้มาจาก "ความกลัว" ล้วนๆ


 


โอเคครับ, หลายคนที่เจ็บแค้นทักษิณอาจจะสะใจกับการที่เขาต้องกระเด็นออกไป จนอด "เฮรับ"กระบอกปืนและรถถังไม่ได้


 


แต่การปล่อยให้คนถือปืนเหล่านี้ทำอะไรต่างๆ นานากับประเทศนี้ ตั้งแต่แรกที่ฉีกกติกาประชาธิปไตย - ยึดอำนาจรัฐ - ฉีกรัฐธรรมนูญ - ออกกฎปิดหูปิดตากดหัวประชาชน - ถอดโน่นตั้งนี่ จนถึงตอนนี้ที่แต่งตั้งคนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่ตัวเองมีทั้งวิชาความรู้และปากกาในมือ


 


จะอธิบายยังไง?


 


 


ถ้าให้ผมพูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นการออกมา "ขอร้อง" ของ คมช.ตอนนี้ ผมก็ขอพูดแต่เพียงว่า


 


ผมหวังให้การออกมา "ขอร้อง" ของท่านผู้มีอำนาจในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นต่อมอะไรของ "สื่อ" ได้บ้าง


 


และถ้าหากการวางระเบิดที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการดำรงอยู่ของ คมช.จริง


"สื่อ" จำนวนหนึ่งก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ