Skip to main content

Seasons Change อากาศเปลี่ยน แต่คนยังไม่เปลี่ยน

คอลัมน์/ชุมชน

1


ภาพยนตร์เรื่อง "Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย" เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายชื่อ "ป้อม" ที่แอบชอบเด็กผู้หญิงที่ชื่อ "ดาว" เพื่อนร่วมโรงเรียนตั้งแต่อยู่มัธยมต้นโดยที่ดาวไม่รู้ว่าป้อมมีตัวตนอยู่


 


เมื่อป้อมรู้ว่าดาวจะไปเรียนต่อมัธยมปลายสายดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ป้อมซึ่งมีฝีมือในการตีกลองชุด ก็ตามดาวไปสอบเข้าเรียนดนตรีบ้าง และทั้งคู่ก็สอบได้ แต่การสอบได้ของทั้งสองต่างกัน ดาวผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักไวโอลินระดับโลกมีครอบครัวสนับสนุน ขณะที่ป้อมไม่กล้าบอกที่บ้านว่ามาเรียนดนตรี ป้อมบอกพ่อแม่เพียงว่าสอบเข้าเรียนได้ที่โรงเรียนเตรียมมหิดล ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าป้อมกำลังจะเรียนเตรียมแพทย์ ที่วิทยาลัยฯ


 


ป้อมได้รู้จักกับเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อ "อ้อม" ผู้ซึ่งเก่งทฤษฎี แต่เล่นดนตรีแล้วมักจะเพี้ยน ทั้งอ้อมและดาวเรียนดนตรีคลาสสิก และเป็นสมาชิกของวงออเคสตร้าของวิทยาลัยฯ ที่กำลังจะมีการแสดงดนตรีคลาสสิกตอนปลายปี ป้อมผู้ซึ่งอยากใกล้ชิดดาวจึงหาทางเข้าเป็นสมาชิกของวงนี้ด้วยการยอมละทิ้งดนตรีสากลที่ป้อมเองก็กำลังฝึกซ้อมกับเพื่อนๆเพื่อเข้าประกวด มาฝึกเล่นกลองทิมปะนีซึ่งเป็นกลองที่ใช้ในวงออเคสตร้าแทน และเมื่อป้อมรู้ว่าดาวกำลังจะสอบชิงทุนไปเรียนไวโอลินที่ฮังการี ป้อมก็หันกลับมาฝึกกลองชุดอีกครั้งเพื่อสอบชิงทุนไปฮังการีกับดาว


 


การที่ป้อมได้เข้าไปอยู่ในวงออเคสตร้าและพยายามจะสอบชิงทุน ทำให้ป้อมได้มีโอกาสใกล้ชิดดาวมากขึ้น และดูเหมือนว่าดาวเองก็มีใจให้ป้อมอยู่บ้างเหมือนกัน ขณะเดียวกัน ป้อมก็สนิทสนมกับอ้อมมากขึ้นเรื่อยๆในฐานะเพื่อนสนิท โดยความสนิทสนมนี้เริ่มจากการที่อ้อมเป็นลูกของเพื่อนพ่อป้อม และป้อมก็ขอให้อ้อมช่วยขอร้องพ่อของอ้อมว่าอย่าบอกให้พ่อของป้อมรู้ว่าจริงๆแล้วป้อมเรียนดนตรี ความสนิทสนมของป้อมและอ้อมมีมากขึ้นเมื่ออ้อมผู้ซึ่งเล่นดนตรีเพี้ยนถูกย้ายตำแหน่งให้ไปตีฉาบ ซึ่งนานๆทีจะได้ตีสักครั้งไม่ต่างจากกลองทิมปะนีของป้อม ในช่วงเวลานี้เองที่อ้อมได้ทำให้ป้อมรับรู้ถึงความรักในดนตรีของอ้อม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การได้เล่นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทนำ แต่ความรักในดนตรีของอ้อมก็คือการได้อยู่กับดนตรี และขณะที่ป้อมเริ่มเรียนรู้ที่จะรักดนตรี อ้อมก็เริ่มมีใจให้ป้อม


 


แต่เมื่ออ้อมได้รู้ว่าป้อมเข้ามาเรียนดนตรีเพราะตามดาวมา ไม่ใช่เพราะรักในดนตรี อ้อมจึงโกรธที่อุตส่าห์ช่วยปิดบังพ่อป้อม และเสียใจที่พบว่าป้อมชอบดาว ไม่ใช่เธอ อย่างไรก็ดี อ้อมก็ทำความเข้าใจได้และกลับมารักษาความเป็นเพื่อระหว่างเธอกับป้อมไว้ดังเดิม ถึงตรงนี้ ป้อมจึงได้รู้จักอ้อมอย่างแท้จริง และเมื่อผลการสอบชิงทุนออกมาว่าทั้งป้อมและดาวสอบได้ ป้อมจึงเริ่มคิดทบทวนใหม่ว่าจริงๆแล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ ในที่สุดป้อมก็ตัดสินใจสละสิทธิ์ทุนเพื่อที่จะอยู่เรียนดนตรีกับอ้อมและเพื่อนๆที่มหิดลตามเดิม ขณะที่ดาวก็เดินไปตามความฝันที่จะเป็นนักไวโอลินระดับโลกของเธอ


 


2


 


ดูเหมือนว่าเรื่องที่เล่ามาข้างต้น จะเป็นเรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องเลือกระหว่างการได้ติดตามคนที่เขาชอบไปทุกหนทุกแห่ง กับการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนที่เข้าใจเขาอย่างแท้จริง หรืออาจจะเป็นการเลือกระหว่างสิ่งที่เคยเป็นความใฝ่ฝันของเขาดังเช่นดาว กับความเป็นจริงที่ปรากฏให้เห็นมาโดยตลอดอย่างอ้อม แต่ไม่ว่าจะเลือกระหว่างอะไรกับอะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดก็คือคนที่พยายามจะเลือก ซึ่งในที่นี้ก็คือป้อม คือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร การเลือกของป้อมจึงเป็นความพยายามที่จะกำหนดอัตลักษณ์ (identity) ของตน โดยมีสองสิ่งที่ชัดเจนเป็นเครื่องอ้างอิง (reference) ซึ่งในที่นี้ก็คือความเป็นอ้อมและความเป็นดาว ความชัดเจนของทั้งอ้อมและดาวก็คือความรักในดนตรี ที่ถึงแม้ทั้งสองจะมีวิถีทางดนตรีที่ต่างกัน แต่ทั้งสองก็ชัดเจนว่าจะกำหนดทิศทางของตัวเองอย่างไร ความชัดเจนของทั้งอ้อมและดาวแสดงให้เห็นผ่านการถูกเลือกและไม่ถูกเลือกโดยป้อม


 


ในการเลือกครั้งแรก อ้อมเป็นผู้ที่ไม่ถูกเลือกเพราะป้อมตัดสินใจสอบชิงทุนเพื่อตามดาวไปเรียนต่อ สิ่งนี้ทำให้อ้อมหวั่นไหวบ้าง แต่อ้อมก็คืนความเป็นตัวเองกลับมาได้ และร่วมแสดงความยินดีอย่างจริงใจกับป้อมในสิ่งที่ป้อมเลือก ส่วนในการเลือกครั้งที่สอง ดาวไม่ถูกเลือกเพราะป้อมสละสิทธิ์ทุน แต่ดาวก็ไม่หวั่นไหวเพราะเธอชัดเจนว่าเธอคือใคร รวมทั้งเธอยังพูดกับป้อมด้วยความเข้าใจในความไม่ชัดเจนของป้อมอีกว่า "ไม่ชอบกินผักก็ไม่บอก" เพราะที่ผ่านมาดาวไม่เคยรู้เลยว่าป้อมไม่ชอบกินผัก แต่เวลากินข้าวด้วยกัน เธอจะตักผักให้ป้อมกิน ซึ่งป้อมก็ไม่ปฏิเสธ แต่กลับฝืนกินลงไป คำพูดของดาวในเรื่องนี้ จึงเป็นคำพูดที่แสดงความเข้าใจที่เธอมีต่อป้อม ว่าสิ่งที่เธอมอบให้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ป้อมต้องการ


 


เรื่องราวของตัวละครหลักทั้งสาม ได้ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ใช่หรือไม่ที่ผู้ชายในโลกปัจจุบันนี้กำลังวิ่งวนกับการหาตำแหน่งแห่งที่ของตน ในขณะที่ผู้หญิงได้นิยามตัวตนอย่างชัดเจนไปแล้วเรียบร้อย และการที่ผู้ชายจะนิยามตัวตนได้นั้น ก็ต้องอาศัยความชัดเจนของผู้หญิงเป็นหลักหมายในการอ้างอิง


 


และเมื่อพิจารณาว่าผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนึ่งในผู้กำกับ "แฟนฉัน" ก็จะพบว่า คำถามเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของผู้ชายในสังคม ยังคงเป็นคำถามสำคัญที่ปรากฏตั้งแต่เรื่องแฟนฉันจนถึงเรื่องนี้... ไม่เปลี่ยนแปลง