Skip to main content

ไปแอ่วเหนือ

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้เขียนได้ไปสัมมนากับหน่วยงานที่เชียงใหม่เป็นเวลากว่าสามวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา พอมีเวลา "เปิดหูเปิดตา" นอก กทม.เสียบ้าง ถือว่าเป็นโชคที่ได้พอมีเวลาเปลี่ยนบรรยากาศ แต่กระนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่าการย้ายที่อยู่ที่กินไม่ใช่เรื่องง่ายแบบแต่ก่อน การมีอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ชีวิตซับซ้อนขึ้น และร่างกายก็เริ่มไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเดินทางในเมืองไทยง่ายกว่าในสหรัฐฯ และถูกกว่ามาก ไม่แปลกใจว่าทำไมการท่องเที่ยวในไทยจึง "บูม" เสียจริงๆ เพราะถูกแสนถูก—สำหรับคนพอมีเงิน แม้กระทั่งฝรั่งชั้นต่ำ


 


ผู้เขียนได้ไป "งานราชพฤกษ์" "ไนท์ซาฟารี" ซึ่งเป็นที่นิยมของบรรดานักท่องเที่ยวจากที่อื่น รู้มาว่าคนท้องที่ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ซึ่งไม่แปลกใจเนื่องจากก็เป็นแบบนี้ทุกแห่ง คนไกลมักมาเที่ยว คนใกล้เห็นอยู่ทุกวันก็งั้นๆแหละ เฉกเช่นกับคนกทม.ที่ไม่ได้สนใจว่า กทม.มีที่เที่ยวมากมาย จึงไม่ได้สนใจ กทม. หรืออาจทำงานจนไม่ได้คิดว่าตรงนี้มีอะไรน่าสนใจ


 


สถานที่เที่ยวทั้งสองแห่ง ก็เป็นเรื่องความพยายามที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยว มีทั้งไทยและไม่ไทยไปเที่ยวกัน เท่าที่เห็นคนไทยไปเที่ยวมากกว่า อาจเป็นเพราะคนไทยไวกว่าในการจองตั๋วต่างๆ  จึงได้มาเที่ยว หรืออาจเป็นเพราะว่าไอ้ของแบบนี้ฝรั่งเค้าเห็นมากมายหรือบ่อยกว่าในประเทศของเขา จนไม่ได้มองว่าเป็นของแปลก เช่น ดอกทิวลิปที่คนไทยคลั่งกันมากมาย หรือสิงสาราสัตว์ที่มีในประเทศของพวกเขา หรือถ้าอยากดูก็ไปสิงคโปร์ก็ได้ ป้ายเดียวจบมีครบแทบทุกอย่าง


 


ถ้าถามว่าต้องเสียเงินเองไปงานแบบนี้ถึงเชียงใหม่ ผู้เขียนจะไปมั้ย ขอตอบอย่างจริงใจว่า "ไม่มีทาง" หากเป็นงานประชุมวิชาการเอาผลงานยังต้องคิดหนัก เพราะไม่เคยมองว่าเชียงใหม่มีอะไรน่าเที่ยว ผู้คนส่วนใหญ่ทำงานช้า ส่วนที่ทำงานกันเร็วๆ เป็นคนต่างถิ่นทั้งนั้น อันนี้คนอื่นที่พบเจอที่เชียงใหม่เป็นคนบอก พวกนี้เองก็คือคนต่างถิ่น เอาเป็นว่าเห็นคล้ายๆ กัน แต่การช้าๆ แบบเชียงใหม่ก็เหมาะกับคนต่างถิ่นที่จะมาลงทุนสร้างความเจริญช่วยคนเชียงใหม่เองเพราะการแข่งขันไม่ดุเดือดเท่า กทม. อันนี้ถือเป็นการสร้างงานในเชียงใหม่ด้วย"มีแต่คนได้ ไม่มีใครเสีย"   ในการมองระดับนี้


 


ตกดึกผู้เขียนได้ลงมาดูตลาดนัด ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนัก นึกถึงสภาพแบบนี้เมื่อตอนไปเชียงใหม่เมื่อปี 2522 หรือราว 28 ปีมาแล้ว ตอนนั้นสนุกกว่านี้อาจเป็นเพราะยังเด็ก อะไรก็เป็นของใหม่ไปหมด พอโตขึ้นก็ไม่ตื่นเต้นมากนัก พอมาตอนแก่ก็เลยไม่เห็นอะไรตื่นเต้น แถมยังรู้สึกว่า "เอ๊ะ มาทำไมนี่" แต่ก็ดีถือว่าเป็นการ "ระลึกถึงวัยละอ่อน" ของตนเอง จำได้ว่าเคยมีความรักหนหนึ่งที่ตรงนี้ ตอนนั้นอายุแค่ 14-15  สมัยนั้นแค่พบกันและติดต่อกันด้วยจดหมาย โลกของเกย์ยังไม่เปิดกว้าง การคบชายกับชายไม่เปิดมากแบบเดี๋ยวนี้ จากนั้นทุกอย่างก็จบลงในเวลาไม่นาน ถ้าเป็นสมัยนี้มีมือถือ มีการขนส่งและโทรคมนาคมสะดวก ความรักครั้งนั้นคงไม่ออกมาเป็นแบบนี้แน่ คิดไปๆ ก็ขำเพราะวันเวลามันหมุนไปเร็วเหลือเกิน วันนี้นึกดีใจที่ความรักอันนั้นมันหมดไป และชายคนนั้นก็ไม่ได้เป็นที่น่าสนใจอีกต่อไป แม้ว่าวันนี้จะยังคุยกันบ้างก็ตาม


 


ก่อนกลับได้ไปเดินแถวถนนนิมมานฯ แบบช่วงสั้นๆ ไม่ได้เดินมากนัก แล้วไปแวะพักที่ร้านกาแฟแบบฝรั่งเจ้าหนึ่ง ปกติผู้เขียนไม่ทานกาแฟ วันนั้นทานกาแฟเย็นเพราะต้องการถ่างตาไม่ให้ง่วงและเพลียกับอากาศร้อนของเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นคนทนร้อนไม่ได้เลย และอากาศหนาวที่เชียงใหม่ก็ไม่ได้เรียกว่าหนาวแต่อย่างไรต่อผู้เขียน อากาศหนาวที่มินเนโซต้าได้ให้ภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผู้เขียนในเรื่องนี้


 


ขณะที่นั่งทอดหุ่ยอยู่ตรงนั้น ก็เห็นเด็กรุ่นๆ วัยมหา’ลัยปริญญาตรีนั่งเป็นกลุ่มๆ ทำท่าเก๋ไก๋ ก็แปลกใจอยู่ว่าสงสัยจะเป็นลูกคนรวย สามารถมานั่งกินกาแฟแบบแพงๆ ได้ ได้ยินจากคนรู้ใจที่สอนหนังสือที่นั่นว่า เด็กๆมหา’ลัยนิยมมากินกันในย่านนี้เพราะเป็นย่านไฮโซของเมืองเชียงใหม่ ผู้เขียนดูอย่างไรก็ไม่เห็นไฮโซ เหมือนเดินพัทยามากกว่า มีร้านค้าที่พยายามขายความเป็นเชียงใหม่ที่มีการบูรณะโดยคนต่างถิ่น เอาเป็นว่าในสายตาหลายคนนั้นตรงนี้ดีกว่าเมืองเชียงใหม่ส่วนอื่นๆ เพราะมีความต่างถิ่น เป็นตะวันตกมากหน่อยเท่านั้น แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเอาเสียเลยว่าจะต้องเป็นตะวันตกในจุดนี้


 


ไม่แปลกใจเลยที่ว่าเชียงใหม่ก็คือเมืองท่องเที่ยวทั่วไปที่พอใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าไทย เพราะเงินดีกว่า นักท่องเที่ยวฝรั่งหลายคนมองคนไทยเหมือนไม่ใช่คน ทำตัวเหมือนนักล่าอาณานิคมที่มาดูมาเที่ยวประเทศในอาณัติ อันนี้ไม่ได้จำกัดแค่ที่เชียงใหม่หรอก แต่ทุกแห่งในเองไทยเลยทีเดียว นี่เพิ่งไปทานข้าวกับเพื่อนฝรั่งที่โรงแรมเรดิสัน แถวพระราม 9 กทม.นี่แหละ ยังเห็นพฤติกรรมเลวๆ ของนักท่องเที่ยวฝรั่งแก่ๆ ที่มองผู้เขียนตอนซื้อเบเกอรี่  บังเอิญเราก็จะซื้อ เธอทำท่ารำคาญที่เราถามเรื่องสินค้า ในขณะที่เธอซื้อของแค่ 1 ชิ้น ก็คิดอยู่นั่นแหละ


 


อย่างไรก็ตาม คนไทยเอ็นจอยในการตอบคำถามของเรา ในขณะที่รอฝรั่งเธอตัดสินใจแบบนานๆ  อันนี้ฝรั่งลืมมองไปว่าเป็นเรื่องปกติในไทย และที่เมืองนอกเองก็ทำกันหากตัดสินใจกันยาวๆ แบบนี้ ผู้เขียนถามแล้วเงียบแล้วก็เล็งเอาไว้ว่าจะเอาอะไร จนฝรั่งซื้อเสร็จหนึ่งชิ้นและออกจากร้าน ก็จะเข้าไปสั่งต่อ ฝรั่งแก่นี่ก็ส่งสายตาทุเรศมาให้ อยากเข้าไปด่าเหมือนกัน แต่คิดว่าอย่าดีกว่าเพราะจะรีบซื้อของ รีบพาเพื่อนฝรั่งที่ไปด้วยกลับที่พัก พอซื้อของเสร็จก็บอกกับเพื่อนฝรั่งว่าเจอฝรั่งนักล่าอาณานิคมอีกแล้ว เพราะเธอต้องมองอย่างเข้าใจว่าที่นี่ไม่ใช่ดินแดนอาณานิคม ไม่ใช่ "นาย" ของผู้คนที่นี่


 


อนิจจา การท่องเที่ยวแบบไทยๆ ทำให้ฝรั่งหรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวแถวเอเชียนี้ที่พอมีเงินเข้าหน่อยก็มา "กร่าง" กับคนท้องถิ่น หลายครั้งที่ได้ยินว่านักท่องเที่ยวถูกเอาเปรียบ ผู้เขียนก็ไม่ชอบใจ หลายครั้งผู้เขียนก็ไม่ชอบใจที่นักท่องเที่ยวชอบเอาเปรียบและดูถูกคนไทยที่นี่ อยากบอกว่านักท่องเที่ยวที่ดีต้องไม่ทำตัวเป็นนักล่าอาณานิคมแบบหลายร้อยปีที่แล้ว แต่ก็อยากโทษคนไทยด้วยที่เป็นบ้ากันไปซะหมดว่าการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ดีหมด ทั้งที่ในแวดวงวิชาการนั้นมองการท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ แต่ที่แย่ที่สุดคือการตอกย้ำความเป็นอาณานิคมของประเทศด้อยพัฒนาที่พยายามความ Exotic ของตนเอง อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องมองให้ชัดเจน การที่จะมาหาเงินง่ายๆ เข้าประเทศโดยมองแค่ที่การท่องเที่ยว โดยไม่มองผลกระทบอย่างอื่นๆ เรียกว่า "บ้องตื้น" เสียไม่มี


 


ผู้เขียนเคยฝันว่าเมืองไทยควรจะมีเรื่องอื่นที่น่าชื่นชมมากกว่า "ความเป็นมิตรทางการท่องเที่ยว" อยากให้คนมาเที่ยวเมืองไทยที่ความงามในแง่ต่างๆ ของไทยจริงๆ มาชมวัฒนธรรมที่พื้นๆ ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ใช่จัดฉาก และไม่ใช่จะมาเปลี่ยนให้ทุกอย่างเป็น "ฝรั่ง" ไปเสียหมด แล้วให้คนไทย "เสิร์ฟ" ถ้าไม่ ก็จะไม่ส่งแขกมา


 


ผู้เขียนอยู่สหรัฐฯ มาก็หลายปี การท่องเที่ยวของฝรั่งตรงนั้น เน้นคุณภาพมาก ถ้าคนมาเที่ยวประพฤติตัวไม่ดี ไม่มีมารยาท เค้าก็ไม่ง้อ ไม่ยอมออกวีซ่าให้สำหรับคนชาตินั้นๆ เค้าไม่แคร์ตราบใดที่เค้าทำการท่องเที่ยวของเขาให้มีคุณค่า ทุกวันนี้ "ดิสนี่ย์แลนด์" ก็ยังมีคนไปเที่ยวคึกคัก ทั้งที่ก็เปิดมานาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าสถานที่เที่ยวของเขามีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง อะไรอื่นๆ อีกหลายแห่งก็น่าสนุกน่าเที่ยว เป็นเพราะว่าเค้าขายของจริง คุณภาพมั่นใจได้ ไม่ได้มีการหลอกขาย หรือมีหลายมาตรฐานทับซ้อน


 


มีอีกตัวอย่างก่อนปิดท้าย ไม่นานมานี้ผู้เขียนพบว่า หากจะจองโรงแรมให้คู่สามีภรรยาที่มีฝ่ายหนึ่งเป็นไทย อีกฝ่ายเป็นต่างชาติ ราคาค่าห้องจะเป็นอัตราต่างชาติที่แพงกว่าทันที เมื่อผู้เขียนถามว่าทำไม เธอบอกว่าเป็นกฎโรงแรม แต่ผู้เขียนบอกว่าไม่ยุติธรรมเพราะมีคนไทยเป็นหลัก ชาวต่างชาติที่เป็นสามี/ภรรยาไม่ใช่ประเด็นจะขึ้นค่าห้อง เรื่องนี้สมาคมท่องเที่ยวอย่าง ATTA หรือ ททท. น่าจะเข้ามาดูแลด้วย ไม่เช่นนั้นก็คิดค่าโรงแรมเรทเดียวคือเรทไทยไปให้หมด ไม่ใช่ให้เรทไทยแล้วก็ให้ห้องห่วยๆ เรทฝรั่งคัดห้องดีๆ ไม่งามเอาเสียเลย


 


ปฏิกิริยาที่ได้จากเจ้าหน้าที่โรงแรมแห่งนั้นคือ ท้าให้ไปฟ้องกับ ททท. หรือ ATTA เลย นี่ก็กำลังจะลองสอบถามไปยังหน่วยงานที่กล่าวมาด้วย รวมทั้งสมาคมโรงแรมไทยด้วยว่า  1. นโยบายหลายมาตรฐานแบบนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร  2. กรณีที่โดนท้าแบบนี้ ควรต้องแก้ไขบุคลากรของโรงแรมดังกล่าวนี้อย่างไร  (โรงแรมที่ผู้เขียนโทฯไปถามนั้น อยู่ใกล้ ม.เกษตรฯ บนถนนพหลโยธิน ขนาดไม่ใหญ่)


 


การแอ่วเหนือคราวนี้ได้เห็นภาพหลายๆ อย่างมากขึ้น ดีใจเป็นอย่างยิ่งว่าชาตินี้ไม่ต้องทำงานในแวดวงนี้ ยิ่งมองยิ่งไม่ชอบ เพราะการจัดการแบบไทยๆ ไม่ได้ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวเอาเสียเลย อันนี้ต้องกลับมาถามต่อตอนจบว่า "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย---ใครได้และเสียประโยชน์?" แล้วเรื่อง "บ้าฝรั่งแบบตื้นๆ" เมื่อไรจะเลิกกันเสียที