Skip to main content

เทใจให้หนังดีของไทย มหา ’ ลัย เหมืองแร่

คอลัมน์/ชุมชน


 



๓ ครั้งแล้วที่ได้ไปดู " มหา’ ลัย เหมืองแร่" หนังดีในดวงใจประจำปี ๒๕๔๘ ของดิฉัน เหตุที่ต้องดูและต้องให้กำลังใจอย่างยิ่งคือ ดิฉันประทับใจผลงานของคุณเก้ง จิระ มะลิกุล จากหนังเรื่อง " ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑" ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ และชื่นชมหนังสือ " เหมืองแร่" ซึ่งเป็นหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่านของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๓๔ สาขาวรรณศิลป์


ครั้งแรกที่ดิฉันดูที่เชียงรายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม รอบบ่ายสี่โมง เป็นวันที่สามที่หนังเข้าฉาย ดิฉันไปดูกับลูกชายซึ่งกำลังจะเป็นนิสิตปี ๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับเพื่อนดิฉันอีก ๒ คนรวมเป็น ๔ คน ทั้งโรงมีคนดู ๑๒ คน โรงหนังในห้างสรรพสินค้าจอเล็ก ดูไม่อิ่มตา อิ่มใจเท่าไร แต่ก็ชอบ ประทับใจทุกตอนในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แสดงทุกคนเป็นดาราใหม่ เล่นหนังเหมือนเป็นชีวิตจริง ทุกภาพในหนังสวยงาม เพลงเพราะ อยากให้วัยรุ่นพากันมาดู เพราะจะได้ ซึมซับเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ด้วยความเข้มแข็ง อดทน อ่อนน้อม พร้อมที่จะเรียนรู้ และปรับปรุงตัวเอง


รอบที่สองดูที่โรงหนังสยาม ซึ่งโรงใหญ่ จอใหญ่ ชวนน้อง ๆ ในวุฒิสภาไปดูกัน ๗ คน หนังฉาย ๒๐.๕๐ น. มองไปทั้งโรงมีคนดูแค่ ๑๕ คน น้อง ๆ บอกว่าหนังรอบดึกมักจะคนน้อย ดิฉันชักเป็นห่วงผู้สร้างหนังและนักแสดงทุกคน ซึ่งล้วนทุ่มเททั้งใจ กาย และปัญญา ทำให้หนังดีออกสู่สายตาของสังคม แต่กลับได้รับการตอบสนองน้อยมาก จึงโทรปรึกษาพี่เชิด ทรงศรี ขอเบอร์ของคุณเก้ง จิระ มะลิกุล จะได้วิเคราะห์สถานการณ์และหาทางหนุนช่วย


คุณเก้งมาหาที่วุฒิสภาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ ดิฉันตกใจไม่คิดว่าคุณเก้งจะมาเอง เพียงแต่อยากขอเอกสารเกี่ยวกับหนังมาดู จะได้เขียนบทความหนุนช่วยอย่างรู้ข้อเท็จจริงและแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้าง ซึ่งดิฉันได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณเก้งในหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาบ้างแล้ว


ความประทับใจแรกที่ได้เห็นคุณเก้ง คือหน้ายิ้มแย้ม ผมสั้นทรง " ดอกกระถิน" ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงสีครีม รู้สึกอบอุ่นเหมือนเป็นญาติ ดิฉันเล่าว่าปีที่แล้วดิฉันก็รู้สึกห่วงใยหนัง " โหมโรง" ซึ่งฉาย ๓ วันแรกก็ถูกปลดจากโรงและลดรอบทั้ง ๆ ที่เป็นหนังดี ฉุดความรักดนตรีและวัฒนธรรมไทยให้กลับคือสู่หัวใจคนยุคโลกาภิวัตน์ จึงช่วยเขียนบทความเชียร์ ประสานให้จัดรอบพิเศษเชิญสมาชิกวุฒิสภาไปดู รวมทั้งระดมเพื่อนฝูงบรรดามีหนุนช่วยด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นแรงเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โหมโรงเป็นกระแสขึ้นได้




หนัง " เหมืองแร่" จุดเด่นคือ เป็นหนังที่สร้างจากชีวิตจริงของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ตัวละครทุกคนแสดงเข้าถึงบทเหมือนชีวิตของตนเอง ทั้งน้องบีผู้เล่นเป็นอาจินต์ เด็กหนุ่มผู้ถูกรีไทร์จากคณะวิศวะ จุฬาฯ หน้าใส อ่อนเยาว์ นายฝรั่ง พี่จอนหัวหน้าเหมือง ไอ้ไข่ ผู้ช่วยผู้จงรักภักดีต่ออาจินต์ โกต๋อง เจ้าของร้านกาแฟ ฯลฯ ทุกคนแสดงถึงความทุ่มเทจริงจังต่อหน้าที่ในเหมืองเรือขุด ใช้ชีวิตร่วมกันดุจพี่น้องในบ้านใหญ่ด้วยความเข้าใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ธรรมชาติป่าเขา ลำธาร สายฝน เมฆหมอกแห่งฤดูฝนอันชุ่มโชก ชีวิตชนบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ (ซึ่งดิฉันยังไม่เกิด) เป็นชีวิตที่เรียบง่ายไม่มีเทคโนโลยีและวัตถุล่อใจเหมือนยุคนี้ ซึ่งทีมงานได้แสวงหาสถานที่ถ่ายทำได้อย่างยอดเยี่ยม


เมื่อเทียบกับหนังตัวอย่างที่ฉายก่อนเรื่องมหา ’ ลัยเหมืองแร่ทั้ง ๓ รอบที่ได้ดู จะเห็นว่าหนังที่เรานำเข้ามาฉายส่วนใหญ่สะท้อนถึงความรุนแรง การฆ่าฟัน การทำลาย คนยุคนี้จึงเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ต่างจากหนังมหา’ ลัยเหมืองแร่ ซึ่ง ทั้งเรื่องให้แต่ความสุข ความปีติ ความอิ่มเอิบ ละเมียดละไม อารมณ์ขัน และอารมณ์เศร้าเมื่อผิดหวังและต้องจากพรากเมื่อเหมืองต้องปิดกิจการ


โชคดีที่บ่ายวันนั้นท่านประธานวุฒิสภา (สุชน ชาลีเครือ) ท่านประธานคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (เสรี สุวรรณภานนท์) และเลขาธิการประธานวุฒิสภา ( สุวิมล ภูมิสิงหราช) นั่งปรึกษางานกันอยู่ คุณดาว ผู้ช่วยแสนดีของดิฉันจึงประสานงานขอให้ดิฉันพาคุณเก้งและคณะไปพบเพื่อหารือให้วุฒิสภาและสื่อมวลชนประจำสภามาชม " มหา’ ลัย เหมืองแร่" รอบพิเศษ ในวันจันทร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ รอบค่ำ ซึ่งท่านประธานสุชนได้กรุณาตอบรับและขอให้ออกจดหมายเชิญสมาชิกวุฒิสภาเลย


คุณเต้ย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ " ข่าวสด" ประจำรัฐสภาได้กรุณาทำข่าวลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า สว.เตือนใจ ห่วงหนังคุณภาพที่ไม่มีคนดู อยากให้รัฐบาลสนับสนุนโดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ชักชวนให้นักเรียน นักศึกษา วัยรุ่น มาดูกันเพื่อจะได้แรงบันดาลใจให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความรับผิดชอบ แทนการเป็นเหยื่อของสังคมบริโภคนิยมที่มุ่งดึงเงินออกจากกระเป๋าวัยรุ่น โดยไม่ให้คุณภาพที่ดีเข้ามาทดแทน


ถึงวันจันทร์ ดิฉันสุ่มถามเพื่อน สว.ที่คุ้นเคยกันว่าเย็นนี้จะกรุณาไปดูหนัง " มหา’ ลัย เหมืองแร่" เพื่อเป็นกำลังใจให้คุณเก้ง ผู้กำกับฝีมือคุณภาพหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าไปกันราว ๒๐ คน


๖ โมงครึ่ง ที่โรงหนังแกรนด์ อีจีวี ดิสคัฟเวอร์รี่ สมาชิกมากัน ๒๑ คน รวมทั้งท่านประธานสุชน ชาลีเครือ คุณเก้งนำทีมดารา คือน้องบี พิชญะ วัชจิตพันธ์ ผู้แสดงเป็นอาจินต์ สนธยา ชิตมณี ผู้แสดงเป็นไอ้ไข่ และจุมพล ทองตัน ผู้แสดงเป็นโกต๋อง เจ้าของร้านขายของในเหมืองขึ้นแนะนำตัว แสดงความรู้สึกต่อหนัง " มหา’ ลัย เหมืองแร่" และขอบคุณท่านประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภาที่ให้เกียรติมาชื่นชมหนังดีมีคุณภาพ เพื่อบอกแก่คนในสังคมเป็นนัย ๆ ให้มาดูกันเยอะ ๆ




การดูหนังเรื่อง " มหา’ ลัย เหมืองแร่" รอบที่สาม เป็นการอยู่ท่ามกลางกัลยาณมิตร พี่เชิด ทรงศรี ผู้กำกับหนังอาวุโสกรุณามาเป็นกำลังใจด้วย สว. ๒๑ ท่านที่กรุณาให้เกียรติมาดูหนังดีที่ดิฉันขอจารึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ ๑. ท่านประธานวุฒิสภา สุชน ชาลีเครือ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชัยภูมิ ๒. สว.คำพันธ์ ป้องปาน จังหวัดอุดรธานี ๓. สว.อรัญญา สุจนิล จังหวัดหนองคาย ๔. สว.พิเชฐ พัฒนโชติ จังหวัดนครราชสีมา ๕. สว.ระวี กิ่งคำวงศ์ จังหวัดมุกดาหาร ๖. สว.สมบูรณ์ ทองบุราณ จังหวัดยโสธร ๗. สว.วีระพล วัชรประทีป จังหวัดนครราชสีมา ๘. สว.จำเจน จิตรธร จังหวัดสุโขทัย ๙. สว.วิลาวัณย์ ตันวัฒนพงษ์ จังหวัดอุบลราชธานี ๑๐. สว.วิจิตร มโนสิทธิศักดิ์ จังหวัดร้อยเอ็ด


๑๑. สว.สามารถ รัตนประทีปพร จังหวัดหนองบัวลำภู ๑๒. สว.สวัสดิภาพ กันทาธรรม จังหวัดแพร่ ๑๓. สว.สันติภาพ อินทรพัฒน์ จังหวัดน่าน ๑๔. สว.คุณหญิงจินตนา สุขมาก จังหวัดนนทบุรี ๑๕. สว.ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ กรุงเทพมหานคร ๑๖. สว.พญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ จังงหวัดนครสวรรค์ ๑๗. สว.บุษรินทร์ ติยะไพรัช วรพัฒนานันท์ จังงหวัดเชียงราย ๑๘. สว.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) กรุงเทพมหานคร ๑๙. สว.กานต์ สุระกุล จังหวัดตรัง ๒๐. สว.วงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และ ๒๑. ตัวดิฉันเองค่ะ


ผู้เข้าชมรอบนี้คับคั่งเป็นพิเศษ กว่า ๒๐๐ คน การแสดงอารมณ์ร่วมกับหนังจึงมีชีวิตชีวา มีเสียงหัวเราะเป็นระยะ ๆ กับมุขเด็ดหลายตอน สะเทือนใจกับฉากที่โกต๋องลงนั่งอธิษฐานด้วยน้ำตาคลอเบ้า ขอให้พระช่วยให้ยาแดงที่ให้ " คนดง" เอาไปใส่แผล แต่กลับเข้าใจผิดเอาไปกินนั้นเป็นยาแดงที่เสื่อมคุณภาพ เพื่อที่เขาจะได้ไม่ตาย แสดงถึงสำนึกรับผิดต่อการกระทำที่โลภมากของตน และฉากเศร้าเมื่อคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ที่ปีนังให้ปิดเหมืองเลิกกิจการ ทุกคนต้องแยกย้ายกันกลับคืนบ้านของตนด้วยความอาลัยต่อความผูกพันที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาหลายปี


เมื่อหนังจบแล้ว พี่เชิด ทรงศรี คุณเก้ง จิระ มะลิกุล " ไอ้ไข่" " โกต๋อง" และ " คุณต่าย" รอพบกับคณะ สว. มีทีมงานคอยสัมภาษณ์อยู่ด้วย


ดร.สิริกรณ์ มณีรินทร์ และสามี พล.ต.ท. วงกต มณีรินทร์ ได้กรุณามาดูหนังรอบนี้ด้วย ดิฉันดีใจมาก จึงชวนคุณเก้งเข้าไปปรึกษาอยากให้เชิญท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีมาดูกัน เพื่อให้กำลังใจคนทำหนังดี คนไทยที่เคารพศรัทธาท่านนายกฯ จะได้มาดูกันมาก ๆ


สว.วงศ์พันธุ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นชาวพังงาโดยกำเนิดบอกว่า ชื่นชมหนังเรื่องนี้มาก คนทุกวัยต้องมาดู เพราะหนังสะท้อนชีวิตดั้งเดิมของชาวเหมืองได้ดี ทั้งภาษาพูด เครื่องแต่งกาย การทำงาน การกินอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นชีวิตเรือขุดแร่ที่หมดไปตั้ง ๑๐ ปีแล้วได้สมจริง ได้อารมณ์ที่งดงามจากธรรมชาติและสภาพสังคมที่ผู้คนอยู่กันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นรากเหง้าที่สำคัญของวัฒนธรรมไทยซึ่งอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล


สว.มาลินี สุขเวชชวรกิจ กล่าวว่า " ประทับใจฉากที่อาจินต์จับคนขโมยแร่ซึ่งบทเจรจาแสดงถึงความสำนึกเป็นเจ้าของแผ่นดินและทรัพย์สินของประเทศที่ถูกต่างชาติ (นายฝรั่ง) มาสูบผลประโยชน์ไป กับความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจับคนขโมยแร่ไม่ได้ อาจินต์ก็แสดงสปิริตด้วยการขอลาออก ถ้าคนไทยไม่มาดูหนังเรื่องนี้กันมาก ๆ แสดงว่า คุณภาพของคนไทยลดลง คือเข้าไม่ถึงสาระดี ๆ ที่หนังตั้งใจถ่ายทอดให้"


พี่เชิด ทรงศรี ย้ำว่า " ถ้าหนังเรื่องนี้อยู่ไม่ได้ ไม่มีคนดู ต่อไปนี้จะไม่มีใครทำหนังดีให้คนดูอีกแล้ว สังคมไทยต้องช่วยคนดี"


คุณเอก เอี่ยมชื่น ผู้ออกแบบงานสร้าง ( Production Design ) ผู้ร่วมงาน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ กับคุณเก้งย้ำว่า " อยากให้เด็กวัยรุ่นได้สัมผัสกับบรรยากาศที่พวกเขาอาจไม่มีวันได้เห็นอีกเลย " มหา’ ลัย เหมืองแร่" มีรายละเอียด มีเนื้อหา จะได้รู้ว่าแผ่นดินเราเคยมีอะไรบ้าง มีบางอย่างที่น่าจดจำ


" ไอ้ไข่" กล่าวว่า " หนังเรื่องนี้จะทำให้คนที่กำลังจะหมดหวัง กำลังจะยอมแพ้ในชีวิต มีกำลังใจมากขึ้น ทำให้เราเรียนรู้ว่าเราไม่ควรจะคาดหวังกับอะไรมาก ถ้าเจอกับความผิดหวังจะผ่านเหตุการณ์ได้อย่างเข้มแข็ง"


" โกต๋อง" กล่าวว่า " มหา’ ลัยเหมืองแร่ จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรู้จักการรอคอยหรือต่อสู้ ได้สัมผัสกับชีวิตที่ต้องดิ้นรนให้อดทนเพื่อเกียรติยศของตัวเอง จะได้รู้ว่าเกียรติยศที่ต้องขุดเองหมายถึงอะไร"


ขอบคุณจิระ มะลิกุล ผู้ร่วมงาน นักแสดงทุกคน และผู้อำนวยการสร้างที่สร้างหนังดีประดับวงการหนังไทย



ขอให้ " มหา’ ลัย เหมืองแร่" เป็นหนังดีหนึ่งในร้อยที่คนไทยควรดู ขอให้คนไทยหลั่งไหลมาดูกันมาก ๆ และอยู่ในความทรงจำที่ดีตลอดไปค่ะ