Skip to main content

ทุกๆ วัน ควรเป็นวันของเด็กๆ ทุกคน

คอลัมน์/ชุมชน

 


 

วันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นวันเด็ก (วันเด็กปีนี้, หลายพื้นที่ก็คงได้จัดงานกันอย่างสนุก เด็กบางคนคงสนุกไปกับการละเล่นต่างๆ บนเวทีหรือเกมที่บรรดาผู้จัดงานได้สร้างสรรค์ขึ้นมา แต่บางคนก็อาจต้องวิตกกังวลกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้ เช่น การวางระเบิด ที่มีการส่งเมล์เตือนไปหลายๆ ฉบับ)


 


วันเด็กปีนี้ โดยเฉพาะช่วงก่อนวันเด็กนั้น รัฐบาลได้มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับเด็ก ได้แก่ การพาเด็กจากที่ต่างๆ จำนวนหลายสิบคนเข้าร่วมเสนอความคิดเห็น สังเกตการณ์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มิหนำซ้ำในวันนี้เอง รัฐบาลก็ได้ประกาศวาระแห่งชาติเพื่อเด็ก 5 ข้อ เช่น การพัฒนากองทุนสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน การส่งเสริมกลไกการทำงานเพื่อสังคม การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ระดับปฐมวัย การพัฒนาจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก เป็นต้น


 


ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วันก็มีการเปิดทำเนียบต้อนรับเด็กๆ ที่ "ดีเด่น" ที่นำชื่อเสียงเข้ามาให้กับประเทศจำนวนกว่า 650 คนภายในงานท่านนายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้โอวาทแก่เด็กในประเด็นต่างๆ เช่น การทำอย่างไรกับบทบาทของเด็กดีเด่น ทำอย่างไรจะให้เด็กทุกคนเป็นเด็กดีหรือเด็กที่ดีต้องไม่ประพฤติผิด ตั้งมั่นในศีลธรรม และที่สำคัญยังเน้นย้ำเรื่องผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนแก่เด็กๆ อีกด้วย


 


จากสองเหตุการณ์ที่เด็กๆ ได้ร่วมกันเสนอแนะความคิดเห็นของตนต่อผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่อยู่ระดับการกำหนดนโยบายนั้น ถือได้ว่า เนื้อหาของข้อเสนอมีความสอดคล้องกับความต้องการของเด็กทั่วๆ ไป แต่ไม่ได้ปรากฏข้อเสนอเรื่องเด็กที่ไร้สัญชาติ เด็กที่ใช้ความรุนแรง เด็กที่ไร้บ้าน หรือด้อยโอกาสทางสังคมต่างๆ


 


ผมไม่แน่ใจว่าเด็กๆ ที่เข้าไปพบผู้ใหญ่เป็นเด็กกุล่มไหนบ้าง แต่เท่าที่ติดตามจากข่าวสารตามสื่อต่างๆ นั้น ปรากฏว่าไม่มีข้อเสนอหรือการแก้ปัญหาของเด็กๆ กลุ่มเฉพาะ เช่น เด็กไร้สัญชาติ เด็กพิการ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์  .... ปัญหาที่เด็กๆ เสนอจึงเป็นเรื่องทั่วไปที่รัฐบาลก็น่าจะรู้เห็นกันอยู่ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง กล่าวคือ หากไม่ฟังเสียงเด็ก รัฐบาล (ชุดนี้ และที่ผ่านมา) ต่างรู้กันอยู่ว่าเด็กๆ มีปัญหาอะไรบ้าง คำถามคือ จะมีผู้ใหญ่สักกี่คนที่ตระหนักถึงปัญหาของเด็กแล้วพร้อมที่จะแก้ปัญหานั้นอย่างจริงจัง


 


ดังนั้น ในสองเหตุการณ์ที่ผ่านมาจึงได้เห็นเพียงแค่ว่ามีเด็กเข้าพบผู้ใหญ่ในรัฐบาลและเด็กก็ได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ ซึ่งเหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเด็กของทุกๆ ปีที่ผ่านมา คือ เป็นเพียงประเพณีที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา แต่แค่นี้ก็ถือว่ารัฐบาลเอง ก็ได้รับคำชื่นชมจากคนในสังคมแล้วว่า ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล


 


ทว่า เพียงเท่านี้ ผมคิดว่า "ยังไม่พอ" ครับ


 


เพราะคนที่เข้าร่วมงานก็เป็นเพียงเด็กบางกลุ่ม ซึ่งไม่ได้มีอย่างทั่วถึงเท่าใด ถามว่าทำไมไม่มีเด็กที่เผชิญปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาเข้ามาเสนอหรือบอกเล่าถึงปัญหา ความต้องการของตน เช่น เด็กที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยแต่ไร้สัญชาติ เด็กนักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศที่ไม่มีสัญชาติคาดว่ามีกว่า 180,000 คน และปัญหาที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือแม้แต่สิทธิที่เท่าเทียมกับเด็กที่เกิดบนแผ่นดินไทยแต่มีสัญชาติก็มี "ความแตกต่างกัน" อย่างเห็นได้ชัด ต่อเนื่องมานาน


 


ถามว่า รัฐได้ให้ความสำคัญกับเด็กๆ กลุ่มนี้มากน้อยเพียงใด.... นอกเสียจากเหตุผลที่อ้างเรื่องที่จะไม่ให้สัญชาติ อันเนื่องมาจากเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ


 


ทั้งๆ ที่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็ได้บอกว่า "เด็กทุกคนควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน" และ "การกระทำใดๆ ให้ถือเอาประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง" ถือได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานในการปกป้องและคุ้มครองเด็กเลยก็ว่าได้ แต่กลับพบว่ารัฐไทยเองยังมีการเลือกปฏิบัติกับเด็กอยู่อย่างเห็นได้ชัด ... ความท้าทายคือ ถ้ารัฐทำไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดทบทวนมากยิ่งขึ้น


 


แต่ที่ร้ายไปกว่ารัฐหาใช่ใครที่ไหน ก็ –สังคม หรือ ตัวของพวกเราเองนั้นแหละ ที่มีส่วนอย่างยิ่งที่จะทำให้เด็กๆ ทุกคนได้รับสิ่งที่ต้องได้รับตามสิทธิของพวกเขา กล่าวคือหากแต่ละคนมีอคติต่อเด็กที่สังคมส่วนใหญ่มองว่า "ไม่ดี" ความคิดเหล่านี้ก็จะดำรงอยู่ต่อไป แต่หากเราแต่ละคนช่วยกัน สร้างทัศนคติใหม่ๆ เกี่ยวกับเด็ก เช่น เด็กที่เกิดบนแผ่นดินไทยควรได้รับสัญชาติอย่างชอบธรรม เด็กที่ไร้บ้านควรได้รับการพักพิงที่เหมาะสมและปลอดภัย เด็กที่เป็นกลุ่มแก๊ง ควรได้รับความเข้าใจและยอมรับในวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ เป็นต้น


 


ผมเชื่อว่า ทัศนคติของพวกเราในสังคมแต่ละคนไม่ว่าเราจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ วัยไหน ทำงานอะไร มีเชื้อชาติ ศาสนาใด ก็สามารถสร้าง "ความคิด" ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ในสังคม เพื่อสังคมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก


 


ผมมองว่า วันเด็กที่จัดขึ้นในแต่ละปี ควรเป็นวันของเด็กๆ ทุกคน – เด็กๆ ทุกคน คือเด็กของโลกใบนี้ ที่ควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ไม่ต้องแยกเด็กดี เด็กเสี่ยง หรือเด็กอะไรก็ตามแต่ เด็กคือเด็ก เด็กไร้สัญชาติคือเด็ก เด็กดีเด่นคือเด็ก เด็กแก๊งคือเด็ก เด็กทุกๆ คนควรได้รับในสิ่งที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน


 


ที่สำคัญ การทำเพื่อเด็ก โดยการรับฟัง การให้ของขวัญ การให้โอกาสเด็กๆ ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ควรมีเพียงแค่เสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเท่านั้น ผู้ใหญ่มักบอกกับเด็กๆ ตอนวัน พ่อ หรือวันแม่ ว่า "เด็กๆ ควรเชื่อฟังพ่อ แม่ทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่วันพ่อ วันแม่เท่านั้น" อีกด้านหนึ่งอาจบอกได้ว่า "ผู้ใหญ่ควรรับฟังและให้ความสำคัญกับเด็กๆ ทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่วันเด็กเท่านั้น" และ... ทุกๆ วันต้องเป็น "วันเด็ก" ของ "เด็กทุกๆ คน"


 


หมายเหตุ: ขอขอบคุณ "วาส" - วาสนา พรมเสนา แห่งกลุ่มตะขบป่า ที่ช่วยกระตุกต่อมความคิดในมุมที่กว้างขึ้น