Skip to main content

Queer Theory โดย อ.ปีเตอร์ แจ็คสัน (2)

คอลัมน์/ชุมชน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย


 


แล้ว Queer Theory นี้จะนำมาใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์  วรรณกรรม ปรัชญาไทยได้หรือไม่  เรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์บ้าง  แต่เราต้องคิดว่าทฤษฎีมันคืออะไรมาจากไหน  ทฤษฎีนั้นไม่ได้มาจากสวรรค์และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทฤษฎีเป็นแค่การพยายามหาแก่นความคิดหลักในปรากฏการณ์รอบตัวเรา  เช่น  อาจารย์ Foucault ใช้ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในการวิเคราะห์  เขาไม่รู้เรื่องประเทศอื่นๆ เลย  แม้ในยุโรป  เอเชีย แอฟริกา ไม่รู้เรื่องเลย  ถ้า Foucault เอาหลักฐานจากที่อื่นที่ไม่ใช่ของยุโรปมาวิเคราะห์  ก็มีความเป็นไปได้ว่าไอเดียของเขาจะเปลี่ยนไป


 


ถ้าเราจะนำมาใช้ที่นี่  เราต้องคิดว่าทฤษฎีอาจจะเปลี่ยนไปได้  คำตอบนั้นยังไม่ชัดเจน  ยกตัวอย่างเมื่อ 30 ปีก่อน ทฤษฎีของมาร์กซจะใหญ่ที่นี่ ทั้งในพรรคคอมมิวนิสต์ของไทย ในธรรมศาสตร์  จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ประยุกต์ใช้ไอเดียของมาร์กซมาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของไทย  คนสมัยนั้นก็เจอคำถามเดียวกับเราคือ  ไอเดียของมาร์กซมาจากยุโรป  แล้วจะนำมาใช้ที่นี่ได้หรือ  คำตอบที่ออกมาก็เป็นการถกเถียง  บางคนบอกว่าใช้ได้  บางคนว่าใช้ไม่ได้  บางคนบอกว่าต้องนำทฤษฎีมาปรับปรุง


 


ในเมืองจีนนั้น  มีแนวคิดเรื่องกึ่งอาณานิคม  ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเอามาใช้ด้วย  ในสมัยที่มีการปฏิวัติที่จีน เหมาเซตุงมีความคิดว่า  มาร์กซนั้นเอามาใช้ประโยชน์ที่จีนได้  แต่ไม่ได้ 100 %  เพราะว่ามาร์กซนั้นคิดถึงแต่ประเทศที่เป็นเอกราชและประเทศอาณานิคม  ตามความเข้าใจของคนตะวันตก แต่จีนนั้นไม่ได้เป็นอาณานิคมแท้ ๆ เพราะว่าบางส่วนเป็นอาณานิคม  แต่บางส่วนก็เป็นเอกราช  มาร์กซไม่มีความคิดเรื่องนี้  เพราะฉะนั้นคนสมัยนั้นที่จะเอาไอเดียของมาร์กซมาใช้ก็ต้องสร้างความคิดใหม่  ที่เรียกว่า "กึ่งอาณานิคม"


 


นี่อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งในการนำทฤษฎีมาใช้  อาจจะเป็น Butler กึ่ง Foucault กึ่ง หรือ Sedgwick กึ่ง ถ้าเราจะนำมาใช้เราต้องเปิดใจกว้าง  ดูว่าทฤษฎีของอาจารย์ทั้ง 3 ท่านมีข้อบกพร่องบ้างไหม มีบางอย่างที่นำมาอธิบายสังคมไทยได้  หรือมีบางสิ่งที่อธิบายไม่ได้ชัดเจนในสังคมเราไหม


 


ตัวอาจารย์ปีเตอร์เอง  พยายามเอาทฤษฎี  Foucault มาอธิบายประวัติศาสตร์ของวาทกรรมทางเพศของไทย Foucault มีความคิดว่าโครงสร้างของโรงเรียน  โครงสร้างของการแพทย์  โครงสร้างของรัฐ ที่เน้นเรื่องเพศของคน  จะเป็นที่มาของอัตลักษณ์ทางเพศของสังคมสมัยใหม่  หมายความว่าอำนาจในสิ่งแวดล้อมมาก่อน อัตลักษณ์มาทีหลัง แต่ว่าอาจารย์พบว่าในเมืองไทย  เรื่องคนรักเพศเดียวกันนั้น  ทางการแพทย์เริ่มพูดถึงเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อนนี้เอง  เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็มีคนรักเพศเดียวกัน  แต่ว่าหมอที่นี่ไม่เข้าใจเลย เป็นเรื่องเล็กที่ไม่เป็นปัญหา 


 


อาจารย์ปีเตอร์เสนอว่า สำหรับที่นี่ มีอัตลักษณ์ใหม่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีวิธีแก้ไข ความเป็นเกย์ปรากฏในหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2507-08 เป็นครั้งแรก หนังสือพิมพ์รายงานเป็นครั้งแรกว่ามีเกย์ไปชุมนุมกันที่สวนลุมพินี แต่สมัยนั้นหมอไทย ครูไทย  ยังไม่ได้ระบุว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นปัญหา  เขาระบุว่านี่เป็นปัญหาหลังจากอัตลักษณ์ใหม่ลงในหนังสือพิมพ์  ซึ่งหลักฐานนี้ตรงกันข้ามกับแนวคิดของ Foucault


 


อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่ออาจารย์ปีเตอร์กลับมาดูหลักฐานของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางมาไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่มีใครพูดถึงเรื่องเกย์กะเทยเลย  ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน  หนังสือท่องเที่ยวเมืองไทยจะต้องมีหัวข้อเรื่องกะเทยอยู่ด้วย  ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทยในสมัยนี้ที่แตกต่างจากสมัยก่อนมาก  หลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรม


 


เมื่อกลับไปดูหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 5  พบว่าสมัยนั้นไม่สนใจเรื่องเพศวิถี ไม่สนใจว่าคนรักเพศเดียวกันไหม แต่สนใจว่าคนแต่งตัวแบบไหน  นี่เป็นเพราะหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากยุโรปแล้ว  ก็พยายามเปลี่ยนวิธีแต่งตัวของคนในวังให้เป็นในรูปแบบของยุโรป  คือแต่งตัวให้ทั้งสองเพศมีความต่างกัน  เช่น ให้ผู้หญิงในวังไว้ผมยาว  ใส่กระโปรง  ผู้ชายใส่กางเกง  ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะแต่งตัวคล้าย ๆ กัน จะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


 


ระบบอำนาจที่ Foucault เรียกว่า Bio-power เป็นโครงสร้างอำนาจที่เกี่ยวกับชีวิตของคน เช่น การแพทย์ กฎหมาย โรงเรียน ในประเทศไทยมีอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างน้อย  แต่ไม่ได้สนใจจะกำหนดเรื่องเพศวิถีของคน  แต่สนใจที่การกำหนดเพศภาวะของคน 


 


ตัวอย่างสุดท้าย  สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม นโยบายของจอมพลป. หลาย ๆ ครั้งก็เลียนแบบนโยบายของรัชกาลที่ 5  สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลป.จัดตั้งคณะกรรมการที่จะตั้งชื่อคนไทยให้ตรงเพศ  ก่อนหน้านั้นชื่อคนไทยไม่ได้ระบุเพศ  สมศักดิ์อาจเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้  แต่คณะกรรมการนี้ระบุเพศให้ตายตัว  แล้วจอมพลป.ก็ประกาศชื่อที่ถูกต้องตามเพศ  และบังคับให้พ่อแม่ที่ตั้งชื่อลูกต้องตั้งชื่อตามเพศ  ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ชื่อคนไทยจึงมีเพศ  นี่เป็นเพราะอำนาจรัฐเข้ามาควบคุม  แต่เราจะเห็นว่าชื่อเล่นยังไม่แบ่งแยกเพศตามแบบโบราณอยู่ ซึ่งจอมพลป. ไม่ได้ให้ระบุชื่อเล่นของคนไทยตามเพศ


 


ถ้าใช้ทฤษฎีของ Foucault นี่เป็นตัวอย่างของ Bio-power ที่รัฐเอาอำนาจมาแบ่งเพศ  ทั้งรัชกาลที่ 5 ถึงจอมพลป. เน้นให้ผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน  สมัยจอมพลป. เองมีกฎหมายด้านวัฒนธรรมหลายอย่างมาก  จนสมัยนี้เราคิดว่านี่แหละเป็นวัฒนธรรมไทย  แต่จริง ๆ เพิ่งมีมาเมื่อสมัยจอมพลป. เท่านั้น  การแต่งตัวแยกเพศของคนในประเทศก็ถูกบังคับในสมัยจอมพลป. เช่นกัน  มีกฎหมายระบุว่า ถ้าชาวบ้านจะไปอำเภอต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย  คือ ผู้ชายต้องใส่กางเกง  ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง และต้องใส่เสื้อด้วย  เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ชายไทยต้องมีกางเกงสักตัว  และผู้หญิงต้องมีกระโปรง  คือแต่งตัวแบบตะวันตก  แต่จอมพลป. ไม่ได้สนใจเพศวิถี  ไม่ได้สนใจว่าผู้ชายที่ใส่กางเกงเป็นเกย์หรือไม่ 


 


อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องกะเทย  เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์หลักฐานของกะเทยค่อย ๆ น้อยลง  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เกือบจะไม่มีเลย  กะเทยเป็นเรื่องใหญ่ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มมีปรากฏในหนังสือพิมพ์ เป็นที่สนใจของแพทย์  ซึ่งอาจารย์ปีเตอร์เสนอว่ากะเทยเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาหลังจากที่คนไทยต้องแต่งตัวแบบตะวันตก คือแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน  เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่แต่งตัวข้ามเพศได้  ดังนั้นถ้าชายแต่งหญิง  หญิงแต่งชาย  จะเห็นออกมาได้ชัดเจน  หนังสือพิมพ์ไทยลงข่าวเรื่องกะเทยครั้งแรกก็ในสมัยจอมพลป. นี่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่  และชี้ให้เห็นถึง Bio-power


 


สรุปว่า Foucault มีประโยชน์  แต่ว่าในการวิเคราะห์  เราต้องคำนึงถึงหลักฐานของที่นี่ และบางครั้งต้องปรับปรุงทฤษฎีให้เข้ากับที่นี่