Skip to main content

ฤาสังคมไทย ไม่เป็นสังคมแห่งเมตตาธรรมและปัญญา

คอลัมน์/ชุมชน





 


 



ข่าวการทำร้ายพระสงฆ์จนถึงแก่มรณภาพในเดือนมิถุนายนนี้มีถึง ๒ ราย ล้วนแต่ทำให้ชาวพุทธเศร้าหมอง รายแรกคือ หลวงตาอายุ ๗๐ กว่า ถูกวัยรุ่น ๔ - ๕ คน อายุ ๑๔ - ๑๕ ปี ถึง ๒๓ - ๒๔ ปี รุมทำร้ายด้วยเหตุว่าขอเงินไปกินเหล้า ๓๐๐ บาท ถูกหลวงตาสั่งสอน แล้วให้แค่ ๑๐๐ บาท วัยรุ่นกลุ่มนี้จึงเกิดบันดาลโทสะ ทำร้ายท่านถึงชีวิต


เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นที่ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแผ่นดินล้านนา เป็นแผ่นดินแห่งศาสนธรรม มีวัดวาอาราม พระธาตุที่เก่าแก่ มีพระอริยสงฆ์ เป็นประทีปแห่งธรรม เช่น ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่แหวน เป็นต้น แต่พระสงฆ์ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาและเผยแผ่ธรรมอย่างทันสมัย โดยประยุกต์พุทธธรรมให้เข้ากับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน กลับถูกกลุ่มคนใจอำมหิตรุมทำร้ายด้วยอาวุธมีคมอย่างโหดเหี้ยม เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ กว่าจะมีผู้ไปพบศพของท่าน เวลาก็ผ่านไปอีก ๑ วันแล้ว


ดิฉันรู้ข่าว การฆาตกรรมพระสงฆ์สุปฎิปันโนองค์นี้ทางหนังสือพิมพ์ด้วยความสะเทือนใจ ผู้ทำหน้าที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ต่อสู้ผู้ความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองรักษาป่าและทรัพยากรธรรมธรรมชาติไว้ให้เป็นมรดกของสังคม กี่คนแล้วที่ถูกสังหาร โดยผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองแทบไม่เคยสาวถึงตัวผู้ที่บงการอยู่เบื้องหลังได้ แต่ขณะนี้กลุ่มอิทธิพลลุ่มหลงในอำนาจถึงขั้นกล้าปลิดชีพ พระสงฆ์ผู้ดำรงตนอยู่ในหลักธรรม โดยไม่กลัวบาปไม่กลัวกรรม ไม่กลัวกฎหมาย


พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ แห่งกลุ่มเสขิยธรรม ได้ส่งข่าวมายัง สว.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา (ซึ่งพระกิตติศักดิ์ได้เมตตามาร่วมกิจกรรมกับกรรมาธิการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ศาสนธรรมเพื่อสังคมอยู่เป็นประจำ) ว่าเย็นวันจันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ จะรดน้ำศพและสวดอภิธรรมที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์


สว.มาลินี สุขเวชชวรกิจ และดิฉัน จึงไปร่วมงานที่ศาลา ๔ วัดชลประทานฯ ตั้งแต่ก่อนห้าโมงเย็น ได้ทราบว่า พระสุพจน์ สุวโจ ได้ย้ายจากสวนโมกข์ไปช่วยงานที่สวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีพระกิตติศักดิ์ และพระมหาเชิดชัย กิวิวํโส ช่วยงานกันรวมเป็น ๓ รูป


เดิม อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และพระสงฆ์กลุ่มเสขิยธรรม ได้มาดูพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พระสิงห์ทน นราสโภ (ดร.สิงห์ทน คำซาว) ได้มอบให้กลุ่มพุทธทาสศึกษา เพื่อดำเนินการให้เป็นสวนปฏิบัติธรรม เนื้อที่ ๑,๕๐๐ ไร่ ซึ่งทางกลุ่มพุทธทาสศึกษาได้ยกให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน จำนวน ๘๐๐ ไร่ ส่วน ๒๐๐ ไร่ จะให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม และอีก ๕๐๐ ไร่ จะจัดทำเป็นแปลงทดลองเกษตรธรรมชาติ ให้คนหนุ่มสาวได้มาใช้ชีวิตในอีกทางเลือกหนึ่ง แต่รอบ ๆ ที่ดินผืนนี้ ล้วนล้อมด้วยสวนส้ม เกรงว่าผู้ปฏิบัติธรรมอาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีและเกรงอิทธิพลจากเจ้าของสวนส้ม จึงตั้งเป็นมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและงานเผยแผ่ธรรม ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา


 



พระสุพจน์ สุวโจ เป็นบุตรของพ่อกิตติพัฒน์ และแม่ดาวเรือง ด้วงประเสริฐ เกิดที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในวัยเด็กท่านมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ โดยอยู่กับคุณป้า ผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาก จนสอบเข้าศึกษาในคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้


ระหว่างวัยเรียน ท่านสนใจกิจกรรมหลายด้าน เช่น เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลระดับตัวแทนโรงเรียน เป็นสมาชิกชมรมพุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท เป็นตัวหลักจัดทำวารสารและหนังสือรุ่นของคณะสัตวแพทย์ เป็นต้น


เมื่อศึกษาจบแล้ว ท่านทำงานระยะหนึ่งแล้ว จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ ขณะที่ท่านมีอายุ ๒๖ ปี โดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ (ปัจจุบันคือ พระพรหมมังคลาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์


พระสุพจน์ สนใจไปศึกษาและปฏิบัติธรรมหลายแห่ง รวมทั้งได้อบรมอานาปนสติภาวนาที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านจึงสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมในแนวทางสวนโมกข์อย่างต่อเนื่อง


อุปนิสัยของท่าน เป็นคนโอบอ้อมอารี เป็นมิตรกับผู้อื่นได้ง่าย จากพื้นฐานการศึกษาสัตวแพทย์ ท่านจึงเมตตาสัตว์ มักช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บอยู่เสมอ ท่านเป็นคนประนีประนอม ไม่ชอบมีเรื่องขัดแย้งกับใคร มักยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนเสมอ ทั้งการให้คำปรึกษาและการให้วัตถุสิ่งของ


ผลงานระหว่างที่อยู่สวนโมกข์


พระสุพจน์ ช่วยงานสวนโมกข์ในด้านงานเอกสารและบัญชี ดูแลห้องสมุดธรรมะ ช่วยงานฝึกอบรม ทั้งกับกลุ่มเยาวชน นักศึกษา การจัดค่ายเยาวชน ริเริ่มการอบรมแบบมีส่วนร่วม อบรมอานาปนสติภาวนา ตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษาเพื่อศึกษาและเผยแพร่ผลงานของท่านพุทธทาสอย่างเป็นระบบ


งานที่สำคัญเรื่องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา คือ โครงการธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา เป็นการรณรงค์ให้ชุมชนและผู้คนในสังคมสนใจและตระหนักว่าทะเลสาบสงขลากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยจัดรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๘


งานหนังสือ คือ อีกงานที่พระสุพจน์สนใจและถนัดเป็นพิเศษ ท่านได้ร่วมรื้อฟื้นหนังสือพิมพ์ " พุทธศาสนา" เพื่อสื่อสารธรรมะของท่านพุทธทาสให้คนร่วมสมัยเข้าถึงได้มากขึ้น และจัดรูปเล่มหนังสือของท่านพุทธทาสให้ดึงดูดผู้อ่านในชุด " ปณิธาน : เพื่อสืบสานปณิธานพุทธทาส" จำนวน ๑๒ เล่ม


ผลงานหลังออกจากสวนโมกข์


ท่านเป็นรองประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมะและสนับสนุนกิจกรรมสังคม ด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม


ความเชี่ยวชาญด้านการทำเว็บไซต์ของท่าน ทำให้ท่านได้พัฒนา website เพื่อสื่อสารกับคนร่วมสมัยหลายเรื่อง ได้แก่ สมาคมคนน่ารัก (www.khonnarak.com) เว็บไซต์พุทธทาสศึกษา (www.buddhadasa.org) เว็บไซต์กลุ่มเสขิยธรรม (www.skyd.org) เพื่อเครือข่ายพระสงฆ์และแม่ชีที่ทำงานประยุกต์ใช้ศาสนากับชีวิตและสังคม และเว็บไซต์โครงการส่งเสริมภูมิชีวิตพิชิตบุหรี่ในเพศบรรพชิต (www.nosmoke.in.th)


นอกจากนี้ ท่านยังให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสังคมอย่างสม่ำเสมอ เช่น องค์กรในเครือข่ายของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป มูลนิธิโกมล คีมทอง เป็นต้น


ผลงานการจัดการรูปเล่มหนังสือธรรมะต่าง ๆ ของท่านทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยเล่ม เช่น หนังสือชุดสรรนิพนธ์พุทธทาส ชุดธรรมทัศน์ของพุทธทาส เป็นต้น รวมทั้งเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของจดหมายข่ายเสขิยธรรมรายสามเดือน ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน





การสูญเสียพระสุพจน์ไปก่อนวัยอันควร ด้วยการกระทำที่โหดร้ายของกลุ่มผู้ที่มีจิตใจ ป่าเถื่อน ขาดหลักธรรมกำกับใจ จึงเป็นการสูญเสียบุคลากรอันทรงคุณค่าของชาวพุทธร่วมสมัย



เครือข่ายพระนักพัฒนาภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรม โดยระบุว่าที่ดินกว่า ๗๐๐ ไร่ ของสำนักเมตตาธรรม เป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่ส่งคนมาขับไล่และขู่ฆ่าเพื่อให้พระออกไปจากพื้นที่ ได้ทำร้ายฆราวาสผู้ดูแลสถานปฏิบัติธรรม เมื่อ พ . ศ. ๒๕๔๕ และขณะนี้ยังมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับที่ดินอีกหลายคดี


เครือข่ายพระนักพัฒนาภาคเหนือจึงเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้


๑ . รัฐต้องดำเนินการหาตัวผู้บงการและผู้ลงมือฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ มาลงโทษตามกฎหมายโดยด่วน


๒ . รัฐต้องขจัดอิทธิพลท้องถิ่น ให้หลักประกันความปลอดภัยแก่พระสงฆ์นักอนุรักษ์ และชาวบ้านผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการขยายตัวของสวนส้มขนาดใหญ่ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอฝาง และที่อื่น ๆ


๓ . องค์กรพระพุทธศาสนา ควรหามาตรการปกป้องคุ้มครองพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบให้ปลอดภัยจากอิทธิพลเถื่อน


๔ . ขอให้องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันเคลื่อนไหว ติดตาม ให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม


๕ . ขอให้สื่อมวลชน ติดตามการดำเนินการทางคดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รู้ข้อเท็จจริง


ขอให้การมรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ ได้สร้างความตระหนักให้ทุกฝ่ายหามาตรการคุ้มครองพระสงฆ์ ประชาชนและข้าราชการที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างมาตรฐานความยุติธรรมในสังคมสืบไป



การแสดงธรรม ในคืนสวดศพคืนแรกของพระสุพจน์ พระศรีปริยัติโมลีได้กล่าวว่า " พระสงฆ์ในผ้ากาสาวพัตรยังไม่ปลอดภัย อย่าให้พระตายอย่างหาร่องรอยไม่ได้ มิฉะนั้นพระนักอนุรักษ์จะต้องถอยจากป่า ปล่อยให้ป่าถูกผู้มีอิทธิพลยึดและทำลายกันต่อไป" สังคมไทยไม่ได้นำธรรมะของพระพุทธองค์มาพัฒนาตนและสอนลูกหลาน แม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีตราธรรมจักรเป็นเครื่องหมายแต่ก็ไม่ได้นำ ศีล สมาธิ ปัญญา อริยสัจ ๔ และอริยมรรคมีองค์ ๘ มาใช้อย่างจริงจัง สังคมไทยจึงยังไปไม่ถึงความเป็นสังคมแห่งปัญญา


พระไพศาล วิสาโล ได้แสดงธรรมในท้ายที่สุดว่า " ขอให้การจากไปของพระสุพจน์ เตือนสติให้ทุกคนได้เร่งสั่งสมความเพียร เจริญมรณานุสติ อยู่เป็นประจำ ประคองสติไปให้ได้แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งคับขันที่สุด ขอให้รักษาจิตให้เป็นกุศลด้วยเมตตา กรุณา และปัญญา เพื่อเป็นกุศลให้ท่านสุพจน์ไปสู่สัมปรายภพเทอญ"


หากชาวไทยเจริญสติได้ดังที่ท่านไพศาลกล่าวไว้ สังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งเมตตา กรุณา และปัญญาได้แน่นอน