Skip to main content

เพศที่สามกับการวิจารณ์การเมือง

คอลัมน์/ชุมชน

คุณ มน. มีนา  ผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสิทธิของเพศที่สาม ได้สะกิดให้ผมตระหนักถึงการวิจารณ์การเมืองไทยในขณะนี้ที่มักจะใช้เรื่องเพศที่สามมาเป็นอาวุธในการโจมตี  ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว แต่เรื่องร้อน ๆ อื่น ๆ เข้ามาคั่นจนไม่มีโอกาสได้เขียนเสียที


 


บุคคลสำคัญที่สนับสนุนรัฐประหาร และที่ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเบี่ยงเบนทางเพศเป็นใครนั้นคงจะรู้กันดีโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อ


 


ผมเห็นด้วยกับสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับสิทธิที่จะก้าวก่ายไปวิพากษ์วิจารณ์ "เรื่องส่วนตัว" ผมเคยวิจารณ์ม็อบพันธมิตรฯ ที่นำ "เรื่องส่วนตัว" ของคนนั้นคนนี้มาปู้ยี่ปู้ยำ เช่น นำเรื่องของบุตรสาวของอดีตนายกฯ มาด่าบนเวที และหลักการเดียวกัน ผมต้องแสดงความไม่เห็นด้วยที่การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสำคัญฝ่ายรัฐประหาร จะพุ่งไปที่เรื่องส่วนตัวและเรื่องรสนิยมทางเพศ  


 


เรื่องรสนิยมทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ คนอื่นไม่อาจไปล่วงรู้ได้ว่าคน ๆ นั้นมีรสนิยมทางเพศอย่างไรเพราะขึ้นชื่อว่ารสนิยมแล้วมันก็สามารถเปลี่ยนกันได้  บางคนเปลี่ยนได้ง่าย บางคนเปลี่ยนได้ยาก บางคนเดี๋ยวเป็นชาย เดี๋ยวเป็นหญิง


 


นอกเหนือไปจากเรื่องบทบาททางการเมืองแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐประหาร มักจะพ่วงด้วยเรื่องรสนิยมทางเพศ ราวกับว่าถ้าพูดถึงคน ๆ นี้แล้วต้องพูดเรื่องนี้ด้วย อย่างเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ม.ค. 50) ที่สนามหลวงมีการปราศรัยของคนกลุ่มหนึ่ง ผู้พูดบนเวทีกล่าวอย่างเต็มปาก เต็มคำ  เสียงดังฟังชัดในทำนองที่ว่า ทำไมคนวิปริตทางเพศจึงสามารถเป็นทหารได้ หรือ พวกสองเพศทำให้การเมืองวุ่นวาย


 


การพูดเรื่องส่วนตัวของคนอื่นในทางร้ายนั้นสามารถปลุกอารมณ์ร่วมให้กับผู้ฟังได้อย่างดี บนเวทีปราศรัยหรือเวทีประท้วงจึงมักหยิบเรื่องส่วนตัวของคนอื่นขึ้นมาเล่น แต่มันไม่สามารถปลุกความคิดของผู้ฟังได้ การว่ากล่าวในเรื่องส่วนตัวไม่อาจจะตอบคำถามอย่างมีเหตุผลได้ว่าทำไมคน ๆ นั้น จึงไม่ดี จึงสมควรถูกประณาม


 


อย่างไรก็ตาม อาจมีปัญหาอยู่บ้างว่าอะไรเป็นเรื่องส่วนตัว อะไรไม่ใช่เรื่องส่วนตัว? เรื่องส่วนตัวบางเรื่องสามารถนำมาวิพากษ์วิจารณ์เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับสาธารณะ? เช่นเรื่องของการจดทะเบียนสมรสซ้อนของพลเอกสนธิ (ซึ่งพลเอกสนธิก็ยังไม่ตอบให้ชัดเจนว่าจริงหรือไม่) เรื่องส่วนตัวบางเรื่องไม่ควรหยิบมาวิจารณ์เพราะไม่เกี่ยวกันเลยกับบทบาททางการเมือง?  คำถามพวกนี้เป็นคำถามใหญ่ซึ่งผมไม่อาจตอบได้ในที่นี้


 


แต่ประเด็นที่ผมอยากนำเสนอก็คือการวิพากษ์วิจารณ์(ด่า) เรื่องรสนิยมทางเพศของบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างมากในขณะนี้นั้น เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นอื่นของเพศที่สามในสังคมไทย มันเป็นการตอกย้ำว่าการเป็นเพศที่สามเป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ผิด เป็นอะไรที่เบี่ยงเบนออกไปจากมาตรฐานกระทั่งเป็นสิ่งวิปริต


 


นักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิทางเพศหรือสิทธิอื่น ๆ ควรจะให้ความสำคัญ เพราะสิทธิทางเพศเป็นอะไรที่เบื้องต้นที่สุด หากสิทธิเสรีภาพทางเพศถูกคุกคามแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่สิทธิด้านอื่น ๆ จะถูกคุกคามไปด้วย หากสิทธิเสรีภาพในเรื่องส่วนตัวถูกคุกคาม สิทธิเสรีภาพในเรื่องสาธารณะอย่างสิทธิทางการเมืองก็ย่อมถูกกระทบด้วย


 


บางคนจึงไปไกลถึงขนาดเสนอว่าการปฏิรูปทางการเมืองจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติทางเพศเสียก่อน


 


นอกจากเรื่องรสนิยมทางเพศแล้ว อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมอยากพูดถึงและคิดว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ควรนำมาเป็นอาวุธในการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือการใช้คำเรียกซึ่งออกไปในแนวเหยียดหยาม อาทิ เช่นเรียกพลเอกสนธิ ว่าบังสนธิ อันที่จริงการเรียกว่าบังไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่ลองนึกดูว่าคนที่ไม่ชอบพลเอกสนธิ แล้วนำว่าบังมาใช้ในม็อบต้านรัฐประหาร ในบริบทเช่นนี้คำว่าบังจึงมีจึงมีนัยประหวัดไปถึงเรื่องของชาติพันธุ์ซึ่งก็ไม่ควรนำมาใช้ในม็อบต้านรัฐประหาร รวมไปถึงคำว่าเจ๊กที่บางคนใช้เรียก สนธิ ลิ้มทองกุล


 


ทั้งหมดทั้งปวง ที่กล่าวมาเพื่อต้องการยกระดับม็อบต้านรัฐประหารให้แตกต่างจากม็อบพันธมิตร ฯ ซึ่งกลายเป็น "จำอวดทางประวัติศาสตร์" เป็นม็อบที่ผิดพลาดมากที่สุดเพราะมันนำไปสู่การทำลายล้างประชาธิปไตยและสังคมไทยอย่างพร้อมเพรียงกันของคนหลายฝ่าย นำไปสู่สภาวะลักลั่น  กลืนไม่เข้า  คายไม่ออกอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ม็อบต้านรัฐประหารต้องแตกต่างไปจากม็อบรับใช้รัฐประหารอย่างม็อบพันธมิตรฯ


 


 …………


 


การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ แม้ว่ามันไม่ก่อให้เกิดอารมณ์รวมหมู่เมามันเท่ากับการพูดเรื่องส่วนตัวที่ปิด ๆ เปิด ๆ  ของบุคคลที่เป็นเป้า แต่มันก็มีพลัง เพราะมันจะทำให้การวิพากษ์แหลมคมและสมเหตุสมผล.