Skip to main content

อินโดนีเซีย ดินแดนหลากหลายชาติพันธุ์ และสื่อท้องถิ่นเบ่งบาน (1)

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ ในแง่วัฒนธรรม ผู้คน ศิลปะ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Ethnic) และมีประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติพันธุ์ที่น่าสนใจ บางตำราบอกว่าอินโดนีเซียมีมากกว่า 700 กลุ่มชาติพันธุ์ มากกว่า 100 ภาษาท้องถิ่น แต่เพื่อนสื่อมวลชนเจ้าของประเทศบอกว่า อินโดนีเซียมีมากกว่า 350 กลุ่มชาติพันธุ์ อินโดนีเซียมีแผ่นดินกว้างใหญ่ เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะต่างๆ กว่า 17,000 เกาะ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 5 เกาะคือ ชวา สุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และปาปัว


 


สื่อกระจายไปอยู่ทั่วทุกเกาะในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นชนิดสื่อที่เก่าแก่ของทุกประเทศ อินโดนีเซียมีหนังสือพิมพ์เกือบทุกเมืองในแต่ละเกาะ บางฉบับมีอายุเก่าแก่นานถึง 62 ปี อย่างเช่น Kadaulatan Rakyat  (อ่านว่า กา-ดัว-ลา- ตัน-รัก-ยัต) ก่อตั้งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2488 เป็นหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเมืองยอกยาการ์ตา จังหวัดชวากลาง หรือที่บาหลี ก็มีบาหลี โพสต์ ซึ่งมีอายุ 59 ปี ก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 และที่เกาะสุมาตรามี Waspada post  มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเมดาน เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจำนวนพิมพ์มากที่สุดกระจายไปในเกาะสุมาตรา


 


อีกฉบับหนึ่งใกล้ๆ กับเมืองหลวงจากาตาร์ คือ เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันออก มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ Pikiran Rakyat ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 ดำเนินการมากว่า 41 ปี แม้แต่ที่เกาะสุลาเวสี กาลิมันตันและเอเรียน (ปาปัว) ก็มีหนังสือพิมพ์เก่าแก่เช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาผู้เขียนจึงไม่ได้เดินทางไปยังสามเกาะนี้ ส่วนใหญ่หนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซียเกิดขึ้นหลังจากประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของดัตช์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 แต่ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ เจ้าอาณานิคม "ดัตช์" เป็นผู้ควบคุมและจัดพิมพ์จำหน่าย ในหมู่ชนชั้นสูง และพ่อค้าที่เป็นทั้งชาวดัตช์และชาวอินโดนีเซีย และพิมพ์เป็นภาษามลายู เพราะเจ้าอาณานิคมเลือกภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกับคนพื้นเมือง เนื่องจากอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์และภาษา นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษามลายูแพร่หลาย เป็นภาษากลางของประเทศอินโดนีเซีย และซูการ์โน ก็ใช้อุดมการณ์ One Homeland One Nation One language สร้างชาติอินโดนีเซียม


 


ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของอินโดนีเซีย เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ซูการ์โนในช่วงยุคสร้างชาติหลังจากประกาศอิสรภาพจากการครอบครองดินแดนจากดัตช์ ใช้หลัก "ปัญจศีล" เป็นหลักในการปกครองประเทศมากกว่าจะใช้หลักการศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าในประเทศจะมีคนนับถือศาสนาอิสลามมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์


 


      หลักปัญจศีล ประกอบด้วย


-          ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน คือแต่ละศาสนาก็มีพระเจ้าหรือหลักปฏิบัติทางศาสนา ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้แต่ละศาสนาเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย


-          ชาตินิยม ไม่ใช่ชาตินิยมในความหมายแคบๆ หรือเห็นแก่ชาติตัวเองเป็นใหญ่แต่หมายถึงชาตินิยมที่จะก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในชาติอินโดนีเซียไม่เป็นศัตรูกับชาติอื่น


-          มนุษยธรรม ไม่ถือชาติ รักชาติตนแต่ก็แผ่เมตตาให้แกชาติอื่นด้วย เสมือนเป็นญาติกันทั่วโลก


-          ความสมบูรณ์พูนสุขและความยุติธรรมในสังคม การทำให้ทุกคนมีอาหารพอกิน มีที่อยู่อาศัยและความผาสุกยิ่งๆ ขึ้นไป มีประชาธิปไตยทางการเมืองอย่างเดียวไม่พอต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย จึงจะเกิดความเป็นธรรมในสังคม


-          ความเป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจแก่ประชาชนเลือกรัฐบาลตามความสมัครใจ ต้องการรัฐบาลอย่างไรก็เลือกผู้แทนของตนมาดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย  


 


ฉะนั้น หนังสือพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2488-2509 ช่วงยุคซูการ์โน ยังคงมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แม้จะเป็นสื่อเผยแพร่อุดมการณ์ชาติตามผู้นำ แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัดก็มีลักษณะเฉพาะหนึ่งคือ มีความใกล้ชิดกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เช่น Kadaulatan Rakyat  หนังสือพิมพ์ในยอกยากาตาร์ เจ้าของหนังสือพิมพ์มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสุลต่านยอกยากาตาร์ และมีเอกลักษณ์ในการสร้างความภูมิใจในการดำรงความเป็นชาวชวากลางของชุมชนด้วย หรือที่บาหลี ก็เน้นเผยแพร่ความข่าวสารและส่งเสริมวัฒนธรรมของความเป็นฮินดู นอกเหนือจากข่าวสารอื่นๆ หรือหนังสือพิมพ์ภาษาจีนของชุมชนชาวจีนในอินโดนีเซียก็มีการตีพิมพ์เผยแพร่หลายฉบับ ก่อนที่จะมีการปิดและห้ามตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในยุคของอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต้ แต่หลังจากการล่มสลายของซูฮาร์โต้ไปแล้ว ก็เริ่มมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาจีนอีกครั้ง ในขณะที่ Waspada หนังสือพิมพ์ที่เคร่งครัดและประกาศจุดยืนเข้มแข็ง มุ่งเน้นส่งเสริมศาสนาอิสลามมาตั้งแต่เริ่มต้น พนักงานหญิงของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงแต่งตัวตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดด้วย


 


อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ในแต่ละท้องถิ่นก็จะกระจายการจำหน่ายไปตามเมืองและในเมืองที่อยู่ใกล้กัน ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศเหมือนหนังสือพิมพ์กระแสหลักที่ก่อตั้งในเมืองหลวงจากาตาร์  ซึ่งประชาชนทุกบ้านจะติดตามหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นตนเอง พฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ของคนท้องถิ่นทั่วไป จึงเป็นเช่นนี้ คือ ซื้อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหนึ่งฉบับ พร้อมกับหนังสือพิมพ์กระแสหลักจากจากาตาร์อีกหนึ่งฉบับ ต่างจากบ้านเราที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงประตูบ้านของผู้อ่านได้


 


แต่หลังจากยุคซูการ์โน เข้าสู่ยุคเผด็จการ ในปี พ.ศ. 2509-2541 ซึ่งเป็นยุคเผด็จการเกือบสามสิบปี สื่อเผชิญชะตากรรมอย่างไรในยุคนั้น และดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตยอย่างไร จะพูดถึงในสัปดาห์ต่อไป


 


ชาติพันธุ์อันหลากหลายในอินโดนีเซีย มีกลุ่มใหญ่ๆ เช่น


      เมลานีเซีย Melanesia อยู่ทางด้านเหนือของทวีปออสเตรเลีย ซึ่งคำว่าเมลานีเซียประกอบด้วยพวก ออสโตรนีเซียน Austronesians กับพวก ปาปัว (Papau) ซึ่งปาปัวนิวกินี เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย ช่วงแรกเรียกเกาะนี้ว่าเอเรียน


      มาเลย์ เป็นชาติพันธุ์ที่มีมากที่สุดของอินโดนีเซีย


      จีน มีประมาณ 2% ในจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ครองอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดและส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ตามที่กล่าวข้างต้นว่าจีนในช่วงซูฮาร์โตถูกปิดกั้นเสรีภาพมาก เพิ่งมาฟื้นการเรียนภาษาจีนแต่ไม่ได้หมายความว่า เพิ่มความเป็นจีนมากขึ้น และลดความเป็นอินโดนีเซียน้อยลง การเรียนภาษาแมนดารินก็เพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ


      อินเดีย อาหรับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง เป็นพ่อค้า เจ้าของที่ดิน


      ชวา หรือจาวา เป็นกลุ่มชนชาติที่มีมากที่สุดในอินโดนีเซียอยู่ในเกาะชวา และเป็นกลุ่มชนที่มีอำนาจปกครองทางการเมืองมากที่สุด และชาวชวาจะถูกกระจายให้ไปอยู่ตามเกาะต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงซูฮาร์โต ที่มีนโยบายจัดสรรที่ดินในเกาะต่างๆ ให้แก่คนชวา เป็นการจูงใจให้คนชวาไปอยู่ เป็นเหตุผลทางการเมืองหนึ่ง และคนชวาเพาะปลูกเก่ง


      มาดูรา มีภาษาเป็นคนตนเอง แต่ยากจนที่สุดในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่จะโยกย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่เรียกว่า เป็นผู้อพยพข้ามถิ่นมากที่สุด (transmigration) 


      มาลูกู เป็นชนชาติที่เคยถูกโปรตุเกสและดัตช์ครอบครอง ก่อนหน้านี้ชนพื้นเมืองนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจ้าอาณานิคมเข้าไปครอบครองก็เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้ผู้คนบางส่วนหันมานับถือคริสต์ ซึ่งมีการต่อต้านจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีผลมาจนถึงปัจจุบัน เพราะดินแดนแถบนี้เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งทางด้านศาสนารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย มีการระเบิดและฆ่าฟันคริสเตียนอยู่เนื่องๆ และเคยมีสงครามระหว่างอิสลามและคริสเตียนนานถึง 18 เดือน เมื่อปี ค.ศ. 1999


      Minangkabau กลุ่มปาดัง อยู่ในเกาะสุมาตราตะวันออก มีความเป็นอิสลามเข้มข้น พอๆ กับอาเจะห์ ซึ่งนอกจากปาดังเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในแถบนั้นยังมีชนพื้นเมืองปะปนอยู่ด้วยคือ อาดัต ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาฮินดูก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามามีอิทธิพล


      อาเจะห์ บรรพบุรุษคือ ชาวมาเลย์อพยพโยกย้ายมาอยู่ อาเจะห์ถือว่าเป็นชนชาตินักรบชนชาติหนึ่ง เป็นหนึ่งในชนชาติที่ช่วยชาวชวากอบกู้เอกราชจากอาณานิคมดัตช์  แต่ชาวชวากลับเข้าครอบครองอาเจะห์ (อาเจะห์มีธงชาติของตนเองสีแดง ขาว ซึ่งซูการ์โนประกาศเป็นธงประจำชาติอินโดนีเซียเมื่อครั้งประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1945 ชาวอาเจะห์ถือว่าชาวชวาทรยศ ซึ่งมีขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ หรือ GAM เกิดขึ้น เพื่อประกาศเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย และเมื่อปี ค.ศ. 2006 มีการลงนามสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกลางกับ GAM และเปิดให้มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง


      บาหลี ประชากรในเกาะบาหลี นับถือศาสนาฮินดู มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ดำรงความเป็นบาหลีได้แม้ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยว ประชาชนยังศรัทธาฮินดูไม่เสื่อมคลาย ในชีวิตประจำวันจะการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาไม่เคยเปลี่ยน เมืองเดนปาซาร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของบาหลี มีกฎว่าสร้างตึกไม่เกินกว่ายอดมะพร้าว รอบทะเลของเมืองเดนปาซาร์จึงไม่มีตึกสูงแย่งกันผุดขึ้นเสียดฟ้า เหมือนพัทยา


      ปัตตาเวีย คนพื้นเมืองของกรุงจาการ์ตา ก่อนที่อินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวงจากยอกยากาตาร์มาอยู่ที่นี่ ปัตตาเวียเป็นชื่อที่ดัตช์เรียกเมืองนี้ แต่ภายหลังที่อินโดนีเซียประกาศอิสรภาพก็หันกลับมาใช้ชื่อเดิมจาการ์ตา ปัจจุบันคนปัตตาเวียเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่รอบนอกของเมือง บ้างก็อาศัยในชุมชนแออัด เพราะถูกเบียดขับจากทุน เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มปัตตาเวียเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่ดิน  แต่ก็ต้องขายที่ดินออกไปเมื่อทุนรุกเข้ามา


 


 


วางภาพประกอบ เรียงตามลำดับเลยค่ะ


 



แผนที่อินโดนีเซีย ความกว้างใหญ่ของแผ่นดินทำให้อินโดนีเซียมีมาตรฐานเวลา 3 เวลา คือเวลาที่จาการ์ตา เวลาที่บาหลี และเวลาที่ปาปัว (เอเรี่ยนจาวา) ซึ่งห่างกันหนึ่งชั่วโมง


 


 



 



นักข่าวสาวหนังสือพิมพ์
Waspada เธอบอกว่า
หนังสือพิมพ์มีจุดยืนส่งเสริมศาสนาอิสลาม นอกเหนือจากนำเสนอข่าวอื่นๆ


 



การแต่งกายแบบสุมาตรา (ปาดัง)


 



การแต่งกายแบบอาเจะห์


 



การแต่งกายแบบมาลูกู