Skip to main content

คุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ความหวังที่ยังไม่เห็นแสงสว่าง

คอลัมน์/ชุมชน

สังคมไทยส่งท้ายปี 2549 ด้วยภาวะที่คนไม่ปลอดภัย เต็มไปด้วยความกลัว ความหวาดผวา จากภัยคุกคามที่ไม่รู้ว่าใครคือผู้กระทำ และทำไปเพื่ออะไร หวังผลอย่างไร รวมถึงการไม่ออกมารับผิดชอบสิ่งที่ทำ นั่นคือ เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในวันที่ 31 ธันวาคม 49 ทำให้บรรยากาศการจัดงานรื่นเริงส่งท้ายปีเก่า กร่อยไปมาก ทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัด


 


ผ่านมาสองสัปดาห์ผู้คนก็ยังวิตกกังวลที่จะไปใช้ชีวิตในบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น ในห้างสรรพสินค้า ในงานฤดูหนาว งานกาชาด ตลาด แม้แต่โรงภาพยนตร์  อย่างไรก็ตามภาวะการณ์เริ่มเข้าสู่ปกติแล้ว ผู้คนก็ยังไปเดินห้างกันเหมือนเดิม  และข่าวคราวเรื่องการติดตามหาผู้บงการ และมือระเบิด ก็จางๆไป เพราะมีเรื่องราวอื่นๆให้สังคมต้องติดตามให้ความสนใจมากกว่า เช่น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การปรับปรุง และร่างกฎหมายต่างๆของรัฐบาล และการจัดงานวันเด็กอย่างยิ่งใหญ่แบบไม่เคยมาก่อน เนื่องจากเป็นงานวันเด็กที่มีทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เดินถือปืน เดินตรวจตราในงานมากกว่าปีใดๆ ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าเด็กๆ มีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ แต่ผู้ปกครองก็คงสบายใจที่ผ่านพ้นวันเด็กมาอย่างไม่มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ วันเด็กผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไปเหมือนเช่นทุกปี รอเวลาคึกคักใหม่อีกครั้งปีหน้า สังคมไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนไทยมากขึ้นเพียงใด มีการจัดเตรียมให้เด็กของเรามีคุณภาพชีวิตขึ้นเพียงใด นอกเหนือไปจากการจัดงานวันเด็กในแต่ละปี


 


สิ่งที่เด็กและเยาวชนไทยควรได้รับและมีการจัดเตรียมการทั้งการออกกฎหมายรองรับ การวางแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ระดับกระทรวง เพื่อให้เด็กมีศักดิ์และสิทธิในฐานะมนุษย์และในฐานะพลเมือง มีเรื่องต้องดำเนินการอย่างน้อยๆ 4 เรื่องด้วยกันที่เห็นว่าสำคัญ คือ


 


หนึ่ง  สิทธิของเด็กในเรื่องสัญชาติ เพื่อการเป็นพลเมืองของประเทศไทย หลายปีติดต่อกันมานี้มีการจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติขึ้น ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย แต่เนื่องจากมีพ่อแม่ที่ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคล(หลายครั้งเป็นการตกสำรวจ การเข้าไม่ถึงของเจ้าหน้าที่เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์  ฯลฯ) จึงทำให้เด็กเหล่านี้ไร้สัญชาติไปด้วย ทั้งที่ในระดับนานาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยสหประชาชาติ http://www.ucl.or.th/data_file/th_CRC.htm  ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่และรับรองอนุสัญญานี้ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หากเด็กที่เกิดมาไม่ได้รับการรับรองสถานะ การมีสัญชาติ จะทำให้เขาไม่มีสิทธิอื่นใดในประเทศ ทั้งการรับการศึกษา สิทธิในการรับการรักษา การดูแลสุขภาพ การมีงานทำ การเป็นพลเมือง  รัฐไทยจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรให้เป็นของขวัญวันเด็กที่มีค่ากว่าการมอบคำขวัญ ในแต่ละปี


 


สอง  การส่งเสริมสุขอนามัยเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ที่ดี พลเมืองวัยเจริญพันธุ์ในสังคมไทย ต้องได้รับความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพทางเพศของตน การได้รับบริการสุขภาพเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การเข้าถึงบริการคุมกำเนิดของวัยรุ่น การตั้งครรภ์ การจัดบริการช่วยเหลือเมื่อตั้งครรภ์ในภาวะที่ไม่พร้อม การดูแลภาวะโภชนาการของตน โดยเฉพาะการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนพอเพียงต่อการตั้งครรภ์ที่ทารกในครรภ์สามารถมีพัฒนาการด้านสมอง สติปัญญา อย่างดี  ทั้งนี้วัยรุ่น วัยเยาวชน ทั้งหญิงชายต้องได้รับการเรียนรู้เรื่องเพศที่เท่าเทียมกัน และได้รับการสนับสนุนให้มีอำนาจตัดสินใจในการจัดการการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยของตน โดยสังคมต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงและพร้อมจะพัฒนาให้เยาวชนทั้งหญิงและชายได้เรียนรู้เรื่องเพศอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา


 


เรื่องนี้ต้องดำเนินการให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ แต่ต้องเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ควรให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้เข้ามาร่วมดำเนินการจัดทำวาระแห่งชาตินี้ด้วยตนเอง ไม่รู้ว่าสังคมไทยจะยอมรับได้ไหม และหากเป็นไปได้ควรมีองค์กรอิสระทำหน้าที่ในการดำเนินการให้เกิดวาระแห่งชาตินี้


 


สาม  การดำเนินการด้านสวัสดิการทางสังคม ปัจจุบันมีเพียงเรื่องเดียวที่จัดเป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกคนคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุกคนได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายใดใดที่โรงพยาบาล แต่สิ่งที่ยังไม่เป็นจริงและเบี่ยงเบนไปมากคือ หลักประกันการศึกษาแห่งชาติ เด็กที่อยู่ในวัยเรียนทุกคนควรจะได้ไปเรียนโดยไม่ต้องจ่ายค่าเรียนใดใดที่โรงเรียน ปัจจุบันเด็กหลายคนยังขาดโอกาสที่จะได้เรียนเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอ ทั้งค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนยังเรียกเก็บได้เสรี ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางไปเรียน เหล่านี้เป็นอุปสรรคให้เด็กและเยาวชนไม่อาจเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  แม้จะมีการดำเนินการเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) http://www.studentloan.or.th/  แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่จะทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะการกู้เรียนก็คือการเป็นหนี้ตั้งแต่เรียน โดยไม่มีหลักประกันใดใดที่จะมีงานทำเมื่อเรียนจบ หรือมืองานทำที่มีรายได้พอจะใช้คืนเงินกู้ 


 


ที่ผ่านมารัฐใช้เงินไปกว่าสามแสนล้านเพื่อการให้กู้ยืม และเริ่มถึงกำหนดต้องผ่อนใช้คืน มีผู้กู้หลายหมื่นคนที่ไม่สามารถใช้คืน และกำลังจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย  เรื่องนี้เป็นอีกวาระสำคัญสำหรับประเทศ การสร้างหลักประกันให้คนมีการศึกษา ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการแรงงาน การมีงานทำ การมีรายได้พอเพียงดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพียงการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมอย่างเดียวคงไม่อาจรับรองหลักประกันทางการศึกษาได้


 


สี่  การสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย และความสมานฉันท์ในสังคม การสร้างเสริมอุดมการณ์ของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้และยอมรับความหลากหลายของคนที่แตกต่างกันในเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่ความสมานฉันท์ ตราบใดที่ผู้ใหญ่ยังมีอคติต่อกัน ย่อมไม่เป็นตัวอย่างรูปธรรมให้เด็กและเยาวชนเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ ใครควรเป็นเจ้าภาพหลักเรื่องนี้ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนา หรือองค์กรศาสนาต่างๆ  จะเกิดการดำเนินการให้เกิดวาระนี้ขึ้นได้อย่างไร  รัฐจะสนับสนุนงบประมาณ บุคคลากร ให้เกิดกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร


 


ความหวังของเด็กที่ควรจะมากกว่าการจัดงานวันเด็ก  จะเป็นจริงได้อย่างไร  อย่างน้อยก็ต้องหวังไว้ว่าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2550 นี้จะมีการระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับวาระของเด็กและเยาวชน หรือเพียงแต่รอการจัดงานวันเด็กแต่ละปีไปก็พอแล้ว