Skip to main content

จดหมาย(๑): ดื่มจัด มั่วโลกีย์

คอลัมน์/ชุมชน


 


สวัสดีเจ้า คุณวิจักขณ์


 


พี่สนใจงานเขียนของท่านตรุงปะ รินโปเชมานานแล้ว ดีใจมากที่ได้พบว่าคุณวิจักขณ์ได้ศึกษาในธรรมที่พี่สนใจ ตามอ่านด้วยความชื่นชมค่ะ แต่ไม่ได้เขียนคอมเม้นท์ไปด้วยเพราะพี่ไม่ถนัดด้านคอมพิวเตอร์ พี่เขียนมาหาคุณเพื่อหากพี่มีปัญหาหรือข้อสงสัยในการปฏิบัติอยากสอบถามหรือขอคำแนะนำค่ะ


 


พี่เป็นคนไม่ค่อยมีแบบแผนนัก จึงขอคุยกับคุณแบบง่ายๆไม่มีพิธีรีตอง พี่อายุ ๔๕ ปี แล้วค่ะไม่ทราบว่าจะเป็นป้า น้า หรืออา ในการศึกษาธรรม พี่ต่างไปจากเพื่อนๆ หรือคนที่รู้จัก แต่ก็ยืนหยัดในสายธารธรรมของตัวเอง หนังสือของท่านตรุงปะ รินโปเช ตอบคำถามในสิ่งที่พี่สงสัย อ่านไปนับครั้งไม่ถ้วน แม้แต่ประวัติของท่านก็อ่านไปหลายรอบ เมื่อพี่ไปอินเดียพี่ก็ซื้อหนังสือที่ท่านเขียนหลายเล่มแต่ไม่ได้อ่านหรอกค่ะ พี่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษและส่วนใหญ่หนังสือของท่านก็ได้รับการแปลแล้ว


 


เรื่องของธรรมแต่ละสาย บางครั้งก็มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ออกจะมีการเกทับกันนิดๆ แหละค่ะว่าของตนนั้นเลิศ ...เพื่อนทั้งหมดของพี่ปฏิบัติธรรมสายเทียนเต้า เขาว่าเขาเป็นเต๋า และเขาคิดว่าเมื่อพี่ก้าวหน้ามากกว่านี้หรืออาจขึ้นกับเงื่อนเวลาพี่ก็จะไปฟังธรรมของเขา พี่ไม่ทราบหรอกค่ะว่าพี่จะก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร แล้วก็ไม่ทราบว่าอย่างไรจริงอย่างไรลวงเพียงเลือกสิ่งที่เข้ากับตัวเอง ...บางทีออกจะกร้าวแล้วบางความคิดก็ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเคยทราบในเถรวาทบ้านเรา  บางครั้งสับสนว่านี่เราจะตกนรกวัชระหรือเปล่า


 


พบกับคุณทั้งปลื้มและอุ่นใจว่าจะมีสังฆะกับเขาบ้างซะที อยู่อย่างโดดเดี่ยวมาแสนนานแล้ว


 


อยากทราบเรื่องท่านตรุงปะ รินโปเชเพิ่มค่ะ ข่าวว่าท่านดื่มจัดและมั่วโลกีย์ เรื่องจริงเป็นอย่างไรคะแล้วหากเป็นจริงคุณคิดว่าอย่างไรคะ นี่ไม่ใช่การสนใจเรื่องชาวบ้านแต่พี่สงสัยมากว่า คนเราต้องทำตัวดีงามเลิศเท่านั้นหรือที่จะบรรลุธรรม พี่ถือท่านเป็นคุรุในหัวใจพี่ไม่สนใจหรอกค่ะว่าท่านจะประพฤติเช่นไร


 


พี่อ้อม จรีรัศมิ์ วรมิตร


 


 


พี่อ้อมครับ


 


ขอบคุณสำหรับอีเมล์นะครับ ขอให้อย่าได้ลังเลที่จะเขียนมาติชม ให้ข้อเสนอแนะหรือหากมีคำถามเกี่ยวกับการภาวนาก็ส่งมาได้เลยนะครับ


 


ผมดีใจที่พี่อ้อมสนใจงานของท่านตรุงปะ  และผมก็ชื่นชมความเชื่อมั่นในประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองที่พี่เล่ามา  เห็นด้วยกับพี่ที่ว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปรับสิ่งที่คนอื่นบอก ว่าดีไปเสียทุกอย่าง ผมเชื่อว่าเราต้องรู้จักตั้งคำถามและไม่เชื่ออะไรอย่างง่ายๆ  แสวงหาประสบการณ์ที่เป็นของเราเองจริงๆ ในทุกย่างก้าว  เพราะนั่นจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเส้นทางสายนี้อย่างแท้จริง ขอให้พี่มั่นใจได้เลยว่านรกวัชระนั้นไม่ต้อนรับคนอย่างพี่แน่นอนครับ


 


"อยากทราบเรื่องท่านตรุงปะ รินโปเชเพิ่มค่ะ ข่าวว่าท่านดื่มจัดและมั่วโลกีย์ เรื่องจริงเป็นอย่างไรคะแล้วหากเป็นจริงคุณคิดว่าอย่างไรคะ"


 


ชอบความคิดเห็นแนบท้ายของพี่ที่ว่า


 


"นี่ไม่ใช่การสนใจเรื่องชาวบ้านแต่พี่สงสัยมากว่า คนเราต้องทำตัวดีงามเลิศเท่านั้นหรือที่จะบรรลุธรรม พี่ถือท่านเป็นคุรุในหัวใจพี่ไม่สนใจหรอกค่ะว่าท่านจะประพฤติเช่นไร"


 


ผมขอตอบสั้นๆ ละกันนะครับ เพราะพี่อ้อมดูจะมีความชัดเจนอยู่แล้ว จริงๆ ผมแทบจะไม่ต้องตอบอะไรเลยด้วยซ้ำ


 


อาจารย์ในขั้นของวัชรยาน โดยเฉพาะสายของท่านตรุงปะนั้น เป็นอาจารย์ที่เราไม่ควรเลียนแบบใดๆ ทั้งสิ้นครับ ท่านทำหน้าที่เหมือนนิ้วที่ชี้ไปที่ดวงจันทร์ ให้เราได้มองเห็นทางที่เราต้องเดิน แล้วจึงมุ่งมั่นฝึกฝนตนเอง ไม่ใช่เอาแต่พะเน้าพะนอ เกาะก่าย สอพลออาจารย์ไปวันๆ


 


วัชรยานจะเน้นเรื่อง "Lonely Journey" (การเดินทางที่โดดเดี่ยว) คือ เส้นทางสายนี้ ตัวใครตัวมันครับ บางครั้งพฤติกรรมของวัชราจารย์ อาจดูไม่น่าเลื่อมใส (หากตัดสินจากภายนอก)  ซึ่งผมว่ามันก็เป็นข้อดีที่ทำให้นักเรียนทุกคนของเขาต้องถามตัวเองให้ดีๆ ว่าจริงๆ แล้วเรามาแสวงหาอะไรกันแน่  คำถามนี้จะนำมาซึ่งแรงดลใจในการค้นหาศักยภาพในตนเอง อย่างที่ไม่ควรไปยึดติดในตัวอาจารย์ หลักการ หรือรูปแบบใดๆ


 


แต่เท่าที่ผมฟังเร้จจี้ เรย์ อาจารย์ของผมเล่าเรื่องท่านตรุงปะให้ฟัง หากใครมีโอกาสได้พบกับท่านตัวต่อตัว ก็จะสัมผัสได้ถึงพลังการตื่นรู้ภายในที่รุนแรงมากครับ ประสบการณ์ที่มีพลังเช่นนั้น มีความหมายยิ่งกว่าเปลือกพฤติกรรมภายนอกมากนัก


 


เวลาสอน ท่านจะกินเหล้าหนักมาก แต่ท่านไม่เคยเมาแล้วขาดสตินะครับ เหล้ากลับทำให้ท่านยิ่งมีพลังในการสอนมากขึ้น (ดูได้ในวีดีโอที่ผมแปะไว้สองสามชิ้นนะครับ) ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับผู้หญิงนั้น จริงที่ว่าท่านมีอะไรกับนักเรียนผู้หญิงของท่าน แต่เท่าที่เคยได้ยินมา แต่ละคนที่เคยมีประสบการณ์นั้น ต่างก็พูดตรงกันว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครสามารถจะเข้าใจได้ นอกจากคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นๆเอง ผมว่ามันก็เหมือนความรักระหว่างคนสองคนน่ะครับ คงไม่เหมือนละครน้ำเน่าที่เราจะไปตัดสินว่าใครถูกใครผิดได้หรอกนะครับ แต่ขอให้แน่ใจได้ว่าท่านตรุงปะไม่ใช่อาจารย์ประเภทที่แอบวิ่งไล่ปล้ำผู้หญิงกลางดึกอย่างแน่นอน


 


ในสายของวัชรยานนั้น เราไม่สามารถตัดสินอะไรจากสิ่งที่เราเคยเชื่อมา หรือตามมาตรวัดทางสังคมได้เลย เราต้องเรียนรู้ที่จะละวางเสียงภายนอกทั้งหลาย แม้แต่เสียงบอกในเรื่องของหลักศีลธรรมและจริยธรรมทางสังคมก็ตามที เป็นต้นว่า คนกินเหล้าเป็นคนไม่ดี เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องต่ำทางจิตวิญญาณ เป็นต้น  การตัดสินคุณค่าของคนแบบครอบจักรวาลเช่นนั้นดูจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อจิตใจคนแต่อย่างใด ทุกอย่างดูจะขึ้นอยู่กับตัวเรา เป็นประสบการณ์ตรงที่เราสัมผัสได้ด้วยใจที่ไม่มีใครสามารถจะมาตัดสินได้


 


ตัวอย่างเช่นนี้มีให้เห็นมาตลอด โดยเฉพาะที่เห็นได้ในการเดินทางตามหาคุรุของนาโรปะ นาโรปะพกหลักศีล หลักธรรมมาเต็มหัว เจอวัชราจารย์แบบทิโลปะที่ไม่ใช่พระ ดูภายนอกก็เหมือนเป็นคนบ้าไม่มีศีลธรรม แต่กลับเป็นผู้ที่สอนให้พระนักปราชญ์มหาบัณฑิตอย่างนาโรปะ ได้ลอกคราบตัวตนทางจิตวิญญาณ (spiritual identity) เรียนรู้ที่จะปล่อยวางหลักการทั้งหลาย แล้วไว้ใจกับประสบการณ์ชีวิตที่คลี่บานในทุกขณะ อย่างที่ไม่เอาแต่ตัดสิน ดีชั่ว ถูกผิด


 


ขั้นคำสอนของวัชรยานนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างอันตรายครับ เพราะหัวใจคือ การก้าวข้ามทวินิยม หรือหลักการทั้งหลายทั้งปวง สู่การเผชิญหน้ากับทุกประสบการณ์อย่างเปล่าเปลือย ผู้ฝึกจึงต้องมีพื้นฐานในคำสอนปฐมยาน (ความสัมพันธ์ต่อตนเอง) และมหายาน (การสัมพันธ์ต่อผู้อื่น) อย่างลึกซึ้งมาก่อน  เป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ไม่งั้นก็อาจหลงผิดถึงกับนำคำสอนมาใช้ในทางมิจฉาทิฐิ จนกลายเป็นการทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่น ชีวิตดิ่งจมเหวไปกันใหญ่


 


รู้สึกว่าคำตอบจะไม่สั้นอย่างที่คิดไว้ตอนแรก แต่ก็หวังว่าคงจะให้ความกระจ่างแก่พี่อ้อมบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ


 


ในสายธารธรรม


วิจักขณ์


โบลเดอร์ โคโลราโค

๑๐ มกราคม ๒๕๕๐