Skip to main content

สังคมต้องช่วยกันอนุรักษ์ บทเรียนจาก กรณีการมรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ นี้ ได้มีการเสวนาเรื่อง " แนวทางแก้ไขปัญหาการคุกคามพระสงฆ์ อนุรักษ์ป่า และการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ " จากกรณีมรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ ณ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้แสดงปาฐกถานำ และเวทีเสวนา ซึ่งมีพระสงฆ์ นักวิชาการ นักพัฒนา หน่วยงานอนุรักษ์ และสมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมเสวนา มีสาระที่น่าสนใจ ซึ่งดิฉันขอนำเสนอดังนี้

เวทีเสวนาประกอบด้วย พระมหา ดร . บุญช่วย สิรินธโร สถาบันโพธิยาลัย พระอธิการเอนก จนทปัญโญ วัดสันทรายคลองน้อย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สว . อาคม ตุลาดิลก วุฒิสมาชิกจังหวัดเชียงใหม่ คุณชมชวน ภู่ระหงษ์ สถาบันเกษตรยั่งยืน คุณสุชาติ คุณะรักษา กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านห้วยงูใน ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คุณนิคม พุทธา ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ฯ ภาคเหนือ ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ ๑๖ และดิฉัน โดยคุณสวิง ตันอุด วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ( วจส .) เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา


ได้พูดถึงสาเหตุของปัญหา คือการพัฒนาที่เน้นบริโภคนิยม ทุนนิยม ซึ่งเป็นการกระตุ้นกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ การผลิตทางการเกษตร เน้นพืชเชิงเดี่ยว เพื่อการขายในประเทศและส่งออก ๓ อำเภอในลุ่มน้ำฝาง ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองส้ม ทำให้มีการรุกที่ป่า เผาป่า เพื่อเป็นสวนส้ม ซึ่งในขณะนี้มีพื้นที่ถึง ๓๐๐ , ๐๐๐ ไร่ แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แต่บางส่วนก็รุกเข้ามาในป่าอนุรักษ์






การแย่งชิงที่ดิน แย่งชิงน้ำ เพื่อทำเป็นสวนส้มเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ การใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น ก่อปัญหามลพิษทางดิน น้ำ อากาศ ก่อปัญหาสุขภาพของของประชาชน ทำให้อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ มีปัญหาขัดแย้ง มีการชุมนุมประท้วง เรียกร้องความเป็นธรรมตลอดมา รวมทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาชนกลุ่มน้อย ตามแนวชายแดน จนมีคำกล่าวว่า เมืองฝางเป็นเมืองเถื่อน


นายทุนสวนส้มรายใหญ่ ได้สิทธิในการครอบครองที่ดินจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่การออกเอกสารสิทธิ์ สปก . มีเป้าหมายเพื่อให้คนยากจนมีที่ทำกิน แต่กลับมีขบวนการฟอกที่ดิน ให้เป็นของนายทุนได้






กรณีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ ซึ่งได้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมผ่านสื่อ หนังสือ และเว็บไซต์ อันทรงคุณค่า ท่านเป็นกำลังหลักของกลุ่มเสขิยธรรม มาตลอดเวลานับ ๑๐ ปี ศีลาจารวัตรของท่านบริสุทธิ์ งดงาม เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม การฆาตกรรมท่านอย่างโหดร้าย ทารุณ แม้สุนัขที่ติดตามท่านไปก็ยังถูกฟัน แสดงถึงจิตใจที่เหี้ยมเกรียมผิดมนุษย์ ทั้งของผู้บงการและผู้ลงมือ ทำให้ชาวพุทธและผู้รักความเป็นธรรม สะเทือนใจ จนต้องออกมาเคลื่อนไหว ต่อสู้ โดยสื่อมวลชนช่วยตามข่าวอย่างต่อเนื่อง


จุดอ่อนของสำนักสงฆ์เมตตาธรรมคือ ไม่ได้ทำงานกับชุมชนใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด จึงไม่มีชุมชนเป็นเกราะกำบัง เปิดช่องให้ทุจริตชนแฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ลวงให้ท่านออกจากกุฏิ โดยไม่ได้เตรียมตัว ทั้ง ๆ ที่ท่านมีปัญหาปวดหัวเข่า ปกติจะเดินขึ้นเขาลงห้วยไกล ๆ ๓๐๐ – ๔๐๐ เมตรไม่ได้ พระสงฆ์ทั้ง ๓ องค์ ที่สวนเมตตาธรรมรู้ตัวว่า กลุ่มอิทธิพลต้องการแย่งชิงพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ที่ท่านดูแลรักษาอยู่ แต่ก็ปกป้องตัวเองจากอันตรายไม่ได้


วงเสวนาเสนอทางออกต่อกรณีสังหารพระสุพจน์ว่า สังคมต้องพิจารณาปัญหา สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวมเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตพอสมควร


แนวทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ คือ


 ๑ . ต้องให้การศึกษาประชาชนให้รู้เท่าทันการพัฒนา ปรับฐานคิดจากเรื่องทุนและเศรษฐกิจเป็นใหญ่ ให้เข้าใจความสมดุลของชีวิต และธรรมชาติ ให้เด็กรักธรรมชาติและเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว คนทำลายธรรมชาติเพราะความไม่รู้ ดังที่ชาวลาวเคยตั้งคำถามว่า " เมืองไทยมีดอกเตอร์เต็มเมือง แต่ทำไมจึงตัดต้นไม้จนเกือบหมดป่า ไม่เห็นรักษาป่าไว้ได้เหมือนลาว "


๒ . ทุกคนต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง ตื่นตัว รู้เท่าทันการพัฒนา ร่วมกันอนุรักษ์ นักอนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ ให้ดำรงอยู่ได้ โดยแกนนำมีกำลังใจและมีแรงหนุนช่วยจากชุมชนและสังคมอย่างเข้มแข็ง ทุกคนต้องรวมใจกันสู้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล


๓ . หน่วยงานระดับจังหวัด ผู้ว่า CEO ของเชียงใหม่ นายอำเภอฝาง ป่าไม้ ที่ดิน ตำรวจ และองค์กรท้องถิ่น ต้องแสดงบทบาทในการติดตามคดีอย่างจริงจัง ด้วยความสุจริต เป็นกลาง ใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่กับหลักนิติศาสตร์ โดยไม่หวั่นไหวต่อกลุ่มอิทธิพล และกลุ่มทุน


๔ . กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า การตัดไม้ ซึ่งเกินกำลังที่ป่าจะพ้นสภาพให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้ ต้องจัดขอบเขตพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์เป็นเขตต้นน้ำลำธาร กับพื้นที่เกษตรให้ชัดเจน


๕ . กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรควบคุมพื้นที่ปลูกส้มไม่ให้ขยายตัวมากเกินควร รวมทั้งพืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ ที่ทำลายความสมบูรณ์ของ ดิน น้ำ ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชอายุสั้นที่ต้องใช้พื้นที่ปริมาณมาก ก่อปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินบนพื้นที่ลาดชันอันเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ได้แก่ ข้าวโพด ขิง กะหล่ำปลี มะเขือเทศ เป็นต้น โดยจัดโซนนิ่งพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิดให้ชัดเจน


 ๖ . กรมที่ดิน ต้องตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง " การฟอกที่ดิน " ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอิทธิพลและนายทุนอันก่อให้เกิดปัญหาทั่วประเทศ เช่น ฝาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ อุบลราชธานี เป็นต้น  


๗ . กรมทรัพยากรน้ำ ต้องแก้ปัญหาการแย่งชิงน้ำระหว่างสวนส้มขนาดใหญ่กับเกษตรกร รายย่อย และชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้


 ๘ . กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตร อันมีผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรในการควบคุมการใช้สารเคมีอันตราย ให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภคอย่างทั่วถึง ( ควบคุมโฆษณาการใช้สารเคมีเกินจริง ผู้เขียนเติมเอง )


 ๙ . สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องสร้างมาตรการและความร่วมมือ คุ้มครองพระสงฆ์ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม สนองงานการเผยแผ่ธรรมะของคณะสงฆ์ให้ก้าวหน้า โดยผู้บริหารต้องเข้าใจพระศาสนาอย่างแท้จริง มีวิธีการและท่าทีที่ปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยดี ด้วยจิตที่มุ่งมั่นจะบริการและบริหารเพื่อความก้าวหน้าของพระพุทธศาสนา


 ๑๐ . ผู้บริโภคต้องรวมพลังเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จิตสำนึกและพลังผู้บริโภคเป็นมาตรการสำคัญที่สุด ถ้าผู้บริโภคตั้งคำถามต่อกระบวนการผลิตส้ม ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพของผู้บริโภคและคนงานพ่นยาในสวนส้ม


สิ่งที่ผู้ปลูกส้มกลัวที่สุด คือ พลังผู้บริโภค ต้องรวมตัวกันไม่ซื้อ ไม่กินส้ม ที่ผลิตจากสวนส้มขนาดใหญ่ที่เอาเปรียบชาวบ้าน โดยรณรงค์ให้จำขึ้นใจว่า " ถ้าอยากอายุสั้นให้กินส้มเขียวหวาน ถ้าอยากอายุนานให้กินกล้วยใต้ ( กล้วยน้ำว้า )"


ถ้าคนส่วนใหญ่เปลี่ยนได้จริง ราคาส้มจะตก นายทุนต้องเลิกปลูก หรือหันมาปลูกส้มอินทรีย์ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ด้วยพลังจากจิตสำนึกที่ดีงามของผู้บริโภค จะเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของผู้ผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้แน่นอน


 ๑๑ . ขอให้สมาชิกรัฐสภาผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนให้ประกาศใช้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน


๑๒ . ขอให้พระสงฆ์นักพัฒนาเร่งพัฒนาตนเอง ให้เท่าทันกระแสของยุคสมัย พัฒนาเทคโนโลยีในการเผยแผ่ธรรมะให้เหมาะกับความสนใจของคนในวัยต่างๆ ขอให้ทั้งพระและฆราวาสเจริญมรณานุสติ เจริญไตรลักษณ์ ให้แตกฉาน พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้พื้นที่ที่พระสุพจน์ถูกทำร้าย เปลี่ยนจากโมหภูมิ เป็นพุทธภูมิ เป็นพื้นที่แห่งปัญญา เพื่อรักษาผืนป่าและความรักความกตัญญูต่อธรรมชาติได้มากกว่าเมื่อครั้งที่พระสุพจน์ยังมีชีวิตอยู่


" กรณีของพระสุพจน์ควรนำไปสู่การเจริญมรณานุสติเป็นลาภอันประเสริฐ ในท่ามกลางความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต ขอให้เข้าถึงหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สร้างปัญญาให้เกิดขึ้น และแผ่เมตตาแก่ผู้มืดบอดทางปัญญา " คือ ข้อคิดของ ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ แก่ชาวไทยทุกคน