Skip to main content

อากาศเปลี่ยนคนไม่เปลี่ยน ตอนที่ 2

คอลัมน์/ชุมชน

ตั้งใจเขียนชื่อเรื่องนี้ให้เป็นตอนที่ 2 ต่อจากบทความในประชาไท เรื่อง "อากาศเปลี่ยนคนไม่เปลี่ยน" ของคุณภาสกร อินทุมาร ซะงั้น แต่ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ตอนต่อจากเรื่องที่คุณภาสกรเขียนหรอก  เพียงแค่เผอิญว่าไปเห็นข่าวชิ้นหนึ่งเข้าหลังจากอ่านเรื่องของคุณภาสกรแล้ว ทำให้ได้สองแรงบันดาลใจบวกกันที่จะใช้ชื่อนี้ และไม่ได้มองต่างมุมกับคุณภาสกรแต่มองอีกมุมหนึ่งจากประเด็นอีกประเด็นหนึ่ง  กระนั้น หากผู้อ่านจะบทความชิ้นนี้จะไปอ่านบทความของคุณภาสกรเสียก่อนก็จะดีไม่น้อย


 


"ใช่หรือไม่ที่ผู้ชายในโลกปัจจุบันนี้กำลังวิ่งวนกับการหาตำแหน่งแห่งที่ของตน ในขณะที่ผู้หญิงได้นิยามตัวตนอย่างชัดเจนไปแล้วเรียบร้อย และการที่ผู้ชายจะนิยามตัวตนได้นั้น ก็ต้องอาศัยความชัดเจนของผู้หญิงเป็นหลักหมายในการอ้างอิง"


 


นี่เป็นคำถามที่คุณภาสกรตั้งข้อสังเกตหลังจากได้ทำการวิพากษ์ภาพยนตร์เรื่อง season change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ผู้เขียนเองก็ออกจะเห็นด้วยว่าผู้หญิงยุคใหม่นั้นค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่ผู้ชายนั้นอ้ำอึ้งมาแต่ไหนแต่ไรก็อ้ำอึ้งอยู่ และคล้ายกับคุณภาสกรจะบอกว่าผู้หญิงเขาเปลี่ยนไปแล้วแต่ผู้ชายนั้นยังไม่เปลี่ยน  แต่หลังจากได้เห็นข่าวชิ้นนี้แล้วจึงได้มีความเห็นเพิ่ม


 


"ลือแซด "หญิงอ้อ" เสริมดวง - โผล่โคราชร่วมงานวันชัยชนะ "พระนเรศวร"  เป็นพาดหัวข่าวในผู้จัดการ ออนไลน์ประจำวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมานี้  ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9500000006942


 


โดยไม่ต้องไปมองในประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้องที่ว่า คุณหญิงอ้อ หรือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกยึดอำนาจไปแล้วนั้น (และตอนนี้กำลังตระเวนเดินสายหาที่ลงให้กับตัวเองอยู่) สมควรหรือไม่ที่จะยังคงมาปรากฏตัวในที่สาธารณะซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เป็นทางการขนาดนี้  โดยที่ตามข่าวนั้นบอกว่า คุณหญิงอ้อนั้นจะมาเป็นประธานในพิธีด้วยซ้ำ แต่หากเก็บเอาเรื่องนี้ไว้ก่อน มามองเรื่องนี้เพียงวัตถุประสงค์เพื่อการเสริมดวงเพียงเรื่องเดียวแล้วก็ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ และก็ทำให้ย้อนคิดกลับไปได้อีกหลายเรื่อง


 


หากจะยังจดจำกันได้ ในกรณีคุณหญิงหลุยส์ ภริยา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งที่ท่านบิ๊กจิ๋ว หวานเจี๊ยบของเราเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คุณหญิงหลุยส์ก็ทำการเสริมบารมีของท่านด้วยการกระเตงเอาช้างน้อยติดตัวไปด้วยเสมอเวลาไปไหนต่อไหน  คุณหญิงหลุยส์ไม่ได้แคร์ต่อเสียงหัวเราะหรือวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้ตนเองเป็นที่ตลกขบขันต่อผู้คน ด้วยหวังเพียงว่านี่จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเสริมอำนาจบารมีให้พี่จิ๋วของเธออยู่ในตำแหน่งนานๆ


 


หรือแม้กระทั่งคุณหญิงแจ่มใส ภริยาของคุณบรรหาร ซึ่งโดยปกติเป็นคนเงียบ ไม่ชอบปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนมากนัก  คุณบรรหารภาพลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่ค่อยถูกใจท่านผู้ชมนัก แต่คุณหญิงฯ ซึ่งก็ไม่ค่อยต้องการปรากฏตัวออกสื่อมากนัก ก็จำเป็นต้องออกมา หากจะจำได้ ก็มีความพยายามออกงานที่ดูจะเป็นการกุศลเสียส่วนใหญ่ และทำผัดไทยโชว์ไปไม่รู้กี่กระทะ รวมทั้งได้ใช้ภาพความอ่อนโยน  อ่อนน้อมถ่อมตน ในการปรากฏตัวกับสื่อ ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของคุณบรรหารนั้นก็พลอยดีไปด้วย


 


เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ที่สุดแล้วผู้หญิงไม่ว่าจะสามารถพัฒนาตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ที่สูงส่งสักเพียงไหนก็ตามพอถึงเรื่องของบทบาทหน้าที่ของการสนับสนุน การเป็นช้างเท้าหลัง หรือบางคนทำพูดให้เก๋ๆ ว่าเป็นควาญช้างให้กับสามีแล้วนั้น บทนี้ผู้หญิงก็ยังรับอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่เป็นภริยาผู้นำ ที่จำเป็นจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้สามีนั้นดูดีและทรงไว้ซึ่งอำนาจบารมีทางการเมืองให้นานที่สุด แม้การกระทำในบางเรื่องจะดูตลก งมงาย และไร้สาระในสายตาคนอื่นก็ตาม


 


กรณีของคุณหญิงอ้อนั้นดูจะชัดเจนกว่าคนอื่นในกรณีที่เป็นคนที่เรียกว่า เป็นผู้หญิงเก่งที่เป็นนักบริหารระดับสูง ซึ่งน่าจะจัดเป็นผู้หญิงประเภทหัวก้าวหน้าด้วยซ้ำ  หรือหลายคนก็มองว่าเธอนี่แหละเป็นควาญช้างตัวจริง แต่สุดท้ายแล้ว เพื่ออำนาจและบารมีของสามีแล้ว เธอก็ยังคงต้องตระเวนทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสามีและครอบครัว แม้ในบางครั้งต้องหลบๆ ซ่อนๆ ก็ตาม


 


ดังนั้น ขอกล่าวโดยสรุปว่าในเรื่องของ  บทบาทสนับสนุนนั้น ไม่ว่าจะกี่ฤดู หรืออากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อยแค่ไหน ผู้หญิงก็จะยังคงเล่นบทนี้อยู่อย่างไม่เคยเปลี่ยนเลย


 


-----------------------------


 


หมายเหตุ  : บอกต่อไปยังคุณภาสกรด้วยว่า ใช่แต่ผู้ชายที่ไม่เปลี่ยน แต่ในที่สุดแล้วผู้หญิงที่มีฐานะเป็นภรรยานั้นบทบาทเดิมๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนเช่นกัน