Skip to main content

ชีวิตพอเพียงเคียงแม่น้ำสาละวิน

คอลัมน์/ชุมชน

แม่หญิงปกาเกอญอหลายคน เก็บผักอยู่ในสวนผักริมแม่น้ำสาละวิน ท่ามกลางสายหมอกยามเช้า ฝั่งซ้ายคือรัฐไทย  ฝั่งขวาคือพม่า ที่ป่ายังอุดมสมบูรณ์ ในอดีตคนสองฝั่งคือพี่น้องร่วมอารยธรรมนานกว่า ๓,๕๐๐ ปี แต่ไม่นานมานี้ถูกแยกเป็น ๒ ชาติ


 


บ้านสบเมยคือหมู่บ้านชาวปกาเกอญอ ที่ตั้งอยู่ในจุดที่แม่น้ำเมยมาสบกับแม่น้ำสาละวิน ก่อนที่แม่น้ำสาละวินจะไหลเข้าสู่แดนพม่า


 



แม่น้ำเมยสบกับแม่น้ำสาละวินที่หน้าบ้านสบเมย


 


สองฝั่งแม่น้ำเมยกับแม่น้ำสาละวิน ยังมีป่าไม้ธรรมชาติอยู่มากมาย ได้รับละอองความชื้นจากแม่น้ำ พืชผักที่ปลูกริมตลิ่งจึงงอกงาม ทั้งใบ ดอก ผล ราก ต้น เป็นสวนผสมผสานที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ให้พอเพียง แม้จะไม่มีเงิน ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหาอะไร


 


วันที่ ๘ – ๙ มกราคม ๒๕๕๐ เป็นครั้งที่สองที่ดิฉันไปเยือนบ้านสบเมย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำคณะกรรมาธิการ คือ คุณสุรพงษ์  กองจันทึก และคุณยินดี ห้วยหงษ์ทอง และเจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการฯ ไปประชุมเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานตามยุทธศาตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล รวมทั้งผลการสำรวจสถานะและสิทธิของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และรับฟังปัญหาจากชาวบ้านสบเมย


 


ครั้งแรก เมื่อราวปลายปี ๒๕๔๘ ดิฉันไปในฐานะคณะกรรมาธิการสามัญการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ไปรับฟังผลการวิจัยปกาเกอญอ เรื่อง ภูมิปัญญาเกี่ยวกับลุ่มน้ำสาละวิน พันธุ์ปลา พันธุ์พืช และระบบนิเวศต่าง ๆ ในลุ่มน้ำ


 


เวลาห่างกันเพียงปีกว่า ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีถนนลำลองตัดเข้าไปสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านเล่าว่ามีการทำสัมปทานไม้ฝั่งพม่า นำเข้ามาไทย จึงต้องตัดถนนเพื่อขนส่งไม้ซุง


 


องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มมาร่วมจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่ ๕ กับศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน นำโดยคุณสันติพงษ์   มูลฟอง ทุกคนเดินทางด้วยเรือลำใหญ่จากท่าเรือบ้านแม่สามแลบ ซึ่งปกติเป็นเรือที่ใช้บรรทุกวัวควายจากฝั่งพม่า เข้ามาขายฝั่งไทย จุได้ครั้งละ ๔๐ – ๕๐ ตัว จึงจุคนได้ ๖๐ – ๗๐ คน


 



นั่งเรือบรรทุกควายจากแม่สาบแลบไปบ้านสบเมย


 


เรือใช้เวลาเดินทางทวนน้ำขึ้นมาที่บ้านสบเมยใช้เวลาราว ๑ ชั่วโมง มาถึงตอนใกล้ค่ำ พอขนของขึ้นฝั่งก็มืดพอดี ต้องใช้แสงไฟหน้ารถส่องให้มองเห็นทาง


 


เจ้าภาพจัดอาหารเย็นให้ที่สถานีอนามัยตำบล ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนอย่างแข็งขัน กินเสร็จแล้วเป็นพิธีเปิดการอบรมห้องเรียนคนไร้สัญชาติ ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านริมน้ำสาละวิน ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีเด็กไร้สัญชาติ และเจ้าหน้าที่ทำงานกับผู้ลี้ภัย มาเข้าอบรมเกือบ ๕๐ คน


 


เจ้าภาพจัดให้กระจายกันไปนอนตามบ้านชาวบ้าน ดิฉันและคณะผู้หญิงได้นอนที่บ้านน้องนุช  เป็นกระท่อมไม้ไผ่มุงตองตึง มีห้องโถงใหญ่ กับ ๒ ห้องนอน น้องนุชเจ้าของบ้านเอามุ้งหลังใหญ่มาให้กางกันแมลง นับว่าเป็นบ้านที่สะอาด เรียบง่าย น่าอยู่ น่านอน


 


ตอนเช้าดิฉันขอให้น้องนุชพาไปเดินดูวิถีชีวิตชาวบ้าน เห็นหญิงแม่เรือนกำลังตำผักกาดดอยอัดใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ ปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ ๓ วัน แล้วเอามาตากแดดให้แห้งสนิท เก็บไว้กินยามหน้าแล้ง เอามาแช่น้ำ แกงกินอร่อยดี


 


หญิง ๒ คน สะพายก๋วยเดินมากำลังจะไปเก็บผักในสวน พวกเราจึงเดินตามไป เห็นสวนผักริมน้ำสาละวิน ท่ามกลางสายหมอกยามเช้า ผักหลายชนิดออกดอกสีสดใส เหมือนสวนดอกไม้ เช่น ผักกาดดอยดอกเล็กๆสีเหลืองเป็นช่อ ผักคะน้าดอยดอกสีขาวอมม่วง ดอกฟักทองกลีบใหญ่สีเหลืองจ้า ดอกกระเจี๊ยบแดง(ที่เอามาต้มน้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยวๆ) สีเหลืองอ่อน ดอกกระเจี๊ยบเขียว(มะเขือมื่น) สีนวลตา


 



 แม่เฒ่าเก็บผักในสวน


 



แม่หญิงแบกฟืนเต็มก๋วยกลับมาจากไร่


 


น้องนุชบอกว่าชาวบ้านสบเมยแทบไม่ต้องใช้เงิน มีข้าวที่ปลูกในนา ในไร่ กับผักสมุนไพรหลายสิบอย่าง ตำข้าวกินเอง หาฟืนจากไม้แห้งในไร่ หรือในป่า เสื้อผ้าก็ทอใส่เอง หญิงแม่เรือนนุ่งซิ่นกับเสื้อปักด้วยลูกเดือย หญิงโสดใส่เสื้อตัวยาวสีขาวบริสุทธิ์ ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยกับเสื้อที่ลูกสาวหรือภรรยาทอให้ ฤดูหนาวก็หาเสื้อหนาๆ มาใส่ และซื้อหมวกมาใส่ให้อุ่น


 



น้องนุชกับผักกาดหอมในสวน


 


บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงใบตองตึงที่เย็บเป็นตับ หรือมุงด้วยใบระกำป่า (คล้ายๆใบมะพร้าว) หรือหญ้าคา มีวัสดุจากธรรมชาติ ถึง ๓ อย่างให้เลือก แม้จะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ทุก ๑ – ๒ ปี แต่ก็ใช้แรงตัวเองที่ไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องซื้อหา เป็นชีวิตพอเพียงที่หาได้ยาก


 



กระท่อมของชาวบ้านทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยตองตึง


 


เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามา ผ่านถนนหนทางและ "การพัฒนา" วิถีบริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ขนมกรุบกรอบ อาหารกระป๋อง น้ำหวานใส่สี ใส่ขวดพลาสติก น้ำอัดลม นำเข้ามาขายในหมู่บ้าน ขยะจากบรรจุภัณฑ์ทิ้งกระจายตามทางเดินในบ้าน ริมสวนผัก หากไม่เร่งจัดการขยะให้ถูกวิธี ขยะจะเป็นปัญหาต่อไป


 


การสัมปทานไม้จากฝั่งพม่า และการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน จะนำความเปลี่ยนแปลงมาอีก ทั้งต่อวิถีชีวิตและความอุดมของป่าที่ลดลง รัฐควรทบทวนให้อยู่ในความพอดีและสมดุล


 


ปัญหาสถานะและสิทธิทางกฎหมายที่ยังเหลืออยู่ สำหรับกลุ่มผู้ที่ยังตกหล่นทางทะเบียน และยังไม่กำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล หวังว่านายอำเภอสบเมยและผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะได้เร่งดำเนินการ


 



 ข้อตกลงในหมู่บ้าน


 


ชีวิตพอเพียง เคียงแม่น้ำสาละวิน จะดำรงอยู่ได้อีกนานเพียงใด ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของคนในชุมชน และนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสม ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และข้อตกลงกับประเทศเมียนมาร์เพื่อนบ้านใกล้เคียง ขอให้ทุกฝ่ายใช้สติปัญญาและคุณธรรม ช่วยให้แม่น้ำสาละวินดำรงอยู่คู่กับชนทุกชาติพันธุ์อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และสงบสุขตลอดไป