Skip to main content

รถไฟสายความทรงจำ

คอลัมน์/ชุมชน

ในวัยเด็ก ผมมักจะมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดใกล้ๆ ด้วยบริการของการรถไฟอยู่เสมอ เนื่องจาก ผมอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่แม่ผมเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ ยาย ป้า น้า ก็อยู่ที่ศรีสะเกษกันเกือบหมด ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เดือนละครั้ง หรือสองเดือนครั้ง แม่จะพาผมและน้องชายนั่งรถไฟจากอุบลฯ ไปศรีสะเกษ เราต้องนั่งรถเมล์จากบ้านไปลงที่สถานีรถไฟ นั่งรถไฟประมาณหนึ่งชั่วโมงไปลงที่สถานีจังหวัดศรีสะเกษ ถ้าหากจะไปหายายที่อำเภอราษีไศล ก็ต้องนั่งรถประจำทางไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมง


 


ช่วงที่สนุกในการเดินทาง สำหรับเด็กอย่างผมในวัยนั้น คือการได้นั่งรถไฟ  ไม่ว่าจะเป็นเพราะนานๆ จะได้ขึ้นรถไฟสักที หรือจะเป็นด้วยการได้นั่งชมวิวทิวทัศน์จากริมหน้าต่าง หรือเพราะได้ซื้อและทานอาหารบนรถ หรือเพราะได้ตั๋วรถไฟเป็นบัตรแข็งๆ มีหลายสี แล้วนายตรวจผู้มาพร้อมเสียงกรรไกรหนีบตั๋ว "แกร๊บๆๆๆๆ" ก็เดินเข้ามาจัดการตัดตั๋วของทุกคนให้เป็นรู ฯลฯ ก็ล้วนแต่ทำให้รู้สึกสนุกทุกครั้งไป


 


นอกจากได้เดินทางด้วยรถไฟไปใกล้ๆ คือจังหวัดศรีสะเกษอยู่เสมอๆ แล้ว ผมก็ยังได้เดินทางด้วยรถไฟไป "ไกลๆ" ปีละครั้ง คือ ในช่วงสงกรานต์ พ่อกับแม่จะพาผมและน้องชาย ไปหาปู่กับย่าที่จังหวัดสิงห์บุรี เราขึ้นรถไฟอุบลฯ-กรุงเทพฯ ตอนเย็นแล้วไปลงที่สถานีสระบุรีก่อนเช้ามืดก่อนจะไปขึ้นรถผ่านลพบุรี และสิงห์บุรี ตามลำดับ


 


ขาไปนี่ไม่เท่าไรครับ คนเยอะ แต่ก็ยังมีที่นั่ง คงเป็นเพราะเราขึ้นต้นทางด้วย แต่ขากลับนี่จำได้แม่นเลยว่า คนแน่นทุกครั้ง บางทีก็ไม่มีที่นั่ง ต้องนั่งพื้น นั่งหน้าห้องน้ำบ้าง แต่นานๆ ทีก็ไม่ได้คิดว่าลำบากอะไร ตอนเด็กๆ นั้นคิดว่ามันสนุกดีด้วยซ้ำ บางทีได้เพื่อนวัยเดียวกันบนรถไฟ นั่งเล่นกันเพลินไปก็มี


 


ในยุคที่ยังไม่มีโลว์คอสแอร์ไลน์ และโทรศัพท์ติดบ้านเป็นเรื่องของคนมีตังค์และมีเส้น การเดินทางด้วยรถไฟ น่าจะเปรียบได้กับ "การผจญภัย" อย่างหนึ่งเลยทีเดียว


 


เมื่อเติบโตขึ้น ต้องเดินทางไปเรียนและไปทำงานไกลบ้าน รถไฟก็ยังเป็นการเดินทางที่ผมเลือกใช้เป็นประจำ ด้วยราคาที่ถูกกว่าการเดินทางประเภทอื่นๆ แม้จะลำบากหน่อย แต่สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางแต่ทุนทรัพย์น้อยแล้ว มันช่วยได้มากทีเดียว


 


มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมต้องนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ กลับอุบลฯ ทุกสัปดาห์ เพื่อมาดูแลแม่ ผมทำงานปิดเล่มหนังสือเช้ามืดวันพฤหัสบดี ก็นั่งรถสปรินเตอร์ไปถึงตอนบ่าย พอเย็นวันอาทิตย์ก็นั่งรถไฟกลับมาทำงานเช้าวันจันทร์  โดยระหว่างที่ผมไม่อยู่ ก็มีญาติพี่น้องแวะเวียนไปช่วยกันดูแล เป็นเช่นนี้อยู่นานหลายเดือน จนญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขอให้ผมลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่ ทว่า แม่ผมบอกว่า ไม่ต้องลาออกหรอก ให้ทำงานต่อไป เพราะท่านเห็นว่าผมได้ทำงานในสิ่งที่ผมรักแล้ว และผมยังต้องทำงานด้านนี้ต่อไปอีกนาน


 


ในตอนนั้น แม่ผมซึ่งเป็นครูภาษาไทยมาตลอดชีวิต สอนผมแค่ครั้งเดียวและประโยคเดียว แม่สอนผมว่า "อย่าเขียนให้เหมือนใคร"  ตั้งแต่ตอนนั้นจนกระทั่งถึงตอนนี้ ผมก็ยังรู้สึกว่านี่เป็นคำสอนที่ฟังง่ายแต่ทำยากเหลือเกิน


 


หลังจากแม่เสียชีวิต ผมเองก็ยังมีภาระที่ต้องไปจัดการเรื่องต่างๆ ที่ยังคงคั่งค้าง ผมยังต้องนั่งรถไฟกรุงเทพฯ –อุบลฯ อย่างน้อยเดือนละครั้ง บางเดือนก็สองครั้ง เป็นเวลานานกว่าปี กว่าเรื่องทุกอย่างจะเรียบร้อย จำได้ว่าช่วงนั้น ผมชินกับการนั่งรถไฟถึงขนาดที่นั่งหลับบนรถแล้วไปตื่นที่ปลายทางได้ โดยไม่มีอาการเพลียจากการหลับๆ ตื่นๆ เลย อาจจะมีก็แค่เมื่อยที่ต้องนั่งนานๆ เท่านั้น


 


เมื่อย้ายมาอยู่ทางเหนือ ผมก็มีเหตุให้ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ทุกเดือนด้วยเรื่องงาน ระยะแรกก็ยังใช้บริการรถไฟอย่างที่เคยใช้ แต่ดูเหมือนอะไรหลายอย่างมันจะไม่เอื้ออำนวยเหมือนเดิมเสียแล้ว ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะผมคิดไปเอง หรืออายุที่มากขึ้นทำให้มองเห็นอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยมอง ตอนแรกคงเป็นเพราะระยะเวลาในการเดินทางที่รู้กันอยู่ว่า เรื่องผิดเวลานี่เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถึงขนาดหลายสิบนาทีหรือเป็นชั่วโมงบ่อยๆ นี่ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ยิ่งระยะหลังมีการเลื่อนเวลารถไฟ ก็ยิ่งทำให้ความสะดวกลดน้อยลง จำได้ว่ามีอยู่หลายครั้ง ที่รถไฟที่ผมนั่งต้องจอดที่สถานีเป็นเวลานานเพราะเครื่องมีปัญหา หรือถ้าหากเมื่อไร ขึ้นรถเร็ว หรือรถด่วน ก็ต้องทำใจว่าต้องมีการจอดรอให้รถที่ "ตั๋วแพงกว่า" ผ่านไปก่อน ส่วนเรื่องบริการนั้นผมเห็นว่าไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าไรหรอกครับ เพราะเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คงเส้นคงวามานานนับทศวรรษ


 


รวมทั้ง สาเหตุสำคัญคือ ในระยะหลังๆ ราคาตั๋วรถไฟได้เพิ่มขึ้นจนเกือบเท่าราคารถทัวร์ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่อย่างใด คนที่คิดว่าเพิ่มเงินอีกหน่อย นั่งสบายกว่าก็คงมีไม่น้อย ส่วนเดี๋ยวนี้ใครบอกว่า นั่งรถไฟปลอดภัยกว่ารถทัวร์นั้น คงจะไม่ใช่ทั้งหมดเสียแล้วละครับ ช่วง 4-5 ปีมานี่ รถไฟประสบอุบัติเหตุบ่อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติ อย่างน้ำท่วมรางจนเดินรถไม่ได้, รถไฟตกราง หรือ ดินถล่มทับราง หรือ อุบัติเหตุแรงๆ อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้คือรถไฟชนกัน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ คนใช้รถไฟประจำอย่างผมต้องหันไปใช้รถทัวร์


 


อะไรหลายๆ อย่างมันทำให้ผมรู้สึกว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย" มันเหมือนกับคนแก่ๆ คนหนึ่งที่รับใช้คนไทยรับใช้ประเทศไทยมาเนิ่นนานร่วมศตวรรษ แม้จะมีอะไรหลายอย่างที่พัฒนาขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่โดย "กระดูกโครงสร้าง" ของตัวมันเองนั้น ได้เสื่อมสภาพจนยากจะบำรุงรักษาเสียแล้ว นอกเสียจาก ถอดรื้อผ่าตัดกันขนานใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่ว่าผู้บริหารบ้านเมืองเขาจะไม่รู้กันนะครับ เขารู้ และน่าจะรู้ดีเสียด้วย เพียงแต่ว่า การรถไฟนั้น ไม่ได้ทำกำไรมากมายแบบรัฐวิสาหกิจอื่น แถมยังเป็นหนี้ท่วมตัว ต้องชดใช้อีกปีละเป็นพันล้านบาท ทั้งๆ ที่การรถไฟนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีที่ดินเยอะที่สุด แปลกดีไหม?


 


ใครหลายคนอาจไม่รู้ว่า ที่ดินของสวน "จตุจักร" ตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดและโด่งดังไปทั่วโลกของไทยนั้น เป็นที่ดินของการรถไฟ แต่ละปีทำเงินได้ไม่รู้กี่หมื่นล้าน แต่การรถไฟได้ค่าเช่าแค่ไม่กี่สิบล้าน เออ-แปลกดีไหม? ขณะที่ตอนนี้เรามีทั้งรถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน โอ่โถงทันสมัย แต่ใครหลายคนอาจไม่รู้ว่า ในหัวขบวนรถของรถไฟทุกขบวนนั้น "ไม่มีห้องน้ำ" นะครับ เพราะเรายังใช้หัวขบวนรถแบบเก่า ถ้าพนักงานขับรถอยากเข้าห้องน้ำ เขาจะทำยังไง? แถมการสื่อสารระหว่างสถานีกับพนักงานขับรถไฟนั้น ก็ยังต้องใช้วิทยุสื่อสารกันอยู่ จะให้หยุด ให้รอ สับราง เปลี่ยนราง ก็ใช้วิทยุเครื่องนี้ละครับ แล้วถ้าวิทยุเสียขึ้นมาล่ะ? ทำไงดี? รถไฟไม่ชนกันเหรอ? ฯลฯ ที่มีแต่คำถามแต่ไม่มีคำตอบ


 


ถ้าให้พูดเรื่องปัญหาของการรถไฟแห่งประเทศไทย คงจะได้เป็นวิทยานิพนธ์เล่มโตหลายเล่ม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ จะทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาพวกนี้ได้เสียที หรือพูดให้ "ง่าย" กว่านั้นหน่อย คือเมื่อไร ที่ผู้บริหารบ้านนี้เมืองนี้ถึงจะลงมาแก้ไขให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที ไม่ใช่มีปัญหาทีก็บอกต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วก็หาย เหมือนกันทุกรัฐบาลไป


 


เคยมีคนบอกว่า ถ้าการรถไฟทำกำไรปีละเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ป่านนี้คงโดนเข้าแถว "แปรรูป" ไปแล้ว และค่าตั๋วก็คงจะแพงยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเปอร์เซนต์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของคนไทยนะครับ ที่การเดินทางที่เคยได้ชื่อว่า "ประหยัดและปลอดภัยที่สุด" กำลังอยู่ในสภาพที่ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่า จะมีอนาคตที่ดีกว่านี้อยู่หรือเปล่า


 


ขณะที่ผมคิดจะเขียนเรื่องนี้ จู่ๆ ก็คิดถึงเพลง "รถไฟสายความทรงจำ" ของพิบูลศักดิ์ ละครพลขึ้นมา เนื้อเพลงมีอยู่ว่า


 


ขึ้นรถไฟสายความทรงจำ นำเราคืนสู่วันก่อนเก่า


ภาพความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์ เรายังบริสุทธิ์


ดูท้องฟ้ายังเป็นสีขาว ดูดวงดาวยังจำนรรจา


ดูดอกไม้ ดูสายธารา ทุกสิ่งสดใสงดงาม


พอวันเวลาผ่านไป ฉันได้เรียนรู้โลกกว้าง


ชีวิตกลับดูเคว้งคว้าง บางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนไป


เริ่มมีคำถามแปลกหน้า มองฟ้ามองดาวไม่ใส


ชีวิตหนอคืออะไร ดวงใจเอ๋ยช่างเดียวดาย


 


ในฐานะประชาชนที่เคยใช้บริการรถไฟเป็นประจำ ผมอยากเห็นการรถไฟดีกว่านี้ ให้ความมั่นใจ


กับผู้โดยสารได้มากกว่านี้ ถึงวันนั้น ผมคงจะกลับไปนั่งรถไฟอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง


 


ผมหวังแค่นี้ มากไปหรือเปล่า?