Skip to main content

Queer Theory โดย อ.ปีเตอร์ แจ็คสัน (3)

คอลัมน์/ชุมชน

หลังจากอาจารย์ปีเตอร์บรรยายให้ความเข้าใจเรื่อง Queer Theory แล้ว  ก็เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนและสอบถามเพิ่มเติม  ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่ช่วยให้ความเข้าใจเรื่อง Queer Theory ชัดเจนขึ้น  ขอนำเสนอประเด็นเหล่านี้เป็นตอนปิดท้ายนะคะ


 


? (3 คำถามแรกมาจากอาจารย์ชลิดาภรณ์  ที่ทางอัญจารีเรียนเชิญมาเพื่อช่วยเสนอประเด็น และชวนแลกเปลี่ยน)


 


1  เมื่อพูดถึงเรื่อง Deconstruction of Binary of Position หรือคิดเป็น Hierarchical เป็น Dualism ในสังคมไทยเรามีความเป็นไปได้แค่ไหน คนไทยมีความคิดเป็น Binary นี้ไหม แม้เราจะรับอิทธิพล Colonial Modernity ความคิดโลกทัศน์ฝรั่งมาเยอะ  แต่เราเลือกรับมา  บางเรื่องเราก็ไม่ได้รับในแง่รากของมัน เช่น  เรื่อง public กับ private ซึ่งเราก็พูดกันมามาก แต่ไม่ค่อยจะ make sense เท่าไรในสังคมไทย จริงๆ เราไม่มีแบบนั้นหรือเปล่า 


 


2  ประเด็นหลังที่พูดว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งสมมติ (Fictional) มันมีอันตรายบางอย่าง  คนที่อ่านหนังสืออย่างนี้มาก ๆ โดยเฉพาะ Judith Butler เอง ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ในรุ่นหลัง ๆ อย่าง 20 กว่า ๆ 30 ต้น ๆ เห็นว่าเมื่อ Identity มัน Fictional มันก็ไม่มีความหมายอะไร  แล้วมันนำไปสู่อันตรายหลาย ๆ อย่าง  แล้วบางคนที่มีปัญหาบางอย่างอยู่คนประเภทนี้ก็จะไปบอกเขาว่า  มันไม่สำคัญอะไรหรอก มันเป็น Performativity เป็นสิ่งสร้าง สิ่งสมมติ  มันทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอะไรบางอย่าง ถ้า Identity มัน Fictional แต่ว่าคนแต่ละคนต่อรองหรืออยู่กับมันไม่เหมือนกัน สำหรับคนจำนวนมาก  มันเป็นเรื่องใหญ่  เช่น ถ้าไปบอกผู้หญิงในสังคมอัฟกานิสถาน ว่าการเป็นผู้หญิงเป็น Fictional มันจะmake sense ไหม และแปลว่าผู้หญิงเหล่านั้นทำเช่นนั้นได้ไหม


 


3  จากการอ่านงานของ Butler และงานนักวิชาการไทยที่ใช้แนวคิดของ Butler งานของเธอนั้นอ่านยากมาก  แม้ตัวเองจะได้รับอิทธิพลของงาน Butler ในช่วงแรก ๆ  แต่งานยุคหลัง ๆ ยิ่งอ่านไม่รู้เรื่องมากขึ้น  เราจะใช้ภาษาอีกแบบหนึ่งได้ไหม  ที่ทำให้มันรู้เรื่องขึ้น  เพราะการใช้ภาษาเช่นนี้ มันเหมือนเป็นการสร้างสถานะของคนพูดและเขียนแบบหนึ่ง  ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาเดิม ๆ ที่นักคิด Queer Theory หลายคนเคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นมาก่อน  แต่ขณะนี้เราทำเหมือนกัน  คือพูดด้วยภาษาที่คนอื่นไม่รู้เรื่อง  แล้วถ้าคนรุ่นหลัง ๆ ที่ทำงานวิชาการมีความคิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันดีหรือไม่ดีกับ Queer Theory ทั้งในฐานะที่เป็นทฤษฎีและหลักการที่พวกเราจำนวนหนึ่งใช้ในการเคลื่อนไหว


 


อ. ปีเตอร์ ตอบ   เห็นด้วยกับเรื่อง Butler  และเห็นว่า Queer Theory ของอเมริกามีข้อบกพร่อง  คือแม้คนที่มีการศึกษาสูง  ขอบเขตของความคิดก็ยังจำกัดอยู่แต่อเมริกา อยู่ในกรอบและมองข้ามไปประเทศอื่นไม่ได้  บางครั้งอ่านงานของ Butlerก็รู้สึกอย่างนั้น  แม้ Butlerจะใช้ภาษาที่กว้างที่ไม่ได้เอ่ยถึงอเมริกา  แต่อ่านแล้วก็รู้ว่า นี่แหละคนอเมริกา  นี่เป็นสถานการณ์ของคนที่นั่น มันไม่เกี่ยวข้องกับที่อื่น 


 


Queer Theory บูมมากที่สุดใน อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ในช่วงทศวรรษที่ 90  แต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ที่นิวยอร์ค คิดว่า Queer Theory และหลังโครงสร้างนิยม ยังตามสถานการณ์ของโลกไม่ทัน  จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ของเกย์ เลสเบี้ยนในอิรัก อิหร่าน ยังไม่มีคำตอบเลย  บางทีทฤษฎียังไม่มีประโยชน์เท่าไรในการช่วยให้เราคิดอย่างสร้างสรรค์กับสถานการณ์แบบนี้


 


ส่วนเรื่องที่บอกว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งประกอบสร้าง  ซึ่งก็เห็นด้วย  และนี่เป็นการวิจารณ์ของคนที่อยู่ใน Gay/Lesbian Studies คลื่นแรก คือถ้าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ตายตัว  แล้วเราจะสร้าง Movement (ขบวนการ) ได้อย่างไร การจะสร้าง Movement ต้องมีคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ต้องมีความหมายถึงจะสร้าง Movement ได้


 


อีกสิ่งหนึ่งที่มีคนวิจารณ์ก็คือ Queer Theory มันดีในการวิเคราะห์วิจารณ์กระแสหลัก  แต่ไม่มีประโยชน์เท่าไรในการสร้างสรรค์หาวิธีที่เราจะก้าวไปข้างหน้า  ซึ่งคิดว่านักคิด Queer Theory ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน


 


สำหรับคำถามแรกที่เกี่ยวกับการรื้อสร้าง เกี่ยวกับ Binary ว่ามีประโยชน์ไหมกับการวิเคราะห์สถานการณ์ไทย  คิดว่าคำตอบยังไม่ชัดเจน  แต่มันขึ้นกับการทดลองของเรา  เราต้องลองดู  คิดว่าไม่มีคำตอบระดับอภิปรัชญา  แต่อยู่ที่การลงมือเอาไปใช้  และจะต้องเปิดใจกว้าง 


 


บางคนอาจมีความคิดชาตินิยมว่า  เรามีทฤษฎีของเราเอง  เราไม่ต้องใช้ทฤษฎีที่อื่น  แต่ถ้าทำเช่นนั้น  เราจะไม่มีทางเปรียบเทียบผลการวิจัยนั้นได้เลย  ถ้าเรานำงานไปเสนอในระดับวิชาการนานาชาติ  เราต้องมีวิธีพูดที่จะสื่อสารงานนั้นได้  เราต้องมีแนวคิดที่อยู่เหนือระดับประเทศ แม้เราจะอยู่ในยุคหลังอาณานิคม  แต่อำนาจทางวาทกรรมก็ยังอยู่ที่ตะวันตก  นี่ไม่ได้เป็นสถานการณ์ทางปรัชญาแต่เป็นสถานการณ์ทางการเมือง  ซึ่งเราอาจจะอยากปฎิเสธก็ได้  แต่ในอีกแง่หนึ่งต้องรู้ว่าความเป็นจริงของสถานการณ์คืออะไร


 


?  เคยเจอบริกรคนหนึ่งเป็นกะเทย  แต่แสดงเป็นทอม  และหึงผู้หญิงอีกคน  แล้วจะจัดให้คน ๆ นี้อยู่ในกลุ่มไหน เพราะเป็น Queer ที่ซ้อนความเป็น Queer อีกที


 


อ. ปีเตอร์ ตอบ  เป็นคำถามที่น่าสนใจ  เพราะถ้าเราพูดถึงประเภท  มันอยู่ในระดับวาทกรรม  ในภาษาไทยนั้นมีคำเรียก อย่างเกย์คิง ทอม ดี้ อยู่พอสมควรแล้ว  แต่คำถามหนึ่งก็คือแล้วคนจะนำไปใช้อย่างไร  และอีกคำถามคือ ความรู้สึกของคนเป็นแบบนั้นรึเปล่า  เพราะแม้จะมีวาทกรรม ความรู้สึกและอัตลักษณ์ของคนอาจจะไม่ตรงกับคำเรียกประเภทนั้นเลย  แม้คน ๆ นั้นจะอยู่ในวัฒนธรรมของวาทกรรมนั้น  บางคนชอบผู้หญิงแต่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทอม  ไม่ใช่ดี้ก็ได้


ภาษาเรียกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ


 


เรื่องนี้มีเช่นกันในต่างประเทศ  ซึ่งนักคิด Queer Theory บอกว่า ต้องระวังระดับการวิเคราะห์วาทกรรม  เพราะบางครั้งกรอบความคิดของวาทกรรม  อาจจะเข้าไปไม่ถึงความคิดความรู้สึกและพฤติกรรมของคน  และจะมีช่องว่างระหว่างวาทกรรมและความรู้สึก พฤติกรรมของคน


 


? ในเรื่อง BrokebackMountainจะใช้ทฤษฎี เกย์/เลสเบี้ยน หรือ Queer เพราะว่าตัวเอกของเรื่องมีพฤติกรรมร่วมเพศของชายกับชาย  แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเกย์


 


อ. ปีเตอร์ ตอบ   เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับทฤษฎี Queer เพราะเป็นตัวอย่างของชาย 2 คน ที่รักกันตลอด 20 ปี  แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ใช้คำว่า "เกย์" สักครั้งเลย  และก็เป็นผู้ชายที่แต่งงานแล้วด้วย  คิดว่าน่าจะใช้ทฤษฎี Queer มาวิเคราะห์ดีกว่า  เพราะ ทฤษฎีเกย์จะเน้นตรงที่อัตลักษณ์ของเกย์โดยเฉพาะ


 


ผู้หญิงที่เขียนเรื่องนี้  เธอไปที่รัฐไวโอมิ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  แล้วก็แวะไปที่ร้านเหล้าที่มีคาวบอยจีบผู้หญิงหรือเล่นสนุกเกอร์อยู่  แต่เธอสังเกตเห็นคาวบอยคนหนึ่งนั่งอยู่โดดเดี่ยว  ไม่ได้จีบผู้หญิง  แต่มองจ้องเฉพาะผู้ชาย  เขาแก่แล้วด้วย  แล้วท่าทางของเขาแสดงว่าผ่านชีวิตที่ลำบากมามาก  นักเขียนเลยคิดสงสารว่าคน ๆ นี้เขาชอบผู้ชายด้วยกัน  แต่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่สังคมไม่ยอมรับ  และไม่เข้าใจคำว่าเกย์เลย  ผู้ชายคนนี้ไม่มีทางที่จะแสดงออกได้เลย ผู้เขียนเลยจินตนาการเรื่องขึ้นมาว่าตั้งแต่ตอนหนุ่ม ๆ คน ๆ นี้มีชีวิตอย่างไรบ้าง


 


น่าสนใจเพราะอัตลักษณ์เกย์เป็นสิ่งที่เข้ามาเมื่อไม่กี่สิบปีทั่วโลก แต่ก่อนหน้านั้นต้องมีหญิงที่รักหญิงด้วยกัน  ต้องมีชายที่รักชายด้วยกัน แต่ไม่มีทางที่จะแสดงออก  ไม่มีวิถีชีวิต  ไม่มีที่นัดพบ ไม่มีอะไรในวัฒนธรรมที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกของเขาเลย  ไม่มีอะไรที่จะตอบสนองความรู้สึกของเขาเลย  เหมือนกับว่าความรู้สึกของเขาจะหลุดออกจากกรอบของวัฒนธรรม  ซึ่งคิดว่า Queer Theory พยายามจะเข้าให้ถึงสิ่งที่หลุดออกจากวาทกรรมของสังคม ของวัฒนธรรม  แม้ว่าจะเป็นความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่เรายังหาคำมาอธิบายไม่ได้เลย  แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ลึกมากในชีวิตของคน 


 


และ Queer Theory จะวิจารณ์ Gay Studies ว่า ชอบสร้างประเภทให้คน  และสร้างแล้วก็ต้องระบุให้คน ๆ นั้นอยู่ในกรอบนั้น แต่จริง ๆ แล้วก็มีคนที่หลุดออกจากกรอบต่าง ๆ ตลอดมา  แม้คนที่เป็นเกย์ บางครั้งก็หลุดออกไปเอง Queer Theory บอกว่า บางทีเราก็อาจจะหลุดออกจากกรอบไปบ้าง  และเราจะเข้าถึงสิ่งที่หลุดออกไปนั้นได้อย่างไร  ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะสิ่งที่หลุดออกจากกรอบวาทกรรม  อาจจะไม่มีคำเฉพาะ  ถ้าอย่างนั้นเราจะพูดถึงสิ่งนั้นได้อย่างไร เราต้องใช้วิธีอ้อม  Butler ใช้ภาษาที่ยากมาก เพราะButler พยายามจะพูดถึงสิ่งที่หลุดออกจากกรอบความคิด  หลุดออกจากวาทกรรมกระแสหลัก นี่แหละเป็นคำตอบของนัก Queer Theory ในเรื่องความยากของภาษา


 


?  ในการศึกษา Autobiography ที่เกี่ยวกับเกย์ ดูเหมือนว่าจะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นมาตรฐานคือ จะต้องมี Coming out of the closet (การเปิดเผยตัวเอง)  นักทฤษฎีคนหนึ่งบอกว่าจะมี 3 ขั้นตอน คือ suffering- surpassing-surving ถ้าย้อนกลับมาในสังคมเอเชีย โดยเฉพาะไทยเอง  เราปรับกรอบนี้มาใช้ในสังคมไทยได้มากแค่ไหน  ซึ่งในเมืองไทยขั้นตอนตรงนี้มันยังไม่ชัดเจนรึเปล่า


 


อ. ปีเตอร์ ตอบ  นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดีของความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ตะวันตกและเอเชีย  ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น  จีนและญี่ปุ่นก็คล้าย ๆ กัน ในทฤษฎี Gay/Lesbian Studies จะเอา Coming out เป็นขั้นตอนที่สำคัญ  ในการยืนยันอัตลักษณ์ Come out แปลว่าต้องใช้คำว่า เกย์ เรียกตนเอง  กับหมู่เพื่อน กับสังคมทั่วไป เป็นการใช้ภาษาในการยืนยันอัตลักษณ์


 


ถ้ากลับมามองสถานการณ์ในเมืองไทย  คิดว่าจะต่างกันมาก  หญิงรักหญิง ก็คงมีคำตอบที่ต่างจากชายรักชาย ที่นี่มีชายรักชายหลายคนที่เป็นแฟนกัน  หรืออยู่ด้วยกันแล้ว  แต่ไม่เคยเอ่ยถึงคำว่าเกย์เลย  มีผู้ชายที่ไปนอนกับผู้ชายอีกคนในบ้านของผู้ชายคนนั้นเป็นสิบปี  แต่ครอบครัวก็ไม่มีใครถามว่า คุณเป็นรึเปล่า  เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพูด วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ทำได้  พูดไม่ได้  ตรงข้ามกับตะวันตก  ที่พูดได้ แต่ทำไม่ได้ อย่าง Foucault พูดถึงเรื่องวาทกรรมว่า  เรื่อง Homosexuality มีวาทกรรมมานานมาก  พูดกันเป็นเรื่องใหญ่  แต่ห้ามทำ   แต่ในประเทศไทย  อย่างเมื่อเราพูดถึงสถานการณ์สมัยจอมพลป.  เขาไม่สนใจเกย์เลย  ไม่มีกฎหมายห้ามเป็นเกย์


 


คิดว่าที่นี่ Coming out จะไม่สำคัญเท่ากับประเทศตะวันตก  สมัยนี้อัตลักษณ์หญิงรักหญิง ชายรักชาย เข้ามาพอสมควรแล้ว มีข้อเสนอว่าสำหรับที่นี่เกย์ เลสเบี้ยน และกะเทยด้วย  ไม่ชอบที่จะรับราชการเท่าไร ถ้าเป็นไปได้เขาอยากมีอาชีพส่วนตัว  มีร้านเล็ก ๆ  อาจจะเปิดร้านเสริมสวย หรือขายก๋วยเตี๋ยวก็ได้  คนที่มีการศึกษาอาจจะเขียนหนังสือหรือเป็นนักข่าว  มีเพื่อนหลาย ๆ คนที่หลีกเลี่ยงจะเข้าระบบราชการ  เพราะว่าที่นี่ระบบราชการเข้มงวดกับระบบเพศภาวะ ต้องแต่งตัวเรียบร้อย  เรียบร้อยที่นี่ยังมีความหมายแบบจอมพลป. ยังไม่ได้เปลี่ยนเท่าไร


 


ในตะวันตก Coming out เป็นการยืนยันอัตลักษณ์  ที่จะทำให้ก้าวเข้าสู่สังคมเกย์  มีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเอง  สำหรับที่นี่  ถ้ามีอาชีพของตัวเอง  จะเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า  นี่ยังเป็นแค่ข้อเสนอ 


 


? ในความคิดของอาจารย์ Identity ต้อง Fix หรือไม่  หรือ Identity จะควรเป็น Fluidity แล้วถ้า Identity เป็น  Fluidity  ความเป็น Fluidity นี่มัน Fix ได้ไหม


 


อ. ปีเตอร์ ตอบ  Queer Theory เน้นตรงที่ Fluidity มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเราไม่มี Identity แค่ว่าเราจะเอาอันนี้เป็นหลักในการวิจัยไหม จากหลักฐานในหลายแขนงวิชา  อาจจะพิสูจน์ว่า Identity ไม่ Fix แต่ทฤษฎีนี้จะนำมาใช้ในระดับการเมืองได้ไหม เพราะว่าถ้าเราจะเรียกร้องสิทธิ  เราจะต้องมีกลุ่มเป้าหมาย  มีกลุ่มที่เขาจะเรียกร้องสิทธิของเขาเอง ถ้าไม่มี Identity จะไม่มีทางเรียกร้องสิทธิได้เลย คนที่มารวมพลังเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิ  อาจจะเป็นสิทธิของสตรี สิทธิของเด็ก  สิทธิของเกย์  สิทธิของชาวเขา  ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าคุณเป็นชาวเขา  คุณเป็นสตรี  คุณจะไม่รวมกลุ่มเลย


 


ดังนั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องการเมือง  เราอาจจะต้องมีไอเดียของ Identity ด้วย แม้คนที่อยู่ในแนวคิด Queer Theory บางท่าน  แม้กระทั่งอาจารย์ Butler ด้วย จะมีไอเดียของ Situational identity คือ มีอัตลักษณ์ในพื้นที่เฉพาะ  เช่น ในโอกาสที่เราเรียกร้องสิทธิ เราอาจจะต้องใช้วาทกรรมหรือภาษาที่เน้นตรงที่Identity ที่ตายตัว เฉพาะในโอกาสนั้น  แม้ในงานวิจัย ในการวิจารณ์หนังสือ หรือในการออกไปสัมภาษณ์คนที่ตลาด  เราจะใช้แนวคิดว่า Identity มัน Fluid  แต่ถ้าเราจะรวมกลุ่ม  ร่วมมือกันเรียกร้องสิทธิ เราจะต้องมีวิธีทางการเมือง  ที่จะมี Identity ของพวกเรา แต่เป็น Identity ชั่วคราว


 


แต่แม้จะมีกลุ่มชายรักชาย  กลุ่มที่เรียกร้องสิทธิของกะเทย  มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่รวมพลังในกลุ่มนั้นจะมี Identity อันเดียวกัน แม้จะตกลงกันว่าพรุ่งนี้เราจะทำอย่างนี้  จะไปในนามของกลุ่มนี้  แต่ไม่ได้หมายความว่ากลับบ้านไปแล้วจะยังคงเป็นเช่นนั้น  ในชีวิตประจำวันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ Queer Theory ก็ยังคิดอยู่ ยังไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ก็เป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนกำลังคิดถึงอยู่


 


ในทางการเมืองในประเทศตะวันตก  กลุ่ม Queer มีเป้าหมายให้สังคมให้โอกาสสำหรับความหลากหลาย ให้สิทธิคนอยู่นอกกรอบได้ แม้จะมีเป้าหมายอย่างนี้  แต่ก็ยังมีขบวนการที่ใช้ Identity แบบในพื้นที่เฉพาะ เช่น เรื่องการแต่งงานของเกย์เลสเบี้ยน  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในหลายประเทศ เป็นขบวนการที่มาจาก Gay/Lesbian Studies คือ เกย์มีสิทธิแต่งกับเกย์  เลสเบี้ยนมีสิทธิแต่งกับเลสเบี้ยน องค์กรที่จะมาคุยกับสื่อมวลชนหรือคุยกับรัฐมนตรีจะใช้ภาษาแบบเกย์เลสเบี้ยนโดยตรง ไม่ได้ใช้คำว่า Queer  คนที่พูดอาจจะเป็นคนที่เข้าใจทฤษฎี Queer แต่เวลาออกโรงเรียกร้องสิทธิกับสื่อมวลชนจะใช้ภาษาเกย์เลสเบี้ยน  ซึ่งเป็นภาษาที่อยู่ในกรอบ  เขาจะบอกว่าการที่เราจะก้าวหน้า  ต้องมีก้าวแรก  เราต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่จะ work กับสังคม  กับระบอบการเมืองของเรา  นักการเมืองของเรายังไม่เข้าใจเกย์  Queer ไม่ต้องพูดถึง ก้าวแรกอาจจะต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้อธิบายกับนักการเมืองว่าเกย์เป็นอย่างไร  ต้องให้สิทธิเกย์ด้วย คนที่เป็นนักการเมืองทาง Queer เขาโอเคที่จะปรับตัวให้เข้ากรอบในโอกาสที่จะเรียกร้องสิทธิ  โดยคิดว่าเมื่อได้สิทธิแล้ว  จะต้องมีก้าวต่อไปด้วย   นี่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่แล้วแต่สถานการณ์  แล้วแต่พื้นที่ 


 


? เมื่อเดือนที่แล้วมีรายการทีวีที่สัมภาษณ์ผู้ชายไทยที่แต่งงานกับผู้ชายฝรั่ง  โดยเขาแนะนำว่าผู้ชายไทยเป็นเจ้าสาว  ผู้ชายฝรั่งเป็นเจ้าสาว  ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองคนก็ใส่ชุดเจ้าบ่าว  ซึ่งสังคมไทยเรายอมรับได้  แต่เป็นการยอมรับที่อยู่ในวาทกรรมของ Binary system  คือต้อง Identify กับ Heterosexual couple (คู่รักต่างเพศ) เท่านั้น


 


อ. ปีเตอร์ ตอบ  คิดว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่มีไอเดียแบบนี้  ที่อิหร่านก็มีกฎหมายให้เป็นกะเทยได้  แต่ต้องแปลงเพศเป็นผู้หญิงทั้ง 100 %  แต่เป็นเกย์ไม่ได้  ผิดกฎหมายขนาดที่ต้องประหารชีวิต  ซึ่งรุนแรงมาก  และแสดงตัวอย่างของระบบ Heterosexual อย่างชัดเจนมาก  สื่อมวลชนไทยก็ยังมีความคิดแบบนี้แอบแฝงอยู่  ในกรณีนี้ที่อธิบายว่าคนหนึ่งเป็นเจ้าสาว  อีกคนเป็นเจ้าบ่าว  ก็เป็นความคิดในวาทกรรมกระแสหลักของที่นี่   และยังสะท้อนถึงระบอบจักรวรรดินิยม  ที่ยุโรปเป็นใหญ่ และที่อื่นเล็ก เป็นระบอบเหมือนกับสามีต้องใหญ่  ภรรยาต้องเล็ก ผู้ชายไทยต้องเป็นเจ้าสาว  ฝรั่งเป็นเจ้าบ่าว