Skip to main content

สภาประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง สภาแห่งพลังของคนรักแม่น้ำ

คอลัมน์/ชุมชน


ในสัปดาห์นี้ ดิฉันติดภารกิจ ไม่สามารถเขียนบทความได้ จึงมอบหมายให้คุณจันทราภา นนทวาสีกับคุณสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ปฏิบัติงานให้ สว.เตือนใจ ดีเทศน์ ถ่ายทอดเรื่องราวจากเวทีการประชุมคู่ขนาน " บทบาทของสภาประชาชนแม่น้ำโขง ต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขง " ระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน – ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ โรงแรมริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยดิฉันช่วยปรับปรุงและเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ จึงขอขอบคุณ คุณจันทราภา และคุณสมเกียรติมา ณ ที่นี้ด้วย


ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ประการแรก คือ เป็นการประชุมที่สานต่อคำมั่นสัญญาจากการจัดประชุมนานาชาติ เรื่อง " การจัดการทรัพยากรและกลไกความร่วมมือในภูมิภาคแม่น้ำโขง " โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และโครงการฟื้นฟูนิเวศน์วิทยาในอินโดจีนและพม่า เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ณ ห้องประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ



ที่ประชุมดังกล่าวได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ และตัวแทนของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยสรุปเป็นหลักการสำคัญคือ


๑ . ส่งเสริมให้ตัวแทนภาคพลเมืองทุกภาคส่วนของสังคมจากทุกประเทศมีส่วนร่วมในการวางแผน การตัดสินใจ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ


๒ . ตระหนักถึงสิทธิของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้พึ่งพาแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา เพื่อความเป็นอยู่ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม


๓ . สนับสนุนกลไกคู่ขนานสำหรับประสานความร่วมมือ เพื่อเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้ง " สภาประชาชนแม่น้ำโขง " ขึ้น ทั้งในระดับประเทศต่าง ๆ และในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมบทบาทและสะท้อนความต้องการและข้อห่วงใยของภาคประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง


๔ . ปฏิรูปกลไกการตัดสินใจของรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยให้ความสำคัญกับสิทธิและความมุ่งหมายของประชาชนในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


ความสำคัญประการที่สอง คือ มีองค์กรผู้ร่วมจัดการประชุมถึง ๑๒ องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา , โครงการฟื้นฟูนิเวศน์วิทยาในอินโดจีนและพม่า / มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กรุงเทพฯ , คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ( กป . อพช . เหนือ ) เชียงใหม่ , เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง - ล้านนา เชียงราย , โครงการแม่น้ำและชุมชน เชียงราย , กลุ่มรักษ์เชียงของ เชียงราย , เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูล / ชี ขอนแก่น , ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม สกลนคร , โครงการทามมูล สุรินทร์ , ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน กรุงเทพฯ และ องค์กรชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง


ประการที่สาม คือ ผู้ร่วมประชุมมาจากกลุ่มที่หลากหลาย ได้แก่ ผู้อาวุโสในบ้านเมือง เช่นศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , ดร . ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานที่ปรึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา , อาจารย์วสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , พลตำรวจเอกวิรุฬห์ พื้นแสน และดิฉัน นักวิชาการ เช่น อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ , คุณนิคม บุญเสริม โครงการพะเยาเพื่อการพัฒนา , คุณเพียรพร ดีเทศน์ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , คุณเพ็ญโฉม ตั้ง กลุ่มศึกษารณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม , คุณมิติ ยาประสิทธิ์ กลุ่มรักษ์เชียงแสน


พี่น้องเครือข่ายชาวบ้านจากลุ่มน้ำต่าง ๆ เช่น คุณสนั่น ชูสกุล เครือข่ายลุ่มน้ำมูล , คุณเหลาไท นิลนวล ประชาสังคมสกลนคร และตัวแทนจากพี่น้องที่มาจากต่างประเทศ เรื่อยไปจนถึง บรรดาศิลปินจากเชียงใหม่ เช่น อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น อ้ายไพฑูรย์ พรมวิจิตร ฯลฯ อีกมากมายหลายบุคคลที่ไม่สามารถใส่รายชื่อได้หมด ทุกคนที่มาร่วมกันในเวทีทั้งสามวัน ล้วนมีจิตใจเป็นหนึ่งเดียวที่จะปกป้องรักษาแม่น้ำโขง ในฐานะตัวแทนของแม่น้ำนานาชาติ และแม่น้ำทุกสาย ให้อยู่คู่กับมนุษยชาติต่อไป




สาระสำคัญของการประชุมในช่วงวันที่ ๓๐ มิถุนายน – ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ คือ โครงการภายใต้กรอบจีเอ็มเอส ซึ่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัญหาด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุกโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น โครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ ที่เด่นชัดคือ การสร้างเขื่อนในประเทศจีน ซึ่งหลังจากเขื่อนม่านวาน (Manwan) และเขื่อนต้าเฉาซาน (Dachaoshan) สร้างเสร็จลง ประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามล้วนประสบปัญหาจากความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำของแม่น้ำโขงที่ผิดปกติ และจำนวนปลาลดน้อยลง



ทั้งนี้ ข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก และน้ำสาขาภายใต้กรอบจีเอ็มเอส เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Regional Power Trading Operation Agreement) ซึ่งจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการประชุมสุดยอดผู้นำ ๖ ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ในวันที่ ๔ – ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่นครคุนหมิง


โครงการดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนในเรื่องทางเทคนิคและขั้นตอนการดำเนินการ นับได้ว่าเป็นการเสนอโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละประเทศโดยสิ้นเชิง ไม่มีการให้เหตุผลในเรื่องความจำเป็น และความคุ้มทุนของโครงการ รวมทั้งปัญหาโครงสร้างและความเป็นอิสระในการกำกับดูแลและความพร้อมของกลไกการปฏิบัติงาน ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคแต่อย่างใด


สำหรับโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ จากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว น่าจะมีผลต่อการสูญพันธุ์ของปลาบึก และปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขง และการกัดเซาะฝั่งน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้บ้านเรือนราษฎรและที่ทำกินที่บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พังทลายลงสู่แม่น้ำโขง


นอกจากนี้ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีและนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะก่อให้เกิดปัญหาทั้งประเด็นความขัดแย้ง ความสูญเสียทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นของประชาชน และปัญหาผลประโยชน์ทางด้านการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักในขณะนี้


ปัญหาโครงการที่เกิดจากการสร้างและขยายถนน เพื่อรองรับการความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองข้างทาง ทั้งการอพยพโยกย้าย ปัญหาการสูญเสียที่ดินซึ่งไม่มีการฟื้นฟูและชดเชยการสูญเสียที่เหมาะสม และการขยายตัวของปัญหาสังคมต่างๆ ทั้งเรื่องการค้าแรงงาน และปัญหาจากการขายบริการทางเพศ ดังที่ตัวอย่างที่ผู้นำชุมชนของกัมพูชา ได้สะท้อนบทเรียนการต่อสู้ของประชาชนต่อโครงการทางหลวงหมายเลขหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงประเทศกัมพูชากับประเทศเวียดนามในขณะนี้ ทั้งนี้ ยังรวมถึงปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ เหล่านี้




ดังนั้น ที่ประชุมจึงเสนอหลักการและแนวทางสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำจีเอ็มเอส ซึ่งนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ที่กำลังจะมาถึง ดังต่อไปนี้


๑ . ขอให้หยุดยั้งแผนงาน หรือโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไว้ในทันที จนกว่าจะมีการปรึกษาหารือกับประชาชน อย่างโปร่งใสและกว้างขวางเสียก่อน


๒ . ทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคแม่น้ำโขงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ประชาชนทั้งหมดในภูมิภาคเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น รัฐใดรัฐหนึ่ง หรือองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศหนึ่งใด เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย จึงไม่มีสิทธิที่จะตัดสินใจในการพัฒนาใดๆ โดยพลการ ซึ่งจะมีผลกระทบข้ามพรมแดนต่อวิถีชีวิต และต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างที่เป็นอยู่ ประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขง ขอยืนยันสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมีส่วนในการดำเนินการจัดการทรัพยากรในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


๓ . รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ควรดำเนินการจัดการและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิ และจิตวิญญาณแห่งความสมานฉันท์ของประชาชนในภูมิภาค เพื่อก่อผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงประเด็นด้านอธิปไตยของประชาชาติและของภูมิภาค โดยเฉพาะในประเด็นแม่น้ำข้ามพรมแดน ประเด็นต้นน้ำ - ปลายน้ำ และประเด็นสิทธิมนุษยชนของประชาชนพื้นถิ่นและชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ มิใช่คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีแต่เพียงอย่างเดียว


๔ . หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งเอดีบี ต้องทำการติดตามตรวจสอบ ประเมินโครงการ และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไป จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ภายใต้กรอบจีเอ็มเอสที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ก่อนที่จะเสนอโครงการใหม่ เช่นในโครงการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค จะต้องทำการศึกษาเพื่อทบทวนแผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่ และข้อเสนอเกี่ยวกับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างรอบด้าน ว่าข้อเสนอที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยืนอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมหรือไม่


๕ . หน่วยงานระหว่างประเทศควรเปลี่ยนบทบาทจากการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับโครงการขนาดใหญ่ซึ่งบ่อนทำลาย มาสู่การส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน ( เขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน ) ซึ่งทั้งประหยัดต้นทุน และเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น แทนที่จะสนับสนุนการทำลายล้างจากโครงการขนาดใหญ่ดังที่เป็นอยู่


การประชุมภาควิชาการจบลงในช่วงเย็นวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ จากนั้นผู้เข้าประชุมเดินทางไปยังอำเภอเชียงของ เพื่อล่องเรือศึกษาวิถีชีวิตริมน้ำโขง ในช่วงเช้าของวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ปิดท้ายด้วยการประมวลภาพรวมการพัฒนาแม่น้ำโขงและผลกระทบจากการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง เขตอำเภอเชียงของ ณ บ้านปากอิง อำเภอเชียงของ


การประชุมคู่ขนานเรื่อง " บทบาทสภาประชาชนแม่น้ำโขง ต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขง " ได้มีมติให้ส่งถ้อยแถลงที่ร่วมกันจัดทำส่งให้นายกฯ ทักษิณ รัฐมนตรีเนื่องในโอกาสที่จะร่วมการประชุมสุดยอดโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยทุกคนที่มีส่วนร่วมคาดหวังให้เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้มีอำนาจตระหนักว่า


การจะตัดสินใจทำโครงการพัฒนาใด ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง อยู่ในสายตาและการเฝ้าระวังของผู้คนมากมาย ทั้งในระดับชุมชน ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก จึงควรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการศึกษาผลผลกระทบที่รอบด้านให้มากกว่าทุกวันนี้ รวมทั้งขอใช้พื้นที่สื่อสาธารณะให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักต่อสังคมให้เห็นคุณค่าของการร่วมมือกันรักษาธรรมชาติให้เป็นต้นทุนชีวิตและต้นทุนทางสังคมที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอดไป