Skip to main content

อาสาชมดอย ’50: ร้อยเรียงเริ่มต้นเยาวชนอาสา (1)

คอลัมน์/ชุมชน

ตามปกติแล้ววันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปีถูกกำหนดขึ้นให้เป็น "วันเด็กแห่งชาติ" ทว่าวันเสาร์ที่สามของเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนและกลุ่มเยาวชน เพื่อนๆ พันธมิตรได้ร่วมกันจัดวันเด็กขึ้นเช่นกัน โดยใช้ชื่องานว่า … วันเด็กแห่งชาติ "อาสาชมดอย ’50"


 


การจัดงานในครั้งนี้เครือข่ายฯ ได้ขึ้นดอยสุเทพ-ปุย ไปจัดกิจกรรมให้กับน้องๆ โรงเรียนศรีเนห์รู หมู่บ้านขุนช้างเคี่ยน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีระยะทางลึกเข้าไปจากพระธาตุดอยสุเทพ ประมาณ 10 กิโลเมตร – เด็กๆ กว่า 200 ชีวิตรวมทั้งผู้ปกครองในหมู่บ้าน ต่างเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา


 


วันที่ 19 มกราคม ทีมงานเครือข่ายฯ ได้เดินทางจากในตัวเมืองเชียงใหม่ สู่โรงเรียนศรีเนห์รู และพอขึ้นมาถึงต่างพากันตระเตรียม ข้าวของ อาหาร เสื้อผ้า ของขวัญ ที่จะมอบให้กับเด็กๆ โดยมีคุณครูในโรงเรียนมาช่วยจัดแจงสถานที่พักและดูแลความเรียบร้อยให้


 



รถคันแรกของทีมงานที่มาถึงโรงเรียนฯ


 


"หนาวจังเลย….ทำไมมันเวียนหัวอย่างนี้เนี๊ย"  น้องทีมงานคนหนึ่งบ่น


"พวกพี่ขึ้นมาเตรียมพื้นที่ประมาณ 5 ครั้งมั้งก่อนจะจัดงาน เลยชินไปแล้ว " ผมตอบน้ำเสียงแกมยิ้ม พรางบอกให้น้องไปหาน้ำดื่มให้หายเวียนหัว ขณะเพื่อนอีกคนกำลังวิ่งเอายาดมมาให้ดมเพื่อบรรเทาอากาศเวียนหัว


 


หลังจากที่เพื่อนๆ หลายคนเวียนหัวกับถนนหนทางแล้ว จากนั้นพวกเราก็ประชุมกลุ่มเพื่อแบ่งงาน ทำความรู้จัก แนะนำตัว และเกริ่นถึงงานที่กำลังจะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น – บางคนทำอาหารเย็น บางคนตั้งเต็นท์สำหรับที่นอน บางคนก็เตรียมเวที สถานที่จัดงาน


 



ช่วยกันทำอาหารคนละไม้คนละมือ


 


ตกดึก อาหารยังไม่เสร็จ หลายคนเริ่มหิวข้าว แต่ก็ได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง และได้มีการนับยอดอาสาสมัครที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งมีมากกว่า 100 คน มาจาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กลุ่มเยาวชน DNJ .สันทราย จ.เชียงใหม่ เครือข่ายเยาวชนรักษ์ไทย เครือข่ายเยาวชน จ.ลำพูน เป็นต้น


 


"พวกเรามาเป็นอาสาสมัครต้องอดทนและเสียสละ" ใครคนหนึ่งพยายามบอกกับเพื่อนๆ ถึงคุณสมบัติของอาสาสมัคร แล้วอีกคนก็เสริมต่อว่า "เราต้องช่วยกัน ไม่เกี่ยงงาน ต้องมีใจอาสา หลายคนมาค่ายนี้เป็นครั้งแรก ไม่ต้องกลัวเพราะค่ายนี้มันจะฝึกเราให้มีความเป็นอาสาสมัครมากขึ้น จะช่วยทำให้เราเห็นใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น"


 


บางคนก็เสนอว่า "คุณสมบัติของอาสาควรจะมีความเป็นผู้นำ และไม่เกี่ยงงาน เห็นอะไรก็ทำ คือเริ่มจากตัวเราก่อน" – สำหรับผม การเป็นอาสาสมัครนั้น มันน่าจะช่วยพัฒนาสามัญสำนึกของคนที่จะช่วยผู้อื่น ที่ตกทุกข์ได้ยาก หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก การมาจัดงานวันเด็กที่โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นเพียงเสี่ยวหนึ่งของน้ำใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กัน


 



ประชุมไป กินข้าวไปพร้อมๆ กัน


 


มาถึงตรงนี้ การแบ่งหน้าที่อีกครั้งก็เริ่มขึ้น ทั้งการหุงข้าว เวรยามเฝ้าดูแลความปลอดภัย แรกๆ นึกว่าจะไม่มีใครอาสา แต่ปรากฎว่ามีคนอาสาสมัครมาช่วยกันทำงานตอนกลางคืนหลายสิบคน


 


แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หลายคนที่อาสาตัวเองไว้ในตอนแรก กลับไม่ได้มาทำหน้าที่ เพราะหลายคนบอกว่าตื่นไม่ไหว อากาศหนาวเกินไป ส่วนคนที่มาทำหน้าที่ก็ไม่ได้ต่อว่าให้เพื่อนเพราะเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละคนที่อาจมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน


 


ในคืนวันที่ 19 มกราคม, ซึ่งกำลังจะย่างเข้าสู่วันจัดงาน บรรยากาศตอนกลางคืนบนดอยแห่งนี้ เมื่อมองไปยังเบื้องล่างก็จะเห็นเมืองเชียงใหม่ เป็นแอ่งอยู่เบื้องล่าง แสงไฟสีส้ม ขาว สลับไปมาละลานตา ไฟสัญญาณจากหอบังคับการบินของสนามบินเชียงใหม่ กระพริบสายตาเป็นระยะๆ


 


"เหงาหว่า" ผมสบถกับตัวเองที่ลานระเบียงชมวิว - ผมไม่เคยรู้สึกเหงาแบบนี้มานานแล้ว ห้วงเวลาที่ผมนึก ณ เวลาที่มองไปยังเมืองเบื้องล่าง คือมันช่างเงียบสงัด ไม่มีเสียงดัง มีเพียงแสงไฟ และขอบฟ้าที่เป็นฉากและแสง ทุกๆ อย่างดำเนินไปอย่างช้าๆ ต่างจากที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในตัวเมืองที่ต้องดำเนินไปอย่างรีบเร่ง


 



ลานชมวิว_มองเห็นเชียงใหม่ทั่วเมือง


 


มีคนพูดว่า การที่คนจะเปลี่ยนมุมมองต่อการมองโลก มีได้ 3 อย่างคือ หนึ่ง ช่วงที่ใกล้ตายแต่ไม่ตายแล้วมีชีวิตรอดมาได้ สอง มองโลกจากภายนอกโลก สาม เจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับผม เพียงแค่การมองเมืองเชียงใหม่ จากมุมสูงของดอยปุย ก็พอทำให้จิตใจที่อ่อนล้าจากอะไรหลายๆ อย่าง ได้มีมุมมองใหม่ๆ ขึ้นมา


 


กล่าวคือ ในบรรดาตัวละครของเมืองที่ดำเนินชีวิตไปแต่ละวันนั้น ย่อมมีตัวเราอยู่ในนั้นเสมอ ดังนั้นหากเราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทีละนิด ทีละอย่าง ค่อยๆ ไป แล้วตัวละครอื่นๆ ที่รู้จักเรา หรือเห็นเราก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราหรือมุมมองต่อการดำเนินชีวิต – จุดนั้นอาจหมายถึง "ความเป็นอาสา" ด้วยก็ได้


 


พลันคิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็ย้อนกลับไปมองเพื่อนๆ เยาวชนอาสาสมัครที่มาร่วมงานนี้อีกหลายร้อยชีวิต ซึ่งไม่ต้องไปมองตัวละคร ผู้คน ณ เบื้องล่าง เพราะ เวลานี้ มีคนที่มีใจอาสา อยู่ใกล้ตัวแล้ว ผมว่าน่าจะใช้โอกาสและเวลานี้ ร้อยดวงใจของทุกๆ คนให้มีความเป็นอาสาร่วมกัน และเป็นเพื่อนที่จะทำกิจกรรม ทำงานเพื่อสังคมร่วมกันต่อไปข้างหน้า


 


การเริ่มต้นร้อยเรียงเพื่อนเยาวชนอาสาสมัคร จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ "ตั้งต้น"  ลงมือทำอย่างจริงจัง


 


(อ่านต่อสัปดาห์หน้านะครับ)