Skip to main content

Muslim Kidnapper / Muslim Criminal : เรียนรู้บทเรียนจากสื่อตากาล็อค

การนำเสนอข่าวปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเรา เป็นเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน-ฟิลิปปินส์มาก่อนหน้านี้


 


เพราะฟิลิปปินส์มีกลุ่มกบฎอิสระหลายกลุ่ม อาทิ Communist Movement, New People’s Army and the National Democratic Front, the Cordillera People Liberation Army, Moro National Liberation (MNLF), the Autonomous Region in Muslim Mindanao (ARMM) เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มมีประวัติศาสตร์ที่สะสมการต่อสู้และก่อปัญหากับรัฐบาลของฟิลิปปินส์มายาวนาน


 


รัฐบาลฟิลิปปินส์โดยเฉพาะในยุคของอดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาคิวโน เมื่อปี ค.ศ.1986 ได้มีความพยายามในการสร้างสันติภาพกับกลุ่มต่างๆ เช่น ปล่อยนักโทษการเมืองระดับหัวกะทิของกลุ่มเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ และตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพกับหลายๆ กลุ่ม ซึ่งไม่อาจกล่าวในคอลัมน์ได้ทั้งหมด คงพูดถึงเฉพาะกลุ่มมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ หมู่เกาะมินดาเนา เช่น โซโล, ตาวี ตาวี, โกตาบาโต เป็นต้น  ในแถบนั้นมีปัญหาความรุนแรงและการปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารและชนกลุ่มน้อยบ่อยครั้ง และสื่อได้นำเสนอข่าวด้านความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการลักพาตัว การวางระเบิดเป็นประจำ ความรุนแรงครั้งใหญ่ในจังหวัดโกตาบาโต ซึ่งมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารและชนกลุ่มน้อยมุสลิมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แต่ยุติปัญหาและสร้างสันติภาพได้ในปี ค.ศ.2003 แต่สงครามกลางเมืองครั้งนั้นก็ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก


 


ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความรุนแรง กับการเป็นข่าวจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ที่ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับการประเด็น "สื่อกับการรายงานเรื่องสันติภาพ" สูงมาก และมีการตั้งคำถามต่อผลกระทบต่อการนำเสนอข่าว และการสร้างภาพ "ความเป็นอื่น" แก่คนมุสลิมในฟิลิปปินส์ซึ่งสร้างความแตกต่างและแยกจากสังคมฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกลุ่มคนหมู่ใหญ่คือ คาธอลิก (ฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เก้าสิบเปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก)


 


ช่วงที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลในปี ค.ศ.1990-1999 จึงมีทั้งการทำวิจัย การสัมมนา เพื่อกระตุ้นให้สื่อตระหนักถึงความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสาร เพราะอาจไปสร้างความหมายอื่นที่เป็นด้านลบแก่คนในสังคมได้ เนื่องจากว่า ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางด้านสื่อสูงที่สุดในบรรดาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีการเซนเซอร์ข้อมูลข่าวสารหรือการแทรกแซงของหน่วยงานรัฐ นับตั้งแต่ฟิลิปปินส์หลุดพ้นจากยุคเผด็จการอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส


 


ทั้งยังมีกระบวนการจัดอบรมการทำข่าวสงครามและสันติภาพแก่นักข่าว เพื่อให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริง ปัญหา และความต้องการของชุมชนมุสลิม เพื่อเป็นพื้นฐานแก่ผู้สื่อข่าวที่จะทำความเข้าใจสังคมมุสลิม และช่วยในการนำเสนอข้อมูลที่สร้างสันติภาพแก่สังคม


 


 



สัปดาห์สันติภาพ (วันยุติสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐกับชุมชนมุสลิม) จัดที่เมืองโกตาบาโต


 


Rufa Cagoco – Guiam ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยมินดาเนา ในช่วงนั้นเธอเป็นผู้ทำวิจัยเรื่อง Telling the Truth of the ‘Other’ Images of Islam and Muslims in the Philippines ในหนังสือ Media and Peace reporting ซึ่งจัดพิมพ์โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสื่อของฟิลิปปินส์ชื่อว่า the Center for Media Freedom and Responsibility เธอเขียนถึงการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในเรื่องการแก้ไขปัญหาดินแดนมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ว่า จุดยืนของคนทำข่าวมุ่งสร้าง "ความเป็นอื่น" ในความขัดแย้ง ทิศทางของข่าวเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของการนำเสนอข่าวมากกว่า การสร้างความเข้าใจในเหตุการณ์หรือทำความเข้าใจกระบวนการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงเจ้าของสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ที่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนรู้หนาวในการมีส่วนร่วมกับการนำเสนอหรือการเซ็นเซอร์ข่าวว่าสิ่งใดควรเผยแพร่หรือไม่


 


นอกจากนี้เธอยังกล่าวถึง สื่อมวลชนของฟิลิปปินส์รายงานข่าวและสร้างอัตลักษณ์ให้แก่คนมุสลิมไปโดยไม่รู้ตัว เช่น การพัวพันของคนมุสลิมกับคำว่า อาชญากรรม  พวกลักพาตัว หัวขโมย เป็นต้น ฉะนั้นในสังคมฟิลิปปินส์โดยทั่วไปที่รับรู้ข่าวสารจากสื่อมวลชน จึงซึมซับเอาภาพ Muslim kidnapper, Muslim criminal ไปโดยไม่รู้ตัว และก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบ และอาจก่อความไม่เป็นธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีที่มีต่อคำว่า "มุสลิม" ด้วย เพราะคำว่ามุสลิมถูกสร้างอัตลักษณ์ในฐานะผู้ต้องสงสัยในอาชญากรรม เมื่อเธอนำปัญหานี้เข้าสู่การสนทนากับตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนในมะนิลา เธอกลับได้คำตอบว่า คำว่า "มุสลิม" กลายเป็นตัวขายของข่าวไปแล้ว


 


บทเรียนในช่วง ค.ศ. 1990-2003 ของฟิลิปปินส์ ในการสร้างสันติภาพท่ามกลางสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาล น่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย