Skip to main content

ทำไมต้องผู้หญิงสีรุ้ง ???

คอลัมน์/ชุมชน

เห็นชื่อคอลัมน์นี้แล้ว คนอ่านหลายคนอาจสงสัยว่า ผู้เขียนไปเกี่ยวอะไรกับกลุ่มรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีชเขาด้วยเล่า เพราะองค์กรนี้ก็มีสัญลักษณ์เป็นสีรุ้งเช่นกัน


ไม่เกี่ยวเลยค่ะ


เพราะสีรุ้งของผู้เขียน คือสีรุ้งที่หมายถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน, รักสองเพศ, คนข้ามเพศ, รักรวมเพศ หรือตัวย่อภาษาอังกฤษคือ LGBT อันได้แก่ L=Lesbian, G=Gay, B=bisexsual, T=trangender แต่ล่าสุดน้องหลินจากซาน ฟรานฯ อัพเดทข้อมูลให้ทราบว่า "เดี๋ยวนี้เขามีตัว I (ไอ) เพิ่มเข้าไปแล้วนะพี่" ตัว I ของน้องหลินคือตัวย่อของคำว่า inter sex ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิงอยู่ในร่างกาย (Hemaphrodite) หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า "กะเทย" หรือ "กะเทยแท้" ซึ่งถ้าบุคคลผู้นั้นยังเป็นเด็ก ผู้ปกครองก็รอจนเด็กโต บรรลุนิติภาวะเพื่อให้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกผ่าตัดเป็นเพศไหน หรือจะไม่ผ่าตัด


ส่วนความหมายของสีแต่ละสีบนแถบผ้าสีรุ้งนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี 1978 ที่ศิลปินชาวเกย์ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นามว่านายกิลเบิร์ต เบเกอร์ ทนเสียงเรียกร้องของเพื่อน ๆ นักกิจกรรมทางสังคมที่ต้องการมีสัญลักษณ์ของตัวเองในการเดินขบวน เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของนายฮาร์วีร์ มิลค์ เกย์นักการเมืองชื่อดังที่ถูกฆาตกรรมโดยนักการเมืองด้วยกันที่มีความเกลียดชังคนเป็นเกย์โดยไม่มีสาเหตุ (หรือที่เรียกว่าเป็นอาการโฮโมโฟเบีย )


นายกิลเบิร์ต เบเกอร์ จึงได้ลงมือตัดเย็บ ย้อมสี ประดิษฐ์ธงสีรุ้งขึ้นมา ครั้งแรกนั้นธงนี้มีด้วยกันถึง 8 สี และแต่ละสีก็มีความหมายดังนี้คือ 1.สีชมพูหมายเรื่องเรื่องเพศ 2. สีแดงหมายถึงชีวิต 3.สีส้มหมายถึงการเยียวยา 4.สีเหลืองคือพระอาทิตย์ 5.สีเขียวคือธรรมชาติ 6.สีฟ้าคือศิลปะ 7.สีครามแทนความผสานและกลมกลืน และ 8.สีสุดท้ายคือสีม่วง แทนจิตวิญญาณของคนรักเพศเดียวกัน


หลังจากทำธงผืนนี้เสร็จ ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจชาว LGBT แถบซานฟานฯเป็นอย่างมาก ใคร ๆ ก็อยากได้ไปเก็บไว้ที่บ้านบ้าง นายกิลเบิร์ต เบเกอร์ จึงได้ติดต่อบริษัททำธงให้ผลิตออกมาให้ได้เยอะ ๆ เพื่อที่มันจะได้แพร่กระจายไปในหมู่ชาวLGBT แต่ปรากฎว่าบริษัททำธงไม่สามารถผลิตสีชมพูสดได้ จึงต่อรองขอตัดสีชมพูออก เหลือ 7 สีจะได้ไหม


ด้วยความเป็นคนใจอ่อน นายกิลเบิร์ต เบเกอร์ ก็ยอมทำตามที่บริษัทผลิตธงขอมา


แต่พอเอามาใช้ในการเดินขบวนพาเหรดจริง ๆ กลับมีปัญหา เพราะจัดริ้วขบวนยาก ทางคณะกรรมการงานพาเหรดเกย์(Gay Pride) จึงขอตัดให้เหลือเพียง 6 สี โดยตัดสีครามออกไป เพื่อให้ริ้วขบวนเวลาเดินไปตามถนนทำได้โดยง่าย คือแบ่งเป็นฝั่งละ 3 ริ้วขบวน ซึ่งนายกิลเบิร์ต เบเกอร์ ก็ยินยอมตกลงตามที่ถูกขอมาอีกเช่นเคย


ปัจจุบันนี้ ธงสีรุ้ง 6 สี ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ จากสภาผู้ทำธงนานาชาติ (International Congress of Flag Makers) ว่าเป็นธงของชาว LGBT


ผู้หญิงสีรุ้ง ณ ที่นี่ จึงคือคอลัมน์ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงที่มีความสัมพันธ์ทางกายและใจ หรือเฉพาะทางใจ หรือเฉพาะทางกายกับหญิงด้วยกัน หรือที่เรียกว่าหญิงรักหญิง หรือเลสเบี้ยนนั่นแหละค่ะ


แต่บางคนก็งง ๆ เหมือนกันนะคะ เกี่ยวกับความหมายของคำว่า "หญิงรักหญิง" ที่กลุ่มอัญจารีบัญญัติขึ้นมาใช้ ผู้เขียนเคยเจอคนถามอยู่เหมือนกันว่า ความรักระหว่างแม่กับลูกสาว จะเรียกว่าหญิงรักหญิงได้หรือเปล่า เพราะก็เป็น (แม่) ผู้หญิงที่รัก(ลูกสาว)ผู้หญิงเหมือนกัน เจอคำถามนี้เลยต้องรีบตอบไปก่อนค่ะว่าไม่ใช่ ไม่ได้หมายความว่าเช่นนั้น ประเดี๋ยวจะเกิดการเข้าใจผิดไปกันใหญ่


เพราะตอนนี้ก็ดูจะมีความเข้าใจผิดอยู่เหมือนกันเกี่ยวกับคำว่า "อัญจารี" ซึ่งถูกนำไปอ้างอิงอยู่ในงานวิชาการด้วย ซึ่งแหล่งอ้างอิงนั้นก็มาจากบทความชื่อ "แน่ใจนะ…ว่าคุณรู้จักกะเทย" เขียนโดย นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล ซึ่งปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา (http://www.somdet.go.th/main/article.html) ที่เขียนไว้ว่า "หญิงรักหญิง คนไทยเรียกกันมาแต่ดั้งแต่เดิมว่า "อัญจารี" มาจากคำว่า อัญ บวกกับ จารีต มีความหมายตรงตัวว่าผู้ประพฤติที่แตกต่าง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า เลสเบี้ยน (Lesbian)"


ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคำว่า อัญจารีเป็นเพียงชื่อกลุ่มองค์กรทำงานเพื่อสนับสนุนและปกป้องสิทธิคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น ที่ถูกตั้งขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2528 จากคำว่า "อัญญ"และคำว่า "จารี" ซึ่งหมายถึงผู้มีความประพฤติที่แตกต่าง ซึ่งไม่ได้มีความหมายตรงตัวว่า "หญิงรักหญิง" ดังที่ถูกกล่าวถึงแต่อย่างใด


ส่วนคำว่า "หญิงรักหญิง" นั้น กลุ่มอัญจารีได้บัญญัติขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เรียกผู้หญิงที่มีความรู้สึกในเชิงรักใคร่เสน่หากับผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งตรงกับคำว่า Lesbian ภาษาอังกฤษ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น สังคมไทยมีคำเรียกผู้หญิงที่รักชอบผู้หญิงด้วยกันเพียงไม่กี่คำ ซึ่งได้แก่คำว่า "ทอม" และ "ดี้" เป็นหลัก แต่เนื่องจากคำเรียกทั้งสองไปสนับสนุนบทบาททางเพศกระแสหลัก คือบทบาทการเป็น "ผู้ชาย" และ "ผู้หญิง" ทำให้ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานด้านสิทธิสตรีมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม จึงได้บัญญัติคำว่า "หญิงรักหญิง" ขึ้นมาใช้ พร้อม ๆ กับคำว่า "ชายรักชาย" ซึ่งหมายถึง เกย์นั่นเอง


แต่ปัจจุบันคำว่า "หญิงรักหญิง" ก็ถูกท้าทายจากคนทำงานเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากคำนี้ได้ให้คุณค่ากับความรักมากเกินไป จนความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงถูกละเลยและมองข้ามอย่างน่าเสียดาย
เช่นเดียวกับคำว่า "ชายรักชาย" ผู้เขียนได้ทราบจากเพื่อนที่ทำงานรณรงค์เรื่องเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายบอกว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่พอใจที่ถูกเหมารวมเรียกว่า "ชายรักชาย" เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นชายรักชาย แต่พวกเขามีลูกมีเมียเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่มาทำงานเป็นพนักงานบริการด้านนี้เท่านั้นเอง


อย่างไรก็ตาม ในระหว่างยังหาคำเรียกที่ลงตัวไม่ได้ ทั้งชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือแม้กระทั่งคำว่า คนรักเพศเดียวกัน


ผู้เขียนก็ขอใช้ชื่อคอลัมน์นี้ว่า "ผู้หญิงสีรุ้ง" ไปพลาง ๆ ก่อนก็แล้วกันนะคะ