Skip to main content

รักพ่อ รักนาฏศิลป์ และดนตรีไทย วิพิธทัศนา วันขาบมงคล

คอลัมน์/ชุมชน

๑๗ ปีแล้วที่ลูกสาว ๔ คนของคุณพ่อ พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร ณ อยุธยา นำโดยพี่เทียมแข (กุญชร ณ อยุธยา) จรูญโรจน์ ณ อยุธยา อาจารย์ใหญ่โรงเรียนนาฏศิลป์ขาบมงคล ได้จัดงานวิพิธทัศนาวันขาบมงคล เพื่อเผยแพร่ศิลปะอันงดงามแขนงนาฏศิลป์และดนตรีไทย เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทย นิยม ชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณพ่อที่ทำหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยมาตลอดชีวิต และเพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  เพื่อบำรุงสภากาชาดไทย


 


งานครั้งที่ ๑๗ ได้จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ ที่โรงละครเล็ก กรมศิลปากร (ต้องใช้โรงเล็ก เพราะโรงใหญ่กำลังปรับปรุงอยู่) ซึ่งดิฉันได้ชวนคุณแม่ไปร่วมงานด้วยเป็นครั้งแรกกับเชิญอดีต ส.ว.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ซึ่งดิฉันเคารพเหมือนพี่แท้ ๆ ไปชมด้วย


 



 


พระองค์โสม ฯ ทรงพระกรุณาต่อคณะกรรมการจัดงานเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานทุกปี พระจริยาวัตรที่ทรงทักทายคณะกรรมการจัดงานและผู้แสดงทุกคน เปี่ยมด้วยพระเมตตา ด้วยรอยแย้มพระสรวล ซึ่งตราตรึง ประทับใจ ผู้ปกครองนักเรียน ผู้มีจิตศรัทธา ที่เข้าเฝ้าถวายเงินทุกคน อย่างไม่รู้ลืม


 


เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ของการแสดงวิพิธทัศนา ครั้งที่ ๑๗ เป็นความงดงาม ตระการตา ทำให้เวทีดูประดุจสรวงสวรรค์ของเหล่านางฟ้าและเทพบุตร


 


เปิดฉากด้วยการบรรเลงดนตรีไทย เพลงโหมโรงจอมสุรางค์ และเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น เป็นการบรรเลงชุดใหญ่ โดยนักดนตรี ๒๐ คน มีน้องพน (เด็กชายพนธกร อุรพีพัฒนพงศ์) กับน้องธัช (เด็กชายธัชชัย ลิ่วเมธากุล) เล่นระนาดเอก เห็นรูปเดี่ยวของน้องพนกับน้องธัชในสูจิบัตรงาน ใส่เสื้อราชปะแตนสีขาว นั่งอยู่หน้าระนาดแล้ว ภูมิใจแทนคุณพ่อคุณแม่


 


ชุดที่สอง  คือ รำถวายพระพร  โดยนักเรียนรุ่นใหญ่ ๘ คน เป็นการแสดงที่สวยงามทั้งเครื่องแต่งกายของพระ นาง  และท่ารำที่อ่อนช้อย  สง่างาม


 


ชุดที่สาม  บรรเลงระนาดหมู่  แสดงความสามารถทางดนตรีไทยของเด็กยุคโลกาภิวัฒน์ที่ไม่ได้หลงใหลดนตรียุคใหม่  แต่มีรากเหง้าที่รักเพลงไทยด้วยใจเกินร้อย


 



 


ชุดที่สี่  คือ รำฉุยฉายกิ่งไม้เงิน ทอง  ครูผู้ฝึกประดิษฐ์ท่ารำและดอกไม้เงินทองได้สวยงามมาก


 


ชุดที่ห้า  รำกราววีรสตรี  ของนักเรียนรุ่นเล็ก ๑๖ คน เนื้อเพลงปลุกใจให้รักชาติ  กตัญญูต่อแผ่นดิน  ด้วยความกล้าหาญ  ดุจดังวีรสตรีไทยที่ปกป้องแผ่นดินโดยสละแม้ชีวิต  ไม่แพ้ชายอกสามศอก  น้องเล็กๆ แสดงอย่างตั้งใจ  ไร้เดียงสา  เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ใหญ่ด้วยความเอ็นดู


 



 


ชุดที่หก  ศิลปินรับเชิญของกรมศิลปากร  คือ  อาจารย์ปกรณ์  พรพิสุทธิ์  รำฉุยฉายฮะเนา  นุ่งผ้าเตี่ยว  ทัดดอกไม้  คล้องมาลัยดอกไม้พวงใหญ่  เป็นชาวเงาะป่าสีสดใส  ลีลาเป็นเอก  จับใจทุกคน  (เสียดายที่ไม่มีภาพให้ดู)


 


ชุดที่เจ็ด  ระบำสี่ภาค  เริ่มด้วยระบำร่มของภาคเหนือ  ต่อด้วยระบำทักษิณสโมสร  นุ่งโสร่งปาเต๊ะ  เสื้อลูกไม้  รำตังหวายของอีสาน  และรำต้นวรเชษฐ์ของภาคกลาง  เป็นชุดใหญ่ที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของทุกภาค  จังหวะเพลงมีทั้งเนิบช้าอย่างภาคเหนือ  และว่องไว  เร้าใจ  อย่างภาคใต้  ภาคอีสาน


 



                              ระบำทักษิณสโมสร


 


เรื่องเด่น คือการแสดงโขน รามเกียรติ์ตอนพระรามได้พล และละครเสภา เรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี โดยอาจารย์ ดร. ศุภชัย จันทร์สุวรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) อาจารย์พัชรา (กุญชร ณ อยุธยา) บัวทอง และอาจารย์ฤทธิเทพ เถาว์หิรัญ เห็นลีลาร่ายรำของศิลปินอาวุโสของกรมศิลป์ ทั้ง ๓ ท่านแล้ว ภูมิใจที่เมืองไทยยังมีครูอาจารย์ที่มุ่งมั่นเผยแพร่วัฒนธรรมไทยอย่างไม่ท้อถอย


 


การแสดงโขนตอนพระรามได้พล น้องพิมเพชร บัวทอง แสดงเป็นพระราม สืบปณิธานรักษ์ศิลปะไทยจากคุณแม่พัชรา (กุญชร ณ อยุธยา)บัวทอง  ได้เต็มร้อย  ทั้งท่วงท่าสง่างาม และใบหน้าสวยหวาน     กับน้องอิม นางสาวสุทธินี จาตุรนต์รัศมี ที่แสดงเป็นพระลักษณ์ กับน้องภูมิ น้องภัทร์  บูรณะ  น้องกฤษดา  น้องกิตติชัย  ภู่พยนต์ แสดงเป็นพล ออกท่าลิงได้น่ารัก เรียกรอยยิ้มด้วยความเอ็นดูจากผู้ชมได้อีก


 



                    โขนรามเกียรติ์ ตอนพระรามได้พล


 


เมื่อการแสดงปิดฉากลง ผู้แสดงทุกชุดส่งเสด็จ  อำลาผู้ชมอย่างพร้อมเพรียงบนเวที ได้รับเสียงปรบมือกราวใหญ่จากผู้ชม


 



                    ผู้แสดงทุกชุดส่งเสด็จและอำลาผู้ชม


 


พระองค์โสม ฯ ประทานกระเช้าดอกไม้แก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ชายมงคล และทรงมีปฏิสันถารกับผู้บริหารโรงเรียนและคณะกรรมการจัดงาน ด้วยรอยแย้มพระสรวล


 


งานวิพิธทัศนาวันขาบมงคลทุกครั้ง  ได้ทั้งการโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย และโครงการคืนชีวิตพ่อแม่แด่ลูกน้อยที่ปลอดเอดส์  ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  และความอิ่มเอิบใจที่ได้เห็นลูกหลานไทย  อายุตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไป มีใจรักนาฏศิลป์ดนตรีไทย


 


ขอชื่นชมอย่างยิ่งต่อลูกสาว ๔ คน ของคุณพ่อที่ทุ่มเทให้กับงานอนุรักษ์เผยแพร่นาฏศิลป์ ดนตรีไทย และจัดงานมาอย่างต่อเนื่องถึง ๑๗ ปี คือ ดร.กันทิมา  กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียน พี่เล็ก เทียมแข  (กุญชร ณ อยุธยา) จรูญโรจน์ ณ อยุธยา อาจารย์ใหญ่ อาจารย์แป๋ง พัชรา(กุญชร ณ อยุธยา) บัวทอง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและพี่ป๋อง พิมแข กุญชร ณ อยุธยา ผู้จัดการ แม้รายได้จะไม่คุ้มทุน แต่ก็คุ้มค่าที่ได้กตัญญูต่อแผ่นดินเกิดด้วยการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย


 



                               การบรรเลงระนาดหมู่


 


ขอบคุณผู้ปกครองนักเรียน ที่ส่งเสริม สนับสนุนให้ลูกได้เรียนนาฏศิลป์ ดนตรีไทยอย่างต่อเนื่อง บางคนเรียนถึง ๑๐ ปีขึ้นไป เช่น คุณพงศ์เทพ คุณพนิดา เทพกาญจนา คุณธีระ  คุณดวงพร  จาตุรนต์รัศมี คุณพ่อคุณแม่ของน้องอิมที่แสดงเป็นพระลักษณ์ คุณกิตติพงศ์  คุณวิภา  อุรพีพัฒนพงศ์  คุณพ่อคุณแม่ของน้องพลอย  น้องพน  ดร.ไพบูรณ์  เสรีวิวัฒนา  ดร.ศัลยา  จารุจินดา  คุณพ่อคุณแม่ของน้องพิมพ์ศิริ  เสรีวิวัฒนา  ที่แสดงรำถวายพระพรและบรรเลงดนตรีไทย (ซออู้) ที่ส่งลูกเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ขาบมงคลตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน  รวมทั้งสนับสนุนการพิมพ์สูจิบัตร และถวายเงินบำรุงสภากาชาดไทยตลอดมา  อีกทั้งยังร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานฝ่ายต่างๆ อีกด้วย


 


กระทรวงวัฒนธรรมควรร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการผลิตครูสอน นาฏศิลป์ ดนตรีไทย เปิดสอนให้ได้ทั่วทุกโรงเรียนในทุกภาค และสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่ส่งเสริมนาฏศิลป์ไทยให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลูกหลานไทยจะได้มีจิตวิญญาณความเป็นไทยตลอดไป


 


หมายเหตุ :  โรงเรียนนาฏศิลป์ขาบมงคล ตั้งอยู่ที่ ๑๓๘/๑ พหลโยธิน ๒๔ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์/โทรสาร ๐๒–๙๓๙–๒๔๑๗ สอนวันเสาร์ – อาทิตย์ ๐๙.๐๐–๑๖.๐๐ น.