Skip to main content

จากกัลยาณมิตร (๑): ดอกไม้แห่งโพธิ

คอลัมน์/ชุมชน





ในช่วงปีที่ผ่านมา คอลัมน์ธรรมดา ธรรมดา ได้เป็นเสมือนพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ผมได้รู้จักกับกัลยาณมิตรมากมายผู้มีแรงบันดาลใจในการฝึกฝนตนเอง  แม้งานเขียนและงานแปลในคอลัมน์อาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่อ่านง่าย หรืออ่านสนุก เหมือนข้อเขียนประยุกต์ธรรมที่สามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ส่งเสริมพุทธศาสนาทั่วไป แต่ผมก็ยังคงความตั้งใจเดิมที่จะถ่ายทอดงานเขียนที่เสนอมุมมองทางเลือกของการปฏิบัติธรรมให้กับผู้มีความสนใจ โดยทางเลือกที่ว่านี้ไม่ได้ถูกเสกสร้างขึ้นตามอำเภอใจเพื่อทำให้การปฏิบัติธรรมดูเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น สนุกขึ้น หรือดึงดูดผู้คนให้หันมา "บริโภค" ธรรมะกันมากขึ้น


 


ในทางตรงกันข้าม ในฐานะเพื่อนเดินทางผู้อุทิศชีวิตให้กับเส้นทางสายนี้ ผมคงทำได้เพียงแบ่งปันประสบการณ์จริงที่ได้รับถ่ายทอดมาจากธรรมาจารย์ในสายการปฏิบัติที่ตนเองฝึกฝนอยู่ ผ่านงานเขียนในรูปแบบที่หลากหลาย ด้วยความหวังน้อยๆ ที่ว่า จะสามารถส่งผ่านแรงบันดาลใจที่ว่านี้ ให้ผู้อ่านหยิบมือหนึ่งได้หันมามุ่งมั่นกับการค้นหาคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้กันมากขึ้น


 


ผมมีความยินดีที่จะเปิดรับงานเขียนจากกัลยาณมิตรผู้ปฏิบัติธรรม ผู้มีแรงบันดาลใจที่จะแบ่งปัน "ประสบการณ์ตรง" ในฐานะผู้เรียนรู้ แสวงหาบนเส้นทางสายนี้ร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า ความหลากหลายของสายประสบการณ์ที่มีค่าเหล่านี้นี่เอง ที่จะสอดประสาน ถักทอ ให้เกิดการตระหนักในคุณค่าทางจิตวิญญาณที่เป็นรูปธรรมในสังคมไทยได้ในอนาคตอันใกล้


 


อาทิตย์นี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับงานเขียนรับเชิญชิ้นนี้ จากพี่น้อย ชลลดา ทองทวี ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปเข้าร่วมการฝึกภาวนาสั้นๆกับภิกษุณี เท็นซิน พัลโม ให้เพื่อนๆได้อ่านกัน


 


บทความนี้น่าจะให้แง่คิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่อง ผู้หญิงกับการปฏิบัติธรรม รวมถึงความชอบธรรมของการบวชภิกษุณีในพุทธศาสนา ที่นับวันก็ดูจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรกลับมาให้ความใส่ใจอย่างที่ไม่สามารถจะเพิกเฉยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ได้อีกต่อไป


 


ดอกไม้แห่งโพธิ : ท่านภิกษุณี เท็นซิน พัลโม


 


                                                                                                ชลลดา ทองทวี


 


 


ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ท่ามกลางวิกฤติสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ทวีขึ้น มีเพื่อนผู้ชายของผู้เขียนหลายคนลาไปบวช  หลายคนมีท่าทีจะขอบวชนานไม่ยอมสึก สำหรับตัวเองในฐานะผู้หญิง รู้สึกว่า เราสูญเสียเพื่อนไปในที่ๆ เราตามไปไม่ได้ เพราะโลกของการเป็นภิกษุสงฆ์ เป็นคนละโลกกับโลกของผู้หญิง ความห่างเหินและช่องว่างของความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นทันทีที่เพื่อนเข้าสู่เพศบรรพชิต  แต่ในใจส่วนหนึ่งก็อนุโมทนาในความตั้งใจจริงในการปฏิบัติของเพื่อน   และบางครั้ง ที่อยู่ในสภาวะที่ต้องการจะปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจังบ้าง ก็เคยนึกว่า ผู้หญิงน่าจะมีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุณีบ้างคงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย


 


มีข่าวคราวการมาเมืองไทยของท่านภิกษุณี เท็นซิน พัลโม ก่อนที่จะท่านมาถึงนานพอสมควร หลายคนยกย่องท่านในมุมมองของสิทธิสตรี ทำให้ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะไปฟังการบรรยายธรรมหรือไปร่วมปฏิบัติภาวนากับท่าน เพราะคำว่า "สิทธิสตรี" มีนัยยะของการต่อสู้และความขัดแย้ง   ขณะที่ผู้เขียนมีมุมมองที่แตกต่างอยู่บ้างว่า ผู้หญิง กับผู้ชาย เป็นส่วนที่เติมเต็มกันโดยธรรมชาติของโลก เป็นหยินและหยาง   ที่ทำงานด้วยกันอย่างสอดคล้อง   ผู้เขียนจะระมัดระวังในการเรียกร้องสิทธิของเพศสภาวะของตนเองแบบรุนแรง แม้ว่าจะเห็นด้วยว่า ในหลายกรณี ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม


 



 


อคติที่ได้รับจากข้อมูลข่าวสารก่อนที่ท่านจะมาถึง ทำให้ผู้เขียนเกือบจะพลาดโอกาสที่ดีในชีวิต ที่จะได้พบและเรียนรู้จากท่านภิกษุณี เท็นซิน พัลโม   โชคดีว่า วันที่ท่านเป็นองค์ปาฐกของการปาฐกถา เสม พริ้งพวงแก้ว ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในช่วงต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา  ผู้เขียนได้ไปประชุมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเร่งรีบและตั้งใจ จะไปฟังปาฐกถาในครั้งนี้  ทำให้พลอยติดคณะของเพื่อนไปฟังด้วยในที่สุด  


 


คำพูดของท่าน เท็นซิน พัลโม แม้จะเป็นเรื่องของผู้หญิงกับการบวช  แต่ทุกถ้อยคำฟังดูอ่อนโยน เปี่ยมด้วยเมตตา และไม่มีความรุนแรงขัดแย้งต่อผู้ใด เป็นตัวอย่างของสัมมาวาจาที่ดี คือ "พูดคำจริง อิงอ่อนหวาน ถูกแก่กาล ประสานไมตรี มีประโยชน์"  ผู้ที่จะพูดได้เช่นนี้ คงจะต้องพูดออกมาจากใจที่เมตตากรุณาต่อผู้ฟังที่แท้จริงเท่านั้น


 


ท่าน เท็นซิน พัลโม กล่าวถึงเรื่องการมีภิกษุณีว่า ตามพุทธบัญญัติ มหาสังฆะ จะต้องมีครบองค์ ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา   และภิกษุณีนั้น ในฐานะที่เป็นผู้หญิง จะมีธรรมชาติของการโอบอุ้มเลี้ยงดู (nurture)  ในหลายๆ กรณี ญาติโยมบางคนอาจจะสะดวกที่จะปรึกษาข้อธรรมะบางประการกับภิกษุณี ซึ่งเป็นสตรีเพศมากกว่าภิกษุ   การมีภิกษุณี จริงๆ แล้ว จะช่วยเติมเต็มงานของภิกษุในการสืบทอดเผยแผ่พระศาสนาได้มาก    ตัวเอง ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ได้ฟังท่านกล่าวเช่นนี้ ก็ระลึกได้ถึงความรู้สึกอึดอัดแปลกแยกของตนเองเวลาไปวัด  ต้องระวังตัวให้อยู่ในระยะห่างที่เหมาะสมจากพระภิกษุ      การมีภิกษุณีอยู่ในวัดด้วย คงจะช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง ในการไปวัด และปฏิบัติธรรม ได้มากขึ้นไม่น้อย


 


หลังจากการปาฐกถาของท่าน เพื่อนผู้ชายที่ศรัทธาเคารพในตัวท่าน ได้เตรียมพวงมาลัยมากราบถวายท่าน แต่ด้วยความที่เราเคยชินกับการปฏิบัติแบบที่พระภิกษุ ถูกตัวสีกาไม่ได้  เพื่อนผู้ชาย เลยได้มาขอให้ผู้หญิงทั้งหลาย เป็นผู้ไปถวายดอกไม้ ทำให้พวกเราผู้หญิง รู้สึกพิเศษกับความเป็นผู้หญิงของตัวเองมากขึ้นว่า วันนี้เป็นวันของเราบ้างนะ..


 


อย่างไรก็ตาม จริงๆ การปฏิบัติสายวัชรยาน  ไม่ได้ถือเรื่องการสัมผัสว่าเป็นสิ่งต้องห้าม  ถ้าการสัมผัสนั้น เป็นการให้พร หรือแสดงความเมตตา   เพราะท่านเท็นซิน ก็จับมือให้พรแก่พวกเราที่เป็นผู้ชายหลายคน  ภาพของท่านจับมือให้พรแก่ทุกคนที่เข้าไปขอพร เป็นภาพประทับใจที่งดงาม    ท่านสามารถทำสิ่งนี้ให้กับทุกคนได้ โดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเลย


 


หลังจากการปาฐกถาในวันนั้น   สุดสัปดาห์นั้น  ท่านได้นำปฏิบัติภาวนาที่อาศรมวงศ์สนิท   ผู้เขียนไม่ได้คิดว่าจะไปเข้าร่วม  แต่เมื่อการปฏิบัติภาวนานั้น เริ่มไปได้วันหนึ่งแล้ว เพื่อนจากเสมสิกขาลัย ที่เป็นผู้จัด โทฯ มาบอกว่า มีที่ว่าง สำหรับไปนอนกางเต็นท์ได้ ถ้าจะเข้าร่วม  และเพื่อนอีกคน ก็โทรศัพท์มาบอกว่า มีรถของเพื่อนอีกกลุ่มที่จะตามไปเข้าร่วมการปฏิบัติภาวนาในเย็นวันนั้น  จากน้ำใจของเพื่อนที่อุตส่าห์ โทฯมาชวน และโอกาสที่ยังมีที่ว่างเหลือ ทั้งที่ได้ทราบมาแต่แรกว่า เต็มไปนานแล้ว  ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจจัดกระเป๋าตามเพื่อนๆ ไปอีกครั้งหนึ่ง เป็นโอกาสที่สองที่จะได้ไปพบท่านและฟังท่านบรรยายธรรมอีกครั้ง   


 


เราไปถึงทันดูหนังสารคดีเรื่อง The Cave in the Snow เป็นเรื่องของการปฏิบัติภาวนาของท่านในถ้ำบนเทือกเขาหิมาลัย  เป็นเวลานานหลายปี  ในหนัง ท่านพูดถึงคุรุของท่าน คือ คามทรูล รินโปเช ด้วยความผูกพัน ได้เห็นถ้ำและสำนักสามเณรีของท่าน และภาพของท่านตอนเข้าพบท่านทาไลลามะ เป็นภาพที่อ่อนโยนงดงาม    ภาพในสารคดีดังกล่าว มีพลังที่สดยิ่งขึ้น เพราะมีตัวท่านเท็นซินเอง นั่งดูอยู่กับเราในที่นั้น ท่านอธิบายหลายๆ อย่างเพิ่มเติม และตอบคำถามของพวกเราด้วยความเมตตา  


 


เพื่อนๆ ที่ไปร่วมภาวนาก่อนหน้า เล่าว่า วันที่ผ่านมา ท่านได้บรรยายธรรมอธิบายศาสนาพุทธนิกายหินยาน และในวันพรุ่งนี้และมะรืนนี้ ท่านจะพูดเรื่องมหายานและวัชรยานตามลำดับ  การบรรยายธรรมที่ฟังดูน่าจะเป็นเหมือนเลคเชอร์ในชั้นเรียน ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามและหวั่นใจไว้ล่วงหน้า  ว่าจะน่าเบื่อ หรือว่า จะทำให้ผู้ที่คิดเห็นต่างนิกาย เข้าใจได้หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ฟังธรรมในที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่โดยพื้นฐานจะเป็นเถรวาท  แต่ความเมตตาและปัญญาของท่าน ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติภายในที่บ่มเพาะมาเป็นเวลานาน ในการตอบคำถามในคืนแรกที่ผู้เขียนไปถึง ทำให้วางใจไปได้มาก  ท่านไม่ได้ตอบโดยเปิดตำราเล่มใด แต่ตอบจากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งมีพลัง  คำถามที่เกิดขึ้นจากความสงสัยของผู้ฟัง เป็นคำถามคนละระดับของประสบการณ์ เพราะมักจะเกิดจากการใช้สมองคิด  จะคลายลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับคำตอบจากผู้ที่รู้จริงจากการปฏิบัติ และยังเปี่ยมด้วยเมตตาที่จะคลายความสงสัยนั้นให้แก่เขา    การบรรยายธรรมของท่าน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติภาวนาของทุกคนไปด้วยในตัว เพราะจากการฟัง ผู้ฟังก็ได้เรียนรู้ทบทวนตนเองภายใน ตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับตนเองได้มากมายทีเดียว


 


ในวันต่อมา ท่านบรรยายธรรมเรื่อง มหายาน  ตอนที่ท่านอธิบายว่า มหายานนั้น จะเน้นการ "เชื่อมโยงให้เห็นความเป็นดั่งกันและกัน (interconnectedness)"  ของสรรพสิ่ง  เช่น เราเห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง เราจะมองเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นต้นไม้นี้ขึ้นมา แสงแดด พื้นดิน อากาศ  และเมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว ต้นไม้ต้นหนึ่งก็มีขึ้นไม่ได้ หากไม่มีเหตุปัจจัยทั้งหมดนั้น   การพิจารณาเช่นนี้ ทำให้เห็น "สุญญตา" ได้ เป็นความว่าง ความไม่มีตัวตนอยู่ของสิ่งต่างๆ  ขณะฟังท่าน ก็ลองมองดูมดที่เดินไปเดินมา มองเห็นเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกันเกี่ยวกับมดตัวนี้ แล้วอยู่ๆ ก็รู้สึกว่า มดนั้นไม่ได้มีอยู่จริง  เป็นแต่เหตุปัจจัยที่มาเชื่อมโยงกัน  ลองทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  รู้สึกสนุกดีมาก และเริ่มเห็นแล้วว่า ที่ท่านบอกว่า ทางขึ้นยอดเขานั้น มีได้หลายทาง  มันเป็นอย่างไร


 


ในส่วนของวัชรยาน  ท่านอธิบายว่า วัชรยานของทิเบต โดยพระธรรมคำสอน จะไม่ได้ต่างจากมหายาน  แต่ในวิถีการปฏิบัติ  การปฏิบัติของวัชรยานจะมุ่งเน้นวิถีที่เป็นทางลัดสู่การบรรลุหลุดพ้นให้เร็วที่สุด   ด้วยการนำเอาเป้าหมาย (goal) มาเป็นวิถีทาง (path)   คือการมุ่งสู่การตื่นรู้สู่สภาวะเดิมแท้ของจิตที่บริสุทธิ์  จะโดยการปฏิบัติวิปัสสนา หรือการเพ่งภาพของเทพ ซึ่งในที่นี้ หมายถึงจิตอันบริสุทธิ์ เพื่อให้ตนเองเข้าถึงความบริสุทธิ์นั้น รวมทั้ง การตื่นรู้ ผ่านคุรุ (Guru) ทางจิตวิญญาณ ที่จะเป็นผู้ช่วยให้เราเข้าถึงคุรุด้านใน คือ สภาวะอันบริสุทธิ์ของจิต ได้เร็วยิ่งขึ้น  


 


ท่านภิกษุณี เท็นซิน พัลโม  ได้นำเราลองปฏิบัติวิปัสสนาสั้นๆ  โดยท่านให้เรานั่งในท่าที่สบายๆ หลังตรง  และหลับตาลง  แล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ   จากนั้น ท่านให้เราลองตามดูลมหายใจ  จนกระทั่งจิตสงบขึ้น  แล้วให้เฝ้าดูความคิดต่างๆ ของเราที่ผุดขึ้นมา  โดยหัวใจคือ ให้ดูด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยให้ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นมาตามที่มันเป็น   ท่านให้เป็นผู้สังเกต (observer) เฝ้าดูความคิด เหมือนว่า เราเป็นคนที่นั่งอยู่บนฝั่งน้ำ และให้ความคิดต่างๆ นั้น ผุดขึ้นเหมือนฟองอากาศในกระแสน้ำ  แล้วก็ลอยผ่านไป  แต่เราจะไม่ลงไปเปียกปอนจมอยู่กับความคิดนั้น ในกระแสน้ำนั้นด้วย    ถ้าเมื่อไรที่เรารู้สึกว่า ได้ลงไปอยู่ในน้ำกับความคิดนั้น ก็ไม่ต้องตกใจ แต่ขอให้กลับขึ้นมาสังเกตดูความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น อยู่บนฝั่งต่อไป


 


ผู้เขียนเคยปฏิบัติเจริญสติหรือวิปัสสนามาบ้างแล้ว แต่การได้ลองทำตามการอุปมาอุปไมยเช่นนี้  ช่วยให้เห็นตัวเองได้ชัดขึ้น  หลายครั้ง พบว่า ตัวเองสนใจแต่ว่า ตัวเองอยู่บนฝั่งดีหรือไม่  และหลายครั้ง มารู้ตัวอีกที ก็เปลี่ยนใส่ชุดว่ายน้ำลงไปว่ายกรรเชียงอยู่กับความคิดในน้ำอย่างสนุกสนาน     คิดถึงพุทธวจนะ ที่เคยจดเอาไว้เพราะชอบใจ  ซึ่งพระพุทธองค์ ได้ทรงสอนให้เราใช้ชีวิตเหมือนคนที่ยืนอยู่บนฝั่ง มองดูชีวิตตนเอง ในกระแสน้ำและเกลียวคลื่น แต่ไม่ลงไปเปียกอยู่ในนั้น การปฏิบัติครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพพุทธวจนะนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก โดยเป็นประสบการณ์ตรงที่ได้ลองอยู่บนฝั่งน้ำนั้นดูจริงๆ  


 


ท่าน เท็นซิน พัลโม อธิบายว่า  การเฝ้าดูความคิดที่เกิดขึ้นนั้น เรามองเห็นภาพความคิดที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นเฟรมภาพยนตร์ทีละเฟรม ผ่านเราไปอย่างช้าๆ   และในที่สุดเราจะเห็นว่า มันเป็นแค่ภาพในแผ่นเฟรมหนึ่ง   ไม่ควรที่เราจะโศกเศร้าจริงจังไปกับมัน   เวลาเราดูภาพยนตร์ แต่เราไม่เห็นแผ่นเฟรมแต่ละเฟรม เราก็นึกว่า ภาพที่ฉายนั้นเป็นจริงเป็นจัง รู้สึกสุขหรือเศร้าตามไปด้วย แต่ถ้าเราเห็นภาพแต่ละเฟรมผ่านไปเป็นเฟรมแยกกัน  สักพัก เราจะสังเกตเห็นแสงสว่างที่ลอดออกมาระหว่างเฟรมนั้น  นั่นคือจิตเดิมแท้ของเราที่บริสุทธิ์ ปราศจากเมฆหมอกของความคิดมาบดบัง  แสงสว่างเบื้องหลังนั้นต่างหาก คือความจริงแท้  ที่เหลือ ก็เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น


 


ท่านอธิบายด้วยว่า จิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้น บริสุทธิ์ เป็นสภาวะโพธิจิตที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน รวมทั้งสรรพชีวิตด้วย   เปรียบเสมือนท้องฟ้าที่ใสสะอาดไร้ขอบเขต  แต่เมฆหมอกแห่งความคิดของเรานั้นหนาทึบมาก ทำให้เรามองไม่เห็นว่ามีท้องฟ้าอยู่  ถ้าเรามองทะลุเมฆหมอกเหล่านี้ได้ เราจะเห็นท้องฟ้าใสอยู่เบื้องหลังได้ไม่ยาก และจะได้รู้ว่าที่จริง เมฆหมอกแห่งความคิด นั้นเป็นแค่เมฆก้อนหนึ่ง   ในความจริงแท้ทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลัง คือ ท้องฟ้าอันใสกระจ่างนั้น


 


ในตอนจบของการบรรยายธรรมและการปฏิบัติภาวนาที่อาศรมวงศ์สนิทครั้งนี้  ท่านภิกษุณี เท็นซิน พัลโม ได้กล่าวสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมาก คือ ท่านรู้สึกยินดีไปกับผู้ปฏิบัติภาวนาทุกคน ไม่ว่านิกายใด หากปฏิบัติได้ดีจนบรรลุธรรมเกิดปัญญาได้ เช่น ภิกษุสงฆ์ในสายวัดป่าของไทย เช่นพระอาจารย์หลายรูปในภาคอีสาน  ความแตกต่างของนิกาย ไม่สำคัญเลย  หากเรามีความเพียร และมีเจตนาที่ดีในการปฏิบัติ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วยเป็นอย่างยิ่ง     


 


หัวใจสำคัญของการเป็นพุทธศาสนิกชน ดูจะอยู่ตรงนี้ ตรงที่ พระพุทธศาสนา นำพาเราไปพ้นจากความทุกข์ได้หรือไม่     ซึ่งท่านภิกษุณี ที่อยู่เบื้องหน้าเรานี้ เป็นภาพสะท้อน ให้เห็นความสงบเย็นและปัญญา ที่ได้จากการปฏิบัติด้วยความเพียร ตามคำสอนของพระพุทธองค์    ผู้เข้าร่วมการปฏิบัติภาวนาในครั้งนี้ ซึ่งมาจากหลายนิกาย และยังมีพระภิกษุสายเถรวาทด้วยอีก ๔ รูป  ต่างก็รู้สึกเห็นพ้องต้องกันว่า การอภิปรายกันในเรื่องความแตกต่างของข้อปฏิบัติในแต่ละนิกาย ไม่เป็นประเด็นสำคัญเลย เมื่อเทียบกับการหลุดพ้น เราควรจะเสียเวลากับการปฏิบัติภาวนา มากกว่าเสียเวลาในการโต้แย้งกันทางความคิด  


 


ภาพของท่านที่อยู่เบื้องหน้าเรา เต็มไปด้วยพลังของวิริยะและปัญญา  ท่านนำเรา ก้าวพ้นเพศสภาวะ หรือนิกาย ไปสู่เป้าหมายที่สูงกว่านั้น  รวมทั้งเข้าใจด้วยว่า  การปฏิบัติของเรา ที่ควรเป็นไป เพื่อการหลุดพ้นของตนเอง และเพื่อเจตนาที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ การช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นทุกข์ด้วย ดั่งพระโพธิสัตว์นั้น จะกระทำได้อย่างไร ผ่านการปฏิบัติที่เต็มไปด้วยเมตตาของท่านเองที่มีต่อพวกเราในครั้งนี้