Skip to main content

ฉันเห็นไฟในดวงตาเธอ

คอลัมน์/ชุมชน

เพิ่งจะไปร่วมสังเกตการณ์ค่ายอบรม "นักเขียน-นักข่าว" เยาวชนมาครับ ได้เจอน้องๆ นักศึกษาไฟแรงหลายคน เจอนักเขียนหลายท่าน สนุก และได้เรื่องมาคิดต่ออีกมากมาย


 


ถ้าหากมีคอลัมนิสต์ท่านใดในประชาไทเขียนเรื่องเดียวกันนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ก็ไปงานเดียวกันมานี่แหละ (ฮา)


 


เรื่องของเรื่องคือ มูลนิธิ "ไทยัพ" ที่ทำเรื่องพัฒนาการพัฒนาเยาวชน เขาทำโครงการศูนย์ข่าวเยาวชน โดยเปิดพื้นที่ในเว็บไซต์ให้น้องๆ นักศึกษาที่สนใจในงานข่าว-งานเขียนได้มีพื้นที่ ได้ฝึกฝีมือ ได้แสดงออกกัน เขาคัดเลือกน้องๆ ไปเข้าร่วมการอบรมประมาณ 20 คนเห็นจะได้ ยกขบวนกันไปคุยในบรรยากาศเย็นๆ ที่ฟาร์ม 63 ริมแม่น้ำปิง ตรงแก่งปันเต๊า ก่อนเข้าตัวอำเภอเชียงดาวนั่นละครับ เย็นแค่ไหน ก็ต่ำกว่าสิบองศาเห็นจะได้ นั่งคุยกันปากคอสั่นไปเลย


 



 


วิทยากรที่มาอบรมก็คุ้นหน้าคุ้นตา และคุ้นเคยกันทั้งสิ้น ทั้งคุณดวง-ธีรมล บัวงาม นักข่าวจากประชาธรรม, พี่นนท์-สุวิชานนท์ รัตนภิมล นักเขียนสารคดี, พี่โต้ง-มหรรณพ โฉมเฉลา กับ พี่ฝน-รวิวาร โฉมเฉลา สองนักเขียนแห่งเชียงดาว และ พี่ภู-ภู เชียงดาว แห่งประชาไทภาคเหนือ


 


ในส่วนของการอบรมนั้น เป็นการแนะนำให้รู้จักการเขียนในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ งานข่าว การเขียนสารคดี การเขียนเรื่องสั้น การเขียนบทกวี เพราะน้องๆ แต่ละคนที่มามีพื้นฐานที่หลากหลาย บางคนเคยเขียนข่าว บางคนเคยเขียนเรื่องสั้น หลายคนมีผลงานมาพอสมควร แต่บางคนก็เริ่มอ่านเริ่มเขียนมาไม่นาน 


 


อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้คำพูดอมตะที่ว่า "งานเขียนแนะนำกันได้ แต่สอนกันไม่ได้" เพราะวิทยากรทุกท่านก็บอกน้องๆ เหมือนกันว่า สุดท้ายแล้ว ทุกคนที่รักจะเขียนก็ต้องลงมือเขียน จากนั้นถ้าต้องการคำแนะนำติชม หรือมีข้อสงสัยต่อวิธีการทำงาน วิทยากรทุกท่านก็ยินดี แต่ถ้าจะให้สอน หนึ่ง สอง สาม เป็นฮาวทู ก็ไม่ทราบจะสอนอย่างไรดี


 


เท่าที่ผมสังเกตดูถ้าจะให้เรียงลำดับความสนใจของน้องๆ จากมากสุดไปน้อยสุดน่าจะเป็น งานข่าว งานสารคดี และ เรื่องสั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามรูปแบบของการทำงานความคิด เพราะงานข่าวคือการไปเก็บเหตุการณ์มาถ่ายทอด งานข่าวมีรูปแบบที่ชัดเจน การทำงานอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดทักษะได้เร็ว ขณะที่งานสารคดีต้องลงไปอยู่ในพื้นที่ ในเหตุการณ์ ต้องเก็บข้อมูล จัดการข้อมูล และร้อยเรียงรายละเอียดต่างๆ มาเป็นเรื่อง ส่วนเรื่องสั้น ต้องผสมศาสตร์และศิลป์ ข้อเท็จจริงและจินตนาการ การฝึกฝนและความมานะค่อนข้างมาก


 



 


ส่วนเรื่องบทกวีที่พี่ภู เป็นวิทยากรนั้น ผมคิดว่า เป็นอะไรที่ "ปลดปล่อย" มากกว่างานทั้งสามรูปแบบข้างต้น และดูท่าน้องๆ หลายคนจะทำได้ดีเสียด้วย ความเป็นอิสระในรูปแบบและเนื้อหาของบทกวี น่าจะช่วยสร้างความสมดุลย์ให้กับการทำงานความคิดที่ค่อนข้างหนักอย่างงานทั้งสามรูปแบบข้างต้นได้


 


ผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่ให้น้องๆ ได้รู้จักงานเขียนทั้งสี่รูปแบบ เพราะในแต่ละรูปแบบก็มีวิธีการสร้างงาน และผลของ "สาร" ที่ต่างกันออกไป การได้ฝึกฝนทุกประเภทงานนั้น นอกจากจะทำให้รู้จักการทำงานที่หลากหลายแล้ว ยังจะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย พอได้ทำงานอย่างต่อเนื่องสักพัก จะได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว เราถนัดงานแบบไหน อะไรที่เราทำได้ดี และอะไรที่เราอยากจะพัฒนาต่อไป ถ้าหากยังไม่รู้จะเขียนอะไร หรือจะเขียนอย่างไร จะเรียบเรียงถ้อยคำอย่างไร ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะต้องไปอ่านเพิ่มอีก "คลังคำ" ในตัวอาจจะน้อยไปสักหน่อย เพราะวิทยากรทุกท่านก็เน้นย้ำว่า ต้องอ่านให้มากในระดับหนึ่งก่อน ให้มีคลังคำในตัวในปริมาณพอสมควร


 


จะเรียกว่า "การเขียนเป็นอนาคตของการอ่าน" ก็น่าจะได้


 


สิ่งสำคัญอีกประการที่ผมเห็นว่าทุกๆ คนที่ตั้งใจจะเริ่มต้นทำงานด้านนี้ควรจะมีคือ "ความต่อเนื่อง" เพราะฝีมือจะพัฒนาได้ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าทิ้งช่วงไป นานๆ ทำงานสักชิ้น ก็มีสิทธิ์ต้องมานั่งเคาะสนิมกันใหม่ ผมเชื่อว่างานเขียนนั้นเป็น "ทักษะ" ครับ เขียนบ่อย เขียนมาก ก็เกิดทักษะมาก ถ้าทำงานในรูปแบบเดิมๆ บ่อยครั้งเข้า เราก็จะเริ่มมองเห็นวิธีการทำงานที่เป็นตัวของเราเอง


 


จะว่าไป ผมเองก็ใช่ว่าเก่งกาจเป็น "กูรู" แต่อย่างใด เพียงแต่เคยเขียนมาก่อน พอจะรู้ว่าการเริ่มต้นมันยากลำบากอย่างไร เห็นน้องๆ เขาได้อบรมก็ดีใจบวกอิจฉาเล็กๆ เพราะสมัยที่ผมเรียนไม่มีใครจัดอบรม มีนักเขียนตัวเป็นๆ มาคอยแนะนำอะไรแบบนี้ ไม่มีแม้แต่กลุ่มเพื่อนที่จะพูดคุยเรื่องวรรณกรรมกันได้ ต้องดั้นด้นฝึกฝนไปคนเดียว ดีไม่ดีก็ไม่รู้ เขียนเรื่องสั้นเสร็จชิ้นหนึ่งก็ดีใจแทบแย่แล้ว พอมาทำงานข่าว ก็แทบไม่ได้เขียนอะไรของตัวเองอีกเลย ทุกวันนี้ผมเองก็ถือว่าตัวเองยังเป็นนักศึกษาและเป็นมือสมัครเล่นสำหรับงานวรรณกรรมและการเขียนบทกวี ยังต้องฝึกฝนอีกมาก เช่นเดียวกับน้องๆ ทุกคน


 


การที่น้องๆ ได้มีพื้นที่และมีคนคอยให้คำแนะนำอย่างนี้ ทำให้ผมแอบหวังเล็กๆ ว่า ระยะเวลาของโครงการคือหนึ่งปีนับจากนี้ไป อาจมีสักคน หรือหลายคน ที่โดดเด่นจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการ และเขาหรือเธอเหล่านั้น อาจเป็นพลังสำคัญที่จะก้าวไปสู่โลกของสื่อมวลชนและโลกของวรรณกรรมต่อไป


 


ในช่วงที่พี่ภู เชียงดาว อบรมเรื่องการเขียนบทกวีและให้น้องๆ ลองไปเขียนมาคนละหนึ่งบท ผมเองก็แอบเขียนไว้เหมือนกัน ดีไม่ดีอย่างไรไม่ทราบนะครับ ผมเองก็ยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้เช่นเดียวกันขอมอบให้น้อง ๆ ที่เข้าอบรมไว้ตรงนี้ด้วยครับ


 


 


"..ฉันมองเห็นไฟในดวงตาของเธอ


ประกายแห่งความฝันก่อรูปในใจ


ไม้ขีดหนึ่งก้านจุดไฟกองใหญ่


หนึ่งถ้อยคำกวี


ปลุกชีวิต


ปลุกวิญญาณ


 


เถิด,หนุ่มสาว


มองโลกของเธอแล้วเดินเข้าไปข้างใน


เรียงร้อยภาษา,ขับขาน


ดุจบทเพลงแห่งยุคสมัย


ท่วงทำนองจากปลายปากกา


เปลี่ยนตัวเธอให้กลายเป็นกวี


ไฟในดวงตาของเธอ


ประกายในดวงใจของเธอ..."


 


 


ดีใจที่ได้เห็นหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ สนใจเข้ามาสู่โลกแห่งการอ่านการเขียนครับ