Skip to main content

บูรพาไม่แพ้

คอลัมน์/ชุมชน

God Bless the Other 99         


by Barry Manilow


 


I’ve learned more from failure


Than I've learned from success


I learn from "No. Thank you."


So much more than from "Yes."


I learn to be willing


To lead with my chin.


And if I were willing to lose,


I could win.


 


I’ve learned from the losers


Who got right back in line,


The dimmer the future


Than the brighter they shine.


Three cheers for the one,


The one in a hundred.


But god bless the other 99.


(Repeat twice)


 


Upfront we were always meant to be


There for all the world to see


 


"No. Thank You."


The other 99     


 


จั่วหัวเล่นๆว่า "บูรพาไม่แพ้" เพราะว่าเป็นเรื่องแพ้ชนะกันอีกแล้ว เพลงที่จั่วหัวเป็นเพลงที่ยกย่องคนที่แพ้ คนที่ไม่ได้ถูกเลือก


 


ช่วงนี้ผู้เขียนมีงานยุ่งมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องตรวจข้อสอบกลางภาคที่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อเป็นการตรวจวัดสัมฤทธิผลทางการเรียนการสอน ไม่สนุกเอาเสียเลย เพราะว่าผลการสอบทำให้ผู้สอบหลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จเกิดอาการคับข้องใจกันเป็นแถวๆ คงเป็นเพราะไม่พร้อมที่จะยอมรับกับความจริงในจุดนี้ ผู้เขียนไม่แปลกใจ ไม่ว่า ไม่ดูถูก ดีใจที่เค้าตื่นตัว เพราะจะได้มีการเปลี่ยนแปลง  


 


ยอมรับว่าความจริงแบบนี้ยากที่จะรับ โดยเฉพาะผู้ที่เรียนเก่งๆ และไม่เคยพลาดอะไรจนมาเรียนที่นิด้า แล้วเรื่องใหม่ๆในชีวิตก็เกิดขึ้น นึกถึงตอนที่ตนเองไปเรียนที่สหรัฐฯใหม่ๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก ไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรเป็น ตอนนั้นใช้ห้องสมุดยังใช้แทบไม่เป็น ดีที่ว่าตอนเรียนภาษาไทยเทอมสองที่ธรรมศาสตร์ได้เรียนวิธีการเขียนรายงานในภาษาไทย จึงได้รู้เรื่องบ้าง นำมาประยุกต์ใช้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่สอน ส่วนการเขียนรายงานแบบภาษาอังกฤษในปีที่สามนั้น ไม่ได้เขียนอะไรมาก แค่ลอกๆส่ง ปรากฏว่าอาจารย์ฝรั่งใจดี ไม่เข้มงวด จึงได้เกรดออกมเป็น "บี" ทั้งที่เขียนอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นสมัยนี้เรียกเลยว่า "ทุจริต" หรือ Plagiarism อันนี้ไม่ใช่ความผิดอาจารย์ เราต่างหากที่ไม่รักดี


 


เมื่อไปเรียนสหรัฐฯ ต้องปรับใหม่หมด เขียนออกมาแต่ละประโยคไม่เอาอ่าว แม้ว่าจะจบเกียรตินิยม จำได้ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาสั่งให้ไปเรียนการเขียนใหม่หนึ่งเทอม แต่บอกได้เลยว่าก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก จนกระทั่งมาเขียนงานสารนิพนธ์ ตอนนั้นเขียนได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่เรียกว่าดีอย่างน่าพอใจ ดีที่อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยมากมาย สิ่งที่ได้เต็มๆตอนนั้นคือ "ระบบการคิด"  ที่ชัดเจนและมีระเบียบขึ้น เมื่อมองถึงจุดนี้จึงเข้าใจนักศึกษาไทยมาก แต่ก็มีข้อแม้ที่ว่าสมัยนั้นเทคโนโลยีเลวร้ายมาก ไม่สะดวกแบบเดี๋ยวนี้ การเรียนการสอนไม่มีคอมพิวเตอร์มาช่วย ต้องไปยืนถ่ายสำเนาบทความวิชาการจนห้องสมุดปิด แล้วเอาบทความไปอ่านจนสว่างคาตา เดี๋ยวนี้ทุกอย่างดีขึ้นมาก มี E-Journals E-Books อยากหาอ่านเมื่อไรก็ได้ แถมมีเว็บไซต์มากมายให้ความรู้เบื้องต้นได้  แต่น่าเสียดายไม่มีใครใช้ประโยชน์อย่างที่ควรเป็น ไม่แม้กระทั่งจะค้น จำได้ว่าไม่ว่าตนเองจะไปเรียนที่ไหน จะต้องเป็นเพื่อนกับบรรณารักษ์หรือคนให้ยืมคืนหนังสือทุกแห่ง เพราะใช้บริการบ่อยและถี่มากจนไม่สามารถจะลืมกันได้


 


คนรุ่นใหม่พึ่งพาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ แบบไม่เข้าท่า จึงไม่ได้เกิดประโยชน์แบบที่คาดหวังไว้ อีกทั้งตัวผู้สอนหลายคนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้เท่าไรนัก จึงทำให้ไม่มีการใช้ฐานข้อมูลอย่างคุ้มค่า และทำให้ผู้เรียนไม่ใส่ใจ ไม่ขยันในการค้นคว้าหาข้อมูล


 


หลังจากที่ผู้เขียนได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะจากสหรัฐฯมา ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ยอมรับว่าการเรียนนั้นให้ประสบการณ์เกี่ยวกับความล้มเหลวและความสำเร็จ จำได้ว่าการเขียนรายงานแต่ละฉบับออกมานั้นเหนื่อยเป็นที่สุด เพราะต้องระวังในการเขียน แต่ที่ยากกว่านั้นคือต้องมี "ไอเดีย" การที่ไม่มีไอเดียจะเขียนออกมาไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะมีไอเดีย อันนี้คือต้องอ่านมากๆ และต้องลองผิดลองถูก เพราะเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง การลองผิดลองถูกเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ต้องทำงานหนัก เรื่องเขียนไปแล้วโยนทิ้งไปกลางคันนี่เป็นเรื่องปกติ การเรียนแบบมวยวัดของผู้เขียนเป็นเรื่องที่สาหัสมาก เมื่อมาสอนหนังสือจะพยายามให้เด็กคิดให้เป็นก่อน คิดผิดคิดถูกให้คิดมา แล้วค่อยๆแก้ เด็กหลายคนท้อแท้เมื่อพบว่าที่คิดมานั้นไม่ได้เรื่อง ทั้งที่เรียกว่าไม่ได้พยายามอะไรเท่าไรนัก


 


ทำให้เห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่หลายคนไม่มีความอดทน หรือ วิริยะ อุตสาหะ นึกแล้วก็หวั่นใจกับสังคมไทยที่จะมีคนหลายคนที่ไม่ใจสู้ หลายครั้งผู้เขียนนึกอยากว่าใส่หน้าหลายคนเหมือนกัน แต่เมื่อคิดถึง"บัว4เหล่า" แล้วก็ต้องหยุด อีกทั้งต้องเมตตาในความไม่รู้ของคน คำว่า"เมตตากรุณา"เป็นคำที่ขาดไม่ได้ ในการทำอาชีพครู


 


ผู้เขียนหยิบเอาเพลง "God Bless the Other 99¨ มาจั่วหัว เพราะทุกครั้งที่ท้อจะนึกถึงเพลงนี้ หลายครั้งที่ผู้เขียนก็ "ตกรอบ" ในการแข่งขัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หลายหนก็รู้ว่าแพ้เพราะว่าตนเองไม่ดีพอ หลายหนก็มารู้ว่าที่แพ้เพราะเค้ามี "ตัวจริง" อยู่แล้ว เพลงนี้ไปซื้อมาตอนปี 1991-92ได้ ฟังจนขึ้นใจ เพราะตอนนั้นอกหักมาจากการทำงานเอย การไปเรียนเอกครั้งแรกที่ เนบราสก้า แล้วไม่สำเร็จเอย แล้วก็สมัครไปเรียนเอกใหม่ก็ไม่ค่อยได้ รันทดหัวใจ ท้อใจ รู้สึกว่าตัวเองโง่จริงๆ ไร้ค่า (แต่จนในที่สุดมีการตอบรับมาสามสี่แห่ง)


 


เพลง "God Bless the Other 99¨ จึงตรงใจในขณะนั้น เพราะว่าเป็น 1 ใน 99 คนที่พลาดโอกาส แต่ไม่ได้เป็นคนที่ 100 ที่ได้รับเลือก การเป็นคนที่พลาดโอกาสทำให้ตนเองเรียนรู้ที่จะผิดหวัง ที่จะรู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งกาจ และเข้าใจว่าโลกใบนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคมากมายมีตลอดทาง ทุกวันนี้ก็คิดเช่นนี้เหมือนกันทำให้ความทุรนทุรายลดน้อยลง โดยเฉพาะหลายๆครั้งที่เห็นคนหลายคนที่ไม่เหมาะสมแต่กลับได้โอกาส ทำให้ใจเรานิ่งและพยายามพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปแยแสใส่ใจในเรื่องพลาดโอกาสจนเกินไปนัก


 


วันนี้ผู้เขียนจึงหันมามองคนรุ่นใหม่ และพยายามมองพวกเขาอย่างเข้าใจ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะอดทนกับความผิดหวังได้มากแค่ไหน จะมีความหมั่นเพียรวิริยะแค่ไหน และมีความบากบั่นหรือไม่ อยากให้พวกเขารู้ว่าการที่เป็นผู้อดทนต่อความผิดหวังหรือพ่ายแพ้ได้นั้นมีความยิ่งใหญ่กว่าผู้ชนะหรือผู้สมหวังเสียอีก


 


(หมายเหตุ--เสียดายที่เพลงนี้ไม่เป็นที่นิยมพอที่จะมีมิวสิควิดีโอหรือเป็นเพลงบนเน็ต จึงไม่มีให้ฟังมี แต่เพียงแค่อ่านเนื้อเพลง ก็คงได้ไอเดียไปบ้าง)