Skip to main content

เมื่อ "คนดี" ไม่อยู่ส่วน "คนดี"

คอลัมน์/ชุมชน

-1-


 


โลกของ "คนดี" เป็นโลกปิด เป็นที่ซึ่งแสงสว่างจากภายนอกไม่อาจส่องเข้าไปได้  แสงสว่างที่อุปมาได้กับเหตุผล ความโปร่งใสหรือการตรวจสอบได้ เมื่อโลกของ "คนดี" มีกำแพงบังกั้น "คนดี" จึงไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือตรวจสอบ


 


แต่การเป็น "คนดี" ไม่ใช่จู่ๆ จะเป็นกันได้ ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้ที่มีโอกาสได้เป็น "คนดี" เพราะการเป็น "คนดี" ต้องอาศัยบุญบารมีที่สั่งสมมายาวนานตลอดจนการสร้างภาพอุปโลกน์ตัวเองกระทั่งอ้างอิงตัวเองกับ "คนดี" ที่ใหญ่กว่า เป็นต้นว่า "พระเจ้า"  หรือพระพุทธเจ้าหรืออาจรวมถึงผู้ปกครองที่ทรงทศพิธราชธรรมก็ได้   


 


การเป็น "คนดี" จึงเกิดขึ้นลอย ๆ ไม่ได้ มันจำเป็นต้องอ้างอิงหรือได้รับการยืนยันจากคนอื่น ๆ   การเป็น "คนดี" จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ หรือทำการโฆษณาชวนเชื่อควบคู่ไปด้วย การเป็น "คนดี" ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม


 


สิ่งหนึ่งในโปรเจคขั้นตอนของการเป็น "คนดี" คือการกล่าวหาคนอื่นว่า "ดีน้อยกว่า" กระทั่งประณามว่า "เลว" นี่เป็นสิ่งจำเป็นที่ "คนดี" ต้องทำเพราะการกล่าวประณามคนอื่นมันคือการยกตัวเองให้สูงขึ้นในขณะเดียวกัน


 


เราจึงได้เห็น "คนดี" เดินสายไปทั่วประเทศเพื่อโจมตีคนนั้น คนนี้  "เป้า" ที่ "คนดี" มักจะโจมตีก็คือนักการเมืองเพราะภาพของนักการเมืองถูกเหมารวมไปแล้วในประเทศไทยว่าเป็นพวก "อัปรียชน"  ยิ่งเป็นนักการเมืองระดับสูงหรือนักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่ ๆ  แล้วยิ่งทำให้ความเป็น "คนดี" มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย


 


ที่ๆ "คนดี" เดินสายไปพูดกล่าวหานักการเมือง ก็มักจะเป็นตามสถาบันทางการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ เพราะสถาบันเหล่านี้ว่ากันว่ามีความเป็นกลาง ปราศจากอคติ  ตลอดจนโอกาสสำคัญ ๆ เช่นวันขึ้นปีใหม่ ตลอดจนเวลาที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ พวก "คนดี" ก็จะฉวยโอกาสนี้ไว้ทันที "คนดี" จะเสนอทางออกให้บ้านเมือง เสนอทางเลือกให้สังคมพิจารณา ในบางโอกาส "คนดี" ก็อาจไม่ใช่แค่พูดเพื่อเสนอแนะเท่านั้น แต่ลงมือกระทำเองด้วย


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าการเป็น "คนดี" เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับหลักการทางการตลาดอย่างมาก การเป็น "คนดี" ต้องทำการวิจัยตลาดเพื่อเช็คดูว่าผู้ "บริโภคความดี" ทั้งหลายมีรสนิยมในการบริโภคอย่างไร และดังนั้นการเป็น "คนดี" จึงเชื่อมโยงกับการสื่อสารมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


อันที่จริงสื่อมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้าง "คนดี" และในการสร้าง "คนชั่ว" และสื่อก็มีเกณฑ์บางอย่างของตัวเองอยู่แล้วในการสร้างลักษณะทั้งสองขึ้นมา ความสามารถของสื่อโดยเฉพาะสื่อที่คนเสพเยอะ ๆ นั้น ไม่ได้อยู่ที่การสร้างหรือทำลายเท่านั้น หากแต่สื่อสามารถกลับขาวเป็นดำหรือกลับดำเป็นขาวได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือกรณีของ "คาร์บอมบ์" ซึ่งสื่อบางยี่ห้อระบุทันทีว่าเป็น  "คาร์บ๊อง"  


 


แต่หากสื่อสร้างเรื่องเต้าข่าวโดยทำได้ไม่ "เนียน" พอ  และสังคมรู้ทัน สื่อนั้น ๆ ก็อาจกลายเป็นตัวตลกไปได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณี "ทุบพระพรหม" ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งสื่อบางยี่ห้อบอกว่าเป็นผลงานของรัฐบาลเพื่อลดกระแสขาลง – นี่เป็นตัวอย่างที่น่าขายหน้าของสื่อยี่ห้อที่ว่านี้เพราะในกรณีนี้แทบไม่มีใครเชื่อเลย


 


-2-


 


เรามักจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอว่าในสังคมนั้นมีทั้ง "คนดี" และ "คนไม่ดี" นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวแล้วว่าการเป็น "คนดี" นั้นเป็นสิ่งที่ต้อง "สร้าง" หรือพูดภาษาแฟชั่นวิชาการก็คือคำว่า "คนดี" นั้นเป็นเพียง "วาทกรรม" อันหมายถึงว่าความดีไม่ได้เกิดขึ้นมาจากจิตใจภายในแต่เป็นการประกอบสร้างขึ้น  "คนดี" จึงไม่ได้ "ดี"  จริง ๆ


 


แต่การตรวจสอบบรรดา "คนดี" ว่า "ดี" จริง ๆ หรือเปล่านั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเพราะว่าโลกของ "คนดี" เป็นโลกปิดดังที่กล่าวตอนต้น  ต่อเมื่อ "คนดี" เดินออกมาจากโลกปิด ออกมาเกลือกกลั้วให้ตัวเปลืองกับโลกข้างนอกหรืออาจเรียกว่าโลกของ "การเมือง" เราก็อาจพอมองเห็นหรือตรวจสอบได้บ้างว่าไอ้ที่ว่า "ดี" นั้น มัน "ดี" จริงๆ หรือเปล่า


 


บางทีคำตอบที่ได้รับอาจทำให้ตกอกตกใจกันก็ได้ แต่บางทีมันก็กลายเป็นเรื่องตลกขบขันกระทั่งน่าสังเวชเสียมากกว่าเมื่อได้รู้ว่า "คนดี" ซึ่งชอบประณามคนอื่นว่า "เลว" นั้นที่แท้ก็ "เลวเหมือนกัน" หรืออาจจะ "เลวกว่า" ด้วยซ้ำไป


 


"คนดี" เมื่อออกมาอยู่ในโลกการเมืองไม่อาจซ่อนตัวปิดบังหรือ "แอบ" ได้อีกต่อไปเพราะการเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้เอาชนะที่ใช้กลวิธีหลากหลายรูปแบบ ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นว่า "พวกคนดี" ที่ชอบด่าคนอื่นมีข้อน่ากังขาทางศีลธรรมอย่างมากเพราะ "คนดี" บางคนมีเมียหลายคนโดยจดทะเบียนสมรสหลายหน "คนดี" บางคนมีบ้านหลายหลัง บางหลังก็อยู่ในป่าที่มีโบกี้รถไฟเป็นของสะสมซึ่งสามารถเนรมิตให้หายไปได้ราวปาฏิหาริย์ "คนดี" บางคนใช้ปากพูดเรื่องจริยธรรมในขณะที่กำลังข่มขืนใจคนอื่น 


 


-3-


 


เมื่อแสงสว่างส่องเข้าไปในโลก "คนดี" หรือ "คนดี" เดินออกมาหาแสงสว่าง ก็ทำให้สังคมได้รู้จักและรู้ทันพวก "คนดี" ว่าพวก "คนดี" นั้นที่แท้แล้วก็เน่าเหม็นฉาวโฉ่ไม่ต่างอะไรจาก "คนชั่ว" ที่ "คนดี" ชอบประณาม.