Skip to main content

ทำไมเราถึงอยากได้กฎหมาย ?

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้หญิงสีรุ้งตอนนี้ คราวแรกว่าจะเขียนเรื่องเปิด/ไม่เปิด (ตัวว่าเรามีวิถีชีวิตทางเพศอย่างไร) ค่ะ เพราะรู้สึกว่ามีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเอง


แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกันถูกพูดถึงมากกว่าในวงกว้าง ผู้เขียนจึงขอมาเขียนถึงประเด็นนี้ก่อนก็แล้วกันนะคะ ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง


ความจริงเรื่องจดทะเบียนรับรองคู่คนรักเพศเดียวกันนี้ ก็เป็นเรื่องที่คุยกันมานานเหมือนกันค่ะในกลุ่มคนทำงานประเด็นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อยากให้มีอยากให้จด แต่ดูเหมือนสถานการณ์ทางสังคมจะไม่ค่อยเอื้อให้สักเท่าไร


ผู้เขียนจำได้ว่าประมาณเดือนเมษายน ปี 2544 ที่ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ท่านออกมาให้สัมภาษณ์ไปในทำนองว่าเห็นด้วยที่จะให้มีการจดทะเบียนคู่ของคนเพศเดียวกัน ซึ่งก็สร้างความดีอกดีใจให้กับกลุ่มคนทำงานเรื่องนี้มาก พวกเราถึงกับนำช่อดอกไม้ไปมอบให้ท่านที่กระทรวงเลยทีเดียว


แต่ว่าความเห็นของ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ในตอนนั้นดูจะแปลกใหม่ มาแรงไปสักหน่อย คณะรัฐบาลขณะนั้น รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ให้สัมภาษณ์อีกทีหลังจากนั้นว่าไม่เห็นด้วย ("กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดของนายปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะเสนอออกกฎหมายรับรองพวกรักร่วมเพศให้สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ อ้างว่าประเทศไทยยังไม่มีเสรีภาพถึงขั้นนั้น และยังมองว่ากลุ่มรักร่วมเพศเป็นกลุ่มที่มีความผิดปกติทางอารมณ์นั้น" จาก นสพ.มติชน วันที่ 9 เมษายน 2544) ทำให้ประเด็นดังกล่าวอ่อนแรงไปในที่สุด ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ตอนนี้ท่านนายกฯ เห็นด้วยแล้วหรือยัง เพราะประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของท่านจะสนับสนุนอย่างเต็มที่


แต่นอกเหนือจากนั้นกลุ่มที่ทำงานประเด็นสิทธิคนรักเพศเดียวกันในขณะนั้นก็มีเพียงกลุ่มอัญจารีกลุ่มเดียว ขณะที่กลุ่มชายรักชายส่วนใหญ่จะเน้นการทำงานในประเด็นเรื่องเอดส์มากกว่า


แต่ในปัจจุบัน มีองค์กรทำงานประเด็นคนรักเพศเดียวกันเกิดขึ้นหลายองค์กร และทำงานในประเด็นที่หลากหลายขึ้น รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนรักเพศเดียวกันนี้ด้วย ในกลุ่มคนทำงานก็เห็นตรงกันว่าควรจะเริ่มต้นรณรงค์เรื่องกฎหมายสำหรับคนรักเพศเดียวกันได้แล้ว


เพราะที่ผ่านมาก็มีหลาย ๆ เหตุการณ์ที่หน่วยงานของรัฐเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกัน อาทิ ปี 2540 ที่สถาบันราชภัฎออกกฎ ห้ามไม่ให้เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ โดยอ้างว่าจะทำให้เด็ก ๆ เลียนแบบ เมื่อจบออกไปเป็นครูสอนเด็ก


ต่อมาปี 2542 ถัดมา กรมประชาสัมพันธ์ ก็ได้ทำหนังสือถึงสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่อง ให้กวดขันในการนำเสนอภาพของเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ทางจอทีวี ด้วยการอ้างว่า เด็ก ๆ จะเลียนแบบอีกนั่นล่ะ


ล่าสุด เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปี 2547 นายกล้า สมตระกูล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ว่า "กระทรวงวัฒนธรรมจะรณรงค์อย่างจริงจังเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ แม้ว่าจะไม่สามารถไปไล่จับให้เข้าคุก หรือมีบทลงโทษทางกฎหมายเหมือนกับสื่อลามกอนาจาร แต่จะเรียกร้องให้ประชาสังคมช่วยกันต่อต้าน ไม่ให้พฤติกรรมรักร่วมเพศแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ รวมทั้งในสื่อต่าง ๆ ไม่ควรที่จะให้มีการนำแสดงรักร่วมเพศออกอากาศ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะทำหนังสือไปถึงสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เพื่อขอความร่วมมือในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม จะมีการจัดระเบียบเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ให้มีการเปิดรับผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเข้าทำงาน ซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบ และบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงออก ต้องใช้เวลากว่าจะรู้ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องกับสังคม เพราะถ้ากระทรวงวัฒนธรรมรณรงค์ แต่กลับเป็นเสียเอง สังคมคงจะไม่ฟังเสียง" จาก นสพ.ไทยรัฐ 4 มิ.ย. 2547


แม้ต่อมานายกล้า สมตระกูล จะอ้างว่าไม่ได้ให้สัมภาษณ์เช่นนั้นก็ตาม


เหตุการณ์ทั้งหลายข้างต้น ทำให้คนรักเพศเดียวกันไม่มีความมั่นใจ หรือรู้สึกมั่นคงในการดำเนินชีวิต เพราะจะไม่รู้เลยว่าเมื่อใดที่ผู้บริหารองค์กรของรัฐจะนึกครึ้มกระทำการเช่นนี้อีก


ขนาดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่จะอ้างถึงความเท่าเทียมของผู้ชาย/ผู้หญิง และเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2540 ยังทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ นี่ไม่นับเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลที่มีที่มาจากอคติต่อคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนมาก


ดังนั้นแล้ว ความต้องการขอมีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตแบบคนรักเพศเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่คนทำงานในประเด็นคนรักเพศเดียวกัน เห็นตรงกันว่าควรจะมี และคาดหวังว่ามันจะทำให้คนรักเพศเดียวกันทั้งที่มีคู่และไม่มีคู่มีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตแบบที่ตนเลือก


ส่วนจะเป็นกฎหมายจดทะเบียนรับรองชีวิตคู่หรือไม่ หรือจะเป็นกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลดี คงเป็นเรื่องที่ต้องทำงานศึกษาหาข้อดี/ข้อด้อยกันต่อไป


เพราะทางกลุ่มคนทำงานในประเด็นนี้ก็รู้อยู่ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ และคงใช้เวลาในการทำงานกันไม่ใช่น้อยๆ อาจ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี


แต่อย่างน้อย บัดนี้เราได้เริ่มต้นกันแล้วค่ะ