Skip to main content

ความรักของมาตุธาร

คอลัมน์/ชุมชน

ต้นเดือนมกราคม 2550 หมู่บ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน


 


สายวันนั้น…ผมกระชับเสื้อหนาวให้แนบตัวขับไล่ความเย็นขณะเดินอยู่บนหาดทราย ณ จุดบรรจบของสองสายน้ำบริเวณตะเข็บชายแดนตะวันตก


 


สำหรับคนกรุงส่วนใหญ่ ชื่อหมู่บ้านสบเมยอาจเป็นที่คุ้นหูด้วยนอกจากตกเป็นข่าวบ่อยครั้งแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเคยเป็นฉากในภาพยนตร์ดังอย่าง "มือปืนสาละวิน" ของท่านมุ้ยเมื่อหลายปีก่อน


 


หากแต่มันไกลเกินกว่าจะจินตนาการของหลายคนจะไปถึง ด้วยระยะทางห่างจากเมืองหลวงร่วมพันกิโลเมตร ซึ่งถ้าหากกางแผนที่จะพบว่าสบเมยนอกจากจะเป็นชื่อของหมู่บ้านนี้แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นชื่อของอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน


 


ทิศตะวันตกมีแม่น้ำคง (สาละวิน) และแม่น้ำเมย เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า


 


ณ จุดบรรจบของแม่น้ำสองสาย คือที่ตั้งของหมู่บ้านสบเมยที่ผมยืนอยู่


 



 


ปัจจุบันการเดินทางมาหมู่บ้านที่สะดวกที่สุดทำได้โดยการขับรถไปที่บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมยแล้วนั่งเรือลัดเลาะชายแดนไทยพม่ามาตามลำน้ำสาละวินจนถึงหมู่บ้าน ส่วนอีกทางหนึ่งคือ นั่งรถขับเคลื่อน 4 ล้อผ่านถนนขรุขระเข้าทางด้านอำเภอแม่สะเรียง


 


ขณะที่กรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงถึง 35 องศาตลอดทั้งกลางวันกลางคืน หมู่บ้านสบเมยก็มีอุณหภูมิสูงถึง 30 กว่าองศาในเวลากลางวันเช่นกัน หากที่ต่างกันคือในเวลากลางคืนมันลดลงเหลือ 10 กว่าองศา


 


เพลาย่ำรุ่ง ผมพบว่าสบเมยเต็มไปด้วยหมอกหนาทึบสมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสามหมอก (แม่ฮ่องสอน)


 


ด้วยพื้นที่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของที่นี่หนาแน่นด้วยป่าและเทือกเขาสลับซับซ้อน ความชื้นในอากาศย่อมเอื้อต่อการเกิดหมอกมากกว่าที่อื่น


 


ในฤดูหนาว หมอกเกิดจากความชื้นในอากาศที่ถูกแสงอาทิตย์ในช่วงย่ำรุ่ง ในฤดูร้อน หมอกเกิดจากควันอันมีที่มาจากการเผาไร่เตรียมดินเพาะปลูก ในฤดูฝน หมอกเกิดจากความชื้นจำนวนมหาศาลที่เดินทางมากับลมมรสุม


 


เช่นเดียวกัน ชื่อหมู่บ้านสบเมยมีที่มาจากสภาพทางธรรมชาติคือการบรรจบกันของแม่น้ำสองสาย


 


สายหนึ่งคือแม่น้ำนานาชาตินาม "นู่เจียง" (จีน) "ตานลวิน"(พม่า) หรือ "สาละวิน" ในภาษาไทย  ๑ ใน ๓  มาตุธารซึ่งมีต้นกำเนิดในที่ราบสูงทิเบตเช่นเดียวกับน้ำโขงและแยงซีเกียง หลังกำเนิดจากทิเบต สาละวินก็ไหลเข้าสู่ดินแดนรัฐฉานของชาวไทใหญ่  ทอดตัวเป็นส่วนหนึ่งของพรมแดนไทย-พม่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนไหลมาพบแม่น้ำเมยที่ "สบเมย" แล้วเลี้ยวเข้าเขตพม่าอีกครั้งเพื่อ ไปไหลลงอ่าวมะตะบันในดินแดนพม่า กินระยะทางทั้งหมด 2,815 กิโลเมตร


 


อีกสายหนึ่งคือ แม่น้ำเมย ซึ่งมีต้นกำเนิดในตำบลพบพระ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม่น้ำสายนี้ไหลไปทางทิศเหนือเมื่ออกจากจุดกำเนิด โดยทำหน้าที่เป็นแนวชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง (จังหวัดตาก) จนถึงอำเภอสบเมย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) แล้วจึงรวมกับสาละวินที่ไหลมาทางทิศเหนือ


 


ณ จุดบรรจบของแม่น้ำสองสาย…มีเรื่องเล่าในท้องถิ่นว่า น้ำในสาละวินเย็นเพราะกำเนิดจากหิมะ  ขณะที่น้ำในแม่น้ำเมยอบอุ่นด้วยเป็นผลผลิตจากป่าเขตร้อน


 


ผมเอามือข้างหนึ่งจุ่มน้ำเมย เอามืออีกข้างหนึ่งจุ่มน้ำสาละวิน - - ก็เห็นจริง


 



 


หมู่บ้านสบเมยผ่านช่วงเวลาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่เป็นชุมทางค้าขายสำคัญระหว่างดินแดนล้านนากับหัวเมืองมอญบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ตราบถึงยุคสมัยที่รัฐชาติก่อกำเนิด สบเมยก็ลึกลับดำมืด ด้วยถูกชนกลุ่มน้อยและกองทหารฝ่ายต่างๆ ใช้เป็นเส้นทางอพยพหลบภัย ค้าขายยาเสพติด อาวุธสงคราม ฯลฯ และบางครั้ง ถึงกับเป็นสมรภูมิรบระหว่างกองกำลังกระเหรี่ยงกับกองกำลังทหารพม่า


                                 


เกิดผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก มีเด็กผู้บริสุทธิ์เกิดขึ้นระหว่างสงครามจำนวนนับไม่ถ้วน โดยที่รัฐบาลไทยและพม่าเลือกจะไม่รับรู้ชะตากรรมของพวกเขา ปัจจุบันจึงมีคนไร้รัฐจำนวนมากอาศัยอยู่ตามสองฝั่งน้ำ


 


ถึงวันนี้ มิมีผู้ใดเคยนับ หรือทำสถิติ ว่ามหานทีสองสายนี้รองรองรับศพนิรนามมาแล้วสักกี่ศพ


 


* * * * * * *


 


สายวันนั้นที่สบเมย ผมสัมผัสความอบอุ่นและเย็นฉ่ำจากมาตุธารต่างสายในสถานที่แห่งเดียว


ดวงหน้าของชนกลุ่มน้อยในดินแดนต่างๆ ที่เคยสัมผัสผุดขึ้นในความทรงจำนับไม่ถ้วน


ในอดีต แม่น้ำไม่ว่าจะอุ่นหรือเย็นก็ไม่เคยแบ่งแยกผู้คนและชนเผ่า


 


แล้วไยเล่า…มนุษย์จึงใช้มหานทีทำเส้นพรมแดน ตัดขาดพี่น้อง ตีตราคนจำนวนหนึ่งให้เถื่อน แล้วให้คนที่ได้ชื่อว่าไม่เถื่อนประณามหยามเหยียดอีกฝ่ายอย่างไม่ใช่มนุษย์


ทั้งที่มาตุธารทุกสาย ต่างก็มอบความรักให้แก่มนุษยชาติอย่างเท่าเทียมกันมายาวนานนับล้านปี