Skip to main content

อาสาชมดอย ’50 : ร้อยเรียงเริ่มต้นเยาวชนอาสา (จบ)

คอลัมน์/ชุมชน

การจัดงานอาสาชมดอย ’50 ในวันที่ 20 มกราคม 2550 ถือว่าเป็นงานแรกของเพื่อนๆ หลายคน เพราะบางคนเพิ่งเคยร่วมจัดค่ายในลักษณะเช่นนี้เป็นครั้งแรก - ทำให้ตื่นเต้นไปตามๆ กัน


 


ในค่ำคืนก่อนวันที่ 20 ผมและเพื่อนๆประมาณ 7-8 คน ช่วยกันหุงข้าว (นึ่ง) เหนียว เพื่อเก็บไว้กินในมื้อเช้า ช่วงที่รอข้าวจะสุก พวกเราก็นั่งคุยกันเรื่องชีวิตแต่ละคน เรื่องงานที่จะมีขึ้น ร้องเพลง ตีกลอง เสียงดังไปทั่ว แม้ว่าอากาศตอนกลางคืนจะหนาว แต่การพูดคุยก็ช่วยให้ลืมความหนาวไปได้


 


ข้าวที่นึ่งรอบแรกสุกและเหนียวพอน่ากิน แต่ว่ารอบสองกลับสุกไม่หมด เพราะยังเป็น "สาร" อยู่ คือยังไม่สุกมากพอที่จะกินได้ เนื่องเพราะผมคำนวณระยะเวลาผิดพลาด ทำให้เพื่อนๆ หลายคนต้องกินข้าวที่ไม่สุก


 


คืนนี้ ผมเอาผ้าห่มและหมอนมาปูนอนตรงระเบียงข้างโรงครัวที่พวกเราทำเป็นที่ทำอาหาร – ลมเย็นที่พัดผ่านมา ทำให้หนาวจับใจ พอตื่นเช้ามาก็พบว่าใบหน้าแดงกร่ำ ริมฝีปากเริ่มแตกทีละนิดๆ คงจะเป็นเพราะตากแดดเมื่อตอนกลางวันแล้วมาตากลมหนาวตอนกลางคืน ทำให้พลังงานในร่างกาย และแรงขับของผิวหนังออกมาเป็นอาการแสบๆ คันๆ แดงกร่ำ เป็นจุดๆ


 


รุ่งเช้าวันที่ 20 พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 6 โมงกว่า ทีมงานหลายคนตื่นมาแต่เช้าเพื่อจัดเตรียม สถานที่ เวทีเตรียมเครื่องเสียง เด็กๆ เริ่มทยอยมาเรื่อยๆ ด้านทีมทำอาหารก็ขะมักเขม้นกับการทำกับข้าวเพื่อให้ทันเวลาก่อนงานจะเริ่ม


 


"พี่ครับ เมื่อไหร่จะเริ่มงานครับ" เด็กผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาถามผม จากนั้นผมก็มองดูนาฬิกาที่ข้อมือ ซึ่งบอกเวลาว่าเพิ่งจะ 7 โมงกว่าเท่านั้นเอง


ผมจึงตอบน้องผู้ชาย "อีก 2 ชั่วโมงนะครับ ประมาณ 9 โมงกว่างานจะเริ่มนะ รอนิดนะครับ"  ……


"ครับผ้ม" เด็กชายยิ้มแล้ววิ่งกลับไปหาเพื่อนๆ ที่ยืนมองดูอยู่ประมาณ 5 คน


 


เมื่อพระอาทิตย์เริ่มโผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า ส่องแสงเจิดจ้า ปล่อยพลังความร้อน เข้ามากลบความเย็นทำให้คนที่หนาวๆ ออกมายืนตากแสงแดด ทีมงานหลายคนเริ่มจัดของเข้าที่เข้าทาง เหลียวมองดูอีกที เด็กๆ ก็มากันเต็มโรงเรียนแล้ว


 


"ปกติ เด็กๆ จะมาโรงเรียนเช้ากว่านี้ วันนี้ถือว่ามาสายแล้วนะเนี๊ย" ครูที่ดูแลเครื่องเสียง ตอบผม หลังจากที่ผมสงสัยว่าทำไมเด็กๆ จึงมาแต่เช้า (อาสาบางคนยังไม่ตื่นเลยครับ ฮ่าๆ)


 


อย่างไรเสีย เมื่อเวลาเริ่มงานมาถึง เยาวชนอาสาทุกคนต่างเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะทำกิจกรรมในวันนี้ บางคนที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ไปช่วยกันทำอาหารกลางวัน บางคนก็เป็นพี่เลี้ยงเด็กๆ แต่ละสี ส่วนผมทำหน้าที่เป็นพิธีกร คู่กับพี่จิ๊บ (นิศาชล สืบแจ้ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน)


 



เข้าแถวเป็นวงกลมเพื่อแบ่งสีทำกิจกรรม


 


 


แม้ว่าจะมีกำหนดการที่ระบุเวลาไว้อย่างละเอียด แต่เราสองคนก็พากันออกนอกตารางอยู่บ่อยครั้ง แต่สุดท้ายกิจกรรมบนเวทีก็เสร็จตามเวลาที่ระบุไว้ คือ มีกิจกรรมการแข่งกีฬาต่างๆ ของแต่ละสี (6 สี) มีการเล่นเกม นันทนาการต่างๆ เช่น เกมเก้าอี้ดนตรี เกมเหยียบลูกโป่ง เกมเต้นกระด้าง เป็นต้น


 



เกมเป่าลูกโป่งบนเวที


 


ส่วนด้านรอบเวที มีการจัดบู๊ธนิทรรศการต่างๆ ของกลุ่มเยาวชน องค์กรภาคี ในบู๊ธมีเกมให้เด็กๆ ได้เล่นเพื่อแลกของขวัญต่างๆ ทั้งปาเป้า โยนห่วง เป้าลูกโป่ง นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก เรื่องเอดส์ เพศศึกษา มีกองผ้าบริจาคที่ให้เด็กๆ และผู้ปกครองมาเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่เหมาะสมกับตนเอง


 


นอกจากนี้ ก็มีเสาน้ำมัน ข้างๆ เวทีด้วย ส่วนกิจกรรมที่แต่ละสีแข่งขันกันก็มี การวิ่งสามขา กินวิบาก โยนลูกโป่งน้ำ วิ่งผลัดลูกโป่ง – โดยมีเพื่อนเยาวชนอาสา ร่วมเล่นกับเด็กๆ ในแต่ละสี


 



วิ่งสามขา พี่กับน้องคล้องเท้าวิ่ง


 



เกมปิดตาป้อนขนม


 


เสียงเพลงจากลำโพงดังไปทั่วบริเวณโรงเรียน ชาวบ้านบางส่วนก็พาลูกหลานทยอยมาร่วมกิจกรรม นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาเที่ยวในโรงเรียนก็มาร่วมกิจกรรม มีทั้งทีมช่างภาพอิสระ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งฝรั่งและคนจีน ซึ่งล้วนได้รับความสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีการขอข้อมูลเกี่ยวกับพวกเราที่มาจัดงาน


 



น้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรม


 


ด้านบนเวทีมีกิจกรรมต่อเนื่องเรื่อยๆ มีการร้องเพลงต่างๆ เป็นระยะ พร้อมสัมภาษณ์เด็กๆ สลับไปมา


 


"ผมชอบหน้ากากมากเลยครับ" น้องคนหนึ่งอายุประมาณ 5 ขวบ ตอบคำถามผม หลังจากที่ได้รับหน้ากาก ยอดมนุษย์ ไป "ชอบหน้ากาก..อืม....แล้วชอบพี่เต้าไหมครับ" ผมยิ้มถาม "ไม่ชอบครับ" เด็กชายตอบ 


 


ผมยิงคำถามต่อ "อ้าว เอาใหม่ๆ ..แล้วพี่เต้าน่ารักไหม" …."น่ารักครับ" เด็กชายตอบ แต่เสียงอื้ออึงจากเพื่อนๆ ข้างเวที ดังขึ้นด้วยน้ำเสียงหมั่นไส้ - ผมถามเด็กชายอีกครั้ง "แล้วสรุปชอบพี่เต้าไหม"…."อืม ไม่ครับ เซ็งคร้าบ" เด็กชายตอบแล้วหัวเราะ ส่วนเพื่อนๆ ข้างเวทีต่างโห่ร้องด้วยความชอบใจ


 



เด็กชายในชุดหน้ากาก คนนี้แหล่ะที่บอกว่า เซ็งผม


 


มุขตลกบนเวทีมีเป็นระยะๆ – "ปู อะไรมีสิบขา" พี่ตูน ถือไมค์ถามคนในงาน "ปูม้า" "ผิด" "ปูลม" "ผิด" ไม่มีใครตอบถูก …. พี่ตูน เฉลย "ปู เสื่อนอนกันห้าคนไง มีสิบขา" ทุกคนโห่พร้อมๆ กันกับคำตอบที่เกินคิดไว้


 


มีอีกคำถามที่ไม่ได้ถามบนเวที คือ "อะไรคือ แมวเย้ๆ" – ผมตอบผิดอยู่นานกว่าจะรู้ว่าคำตอบคือ "แคชเชียร์" (ฮาไหมล่ะครับ)


 


กิจกรรมดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่งานจะเสร็จสิ้น ของขวัญที่เตรียมมา ทั้งขนม ของเล่น ฯลฯ ใกล้หมด น้องๆ หลายคนวิ่งเล่นของเล่นไปมา บางคนยิ้มแป้นแต่เช้า บางคนก็ร้องไห้ที่ถูกเพื่อนแย่งขนม เยาวชนอาสาก็สนุกไปตามๆ กัน


 


ในช่วงท้ายของงาน ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีเนห์รู ได้กล่าวปิดงาน ซึ่งพอสรุปได้ว่า "ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เยาวชนจากเครือข่ายเยาวชนกลุ่มต่างๆ สนใจการทำงานเพื่อสังคม เยาวชนเป็นพลังที่เข้มแข็งและต้องช่วยกันทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม การจัดงานในวันนี้โรงเรียนขอขอบใจน้องๆ เยาวชนอาสาทุกๆ คน และขอให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะทำงานอาสาต่อไป ให้สมกับการเป็นอนาคตของชาติ"


 


หลังจากนั้น ทีมงานก็ค่อยๆ ช่วยกันทยอยเก็บข้าวของที่จัดงาน ทำความสะอาดสถานที่ และเดินทางกลับบ้านของตน ทว่าก็มีบางกลุ่มที่ยังอยู่ข้างบนนี้ต่อ เพราะยังอยากคุยกันเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานต่อ จึงอยู่กันต่ออีกหนึ่งคืน


 



ขนของกลับบ้าน


 


"เวลาเห็นเด็กๆ ยิ้มแล้วผมมีความสุขมากเลยครับ มางานแบบนี้ได้เปิดมุมมองของเราหลายๆ อย่าง" น้องเยาวชนจากลำพูนพูดกับผม ส่วนน้องผู้หญิงอีกคนก็บอกว่า "ถ้ามีโอกาสคงจะไปจัดในชุมชนของตัวเองบ้าง เพราะได้รูปแบบการจัดงานจากที่นี้ ได้เห็นงาน แล้วคงจะเอาไปทำต่อ ไม่อยากให้จัดแค่วันนี้วันเดียว อยากให้มีต่อเนื่อง"


 


ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับข้อเสนอของน้องผู้หญิง เพราะคิดว่าคงจะต้องมีการจัดกิจกรรมอย่างนี้บ่อยๆ และหากเป็นไปได้คงจะทำให้ที่ที่การพัฒนาเข้าไม่ถึง และยังขาดแคลนอยู่จริงๆ ผมชอบที่เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า "งานพัฒนาสังคม งานการเมือง และงานสังคมสงเคราะห์ อาจเหมาะกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน แต่ผมว่าไม่ควรละงานสามส่วนนี้ เพราะมันมีส่วนสัมพันธ์กันอยู่ งานอาสาชมดอยก็น่าจะทำให้เราได้เรียนรู้งานอาสา และงานช่วยเหลือๆ มากขึ้น"


 


ใช่ครับ, งานด้านสังคมมีมากมายหลายรูปแบบ การที่เยาวชนออกมาอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อคนอื่น ก็น่าจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ใช่งานพัฒนาทางด้านความคิด แต่การจัดค่ายอาสา หรือ ค่ายสร้างต่างๆ ก็เป็นเป็นการบ่มเพาะจิตอาสา สำนึกต่อผู้อื่น ได้มากกว่าการนั่งประชุม ฟังการเสวนา


 


บางครั้งการเก็บขยะ หรือพาคนชราข้ามถนน หรืองานเล็กๆต่างๆ ที่ได้ทำ แม้ว่ามันไม่ได้สะเทือนต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างสังคม แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่หากได้รับการสนับสนุน หรือมีแนวร่วมทำ ก็น่าจะเป็นไฟให้คนๆ นั้นทำอะไรที่มากกว่าที่เริ่มต้น


 


งานอาสาชมดอย ’50 จบลงด้วยการเริ่มต้นของความเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องของเยาวชนอาสาที่มาร่วมกิจกรรม รวมถึงน้องๆ เด็กๆ โรงเรียนศรีเนห์รู ที่ได้พบปะ พูดคุย ร่วมสนุกสนานกับพี่ๆ เยาวชน การเริ่มต้นเล็กๆ นี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยในวันข้างหน้า….ผมเชื่อเช่นนั้นครับ