Skip to main content

Land of war : กบฎนักข่าว : เรียนรู้บทเรียนจากสื่อตากาล็อค (ต่อ)

"สงครามนองเลือด", "สงครามกลางเมือง" ระหว่างกลุ่มปลดปล่อยมุสลิมกับกองทัพแห่งฟิลิปปินส์เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ.1974 และ ค.ศ.2000-2003 รากเหง้าของปัญหาระหว่างกลุ่มปลดปล่อยมุสลิมกับรัฐบาลในฟิลิปปินส์ ต้องนับย้อนกลับไปในยุคล่าอาณานิคมสมัยสเปนและสหรัฐอเมริกา ที่ปกครองดินแดนแถบนี้ พลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามมีความรู้สึกต่อต้านเจ้าอาณานิคมมาตั้งแต่ยุคนั้น เพราะทำให้พวกเขาเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ไร้สิทธิทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม รวมไปถึงกฎหมายการครอบครองที่ดินที่กำหนดโดยเจ้าอาณานิคม สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้พวกเขาสูญเสียการครอบครองที่ดิน ที่ดินส่วนใหญ่ถูกรวมเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งพวกเขาเรียกว่า "การขโมยดินแดนอย่างถูกกฎหมาย" ของกลุ่มผลประโยชน์จากอาณานิคม และเป็นปัญหาฝังรากลึกมากระทั่งปัจจุบัน


 


อีกส่วนหนึ่ง วิถีชีวิตของมุสลิมเป็นวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย สิ่งหนึ่งที่ชุมชนมุสลิมในฟิลิปปินส์กลัวก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบจากอิทธิพลของวิถีชีวิตแบบตะวันตก การครองครองสื่อของทุน และอิทธิพลสื่อจะครอบงำคนมุสลิม พวกเขากลัวว่า พฤติกรรมและวิถีชีวิต (way of life) จะถูกเปลี่ยนแปลงจากวิถีการดำเนินชีวิตแบบตะวันตกและทุนนิยม


 


ชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตอนใต้ของเกาะมินดาเนา เช่น จังหวัดโกตาบาโต จังหวัดลาเนา จังหวัดตาวีตาวี จังหวัดบาสิลัน หมู่เกาะโซโล จังหวัดปาลาวัน จังหวัดดาเวา จังหวัดซันกิล จังหวัดซามบังวา เป็นต้น


การก่อตัวเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลส่วนกลางจึงมีมายาวนาน คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969- ปัจจุบัน มีการบันทึกตัวเลขความสูญเสียจากการทำสงครามต่อเนื่องและยาวนาน แต่เป็นตัวเลขที่บันทึกในระหว่างปี ค.ศ. 1969-1974 มีผู้เสียชีวิต 60,000 คน บาดเจ็บ 54,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย 350,000 คน เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดการเจรจาสันติภาพระหว่างกัน ในขณะที่สถิติตัวเลขในประเทศไทยจากบทความของ อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ เรื่อง Islamophobia (จาก www.midnightuniv.org) กล่าวว่า ตลอดเกือบสามปี (35 เดือนกว่า) นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - พฤศจิกายน 2549 พบว่า มีการฆ่ารายวัน วางระเบิด วางเพลิง และการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆ ที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,769 ครั้ง


เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 4,828 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 1,908 คน และผู้บาดเจ็บ 2,920 คน เป้าหมายของการก่อเหตุอยู่ที่ราษฎรทั่วไปมากที่สุด จำนวน 1,646 ครั้ง รองลงมาคือกลุ่มตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวมประมาณ 530 ครั้ง เป้าหมายถัดมาคือทหาร 420 ครั้ง คนงาน และลูกจ้างราชการ 270 ครั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 201 ครั้ง


เมื่อครั้งที่ผู้เขียนลงเก็บข้อมูลในจังหวัดดาเวา ที่เกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อนสื่อมวลชนในเมืองมะนิลา ซึ่งเป็นเจ้าภาพที่ดูแลผู้เขียนเรื่องงานวิจัย มีความวิตกกังวลอย่างสูง วันใดที่ผู้เขียนยังส่งข้อความทางโทรศัพท์ทักทาย พวกเขาก็จะมีความโล่งใจอย่างบอกไม่ถูก นี่เป็นความรู้สึกของคนในจังหวัดอื่นๆ ที่รับรู้ข่าวสารข้อมูลจากพื้นที่ผ่านสื่อต่างๆ เพราะ "การลักพาตัว" (Kidnap) การก่อการร้าย หรือก่อการไม่สงบยังคงมีอยู่ ทั้งในสถานการณ์จริงและในใจของผู้คนชาวฟิลิปปินส์ เพราะที่จังหวัดดาเวาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ยังคงประกาศเคอร์ฟิว คือหลัง 20.00 น. ทุกอย่างบนท้องถนนเงียบสนิท คงมีแต่ผู้เขียนที่มารับทราบทีหลังหลังจากอยู่ที่นั่นสองวันแล้ว เดินเล่นอยู่คนเดียวและคิดไปเองว่า วิถีชีวิตเขาสงบเรียบง่ายนอนเร็วเหมือนคนต่างจังหวัดบ้านเราเลย  และมาทราบทีหลังเหมือนกันว่า ความจริงแล้วที่นั่นมีความปลอดภัยดี ไม่มีใครได้รับอันตรายเหมือนอย่างที่คนมักวิตกกังวล แต่ก็ไม่มีใครกล้ารับประกันเช่นกันว่า จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้นกับผู้มาเยือนเลยก็ตาม


เมื่อเดินทางกลับถึงมะนิลาก็มักจะได้รับการกระเซ้าเย้าแหย่จากเพื่อนสื่อที่นั่นว่า นึกว่าถูกลักพาตัวไปแล้ว ไม่กลัวเหรอ อะไรประมาณนี้ บรรยากาศเหมือนบ้านเราไม่ผิดกันนัก อาการเหมารวมเพราะการรับรู้ข่าวสาร (ไม่รอบด้าน) จากสื่อมักพาความวิตกจริตให้กับญาติและเพื่อนพ้องเสมอ ขณะนี้ผู้เขียนมาศึกษาต่อที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มักจะได้รับความเป็นห่วงเป็นใยสม่ำเสมอจากญาติและเพื่อนพ้องที่ไม่ใช่คนปักษ์ใต้เมื่อมีเหตุการณ์ระเบิดหรือเหตุร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะอยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร


ในจังหวัดดาเวา มีสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง ผู้กล้าต่อกรกับหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักของเมืองหลวงมะนิลา มียอดขายสูงสุดทั่วประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มผู้สื่อข่าวเหล่านี้เป็น correspondent ของหนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดดาเวา ผู้นำการต่อต้านคือ Ms. Carolyn O. Arguillas ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าสำนักงาน ผู้กล้าที่จะสละตำแหน่ง ชื่อเสียง และเงินเดือน (ที่แพง) เพื่อต่อรองการนำเสนอข่าวสารในลักษณะที่ไม่เป็นการขายข่าวมากเกินไปของสำนักงานใหญ่ในเมืองมะนิลา แม้ว่าข้อเท็จจริงดินแดนเกาะมินดาเนาเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และมีสงครามระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มปลดปล่อยมุสลิม แต่คำถามของบรรดานักข่าวที่มินดาเนาต้องการคำตอบคือ "ทำไมลงแต่ข่าวสงคราม" เช่น ระเบิด การลักพาตัว ข่าวอาชญากรรม เป็นต้น ในขณะที่ข่าวด้านอื่นที่สร้างสรรค์ในเกาะมินดาเนา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมถึง 19 จังหวัด นักข่าวหลายคนพยายามส่งไปที่สำนักงานแต่ได้รับความสนใจที่จะตีพิมพ์น้อยมาก และภาพของมินดาเนาในหนังสือพิมพ์คือดินแดนแห่งสงคราม (Land of war) แล้วประชาชนในเกาะมินดาเนาได้อะไรจากข่าว


ผู้สื่อข่าวกลุ่มนี้จึงลาออกจาการเป็น correspondent ของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว และร่วมกันก่อตั้งเว็บไซต์ทางเลือก ชื่อว่า www.mindanews.com ในปี ค.ศ. 1999 เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบหมู่เกาะมินดาเนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการเมืองท้องถิ่น, เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม, วัฒนธรรม  เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับอิสรภาพทางความคิดระหว่างนักข่าวและเจ้าของสื่อ โดยเฉพาะกับธุรกิจสื่อขนาดใหญ่ อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างว่า นักข่าวไม่ยอมถูกครอบงำจากธุรกิจ และสื่อทางเลือกเป็นทางออกของการนำเสนอข่าวคุณภาพ เป็นทางออกของเสรีภาพ


 


วางภาพประกอบ  


 



Ms. Carolyn O. Arguillas ผู้บริหารสื่อทางเลือก www.mindanews.com
และกล้าต่อรองกับหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ของฟิลิปปินส์


 



ผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวสัปดาห์สันติภาพเมื่อปีพฤศจิกายน 2004 ที่โกตาบาโต


 


 



สักขีพยานทั้งองค์กรเอกชน องค์กรรัฐ ทั้งต่างประเทศและในประเทศในสัปดาห์สันติภาพ