Skip to main content

ทำไมเราถึงอยากได้กฎหมาย ? (2)

คอลัมน์/ชุมชน

ขอต่อด้วยประเด็นเรื่องกฏหมายอีกสักตอนค่ะ ด้วยรู้สึกว่ายังเขียนไม่จบในตอนที่แล้ว เนื่องจากในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเอง แม้ส่วนใหญ่จะเห็นว่าควรจะมีกฎหมายนี้ แต่อีกหลายความคิดก็เห็นแตกต่างออกไป มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าจะออกมาเรียกร้องทำไม อยู่กันเงียบ ๆ ก็ดีแล้ว เพราะทุกวันนี้สังคมไทยก็เมตตาคนเป็นกะเทย ทอม ดี้ เกย์ มากเหลือเกินแล้ว ยิ่งออกมาเรียกร้องก็จะยิ่งโดนต่อต้าน เพราะจะยิ่งไปทำให้คนเขาเกลียด เขาหมั่นไส้มากขึ้น นี่คือแนวความคิดหนึ่ง


ส่วนอีกแนวความคิด ก็จะบอกว่าจะเอากฎหมายมาทำไม เพราะมันจะยิ่งทำให้รัฐเข้ามาก้าวก่ายกับชีวิตของเรา ไม่เห็นจะต้องไปให้ความสำคัญอะไรเลยกับกฏหมาย


เพราะการมีกฎหมายออกมา มันก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้สังคมนี้ยอมรับคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น ดูตัวอย่างได้ง่าย ๆ จากองค์กรผู้หญิงต่าง ๆ ที่พยายามรณรงค์เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฏหมายเพื่อสถานภาพที่ดีขึ้นของผู้หญิง แต่สถานการณ์ด้านผู้หญิงในปัจจุบันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นสักเท่าไร


การมีกฏหมายจึงไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อะไรดีขึ้น ยิ่งกฏหมายจดทะเบียนรับรองคู่เพศเดียวกันด้วยแล้ว เพราะไหน ๆ ก็เลือกที่จะออกมานอกกรอบที่สังคมคาดหวังตั้งเอาไว้ แล้วจะไปให้ความสำคัญให้รัฐมารับรองการอยู่ร่วมกันของพวกเราไปทำไม เพราะทำเช่นนั้นก็เหมือนกลับไปสู่วิธีคิดแบบเดิม ๆ ที่ให้คุณค่าว่าการแต่งงานเป็นเสมือนสถาบัน / พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ อะไรเช่นนั้นเป็นต้น


ก็จริงอยู่หรอกค่ะว่า กฏหมายอาจไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้คนรักเพศเดียวกันรู้สึกถึงความมีตัวตนของตัวเองอยู่บ้าง


นอกจากนั้น ผู้เขียนยังเห็นว่า การมีกฎหมายจดทะเบียนของชายหญิงกับกฎหมายจดทะเบียนของคู่คนเพศเดียวกันมีความหมายความสำคัญที่แตกต่างกันอยู่พอสมควรทีเดียว


ในสังคมทั่วไป แม้หญิงชายไม่จดทะเบียนสมรสกัน แต่ก็สามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน หรือแม้จะมีลูกด้วยกันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด กลับเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ไม่ยาก แล้วก็เข้าใจได้ไม่ยากอีกด้วย เนื่องจากทั้งคู่คือเพศที่แตกต่างคือผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งอย่างไรก็ตาม สังคมก็ยอมรับโดยปริยายอยู่แล้วว่าเขาและเธอคือสามี - ภรรยา คู่ชีวิตกัน


แต่ถ้าเป็นผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้ชายกับผู้ชาย สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ยอมรับ แม้จริงๆ ก็พอจะรู้ว่าหญิงกับหญิง หรือชายกับชายคู่นั้นเป็นคู่ชีวิตกัน แต่บางทีสังคมก็เลือกที่จะมองไม่เห็นหรือมองผ่านไป ไม่ขอรับรู้รับทราบอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น ประมาณว่า อยากอยู่ด้วยกันก็อยู่ไป แต่จะมาให้ยอมรับเป็นเรื่องเป็นราวนั้นไม่ได้เด็ดขาด


สัมพันธภาพของคู่เพศเดียวกัน จึงอยู่บนความเลื่อนลอย เคว้งคว้าง เปราะบาง สิ่งที่ผูกพันคนทั้งคู่เอาไว้จึงเป็นเพียงความรัก และสัญญาใจ ( ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ) เท่านั้น


คู่ที่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องเข้าใจ รับรู้ในความสัมพันธ์นั้น ๆ ก็ถือว่าโชคดีไป แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นความสัมพันธ์ปิด ไม่เป็นที่เปิดเผย รับรู้กันอยู่เพียงสองคน หรืออย่างมากก็แค่เพื่อนสนิทอีกคนเท่านั้น


การเป็นคู่ที่ไม่จดทะเบียนสมรสของหญิง - ชายกับคู่หญิง - หญิง , ชาย - ชายจึงมีความแตกต่างกันอยู่มาก เพราะคู่หญิง - ชาย มีฐานของโครงสร้างสังคมคอยโอบอุ้มคุ้มครองอยู่แล้ว ขณะคู่เพศเดียวกันนั้นไม่มีอะไรรองรับเลย ตรงกันข้าม มีแต่จะคอยกัดเซาะทำลายลงไปนั่นล่ะมากกว่า


การมีกฏหมายเพื่อรับรองชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกันสำหรับผู้เขียน จึงไม่ได้เพื่อไปสถาปนาสถาบันการแต่งงาน / ครอบครัวให้ดำรงความยิ่งใหญ่อะไรเลย


แต่ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ ต่อการดำรงวิถีชีวิตแบบคนรักเพศเดียวกันต่างหาก


ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหากมีกฏหมายจดทะเบียนรับรองคู่คนเพศเดียวกันออกมาจริง ๆ ก็คงมีคนรักเพศเดียวกันอีกจำนวนมากที่ไม่ต้องการจดทะเบียนที่ว่านี้ เช่นที่คู่รักต่างเพศจำนวนมากก็เลือกปฏิเสธที่จะไม่จด

แต่ว่ามันมีให้เธอและเขาเลือกหรือเปล่า เท่านั้นเอง