Skip to main content

โรงเรียนมีผลกระทบต่อเด็กๆ ของเราอย่างไร? (ฉบับการ์ตูน)

คอลัมน์/ชุมชน

ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่งเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อหน้าปกว่า "How School Affects Your Kids" เป็นของสำนักพิมพ์ในสังกัด "สมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง (Consumers Association of Penang - CAP" ประเทศมาเลเซีย ผมตัดตอนมาเฉพาะบางประเด็น


 


เป็นเรื่องระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กเบื่อหน่ายและทำลายความใฝ่ฝันความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ  หลังจากท่านอ่านเรื่องนี้จบถ้าติดใจหรือต้องการขยายความ กรุณาอ่านเพิ่มเติมอีก 2 บทความของผมเรื่อง "โรงเรียนสัตว์" และ "โรงเรียนของเด็กชายน้อย" ซึ่งหาได้ด้วยการป้อนชื่อเรื่องนี้ใน google.com ครับ


การ์ตูนข้างล่างนี้คงสะท้อนความเป็นโรงเรียนทั่วไปได้อย่างดี  เขาสรุปเป็นประเด็นว่า โรงเรียนเป็นอะไรที่ผู้มีอำนาจให้การยอมรับเท่านั้นจึงจะทำได้


 


ภาพแรกเป็นภาพครู (นึกถึงครูเวร) กำลังตรวจค้นนักเรียนในตอนเช้าตรงทางเข้าโรงเรียน


 



"มีอะไรในกระเป๋า เอาออกมาให้หมด"


 



"มีอีก ล้วงออกมาให้หมด  อะไรนี่ บุหรี่เหรอ มันไม่เหมาะกับวัยของเธอนะครูขอเตือน"  ครูเวรขู่


 



"มีแค่นี้จริงๆ หรือ?"  ครูถาม


"หมดแล้วครับ"   นักเรียนตอบอย่างตัวสั่น


"เธอยังซ่อนอะไรไว้อีกแน่เลย  นี่มันอยู่ในนี้"


 


สำหรับภาพสุดท้ายของประเด็นนี้ ผมขอแปลสรุปดังนี้เลยครับ


 



 


ครูเวรบอกว่า "เธอต้องเอาสิ่งเหล่านี้ในหัวสมองของเธอออกไปด้วย   เธอจะเอาเข้าไปในโรงเรียนไม่ได้   เธอรู้ไหม" สิ่งเหล่านั้นก็คือ  ความใฝ่ฝัน  ความปรารถนา ความรู้สึก ความกระตือรือร้น ความอยากรู้อยากเห็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความรู้เกี่ยวกับเพศ  ความเป็นวัยรุ่น  ความคิดทางการเมือง  รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัวด้วย


 


อีกประเด็นหนึ่ง หนังสือบอกว่า โรงเรียนเป็นที่รวมของวิชาแปลกๆที่ไม่มีความสัมพันธ์และไม่มีประโยชน์ในทันทีกับชีวิตของเด็กๆ   ในบรรดาวิชาแปลกๆ ก็มีวิชาคณิตศาสตร์อยู่ด้วย  ดังการ์ตูนล้อเลียนหน้าถัดไป


 



 


ข้อความในภาพบรรยายว่า พ่อกำลังป้อนยาที่เป็นคณิตศาสตร์ให้ลูก แต่ลูกก็บอกว่า "หนูไม่ชอบฮะ"พ่อก็คะยั้นคะยอบอกว่า "กินเข้าไปลูก กินเสีย มันจะเป็นประโยชน์กับลูกเองนะ"


 


เรื่องราวที่เกี่ยวกับปัญหาของระบบโรงเรียนยังมีอีกประมาณ 10 ประเด็น เช่น โรงเรียนเป็นโลกของความเงียบและไม่เคลื่อนไหว เป็นโลกที่ปิดตัวเอง เป็นโลกที่มีแบบแผนเครื่องแบบและการลงโทษ เป็นโลกที่ว่านอนสอนง่าย  กระบวนการเรียนรู้เน้นที่ปัจเจกและการแข่งขัน รวมทั้งการสอนให้คนรู้สึกต่ำต้อย เป็นต้น








ภาพปกหน้า สะท้อนความรู้สึกเบื่อหน่ายของนักเรียน







 

 



ผมขอนำภาพหน้าปกและบางส่วนมาลงให้เกิดความรู้สึกอีก 3 ภาพครับ ภาพแรกเป็นหน้าปก


 



             


ถัดมาเป็นภาพปกหลังที่นักเรียนกลายเป็นหุ่นที่ครูกำลังกดรีโมตควบคุมให้เคลื่อนไหว


 



ภาพปกหลัง  ครูผู้มีอำนาจกำลังกดรีโมตเพื่อควบคุมหุ่น


 


ต่อไปนี้เป็นที่มาของหนังสือเล่มที่ผมได้นำมาเล่าครับ ปลายปีที่แล้วผมได้มีโอกาสไปเที่ยวรัฐปีนัง   ประเทศมาเลเซีย  พร้อมกับกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา  การไปเที่ยวครั้งนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมและพูดคุยกับกลุ่มที่เรียกตนเองว่า "สมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง"


 


เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ได้ความว่า ทาง CAP มีเจ้าหน้าที่ทำงานประมาณ 20 คน เป็นองค์กรเอกชน (NGO) ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลน้อยมาก โดยได้รับเป็นรายกิจกรรมๆไป รายได้ส่วนใหญ่ของเขามาจากการทำหนังสือขาย ทั้งในรูปพ็อกเก็ตบุคส์ หนังสือพิมพ์รายเดือน (ถ้าจำไม่ผิด)


 


ที่น่าทึ่งมากก็คือหนังสือพ็อกเก็ตบุคส์แต่ละเล่มมียอดขายประมาณ 1 แสนเล่ม โดยวางขายทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 20 ล้านคนเศษเท่านั้น เมื่อนึกถึงบ้านเราแล้วน่าใจหาย หนังสือที่มียอดขายเกิน  3 พันเล่มมีน้อยฉบับมาก ทั้งๆที่ประชากรไทยมีถึง 60 กว่าล้านคน  เรื่องนิสัยการอ่านของคนไทยน่าเป็นห่วงมากครับ


 


ราคาหนังสือเมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้ว ผมคิดว่าราคาถูกกว่าในบ้าน  อย่างเล่มที่ผมหยิบมาเล่านี้เป็นขนาดเล็กกว่าพ็อกเก็ตบุกส์เล็กน้อย หนา  72 หน้า กระดาษอาร์ตอย่างดี ปกสี่สีราคาเพียง 4 ริงกิต หรือ 40 บาทไทยเท่านั้น


 


สำหรับประเด็นที่ CAP รณรงค์มีหลายประเด็น เช่น อาหารปลอดภัย รวมทั้งการให้คนหันมาใช้จักรยานกันเยอะๆ  เป็นต้น


 


เมื่อถามถึงว่า เขาเอาข้อมูลมาจากไหน ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ที่ทางสมาคมฯ ทำขึ้นมาพาดหัวว่า "ขนมปังกว่า 80% ในมาเลเซียมีสารกันบูดเกินมาตรฐาน"  ทางเจ้าหน้าที่ บอกว่า ทาง CAP มีความร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยในการวิจัยรวมทั้งการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ


 


ยังมีเรื่องราวดีๆ ของสมาคมผู้บริโภคของปีนังอีกเยอะครับ มีโอกาสจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ.