Skip to main content

October Zone – ดนตรีดี ตั้งใจดี แต่...

คอลัมน์/ชุมชน

ถ้าคุณผู้อ่านเคยไปงานรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาในหลายๆ ครั้ง คงจะพอนึกภาพบรรยากาศของงานออกนะครับ ว่าภายในงานนั้นจะอบอวลด้วยบรรยากาศ "เฉพาะตัว" เป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของกิจกรรมในงาน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อคราวนั้น รวมถึงภาพของคนที่มาในงาน ที่ส่วนใหญ่จะเป็น "คนเดือนตุลา" และครอบครัว


 


ด้วยบรรยากาศแบบนั้น จึงทำให้หลายๆ คนที่ไม่ได้เป็น Octobian (ผมอุปโลกน์คำนี้ใช้เรียกบรรดาคนที่เรียกตัวเอง หรือไม่ก็ถูกคนอื่นเรียกว่าเป็น "คนเดือนตุลา" ให้ดูเก๋ๆ ไปอย่างงั้นเอง) อดจะเหน็บๆ งานรำลึกเดือนตุลาว่าเป็น "งานสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนตุลาวิทยาคม" หรือถ้าหนักกว่านั้นก็พาลเรียกว่าเป็น "งานวันเช็งเม้ง" ไปซะอย่างนั้น


 


แต่ถึงกระนั้นเราก็ได้เห็นความพยายามที่จะเชื่อมต่อความคิดจากคนรุ่นตุลาฯ มาสู่คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างอยู่หลายครั้ง


 


คอนเสิร์ต October Zone ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมในงานรำลึกเดือนตุลาฯ (แต่ก็ต้องพานพบกับอาการ "เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย" จนงานเลื่อนมาจัดเอาในเดือนมกราคมนี่แหละ) ที่พยายามจะนำจิตวิญญาณเดือนตุลาฯ ส่งต่อไปยังคนหนุ่มสาว โดยใช้เพลงชีวิตที่ถูกคัดสรรแล้วจำนวนหนึ่ง นำมาร้อง-เล่นโดยวงดนตรีหนุ่มสาวจากวิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล


 




 


ในคราวแรกที่ได้ยินข่าวของคอนเสิร์ตนี้ ก็อดตั้งข้อสงสัยอยู่เหมือนกันว่า การที่จะนำเพลงจากยุคตุลา-หลังตุลาหมาดๆ มาทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันนั้นได้สนใจปัญหาสังคมผ่านบทเพลงนั้น ดูจะเป็นเรื่องยากไปสักหน่อย เพราะถึงแม้ว่าเพลงเหล่านั้นจะถูกนำมาเรียบเรียง ใส่เครื่องดนตรีใหม่ให้ดูทันสมัยยังไง แต่ตัวของเนื้อหาสาระของเพลงก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อยุคสมัยที่เพลงนั้นๆ เกิด ซึ่งมันมีช่องว่างเรื่องภาษา เรื่องวิธีสื่อสารอยู่พอสมควร...เหมือนกับที่เพลงดังๆ หลายเพลงในอดีตกลับกลายเป็นแค่เพลงพิลึกๆ ของสมัยปัจจุบัน


 


การให้เนื้อหาสาระในเพลงของคนรุ่นหนึ่ง ไปจับใจคนอีกรุ่นหนึ่ง ที่เติบโตขึ้นมาในบริบททางสังคมที่ต่างจากคนรุ่นตุลาฯ นั้น...มันยากนะครับ


 


ผมยังคิดเลยว่าผู้จัดไม่น่าจะละเลยผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่แม้เราจะไม่เรียกเพลงของพวกเขาว่า "เพื่อชีวิต" แต่เนื้อหาสาระของเพลงของศิลปินรุ่นใหม่หลายๆ เพลงก็พอจะเข้าแก๊บอยู่นะ


 


อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ แม้มันจะดูเป็นเรื่องที่ปลีกย่อยเอามากๆ นั่นคือ...ชื่อของคอนเสิร์ตครับ


 


ด้วยชื่อของคอนเสิร์ตที่พะยี่ห้อว่าเป็นคอนเสิร์ต October Zone มันก็พาลทำให้วัยรุ่นในปัจจุบันคิดกันได้ว่า "เอ้า...นี่มันโซนของ October นี่นา กรูไม่ได้เป็นคนเดือนตุลาด้วยนี่ ที่นี่ก็ไม่ใช่โซนของกรูนิ" แล้วก็พาลไปหาอย่างอื่นดูดีกว่า แหม...ชื่อมันก็สำคัญนะครับ


 


แต่ถึงกระนั้นถ้าจะเอาแต่บ่น โดยที่ไม่ได้ดูตัวคอนเสิร์ตมันก็กระไรอยู่ เมื่อถึงวันงาน ผมจึงไม่รีรอที่จะกำบัตรคอนเสิร์ตที่ซื้อเอาไว้ แล้วก็เดินทางไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันแสดงคอนเสิร์ตในทันที


 


เมื่อผมมาถึง ณ ที่หมาย สิ่งแรกที่ผมได้เห็นคือบรรดาผู้ชม ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยเลยหลักสี่กันขึ้นไปแทบทั้งนั้น เหมือนกับยกงานรำลึกเดือนตุลาฯ มาไว้ที่เดือนมกราเลยแฮะ


 


ก็บอกแล้วไงเล่า...ว่าชื่อนั้นสำคัญจริงๆ


 


แต่ถ้าพูดถึงตัวการแสดงแล้ว ก็ถือว่าเป็นการดูคอนเสิร์ตที่สนุกมากครั้งนึงทีเดียว (ถ้าตัดข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นพิธีกรชายของงานที่ดูอ่อนซ้อมไปสักหน่อย จนตามมุขพี่นก-นิรมล เมธีสุวกุลไม่ค่อยทัน หรือนักร้องบางท่านที่ดูจะตื่นเวทีไปหน่อยจนลืมเนื้อ ซึ่งพอจะให้กันอภัยกันได้อยู่) ด้วยการเรียบเรียงดนตรี การเล่น และการร้องที่ไม่เลวทีเดียว (ผมชอบที่ผู้ร้องเพลง "คนกับควาย" แอบใส่สำเนียงเอื้อนแบบอาร์แอนด์บีลงไปในเพลงด้วย...เข้าท่าดีครับ) ซึ่งสามารถเปลี่ยนบรรยากาศของเพลงเพื่อชีวิตให้ดู "เนียน" ขึ้นเยอะ


 



คนกับควาย


 



รัตติกาล


 



ดอกไม้


 


 


แต่ถึงกระนั้นในส่วนของความพยายามที่จะทำให้เพลงยุคตุลาดู "เดิร์น" ด้วยการดัดแปลงให้เป็นเพลงแบบฮิปฮอปในเพลง "คนสร้างบ้าน" (ผลงานเก่าของวง "โคมฉาย"-หนึ่งในวงดนตรีเพื่อชีวิตยุคหลัง 14 ตุลาฯ) นั้นกลับได้ผลเพียงแค่เป็นเพลงที่ "พยายามสนุก" มากกว่าที่จะ "สนุก" จริงๆ (ถ้าจะใช้คำนิยามว่าเพลงนี้เป็น "มุขแป้ก" ก็คงจะใกล้เคียงอยู่) ด้วยความไม่ไหลลื่นของเนื้อร้องดั้งเดิมที่เมื่อถูกร้องในแบบแร็ปแล้วมันฟังดูขาดเป็นห้วงๆ ผิดกับท่อนแร็ปที่แต่งใหม่ซึ่งดูลงตัวกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อนำทั้งสองท่อนมาอยู่รวมกัน มันเลยฟังดูตะกุกตะกักพิกล


 


จนทำให้ผมรู้สึกว่าเพลง "อยากให้ความรักแก่คนทั้งโลก" ที่เป็น Finale ของคอนเสิร์ตยังฟังดู "สนุก" กว่าเลย


 



คนสร้างบ้าน


 



อยากให้ความรักเพื่อคนทั้งโลก


 


เมื่อคอนเสิร์ตเลิก ในระหว่างที่ผมเดินไปเข้าห้องน้ำ ผมถามตัวเองเหมือนกับทุกครั้งที่ผมมาดูคอนเสิร์ตว่าจริงๆ แล้วผมชอบคอนเสิร์ตนี้หรือเปล่า


 


ผมพบว่าตัวเองรู้สึกดีๆกับคอนเสิร์ตนี้ ที่ได้ฟังเพลงเพื่อชีวิตในลีลาใหม่ๆ ที่แม้บางเพลงจะยังคงความ "เชย" ไว้บ้าง แต่มันก็ฟังเพราะดี (รวมถึงได้ฟังหลายๆ เพลงที่ผมเคยได้ยินสมัยอยู่ในแวดวงค่ายอาสาฯ ซึ่งการรำลึกความหลังแบบนี้อาจเป็นสัญญาณที่เตือนว่า...ผมชักจะเริ่มแก่เสียแล้วสิ) แขกรับเชิญของคอนเสิร์ตก็ทำหน้าที่ได้ดี (ที่มีส่วนร่วมเล่น-ร้องในคอนเสิร์ตก็ Hope Family, ครอบครัวคุณอี๊ด ฟุตบาธ, อาจารย์อานันท์ นาคคง และคุณจิระนันท์ พิตรปรีชาที่มาร่วมอ่านบทกวีประกอบเพลง "ดอกไม้" และวงดนตรี "พลังเพลง" และ "น้ำค้าง" ที่มาเล่าประสบการณ์ทำเพลงยุคหลัง 6 ตุลาฯ ให้ฟังบนเวที) หากแต่ถ้ามองไปที่วัตถุประสงค์ที่คอนเสิร์ตต้องการแล้ว ผมว่าคอนเสิร์ตนี้ยังไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น


 


คงเหมือนกับเด็กที่ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ แต่ดันไปอ่านไอ้ตรงที่ไม่ออกสอบซะงั้น...แล้วจะทำข้อสอบได้มั้ยละนั่น


 


แต่เมื่อผมเดินออกมาจากห้องน้ำในหอประชุมฯ ผมได้ยินเพลง Seasons Change ของคุณบอยด์ โกสิยพงษ์ดังออกมาจากระบบเครื่องเสียงภายในหอประชุม


 


ฟังแล้วอดคิดไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วเพลงนี้ก็มีเนื้อหาที่งดงามพอๆ กับหลายๆ เพลงที่อยู่ในคอนเสิร์ตครานี้...เพียงแค่เพลงนี้ไม่ได้อยู่ในสารบบของ "เพลงเพื่อชีวิตยุคตุลาฯ" เท่านั้นเอง...บางครั้งผมเองยังแอบพาลน้อยใจเลยว่า ผู้ใหญ่บางคนอาจจะปิดหัวใจ แล้วคิดแค่ว่า "เพลงของคนรุ่นนี้มันเหลวไหล ไร้สาระ" ทั้งๆ ที่มีเพลงความหมายดีๆ ของยุคสมัยปัจจุบันอยู่อีกเยอะแยะ


 


"ถ้าเพลงนี้ และเพลงของคนดนตรีรุ่นใหม่หลายๆ เพลงได้มีโอกาสอยู่บนเวทีร่วมกับเพลงยุคตุลาจริงๆ ผลลัพธ์ที่ได้จากคอนเสิร์ตนี้อาจต้องใจผม และคนนอกนิยาม "คนเดือนตุลา" คนอื่นๆมากกว่านี้กระมัง"


 


ผมคิดเงียบๆ ในใจ ก่อนเดินออกจากหอประชุม...


 


 



ของฝากจากเด็กใหม่ฯ


 


ของฝากฯ ฉบับนี้มีเพลงน่ารักๆ มาฝากครับ


 


เพลงที่ว่านั้นเป็น Hidden Track (เพลงที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้ม โดยที่ไม่มีการใส่ชื่อไว้ในปกเทป/ซีดี) จากอัลบั้ม Songs from Different Scenes #3 ของคุณบอยด์ โกสิยพงษ์ ซึ่งเพลงดังกล่าวเป็นเวอร์ชั่นแสดงสดในคอนเสิร์ตของคุณบอยด์ โดยมีคุณสุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ หนึ่งในสามของ (อดีต) ผู้บริหารของเบเกอรี่มิวสิคยุครุ่งเรืองร่วมร้องและเล่นกีตาร์ในเพลงด้วย


 


เพลงที่ว่าชื่อเพลง "คนรักเมีย" ครับJ


 


เพลงนี้เหมาะสำหรับคุณสุภาพบุรุษที่จะเอาไว้ง้อเมีย เอ้ย...ภรรยาเป็นอย่างยิ่ง หรือถ้ายังไม่ถึงขั้น "เมีย" เพียงแค่ "แฟน" ก็สามารถใช้ง้อแฟนแสนงอนของคุณได้อย่างไม่ขัดเขิน


 


ที่พูดอย่างนี้ได้ เพราะผมก็ใช้เพลงนี้แหละ ง้อแฟนของผมเวลาคุณเธองอน (ซึ่งเราตกลงกันว่าจะเรียกอาการแบบนั้นว่า "ตกมัน" ตามหุ่นของเราทั้งสองคน)


 


...แล้วมันก็มักจะใช้ได้ผลเสียด้วย อะแฮ่มๆ