Skip to main content

"ประกายไฟแห่งใบไม้" ความอยู่รอดของโลกและมนุษย์ (1)

คอลัมน์/ชุมชน

อากาศทางเหนือช่วงนี้เย็นจัดจริงๆ ละแวกที่ผมอยู่ ตอนเช้าๆ อุณหภูมิจะประมาณ 15-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเที่ยงและบ่าย อาจจะอุ่นขึ้นหน่อย แต่น้ำก็ยังเย็นเฉียบเหมือนเดิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อากาศเริ่มร้อนและทำท่าจะหายหนาวแล้วด้วยซ้ำ โทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนที่กรุงเทพฯ จึงได้ทราบว่า ช่วงสัปดาห์ก่อน มีฝนตก ผ่านมาสักพักก็เริ่มหนาว และรู้สึกว่าจะหนาวจนเกินสบายไปบ้างแล้ว บางคนปรับตัวไม่ทันก็เป็นหวัดเป็นไข้กันไป


           


สภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นนี้ ทำให้ผมคิดถึงอะไรหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อมาตลอดคือสภาพแวดล้อมรอบตัวเราจะไม่ปกติอีกต่อไปแล้ว ภาวะที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นหรือที่เรียกกันว่า "ภาวะโลกร้อน" มันเริ่มส่งผลกระทบต่อทุกๆ พื้นที่บนโลก ต่อทุกๆ ชีวิตบนโลกมากขึ้นทุกที แน่นอนผลของมันคงไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่จะมากแค่ไหนนั้น คงยากจะคาดเดา ปรากฎการณ์อย่าง เอลนิโญ หรือ มหันตภัยอย่าง สึนามิ หรือ พายุแคทรีนาที่เข้าถล่มสหรัฐฯ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักเสียด้วย


 


ภัยพิบัติใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงอยากจะรู้แต่ก็ไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้นหรอกครับ


 


เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้สนทนากับ "พี่นนท์" สุวิชานนท์ รัตนภิมล คนเขียนสารคดี เจ้าของคอลัมน์ข้างๆ กันนี่เอง อันที่จริงก็คุยกันหลายเรื่อง ทั้งการทำงาน สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โครงการในอนาคต ฯลฯ รวมทั้งเรื่องของ "สิ่งแวดล้อม" ด้วย


 


ถ้าใครได้ติดตามอ่านงานของพี่นนท์ คงจะทราบว่า พี่นนท์มั่นคงในแนวทางสารคดีชีวิตชนเผ่าและวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติมาโดยตลอด รางวัล "ลูกโลกสีเขียว" ยืนยันการทำงานได้


 


พี่นนท์ ให้หนังสือผมมาเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ "เมล็ดพืชสีเขียว ประกายไฟแห่งใบไม้" เขียนโดย คืน ญางเดิม พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ต้นกำเนิด พี่นนท์ สำทับว่า นี่เป็นหนังสือที่อาปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ พูดถึงบ่อยครั้ง หนังสือเล่มนี้ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นหนังสือ รวมบทกวี แต่จริงๆ แล้ว นี่เป็นหนังสือที่เขียนเอง พิมพ์เอง ของ "วีระศักดิ์ ยอดระบำ" เขาคนนี้คือใคร? ถ้าเป็นแฟนรายการสารคดีชีวิตมนุษย์รายการหนึ่งคงพอจะรู้ แนะนำโดยย่อ เขาเป็นกวี เป็นนักเขียนสารคดี ที่หันหลังให้สังคมและไปใช้ชีวิตทำไร่ทำนาอยู่ในป่าริมแม่น้ำเงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน


 


อันที่จริง ผมก็พอจะรู้จักความเป็นมาของเขาเพียงคร่าวๆ เท่านั้น ไม่เคยอ่านงานและไม่เคยดูสารคดีชีวิตของเขาแต่อย่างใด ก็ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมจึงได้ประจักษ์ว่า นอกจาก มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ผู้เขียน "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" และอีกหลายต่อหลายท่าน ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ปราชญ์" ผู้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า วิถีแห่งธรรมชาติ เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่มองเห็นอนาคต ความอยู่รอดของโลก ของธรรมชาติ และของมนุษย์ อย่างแจ่มแจ้ง และเลือกแล้วที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เรียกได้ว่า กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติมากที่สุด ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้แม้จะเขียนขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน (พิมพ์เมื่อ ส.ค.2539) ทว่า เนื้อหานั้นราวกับจะทำนาย อนาคตอีก 10 ปีต่อมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ


 


ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์การเรียนรู้การทำเกษตรธรรมชาติของตนเอง นับตั้งแต่การไปอยู่กับชุมชนปกากะญอ ได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ปรัชญาการดำรงชีวิตของชาวปกากะญอเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่ง มีเหตุจำเป็นต้องกลับมาอยู่ในเมืองและได้ทำการทดลองปลูกพืชบนที่นาแห้งแล้งพื้นที่ 4 ไร่ ใช้เวลาหลายปี กว่าจะเปลี่ยนที่นาที่แห้งแล้งนั้นให้กลายเป็นสวนที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลากชนิดทั้งไม้ยืนต้น,ไม้ผล,พืชผักสวนครัว,ผักพื้นบ้าน,ไผ่ ฯลฯ ความอุดมสมบูรณ์ของสวนนั้นถึงขนาดที่ทำให้มี เห็ดฟาง และเห็ดโคน ขึ้นเลยทีเดียว


 


เมื่ออุดมและร่มเย็นด้วยแมกไม้ ฝูงสัตว์ก็มาอาศัย ทั้งนกจำนวนมาก และปลาในร่องน้ำ เริ่มมีพืชที่ไม่ได้ปลูกขึ้นเอง เพราะนกปรอทเป็นผู้นำมา ในร่องน้ำที่อุดมด้วยผักนานาชนิด มีทั้งปลานิลตัวเท่าฝ่ามือและปลาช่อนตัวเท่าแขน ทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างไส้เดือน มด แมลง กิ้งก่า งู กบ เขียด ฯลฯ ภายในเวลา 10 ปี พื้นนาแห้งแล้งจำนวน 4 ไร่ ก็กลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยการทำงานของคนเพียงคนเดียว


 


ผู้เขียนกล่าวว่า สิ่งที่เขาทำนั้น ไม่ใช่การทำสวน แต่เป็นการดำเนินชีวิต มีชีวิต และเยียวยารักษาจิตวิญญาณตัวเองด้วยการเพิ่มจำนวนใบไม้ให้กับโลก เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าจะดูอนาคตของโลกก็ให้ดูจำนวนของใบไม้ จำนวนใบไม้ที่ลดลงคือจำนวนชีวิตที่ลดลงด้วย  


 


จำนวนใบไม้ในโลกลดจำนวนลงทุกวินาที มีเหตุผลมากมายที่มนุษย์ ผู้มีอารยธรรมอ้างเพื่อลดจำนวนใบไม้ การสร้างเขื่อน, เกษตรกรรมเพื่อการค้าแบบเคมี ล้วนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า จำนวนใบไม้ต้องตายไปปีละจำนวนมหาศาล..." (หน้า 13)


 


มีข้อความหนึ่งที่ค่อนข้างยาวสักหน่อย แต่ผมก็อยากจะยกมาให้อ่าน เพราะมันสะท้อนภาวะของ


มนุษย์ในปัจจุบันได้ชัดเจนที่สุด


 


"...เมื่อสังคมอุตสาหกรรมก่อตัวขึ้นมาใหม่ๆ คนเราพากันตื่นเต้นดีใจในความสะดวกสบายที่ได้รับจากเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ มนุษย์เราเริ่มตกอกตกใจกับพิษภัย ขยะ ความสกปรกโสมม ความวิบัติ อันเกิดขึ้นจากสังคมศิวิไลซ์ เราเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ มีการรณรงค์และตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้อย่างกว้างขวาง ใครๆ ก็พูดถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เราพูดถึงป่า สัตว์ป่า ต้นไม้ แม่น้ำ ทะเล และภูเขา แต่เรารู้จักธรรมชาติจากภาพ จากจอโทรทัศน์ จากตัวหนังสือในสิ่งพิมพ์เท่านั้น เราเริ่มคิดถึงอดีต ในวันเวลาที่แม่น้ำทุกสายของประเทศยังใสสะอาด เทือกเขาและที่ราบยังปกคลุมไปด้วยป่าไม้เขียวขจี ท้องทะเลและหาดทรายอันบริสุทธิ์ เราใฝ่ฝันอยากให้อดีตเหล่านั้นกลับคืนมาอีกในอนาคต


 


แต่ขณะเดียวกัน เราก็อยากมีเงินทองมากๆ มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์ส่วนตัวคันหรู มีสนามกอล์ฟ มีบ้านพักตากอากาศ มีโรงงานอยู่ทุกภูมิภาค มีเกษตรกรรมแผนใหม่ที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง เราต้องการอนุรักษ์ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียความร่ำรวยและความสะดวกสบาย นี่คือความขัดแย้งอันรุนแรงในจิตวิญญาณของเราเอง มันคงไม่ง่ายดายนักที่เราจะได้รับคำตอบ สำหรับชะตากรรมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ โดยที่เราไม่เลือก..." (หน้า 28-29)


 


เป็นความจริงที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเป็นห่วงธรรมชาติ เป็นห่วงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และคิดถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยเมื่อสัก 50 ปีก่อน แต่ในความเป็นห่วง เราก็ยังต้องการความสะดวกสบาย ยังต้องการชีวิตที่มั่งคั่งสมบูรณ์ตามแนวทางบริโภคนิยม เราไม่อยากให้มีเขื่อนเพิ่มขึ้น เพราะเขื่อนหมายถึงป่าที่จะต้องหายไป แต่เราก็ยังไม่สามารถเลิกใช้ไฟฟ้า เลิกใช้น้ำมันและแก๊สได้ เราอยากให้สภาวะโลกร้อนหายไป แต่เราก็มีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้โลกร้อนขึ้น หรือพูดให้ชัดเจนกว่านั้น ขณะที่เราร้องตะโกนให้ร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราก็มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน


 


นั่นคือความจริงที่เราต่างไม่ได้ตระหนัก เพราะระหว่างการดำเนินชีวิตตามปกตินั้น เราไม่ได้มองลึกและละเอียดไปถึงขนาดที่ว่า ผักสวยๆ ที่เรากินเป็นผักที่เต็มไปด้วยยาฆ่าแมลงมากแค่ไหน  หรือการใช้ไฟฟ้าของเราในวันนี้จะทำให้ต้องเกิดเขื่อนอีกสักกี่เขื่อนในอนาคต เราเป็นเพียงแค่คนที่เกิดมาบนโลก บริโภค แล้วก็ตายไป แต่ในทุกๆ นาทีนั้นมีคนเกิดขึ้นบนโลก ในแต่ละปีมีคนบนโลกเพิ่มขึ้นอีกนับร้อยล้านคน ทุกๆ คนก็ล้วนต้องบริโภคเช่นเดียวกับเรา และคนส่วนใหญ่ก็ล้วนมีความต้องการไม่ต่างกัน นั่นคือ ความสะดวกสบาย ซึ่งความสะดวกสบายก็มักจะมาจากการตบแต่งดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเอาจากธรรมชาติ


 


คนมาก ความต้องการมาก การผลาญทรัพยากรก็มาก ความเสื่อมทรุดของโลกก็ถูกเร่งความเร็วมากขึ้นเท่านั้น และนั่นย่อมหมายถึงหายนะของสังคมมนุษย์ใช่หรือไม่ ตรรกะนี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ  แต่ "ทางรอด" นั้น คงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นชนชั้นกลาง (ซึ่งก็รวมทั้งผมด้วย) เพราะผู้เขียนบอกถึงทางรอดไว้ว่า


 


"...สิ่งที่มนุษย์ต้องทำทันทีในเวลานี้ก็คือ ทุกคนต้องรีบกลับมาพึ่งตัวเองในการปรุงอาหาร ผลิตอาหาร ปลูกอาหารกินเอง การพึ่งตนเองเกี่ยวกับอาหารคือบันไดขั้นแรกของการปกป้องโลกธรรมชาติ การกลับมาสู่ผืนดิน กลับมาสู่เมล็ดพืช คือหนทางสู่ความสงบ คือวิถีแห่งความเงียบและความว่างเปล่า มีเวลามากมาย มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ผู้ที่หยุดแสวงหา หยุดใฝ่ฝัน หยุดทะเยอทะยาน คนเช่นนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้สำนึกอย่างแท้จริงต่อการอนุรักษ์โลกธรรมชาติ..." (หน้า 84)


 


ผมคิดอะไรมากมายหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ มันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือไปจากคำว่า อนุรักษ์  ปรัชญาชีวิต หรือแม้แต่ ความดีความงามทั้งหลาย ขณะเดียวกันมันก็ให้ความรู้สึกที่ธรรมดาสามัญมากๆ เหมือนวิถีของชนเผ่าที่อยู่กันอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ ผมเกิดคำถามหลายอย่าง ทั้งต่ออนาคตของตัวเองและของสังคมมนุษย์โดยรวม


 


คราวหน้า มาคุยเรื่องหนังสือเล่มนี้ต่ออีกสักตอนนะครับ


 


********************