Skip to main content

เรื่อง "เคยเคย" ของชาวใต้

คอลัมน์/ชุมชน

ตามความหมายในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พ.ศ. ๒๕๒๕  สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ให้ความหมายของคำว่า "เคย" นี้ไว้ว่า


น. ๑.  กะปิ


    ๒. โยนี


    ๓. ส้มชนิดหนึ่ง


    ๔. ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ดอกสีเหลือง มีกลิ่นเหม็นเหมือนกะปิ


ว. รู้จักคุ้นเคย


 


ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า คำในภาษาไทยนั้นมีทั้งคำพ้องรูปและพ้องเสียง กล่าวโดยเฉพาะในภาษาพื้นถิ่นปักษ์ใต้แล้วนั้น แหย่กันเล่นว่ายังมีคำพ้องกลิ่นอีกด้วย ฮา... เช่นคำนี้นี่แหละ  หากสังเกตก็จะเห็นว่าความหมายข้อหนึ่งของ "เคย" นั้นหมายถึง "ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ดอกสีเหลือง มีกลิ่นเหม็นเหมือนกะปิ(กล่าวคือ เหม็นเหมือนเคยนั่นเอง"


 


อย่าหาว่าผมไม่สุภาพหรือลามกเลยนะครับที่หยิบยกเรื่อง "เคยเคย"  มาบอกเล่าในคราวนี้ เพราะเรื่อง "เคยเคย"  นี่แหละครับที่มีแง่ง่ามและความหมายแตกกอต่อยอดไปมากมาย  ผมเชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่านเป็นชาวใต้ก็จะอดยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไม่ได้เป็นแน่เชียว ฮา...ฮา...ฮา...


 


"เคย"  ของชาวใต้มีหลายขนาด (เฮ้ย!)มีหลายความหมายทีเดียวครับ บอกกันทั้งวันก็คงไม่จบแน่ หากท่านผู้ฟังเคยฟังเพลง "เคย" ของ คุณหลง  ลงลาย นักเพลงเพื่อชีวิตชาวใต้คนหนึ่งที่ร้องไว้เมื่อ ๓-๔ ปีก่อนก็จะพอเข้าใจเรื่องที่ผมพูดถึงอยู่บ้างแล้ว เพราะเพลงนี้ได้พูถึงเรื่อง "เคยเคย" ของชาวใต้ไว้อย่างน่ารัก หากมีโอกาสก็ลองหาฟังดู(นี่ไม่ได้โฆษณาให้นะครับ เพียงบอกเพื่อฟังประกอบบทความเรื่อง "เคย" ของชาวใต้ครับ  ฮา...)


 


เรามาเริ่มเรื่อง "เคย" กันเลยดีกว่า  ชาวใต้ทั่วไปนั้นใช้คำว่า "เคย" กันอย่างหลากหลาย ความหมายก็แล้วแต่บริบทของคำว่าจะไปอยู่ตรงไหนของประโยคครับ  ที่แน่ๆ "เคย"  จึงคือ กะปิ  "เคย" จึงคือ รู้จักคุ้นเคย (ที่แปลตามภาษาไทยมาตรฐาน) และแน่นอนเลยทีเดียวที่อยู่ในรอยยิ้มของชาวใต้ทุกคน "เคย"  ก็คือ คำเรียกชื่ออวัยวะเพศหญิงด้วย  แต่สิ่งที่ผมจะบอกเล่าท่านผู้อ่านในคราวนี้เป็นเรื่องของ "กะปิ" หรือว่า "เคย" นั่นแหละครับหาใช่เป็น "เคย" อย่างที่ยิ้มๆ กันอยู่ไม่ ฮา...


 


เอาเป็นว่า "เคย" มีหลายชนิดนะครับ ที่ทำด้วยกุ้ง เรียก "เคยกุ้ง" ถ้าทำด้วยปลา เรียก "เคยปลา" บ้างทำด้วยนก(นกกรง หรือ นกปรอด) ก็เรียก "เคยนกกรง"


 


มารู้จัก "เคย" กันแบบลึกๆ กันหน่อยนะ


 


"เคยกุ้ง"  ก็เป็น "เคย" ที่ทำด้วยกุ้งชนิดหนึ่งลักษณะตัวเล็กเนื้อนิ่มใส อาศัยในทะเล ชาวบ้านทั่วไปเรียกกุ้งชนิดนี้ว่า "กุ้งเคย"   การทำ "เคย" แบบนี้เขาเอา "กุ้งเคย" ใส่ตะแกรงล้างให้สะอาดแล้วเคล้ากุ้งกับเกลือในอัตราประมาณ ๔ : ๑ หมักไว้ ๑ คืน นำมาตำด้วยครกตำข้าว (วิธีการนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า "เซเคย") จากนั้นก็นำไปตากพอหมาด เอามา "เซ"  อีกครั้งให้ละเอียด จากนั้นก็นำไปใส่ในไห อัดให้แน่น ปิดด้วยใบตอง ขัดไว้ด้วยไม้ไผ่ให้แน่น(เรียกว่าขัดน้ำ)จากนั้นโรยเกลือบางๆ ทิ้งไว้ ๖ เดือน ก็จะเป็น "เคย" ตามต้องการเลยครับ (บอกสูตรไปแล้วก็ลองทำกันดูนะครับ สำเร็จอย่างไรอย่าลืมส่งมาให้ลองชิมกันบ้างก็แล้วกัน)


 


"เคยปลา"  ก็เป็นเคยที่ทำด้วยปลาตัวเล็กๆ ชนิดต่างๆ ที่พอหาได้ทั่วไปมาคลุกเกลือพอประมาณ หมักทิ้งไว้ครึ่งวัน นำมาใส่ครก ตำพอแหลก ใส่ภาชนะตากแดดไว้ ๑-๒ วัน แล้วนำมาตำใหม่ให้ละเอียด ใส่ไหเก็บไว้สักเดือนก็นำมาแกงได้แล้ว  แกงที่แกงด้วย "เคยปลา" ก็เป็นพวก "แกงน้ำเคย" หรือ "แกงเคยปลา" ที่ผมเคยบอกเล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว หวังว่ายังคงจำกันได้นะครับ


 



เคยปลาก้อน


 



เคยปลาเซหยาบๆ


 


ที่บอกมาข้างต้นเป็น "เคย" ที่ได้รับความนิยมและโด่งดังในบรรดา "เคย" ทั้งหลาย แต่ "เคย" อีกอย่างหนึ่งที่หาดูได้ยากมาก หรือหากจะบอกว่าหาดูไม่ได้แล้วก็คือ "เคยนกกรง" ฟังชื่อแล้วยังแปลกใจเลยนะครับ  ผมเชื่อว่าคนใต้หลายคนเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่แล้วไม่เคยได้ยินแน่นอนเพราะปัจจุบันนี้เขาเลิกทำกันแล้ว คงเหตุเพราะว่าหากุ้งหาปลาได้ง่ายกว่าโข


 


ฟังมาว่า "เคยนกกรง" ทำมาจากนกกรง (นกปรอด) คลุกเกลือตำให้ละเอียด ตากให้แห้งแล้วเก็บไว้เป็น "เคย" สำหรับประกอบอาหารต่อไป


 



ชาวบ้านกำลังเซเคย


 



เคยหลังเซจนละเอียด


 


ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเคยประกอบอาหารเท่านั้นนะครับ ยังมีอาหารคาวอีกหลายชนิดที่มีชื่อและมี "เคย" เป็นตัวชูโรง อย่างเช่น "คั่วเคย"  ซึ่งเป็นอาหารคาวพื้นบ้านที่นิยมกินกันทั่วไปในภาคใต้  "เครื่องเครื่อง"  ซึ่งเป็นอาหารที่นำเคยมาหลนกับกะทิแล้วใส่เครื่องแกงเผ็ดลงไป "เคยจี"  นี่แหละทีเด็ดของผม...ชอบมากๆ เลย  ก็คือ เอา "เคย" มาอังไว้เหนือไฟให้พอสุก-หอม คลุกข้าวแสนอร่อยมากๆ เลย(หรอย)


 


อธิบาย "จี" หน่อยแล้วกัน หมายถึง "จี่" ในภาษาไทยมาตรฐานนั่นเองครับ  "เคยปิ้ง" หรือ "ปิ้งเคย" ก็ว่านั้นก็นิยมกินกันมากแถบจังหวัดพัทลุงบ้านเกิดผมเอง และยังมี "เคยน้ำ"  "เคยฉลู" อีก ฯลฯ


 



บรรจุกระปุกขาย


 


ความจริงแล้วนับว่า "เคย" เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของชาวใต้ได้ดีทีเดียว นับเป็นภูมิปัญญาอันน่าทึ่งของคนรุ่นก่อน  และปัจจุบันการทำ "เคย" ก็ได้กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี


 


ขอฝากไว้ก่อนนะครับว่า อย่าได้เอาคำว่า "เคย" นี้ไปใช้พร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะกับสาวชาวใต้ เพราะอาจเจอดีได้แน่นอน


 


ขอเตือน! ได้โปรดระวัง


 


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา


๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐


ในวันลมเย็นมาเยือน